เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโสกัณต์คิดว่าน่าจะใช้ว่า
เกศากันต์ เพราะพระองค์ท่านยังดำรงพระยศเพียงหม่อมเจ้าขณะนั้น
แต่ในเรื่อง บุญบรรพ์ ใช้ว่า โสกันต์ ซึ่งไม่น่าจะใช้ผิด-
คาดอยู่แล้วว่าเรื่องนี้คงจะมีผู้ตั้งข้อสังเกตและทักมา
ในครั้งรัชกาลที่ ๑-๒-๓ นั้น คำเรียกขานเจ้านาย ตลอดจนราชาศัพท์ยังไม่ลงตัว
ต่อถึงรัชกาลที่ ๔ พระองค์ท่านทรงเป็นนักภาษาศาสตร์ และอักษรศาสตร์ในรัชกาลนี้
จึงมีพระบรมราชโองการต่างๆ ประกาศออกมามากมาย รวมทั้งการใช้คำพูดจาศัพท์แสงและราชาศัพท์
ตลอดจนเรื่องพระอิสริยยศเจ้านาย ก็ทรงบัญญัติคำนำพระนามให้แสดงถึงความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับพระเจ้าแผ่นดินชัดเจนขึ้น
ในรัชกาลที่ ๑ บรรดาเจ้านายซึ่งพระยศรองลงมาจากชั้นพระองค์เจ้า
ซึ่งในเวลานี้เรียกว่า หม่อมเจ้า เวลานั้นเรียกกันแต่ว่า เจ้า
รองลงมาอีก ในเวลานี้เรียกกันว่า หม่อมราชวงศ์ บางทีก็เรียกกันว่า
เจ้า เช่น เจ้ากระต่าย (ม.ร.ว.กระต่าย หรือ หม่อมราโชทัย)
บางทีก็เรียกว่า หม่อม ส่วนชั้นสุดท้ายคือ หม่อมหลวง เรียกกันว่า
หม่อม บ้าง คุณ บ้าง สุดแท้แต่จะเรียก
ยศ หม่อมราชวงศ์ และ หม่อมหลวง นี้ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
ท่านเคยทรงพระนิพนธ์สันนิษฐานว่า คงจะเพิ่งมีขึ้นแต่ต้นๆ รัชกาลที่
๔
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงเป็นพระราชนัดดา (หลวงปู่) พระองค์แรกในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯเป็นที่โปรดปราน
เช่นเดียวกันกับสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนกษัตรานุชิตผู้ทรงเป็นพระราชนัดดา
(หลานตา ประสูติแต่สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงฉิม พระชายาในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช)
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ประสูติ พ.ศ.๒๓๓๐ หลังสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์แล้ว
๕ ปี ส่วนสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนกษัตรานุชิต ประสูติ พ.ศ.๒๓๒๐ ประสูติได้เพียง
๑๒ วัน พระชนนีก็สิ้นพระชนม์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ จึงทรงพระมหากรุณาเมตตายิ่งนัก
เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ มีพระชนมายุครบ ๑๓ ต้น พ.ศ.๒๓๔๔
สมเด็จพระอัยกาธิราชโปรดฯให้โสกันต์บนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท
ในพระบรมมหาราชวัง
ในพระราชนิพนธ์เทศนาพระบรมราชประวัติเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ
ซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์ใน พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ทรงพรรณนาถึงตอนนี้ว่า
พระองค์ทรงพระเจริญขึ้นโดยลำดับ ได้รับพระมหากรุณาแลพระเมตตาแห่งสมเด็จพระบรมไอยกาธิราชแต่ทรงพระเยาว์มา
จนตลอดถึงเวลาพระชนมายุครบกำหนดโสกันต์ในขณะนั้น ยังหาได้มีธรรมเนียมพระหน่อเจ้าต่างกรมโสกันต์ในพระบรมมหาราชวังดังในประจุบันนี้ไม่
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ทรงพระมหากรุณาในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
ซึ่งเป็นพระราชนัดดา จึงโปรดเกล้าฯให้โสกันต์ที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทในพระบรมมหาราชวังเป็นการพิเศษ
หลังจากพระราชพิธีโสกันต์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯแล้ว ต่อมาจึงได้โปรดฯให้เจ้าหลานเธอองค์อื่นๆ
โสกันต์ ในพระบรมมหาราชวัง
ดังปรากฏในหมายรับสั่งรัชกาลที่ ๑ เรื่องโสกันต์ เจ้าหลานเธอ
พ.ศ.๒๓๔๕ หลังจากโสกันต์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯได้หนึ่งปี
ในหมายรับสั่งนั้นมีว่า (สะกดการันต์อย่างเก่า)
ด้วยเจ้าพระยาศรีธรมาธิราช รับสั่งใส่เกล้าฯว่า พระฤกษ์จะได้ตั้งมงคลการโสกันต์เจ้าหลานเธอ
เจ้านิรมล เจ้าป้อม ๑ เจ้าจันทร์ ๑ เจ้าเรณู ๑ รวม ๔ องค์ ณ
พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พร้อมในพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ แลเจ้าหลานเธอซึ่งจะโสกันต์นั้น
จะเสด็จออกฟังสวดพระพุทธมนต์ ณ วันเดือน ๔ แรม ๑๑ ค่ำ ๑๒ ค่ำ
๑๓ ค่ำ เวลาบ่าย ๓ โมง ทั้ง ๓ วัน
จะเห็นว่าในหมายรับสั่งนั้นเรียกว่า เจ้าหลานเธอ มิใช่ พระเจ้าหลานเธอ
แสดงว่าเจ้าหลานเธอ ทั้ง ๔ องค์ พระยศเป็น หม่อมเจ้า ซึ่งเวลานั้นเรียกกันแต่
เจ้า
ส่วนเจ้าหลานเธอทั้ง ๔ จะเป็นองค์ใด เป็นพระโอรสธิดาในสมเด็จเจ้าฟ้าหรือในต่างกรมพระองค์ใด
ค้นหาไม่พบ
อาจจะเป็นพระโอรส ธิดาในกรมพระราชวังหลัง หรือในสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอกรมหลวงจักรเจษฎา
ก็อาจเป็นได้ เพราะด้วยพระชันษาทั้งสองพระองค์สูงพอที่จะมีพระโอรสธิดาในวัย
๑๑-๑๓ ปีได้
และจะเห็นได้ว่า ในหมายรับสั่งนั้นใช้ว่า โสกันต์ มิใช่ เกศากันต์
(หรือสะกดอย่างโบราณว่า เกษากันต์) แม้ว่าจะเป็นเพียง เจ้าหลานเธอ
อนึ่งในรัชกาลที่ ๑ คำว่า พระเจ้าหลานเธอ นั้น ใช้นำพระนาม
หลานเธอ ทั่วไปหมดไม่ว่าพระราชนัดดา (หลานปู่-หลานตา) พระภาคิไนย
(หลานลุง ลูกน้องสาว-หลานน้า) พระภาติยะ (หลานลุงลูกน้องชาย-หลานอา)
รวมทั้งเจ้าหลานเธอ ก็เรียกว่า เจ้าหลานเธอ ทั้งนั้น ทั้ง
พระราชนัดดาโดยตรง และพระราชนัดดา (ซึ่งเป็นหลานปู่ย่า ตายาย
ของ พี่ชาย น้องชาย พี่สาว น้องสาว)
ดังนั้น เจ้าหลานเธอ ทั้ง ๔ องค์ซึ่งโปรดฯให้โสกันต์ตามหมายรับสั่ง
จึงยากที่จะทราบว่าเป็น หลานเธอ ทางไหน
แต่มิใช่พระโอรสธิดา ใน สมเด็จเจ้าฟ้า กรมหลวงอิศรสุนทร หรือในสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนเสนานุรักษ์
อย่างแน่นอน เพราะค้นรายพระนามแล้วไม่ปรากฏ
พระราชพิธีโสกันต์นี้ ตามโบราณราชประเพณีโสกันต์เจ้าฟ้า และพระองค์เจ้ามีที่ต่างกันอยู่
คือโสกันต์เจ้าฟ้ามีการก่อเขาไกรลาสสำหรับสรง ส่วนโสกันต์พระองค์เจ้าไม่มีเขาไกรลาส
ในกรุงรัตนโกสินทร์ พระราชพิธีโสกันต์ใหญ่เจ้าฟ้า มีเขาไกรลาส
และมีพระราชพิธีครบถ้วนเป็นครั้งแรก ดังเช่นในกรุงศรีอยุธยา
คือ พระราชพิธีโสกันต์ สมเด็จเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ
ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาเจ้าทองสุก ธิดาเจ้ากรุงศรีสตนาคนหุต
เจ้าประเทศราช
การพระราชพิธีนั้น จดไว้ในพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ ๑ อย่างละเอียด
เริ่มแต่โปรดฯให้เจ้าพนักงานก่อตั้งเขาไกรลาส ณ ชาลาในพระบรมมหาราชวัง
เขาไกรลาสนั้น (สะกดการันต์ปัจจุบัน)
มีพระมณฑปใหญ่อยู่ท่ามกลางยอดเขาไกรลาส แลมณฑปน้อยในทิศเหนือแลทิศใต้
ภายในพระมณฑปใหญ่ ตั้งบุษบกน้อย เชิญพระพุทธรูปและพระบรมธาตุประดิษฐานเป็นที่สักการบูชา...
ในพระมณฑปทิศเหนือตั้งรูปพระอิศวร พระอุมาพระมหาพิฆเนศวร ในพระมณฑปทิศใต้ตั้งรูปพระนารายณ์
พระลักษมี พระมเหศวรี ตามไสยศาสตร์ แลชานพระมณฑปเป็นกำแพงแก้ว
เนื่องกับซุ้มประตู มีฉัตรทอง ฉัตรเงิน ฉัตรนาค เจ็ดชั้น พื้นไหมปักทองแล่ง
แลมีที่สรงธารหลังออกจากปากสัตว์ทั้ง ๔ คือ ราชสีห์ แลช้าง แลม้า
แลโค ซึ่งสมมติว่าสระอโนดาษ แลมีรูปพระอาทิตย์ พระจันทร์ รูปเทวดาทั้ง
๘ ทิศ ฤษีสิทธิวิทยาธรกินร แลสุบรรณนาคราช ช้างตระกูลอัฐทิศคชาพงศ์
ซึ่งบังเกิดในป่าหิมพานต์ แลรูปสัตว์จตุบาททวิบาท มีพรรณต่างๆ
ประดับตามช่องชั้นเขาไกรลาส จนถึงชั้นชาลาพื้นล่าง
เหล่านี้เป็นการพรรณนาบรรยายถึงเขาไกรลาส ส่วนกระบวนแห่เมื่อเสด็จขึ้นพระเสลี่ยงแห่ฟังสวด
แห่โสกันต์ และ แห่สรงน้ำเขาไกรลาสนั้น ก็มโหฬารยิ่งนัก
เขาไกรลาสมีบทบาทสำคัญ ก็เมื่อสรงเสร็จแล้ว
แล้วเสด็จขึ้นบนเขาไกรลาส จึ่งกรมขุนอิศรานุรักษ์แต่งพระองค์ทรงฉลองพระองค์ครุย
ทรงชฎาเดินหน สมมติว่าเป็นพระอิศวร เสด็จลงมาแต่พระมณฑปใหญ่ยอดเขาไกรลาสทรงรับพระกรที่ชั้นทักษิณทิศตะวันตกกลางบันไดนาค
จูงขึ้นไปบนเขาไกรลาส ประทานพรแล้วนำเสด็จลงมาด้านตะวันออก
เขาไกรลาสและกระบวนแห่ครั้งนั้นเป็นอย่างไร พินิจพิเคราะห์ดูได้จากภาพประกอบ
ซึ่งเป็นภาพวาดโดยช่างเขียนในสมัยนั้น... |