เมื่อเกิดศาสนาใหม่ขึ้น จึงมีผู้พยายามเผยแพร่แนวคิดของตนเองออกไป
ก่อให้เกิดปรัชญาฮินดูขึ้นมาหลากหลายสกุล แต่อย่างไรก็ตาม
ปรัชญาฮินดูเหล่านี้ ส่วนใหญ่มักจะได้รับอิทธิพลและพัฒนาแนวคิดของตนจากแนวคิดในพระเวทและอุปนิษัท
จึงทำให้ปรัชญาฮินดูมีลักษณะร่วมกันบางประการ
อย่างเช่นปรัชญาฮินดูล้วนแต่มีเป้าหมายอยู่ที่โมกษะ การยอมรับว่า
"โยคะ" เป็นวิธีการเข้าถึงความรู้อันแท้จริงหรือปรัชญาฮินดูนั้นต่างก็แนะนำการครองชีวิต
เพื่อให้บรรลุความจริงขั้นปรมัตถ์
แม้ว่าจะมีปรัชญาฮินดูมากมายหลายสกุล แต่ชาวฮินดูมักจะแบ่งปรัชญาของตนออกเป็น
6 สกุลใหญ่ๆและเชื่อว่าทั้ง 6 สกุลไม่ขัดแย้งกัน เรียกกันว่า
"ทรรศนะทั้งหก" ทรรศนะในที่นี้หมายถึงการเห็น
นั่นคือเป้าหมายของการเห็นคือ โมกษะ ดังนั้นทุกสกุลจึงสนับสนุนกันไม่ขัดแย้งกัน
เพราะต่างมีเป้าหมายเดียวกันทรรศนะทั้งหกดังจะกล่าวต่อไปเชื่อว่าเกิดขึ้นและแพร่หลายเมื่อประมาณสมัยพุทธกาล
และหลังจากนั้นก็มีพัฒนาการของแนวคิดหลักธรรมฮินดูซึ่งแตกต่างไปจากเดิมปรากฏขึ้นแต่ก็มิได้ปฏิเสธทรรศนะทั้งหกโดยสิ้นเชิง
เพียงเป็นการเสริมสร้างแง่มุมใหม่ๆ ในศาสนาฮินดู ดังจะกล่าวต่อไปข้างหน้า
ทรรศนะทั้งหก
นยายะ
: ตั้งขึ้นโดย เคาตมะ
มีลักษณะเป็นตรรกวิทยาขั้นสูง เชื่อว่าความรู้ขั้นปรมัตถ์นั้นอาจบรรลุได้โดยอาศัยการคิดอย่างมีเหตุผลทุกขั้นตอนเท่านั้น
ไวเศษิกะ
: ตั้งขึ้นโดย คณาทะ
จัดเป็นคู่กับ นยายะ ปรัชญาทรรศนะนี้แบ่งสิ่งต่างๆ
ในโลกออกเป็น สัจธรรม 9 ประเภท การผูกพัน
การผสมกันระหว่างสัจธรรมทั้ง 9 ก่อให้เกิดสิ่งต่าง ๆ เมื่อแยกแยะสิ่งต่าง
ๆ ก็จะไม่พบอะไรอื่นนอกจากสัจธรรมทั้ง 9 หากมนุษย์ระลึกว่าในโลกนี้มีสัจธรรม
9 อย่างเท่านั้นก็จะสามารถหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดได้
สางขยะ
: กปิละ
เป็นผู้สถาปนาขึ้น สกุลนี้เป็นการแบ่งแยกสิ่งต่าง ๆ ในโลกออกเป็น
25 ชนิด (มากกว่าของสกุล ไวเศษิกะ )
โดยสามารถจะจำแนกสิ่งต่าง ๆ ทั้ง 25 ชนิดออกเป็น 2 กลุ่มคือ
สสารและวิญญาณ หากมนุษย์สามารถแยกแยะสสารออกจากวิญญาณได้ก็จะบรรลุโมกษะ
โยคะ
: เป็นคู่กับ สางขยะ โดยมี
ปตาญชลี เป็นผู้ตั้งขึ้น สกุลนี้เน้นวิธีปฏิบัติให้หลุดพ้นโดยการดับทุกข์ทางจิต
มิมางสา
: ผู้คิดค้นปรัชญานี้คือ
ไชมินิ ปรัชญานี้เกี่ยวข้องกับการตีความพิธีกรรมและคัมภีร์พระเวท
เวทานตะ
: ตั้งขึ้นโดย พราทรายณะ
เป็นปรัชญาว่าด้วยการสืบค้นหาพรหม และดูเหมือนว่าจะได้รับอิทธิพลจากอภิปรัชญาของอุปนิษัทอย่างชัดเจนที่สุด
เป็นที่ยอมรับกันว่าปรัชญาสกุลนี้มีอิทธิพลต่อพัฒนาการของศาสนาฮินดูมากที่สุด
ปรัชญาเวทานตะ กล่าวถึง พรหม
ว่าย่อมมีหนึ่งเดียว สรรพสิ่งทั้งหลายในโลกล้วนเกิดมาแต่
พรหม ที่เรามองเห็นว่ามีรูปและนามต่าง
ๆ กันนั้นล้วนเป็น "มายา" (Illusion)
ของ พรหม แท้ที่จริงแล้วทุกสิ่งล้วนเป็นสิ่งเดียวกัน
คือ อาตมัน อันเกิดจาก พรหม
พรหม คือความจริงขั้นปรมัตถ์
หากมนุษย์สำนึกในความเป็นเอกภาพของพรหม มนุษย์ก็จะบรรลุโมกษะ
ในสมัยต่อ ๆ มา ปรัชญาเวทานตะ ได้เข้าไปมีอิทธิพลต่อศาสนาฮินดูอย่างมาก
จนทำให้เมื่อคิดถึงปรัชญาศาสนาฮินดู ก็จะคิดเอาว่า
เวทานตะ เป็นเหมือนตัวแทนของศาสนาฮินดูทั้งหมด
ซึ่งก็เป็นความจริงส่วนหนึ่งที่ว่าศาสนาฮินดูในยุคหลังที่ยังมีอิทธิพลจนถึงปัจจุบันนี้
ล้วนแล้วแต่พัฒนาจากความคิดที่ปรากฏอยู่ในเวทานตะ
อิทธิพลของ เวทานตะ ปรากฏในปรัชญาสกุล
อทไวตะ ของ ศังกระ
(Shamkara) ซึ่งมีบทบาทอยู่ราวๆ คริสต์ศตวรรษที่
9 ปรัชญาอทไวตะ เป็นปรัชญาที่พยายามสืบค้นหาและอธิบาย
พรหม ในความคิดของศังกระถือว่า พรหม
สูงกว่าพระเจ้า เขาได้อธิบายเอาไว้ว่า พรหม
เป็นสิ่งสูงสุด มีสภาพเป็นหนึ่งเดียว เป็นความจริงขั้นปรมัตถ์เพียงหนึ่งเดียว
ไม่สามารถนำสิ่งใดๆ มาเปรียบเทียบได้ ดังนั้นจึงเรียกปรัชญาสกุลนี้ว่า
"อทไวตะเวทานตะ" ซึ่งหมายถึง
เวทานตะ ที่ปฏิเสธความเป็นคู่ของ
พรหม
ศังกระเชื่อว่านอกจากพรหมแล้วไม่มีอะไรที่เป็นความจริงโลกที่เรามองเห็นกันอยู่นี้มิใช่ความจริงเป็นมายาหรือภาพลวงตา
แต่ดูเหมือนเป็นจริงสำหรับผู้มีอวิทยา คือความไม่รู้ในพรหม
เชื่อว่าแนวคิดของศังกระได้รับอิทธิพลบางประการจากคัมภีร์ภควัตคีตา
ซึ่งสอนว่าโลกดังที่เรารู้จักกันนี้เป็นมายา ซึ่งผู้มีอวิทยาเห็นเป็นจริง
เมื่อใดมนุษย์กำจัดอวิทยาได้ มนุษย์ก็จะเห็นความจริงสูงสุดคือ
เข้าถึงพรหม ส่วนขณะที่ยังมีอวิทยามนุษย์จะต้องยึดมั่นในพระเจ้า
ซึ่งถือ สคุณพรหม หมายถึง พรหมอันมีลักษณะที่มนุษย์เข้าใจได้
(ศรีสุรางค์ พูลทรัพย์ ภควัตคีตา : ปรัชญาสำหรับผู้ไม่พอใจสวรรค์)
ดังนั้นตามแนวคิดของสกุล อทไวตะเวทานตะ
มนุษย์จะหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด หรือ บรรลุโมกษะ
ได้ก็โดยการสำนึกอย่างลึกซึ้งในเอกภาพของพรหม
มาถึงสมัยนี้ ดูเหมือนว่าพิธีกรรมจะลดความสำคัญลงไป
โดยเชื่อว่าพิธีกรรมยังมีความสำคัญสำหรับผู้มีอวิทยาและกามะเพื่อจะทำให้จิตบริสุทธิ์
ส่วนเมื่อมนุษย์เข้าถึงวิทยา (ความเป็นเอกภาพของพรหม
หรือความจริง ความรู้ขั้นปรมัตถ์) แล้วพิธีกรรมก็หมดความสำคัญ
หลังสมัยศังกระแล้วยังคงมีอิทธิพลของเวทานตะปรากฏอยู่หลายแขนง
แต่ที่มีชื่อเสียง และมีอิทธิพลต่อศาสนาฮินดูมากที่สุดคือทฤษฎีของรามานุชา
ซึ่งปรากฏเมื่อราว ๆ คริสต์ศตวรรษที่ 11 นั่นคือปรัชญาสกุล
"วิศิษฎาทไวตะ"
รามานุชาไม่เห็นด้วยกับศังกระในเรื่องมายาของโลก
เขาเชื่อว่า พระเจ้า และ โลก
เป็นสิ่งเดียวกัน เช่นเดียวกับร่างที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับวิญญาณ
ฉะนั้นโลกจึงเป็นจริง โลกคือร่างของพระเจ้า
ซึ่งพระเจ้าสร้างขึ้นจากพระองค์เอง โลกขึ้นอยู่กับพระเจ้า
เช่นเดียวกับร่างกายขึ้นอยู่กับวิญญาณ
พระเจ้ากับวิญญาณเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
มิใช่ว่าเพราะทั้งสองเหมือนกัน แต่เพราะ พระเจ้าอยู่ในวิญญาณ
แต่มนุษย์ไม่ทราบความจริงข้อนี้ จนกว่าจะมีวิทยาซึ่งจะเกิดขึ้นได้ด้วยการรับใช้พระเจ้าอย่างสุดกายสุดใจ
ผู้ที่พระเจ้าโปรดปรานเท่านั้นจึงเกิดศรัทธาที่แท้จริงต่อพระเจ้า
รามานุชาเชื่อในความรักอย่างลึกซึ้งที่มนุษย์พึงมีต่อพระเจ้าความศรัทธา
ความเชื่อมั่นอย่างแรงกล้าในความรักของพระเจ้าที่ชนะทุกสิ่งทุกอย่าง
ความหลุดพ้นของรามานุชา คือการได้รับใช้พระเจ้าอย่างใกล้ชิดใน
ไวกุณฐ์ หมายถึงการผ่านพ้นกาลเวลาและที่อันมีขอบเขต
โดยสรุปก็คือ รามานุชาเน้นความรักที่พระเจ้ามีต่อมนุษย์และที่มนุษย์มีต่อพระเจ้า
ว่าเป็นสิ่งประเสริฐสุด
สิ่งสำคัญที่เกิดขึ้น อันเนื่องมาจากแนวคิดของรามานุชานั้น
ไม่ใช่เพียงพัฒนาการของปรัชญาเวทานตะ แต่แนวคิดของรามานุชาได้ส่งอิทธิพลสำคัญทำให้เกิดความเคลื่อนไหวทางศาสนา
ซึ่งเรียกกันว่า "ภักติ" ที่เน้นความรักของพระเจ้าที่มีต่อมนุษย์
และระหว่างมนุษย์กับพระเจ้าโดยเชื่อว่าภักติเป็นเครื่องมือที่ดีที่สุดที่ทำให้มนุษย์บรรลุโมกษะ |
ลัทธิภักติ
(Bhakti Movement) (Devotion to a Personal God)
ศาสนิกชนฮินดู มีแนวคิดเกี่ยวกับพระเจ้าอยู่สองด้าน
กล่าวคือ ด้านหนึ่งพระเจ้าของเขาเป็นสิ่งสูงส่ง
อยู่พ้นจากชีวิตปกติของมนุษย์ มนุษย์จะต้องสังเวยบูชา
ความสัมพันธ์ของมนุษย์กับพระเจ้าจะมีลักษณะที่มนุษย์อยู่ต่ำกว่าพระเจ้า
ต้องเคารพผู้ที่อยู่สูงกว่าเสมอ
อีกด้านหนึ่งชาวฮินดูเชื่อว่า พระเจ้า หรือ
พรหม คือสิ่งเดียวกับมนุษย์จากแนวคิดเรื่องความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของ
อาตมัน กับ ปรมาตมัน
พระเจ้าอยู่ใกล้ชิดมนุษย์แทรกอยู่ในทุกที่ทุกแห่ง
รวมทั้งในตัวมนุษย์ แนวคิดเกี่ยวกับพระเจ้าประการหลังนี้เองที่ถูกยอมรับกันมากในระยะหลัง
ทำให้ความสัมพันธ์ของมนุษย์กับพระเจ้าเปลี่ยนไปกลายเป็นความรักที่มีต่อกัน
แทนที่ความสัมพันธ์แบบเดิม
แนวคิดเกี่ยวกับ "ภักติ"
นี้เชื่อกันว่าปรากฏในอินเดียมาก่อนสมัยของรามานุชา
ซึ่งรามานุชาน่าจะได้อิทธิพลจากแนวคิดที่ปรากฏอยู่ในอินเดียมาตั้งแต่ก่อนสมัยคริสตกาล
อย่างเช่นจาก ภควัตคีตา ก็ปรากฏเรื่องราวความรักของพระเจ้าที่มีต่อมนุษย์
โดย พระกฤษณะ ตรัสว่า จะนำผู้ภักดีต่อพระองค์ให้หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด
หรือจากเรื่องราวอวตารในปางต่าง ๆ ของ พระวิษณุ
(พระนารายณ์) ส่วนหนึ่งได้แสดงให้เห็นว่า
พระเจ้าทรงรักมนุษย์
และช่วยให้มนุษยชาติรอดพ้นจากหายนะ
แม้แต่เรื่องราวของ พระศิวะ ซึ่งโดยทั่วไปเข้าใจว่าพระศิวะคือ
พระผู้ทำลาย ก็ยังมีเรื่องราวของความรักที่มีต่อมนุษยชาติ
โดยที่พระศิวะทรงดื่มพิษอันเกิดจากการกวนเกษียรสมุทร
เพื่อให้มนุษยชาติรอดพ้นจากภัยของพิษนั้น
นอกจากเรื่องราวของศาสนาฮินดูที่แสดงให้เห็นถึงความรักของพระเจ้าที่มีต่อมนุษย์แล้ว
ในศาสนาพุทธนิกายมหายานก็ปรากฏแนวคิดที่คล้ายกัน
และเชื่อว่าน่าจะมีอิทธิพลต่อศาสนาฮินดู ความสัมพันธ์ในเรื่องของความรักที่ปรากฏในศาสนาพุทธมหายานนั้น
กล่าวโดยย่อก็คือพระโพธิสัตว์ซึ่งสำเร็จมรรคผลแล้วสามารถจะนิพพานไปได้เมื่อใดก็ได้
แต่ด้วยความรักความเมตตาที่มีต่อสัตว์โลกที่ทุกข์ทรมานกับการเวียนว่ายตายเกิด
พระองค์จึงทรงอยู่ในโลกเพื่อเทศนาสั่งสอนสรรพสัตว์ทั้งหลายให้นิพพานไปก่อน
แล้วจึงจะนิพพานตามไปทีหลัง
ความเคลื่อนไหวภักตินี้ปรากฏเห็นเด่นชัดทางตอนใต้ของอนุทวีป
ในดินแดนของกลุ่มคนที่มิใช่อารยันตั้งแต่ก่อนคริสต์ศตวรรษที่
7 รามานุชาในสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 11 เป็นผู้ทำให้ลัทธิภักติแพร่หลายออกไปอย่างกว้างขวาง
รามานุชาย้ำให้เห็นว่า ความรักความภักดีเป็นเครื่องมือที่ดีที่สุดที่จะทำให้มนุษย์หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด
อย่างไรก็ตามรามานุชาก็มิได้ปฏิเสธแนวคิดที่ว่า
"ความรู้" ก็เป็นเครื่องมือที่ดีในการหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด
แต่สู้ "ภักติ" ไม่ได้
และพระเจ้าของรามานุชานั้น มีตัวตน
(Personal God) ไม่ได้เป็น สภาวะ
เหมือนใน อุปนิษัท
การแสดงความรัก ความนับถือต่อพระเจ้าอย่างลึกซึ้งรุนแรง
ที่เรียกว่า "ภักติโยคะ"
(ภักดี) นั้นจะนำผู้ปฏิบัติไปพบกับ พระพรหม
(ภควาน) ในศาสนาฮินดู "ภักติโยคะ"
นั้นสามารถจำแนกออกได้ 9 ประการคือ
1. ศรวณ
ได้แก่การฟังหมายถึงหากประสงค์จะทราบเรื่องราวใด
ๆ อันเป็นความรู้ ก็ควรที่จะสดับตรับฟังเกี่ยวกับสิ่งนั้นให้มาก
ๆ การศึกษาเล่าเรียนก็จัดอยู่ในข้อนี้ด้วย
2. กีรตน เป็นการย่อยในลำดับต่อมา
คือหลังจากฟังแล้วก็ไปบอกกล่าว ประกาศให้ทราบโดยทั่วไปหรือไม่ก็สังคายนาสิ่งที่ได้ฟังมาให้เข้าใจกันอย่างแจ่มแจ้ง
โดยปราศจากข้อสงสัย
3. สมรณ
คือการหมั่นคิด หมั่นพิจารณาในสิ่งที่ได้ยินได้ฟังมา
และจดจำโดยใช้จินตนาการ เพื่อให้ความรู้ความคิดนั้นแตกฉานยิ่งขึ้น
4. จรณเสวา
บางครั้งเรียกสั้น ๆ ว่า "เสวา" แปลว่า
การรับใช้ "จรณ" แปลว่า เท้าหรือฝ่าเท้า
หมายถึงการรับใช้อยู่แทบเท้าของพระเจ้า
5. ปูชา คือกระทำสักการบูชาต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์
เช่น พระพรหม หรือกระทำการใด ๆ ก็ได้ที่ตั้งใจไว้แล้วด้วย
ความนับถือและความเคารพบูชา
6. วันทนา
คือการนอบน้อมกราบไหว้
7. ทาสย
คือ ภาวะแห่งความเป็นทาส คนเราควรถือว่าตนเป็นทาสของพระเจ้าเสมอ
ดังนั้นควรปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระพรหมไม่ว่าจะอยู่ใกล้หรือไกลขนาดไหนก็ตาม
ก็ไม่ควรขัดคำสั่งของพระเจ้า
8. สขย คือ
ภาวะแห่งความเป็นเพื่อน หมายความว่าให้ถือว่าพระพรหมเป็นมิตรที่ดีที่สุด
มนุษย์ควรปฏิบัติต่อพระพรหมเสมือนเป็นมิตรที่ดี
และเป็นเพื่อนที่อยู่ใกล้ชิดอยู่ตลอดเวลา ด้วยเหตุที่พระพรหมอยู่ใกล้ชิดนี่เอง
มนุษย์จึงควรปฏิบัติแต่ความดี หากทำชั่วก็จะเป็นเหตุให้มิตรจากไปได้
9. อาตมสมรปณ คือ
ภาวะอันมีแล้วหรือเจริญแล้วเป็นของตน ได้แก่ กาย
ทรัพย์ ลูกหลาน (ที่เชื่อว่าเป็นของตน) สิ่งทั้งปวงนี้ถือว่าเป็นของพระพรหม
ท่านย่อมมีสิทธิ์เต็มที่ หากพระพรหมต้องการจะเอาคืนก็ย่อมคืนให้ได้
หรือหากพระพรหมต้องการยกให้คนอื่นท่านก็ย่อมยกให้ได้
ตัวมนุษย์ (ที่อ้างว่าเป็นเจ้าของ) ก็ไม่ต้องวิตกหรือเศร้าหมอง
หากควรจะแสดงความยินดีที่พระพรหมได้ช่วยให้ภาระของเราลดน้อยลง
โดยสรุปก็คือให้เข้าใจว่าสิ่งทั้งหมดเป็นของพรหมไม่ถือเป็นของเราเลย
การปฏิบัติซึ่งจะแสดงความรักต่อพระเจ้าอย่างลึกซึ้งรุนแรงทั้ง
9 ประการนั้น ดูเหมือนว่า การ ปูจา
หรือ บูชา (Buja) จะเป็นการปฏิบัติที่แพร่หลาย
และง่ายต่อศาสนิกชนฮินดูตั้งแต่สมัยโบราณ จนกระทั่งปัจจุบัน
เราก็ยังพบการปูชาของศาสนิกชนฮินดูได้ทั่วไป (สำหรับผู้ไม่เคยเดินทางไปอินเดียอาจสังเกตได้จากภาพยนตร์อินเดีย
ซึ่งมักจะมีฉากเกี่ยวกับการปูชาอยู่ในภาพยนตร์แทบทุกเรื่อง)
และอาจด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้เกิดการสร้างโบสถ์วิหารของฮินดูขึ้นทั่วอนุทวีป
ทั้งนี้ก็ด้วยเหตุที่จะใช้เป็นที่ประดิษฐานเทวรูป
ซึ่งผ่านพิธีกรรมอัญเชิญพระเจ้าให้เข้าสิงสถิต และโบสถ์วิหารเหล่านี้เองที่จะเป็นที่ประกอบพิธีกรรม
"ปูจา" แด่พระเจ้าที่ตนเองนับถือการ
"ปูจา" ก็กระทำได้โดยง่าย
กล่าวคือ เพียงแต่เตรียมเครื่องสังเวยซึ่งอาจเป็นข้าวตอก
ดอกไม้ ประทีป เพียงอย่างละเล็กน้อย (กรณีที่เป็นการปูชาส่วนตัว)
เดินทางไปยังวิหารที่ประดิษฐานเทวรูป (พระเจ้าหรือเทพอื่น
ๆ) ที่ตนนับถือ เมื่อไปถึงแล้วก็สั่นระฆัง ถวายเครื่องสังเวย
สวดอ้อนวอนร้องขอ โดยอาจมีพราหมณ์ที่อยู่ ณ โบสถ์
หรือเทวาลัยนั้น ๆ คอยแนะนำ (แต่มิได้เป็นผู้นำในการประกอบพิธีกรรม)
พิธีกรรมปูชานี้เราจะเห็นความแตกต่างจาก "ยัญกรรม"
ในสมัยพระเวทซึ่งยุ่งยากซับซ้อน และขาดลักษณะปัจเจก
การปูชานั้นปัจเจกบุคคลสามารถจะกระทำพิธีปูชาได้โดยมิต้องมีพราหมณ์เป็นคนกลาง
การปูชาก็ทำได้ง่าย ๆ ในโอกาสใดก็ได้ ความง่ายของการประกอบพิธีกรรมนี้เองน่าจะเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้ลัทธิภักติขยายตัวไปอย่างกว้างขวาง
และดึงดูดประชาชนจากวรรณะกลาง และวรรณะต่ำให้เข้ามามีส่วนร่วมในระบบความเชื่อนี้ด้วย
นอกเหนือไปจากแนวคิดที่ว่าพระเจ้าใกล้ชิดกับคนทุกชนชั้น
ผลที่ตามมาก็คือศาสนาฮินดู ภายใต้ความเคลื่อนไหวนี้
กลายเป็นศาสนาสากลของประชาชนในอนุทวีป มิจำกัดตัวอยู่ในแวดวงของชนชั้นสูงอย่างที่เคยเป็นมาในอดีตคือในสมัยพระเวทและสมัยพราหมณะ
|
ศาสนาฮินดู ภายใต้ความเคลื่อนไหว
ภักติ
ศาสนาฮินดูภายใต้ความเคลื่อนไหวภักติดูเหมือนจะให้เสรีภาพต่อศาสนิกชนในการที่จะเลือกนับถือพระเจ้าองค์ใดก็ได้ที่ตนมีความศรัทธา
ส่งผลให้ศาสนาฮินดูกลายเป็นศาสนาที่มีพระเจ้ามากที่สุดในโลกก็ว่าได้
เพราะนอกเหนือจากองค์พระเจ้าที่แท้จริงแล้ว ศาสนิกชนฮินดูก็ยังนับถือส่วนที่ขยายหรือเกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อมกับองค์พระเจ้านั้นๆ
ด้วย อย่างเช่น มีการนับถือ องค์พระวิษณุ ในขณะเดียวกัน
ศาสนิกชนอีกกลุ่มอาจจะนับถือ พระราม ซึ่งเป็นอวตารหนึ่งของพระวิษณุ
และศาสนิกกลุ่มอื่นก็อาจจะนับถือ หนุมาน
ซึ่งเกี่ยวข้องกับพระรามผู้เป็นอวตารของพระวิษณุ จากตัวอย่างดังกล่าวเราพอจะมองเห็นเสรีภาพและอิสรภาพในการเลือกนับถือพระเจ้าองค์ใดก็ได้ที่ตนนั้นศรัทธา
อย่างไรก็ตามเราก็พอจะแบ่งกลุ่มศาสนิกชนฮินดูได้เป็น
3 กลุ่ม โดยแบ่งตามการนับถือบูชาพระเจ้าที่แตกต่างกันอันได้แก่
1. นิกายไวษณพ
หรือ วิษณุนิกาย นับถือ พระวิษณุ
หรือพระนารายณ์ เป็นเทพสูงสุด
2. นิกายไศวเวท
หรือ ศิวะนิกาย นับถือ พระศิวะ
หรือพระอิศวร เป็นเทพสูงสุด
3. กลุ่มศักติ นับถือเทพที่เป็น
หญิง (เทวี) หรือ "พลังงาน"
ของพระเจ้าสูงสุด
นิกายไวษณพ, ไวษณนิกาย หรือวิษณุนิกาย
นิกายนี้ถือเอา พระวิษณุ (หรือพระนารายณ์)
เป็นเทพสูงสุด และก็ยังนับถือเทพอื่นๆ อันเกี่ยวเนื่องกับพระวิษณุไม่ว่าจะเป็นอวตารต่าง
ๆ (อาจยกเว้น พุทธาวตาร หรือ พระพุทธเจ้า
ของศาสนาพุทธ) หรือแม้แต่เทพที่เกี่ยวข้องซึ่งอาจไม่ใช่อวตารของพระวิษณุ
ทั้งนี้คุณสมบัติของพระวิษณุอาจเป็นเหตุผลที่ทำให้นิกายนี้เป็นนิกายที่ใหญ่ที่สุด
มีผู้นับถือมากที่สุด กล่าวคือ พระวิษณุถือว่าเป็นเทพแห่งการคุ้มครองปกป้องรักษาโลกเรื่องราวในอวตารต่างๆ
ของพระวิษณุ ก็แสดงให้เห็นถึงความรักความเมตตาที่พระองค์ทรงมีต่อมนุษยชาติ
คุณสมบัติและเรื่องราวของพระวิษณุสอดคล้องกับแนวคิดของลัทธิภักติ
ที่เน้นความรักระหว่างพระเจ้าที่มีต่อมนุษย์และที่มนุษย์พึงมีต่อพระเจ้า
จึงส่งผลให้เป็นนิกายที่มีผู้นับถือมากที่สุดดังกล่าว
ตัวอย่างที่ชัดเจนก็อย่างเช่นพระกฤษณะในคัมภีร์ภควัตคีตา
และพระรามในมหากาพย์ รามายณะ ทั้ง 2 พระองค์เป็นตัวแทนของความรักความเมตตา
เป็นบุคลิกภาพในอุดมคติของชาวฮิน
นิกายไศวเวท, ไศวะนิกาย หรือศิวะนิกาย
นิกายนี้ถือเอา พระศิวะ เป็นเทพสูงสุด
พระศิวะของชาวฮินดูเป็นที่รู้จักกันว่าเป็น พระผู้ทำลายโลก
แต่อย่างไรก็ตามคุณสมบัติและเรื่องราวบางประการของพระศิวะก็สามารถทำให้พระศิวะกลายเป็นเทพสูงสุดของนิกายนี้ได้
อย่างเช่น การทำสมาธิของพระศิวะ ซึ่งเชื่อว่าเป็นการธำรงรักษาโลกให้คงอยู่
หรือ การดื่มพิษซึ่งเกิดจากการกวนเกษียรสมุทร
เพื่อให้มนุษยชาติปลอดภัย ดังนั้นพระศิวะภายใต้ความเคลื่อนไหวของลัทธิภักตินี้จึงถูกลบร่องรอยของความโหดร้าย
กลายเป็นเทพที่มีความรักความเมตตาต่อมนุษยชาติ นิกายหนึ่งของไศวเวทที่คนไทยรู้จักดีคือ
นิกายลิงคายัต ที่มีการบูชา ศิวลึงค์
ทั้ง 2 นิกายดังกล่าวข้างต้น ต่างก็ยกย่องเทพเจ้าของตนให้เป็นใหญ่เหนือเทพในนิกายอื่น
และในขณะเดียวกันในแต่ละนิกายก็ยังแบ่งแยกออกเป็นนิกายย่อยๆ
ที่มีแนวคิดในการหลุดพ้นแตกต่างกันไปอย่างเช่น นิกายไศวเวทแบ่งออกเป็น
นิกายแมว นิกายลิง โดยเชื่อว่า พระเจ้าเป็นผู้เลือกผู้ที่หลุดพ้นเหมือนแมวคาบลูก
หรือมนุษย์จะหลุดพ้นได้ก็ต้องยึดติดอยู่กับพระเจ้าเหมือนลูกลิงกอดแม่ลิงเอาไว้
กลุ่มศักติ หรือศักตินิกาย
กลุ่มนิกายศักตินี้นับถือเทพที่เป็นหญิง (เทวี) ซึ่งเป็นชายาของพระเจ้าสูงสุด
โดยมีแนวคิดว่าโลกนั้นประกอบด้วยสสารและพลังงาน เทพเจ้าที่เป็น
ชาย คือ สสาร ส่วนเทพที่เป็น
หญิง นั้นคือ พลังงาน
หากปราศจากซึ่งพลังงานแล้ว เทพที่เป็นชายก็ไม่มีอำนาจฤทธิ์เดชอะไร
ดังนั้นผู้คนจึงหันไปนับถือพลังงาน นั่นก็คือเทพที่เป็นหญิงนั่นเอง
หากเราตั้งข้อสังเกตเราก็จะพบว่าความจริงแล้ว แนวคิดเกี่ยวกับการนับถือเทพที่เป็นหญิง
หรือที่เรียกว่า เทพมารดร (Mother Goddess)
ได้ปรากฏร่องรอยในอารยธรรมอินเดียตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์
คือในสมัยอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุ เชื่อว่าชาวอารยันเมื่ออพยพไปสู่ลุ่มแม่น้ำคงคา
ก็คงจะซึมซับวัฒนธรรมของชนพื้นเมือง จนกระทั่งปรากฏออกมาในพัฒนาการทางศาสนา
ซึ่งดูเหมือนจะเป็นอิทธิพลที่สำคัญที่สุดของวัฒนธรรมพื้นเมืองอินเดียที่มีต่อชาวอารยัน
เทพที่เป็นหญิงที่ศาสนิกชนในลัทธินี้เคารพนับถือมากที่สุด
ดูเหมือนจะเป็น พระนางอุมา ชายาของ พระศิวะ
ในปาง ทุรคา หรือ กาลี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแถบลุ่มแม่น้ำคงคา
เช่นแถบแคว้นเบงกอล ศาสนิกชนในนิกายนี้จะบูชาศักติด้วยชีวิต
เลือดเนื้อ แม้กระทั่งชีวิตมนุษย์ เมื่ออังกฤษเข้าปกครองอินเดียแล้วก็ยังมีพิธีบูชายัญสังเวยแด่เจ้าแม่กาลี
หรือสังหารชีวิตมนุษย์เพื่อถวายแด่เจ้าแม่กาลีตามความเชื่อ
เช่น พวกธัก (Thugs) ที่ฆ่าคนโดยรัดคอจนตาย เพื่อมิให้เลือดตกลงพื้นดิน
เนื่องจากตามตำนานเกี่ยวกับเจ้าแม่กาลีกล่าวเอาไว้ว่า
เจ้าแม่กาลีเคยต่อสู้กับพวกภูติผีปีศาจ ครั้งแรกใช้อาวุธมีคมฟาดฟันเหล่าปีศาจ
แต่เมื่อเลือดของปีศาจตกลงถึงพื้นดินก็กลับฟื้นคืนชีพ
เกิดปีศาจขึ้นอีก เจ้าแม่กาลีจึงใช้วิธีรัดคอปีศาจให้ตายจึงสามารถปราบเหล่าปีศาจนั้นได้
อย่างไรก็ตามการปฏิบัติบูชาที่รุนแรงเช่นนี้ก็ค่อย ๆ หายไปจากอินเดีย
เมื่ออังกฤษนำการศึกษาแผนใหม่เข้าไปในอินเดีย เมื่อประมาณกลางคริสต์ศตวรรษที่
19
ไม่ว่าศาสนิกชนฮินดูจะนับถือพระเจ้าองค์ใดเป็นพระเจ้าสูงสุด
ไม่ว่าจะอยู่ในนิกายใด หรือศาสนิกชนเหล่านั้นจะอยู่ในวรรณะใดหรืออยู่นอกระบบวรรณะอย่างเช่น
พวกจัณฑาล เป้าหมายที่สำคัญที่สุดของศาสนิกชนฮินดูเหล่านั้นก็คือ
โมกษะ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นนิกายใดต่างก็สั่งสอนและชี้ทางให้ศาสนิกชนของตนมุ่งสู่โมกษะทั้งสิ้น
ลัทธิภักติ นี้เองที่ทำให้ศาสนาฮินดูเข้มแข็งขึ้นและขยายตัวไปทั่วอนุทวีป
ทำให้ศาสนาอื่นๆ ซึ่งขาดพัฒนาการที่ต่อเนื่อง ลดบทบาทของตนและบางศาสนาก็สลายตัวไปจากอนุทวีป
อย่างเช่น ศาสนาพุทธ ซึ่งแทบจะล่มสลายไปจากอินเดียแล้ว
เป็นต้น และด้วยความเข้มแข็งของศาสนาฮินดูนี่เองที่ทำให้สามารถต่อต้านวัฒนธรรมต่างถิ่นที่เข้าไปมีบทบาทในอนุทวีป
นั่นก็คือ ศาสนาอิสลาม แม้ว่าชาวมุสลิมจะมีอำนาจทางการเมืองในอินเดีย
ตั้งแต่เมื่อประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 13 แต่ก็มิได้ทำให้วัฒนธรรมฮินดูเสื่อมสลายไป
ในทางตรงข้ามเราพบว่าชาวฮินดูได้สร้างปราการป้องกันการรุกรานทางวัฒนธรรม
กระทั่งทำให้วัฒนธรรมฮินดู ยังคงเจริญงอกงามคู่ไปกับวัฒนธรรมของผู้ปกครอง
แม้กระทั่งในยุคที่อังกฤษปกครองอินเดีย
ศาสนาฮินดูก็ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการประกาศความมี
"อารยะ" ของชาวอินเดียเพื่อต่อสู้กับกระแส
"อารยะ" ของอังกฤษที่เข้าสู่อนุทวีปอินเดียโดยการ
ฟื้นฟูลัทธิฮินดู (Hindu Renaissance)
ในคริสต์ศตวรรษที่ 19
โดยสรุปเราพบว่านับตั้งแต่ศาสนาฮินดูเกิดขึ้น กระทั่งพัฒนากลายเป็นศาสนาสากล
ภายใต้ความเคลื่อนไหวที่เรียกว่า "ภักติ"
นั้นเราได้พบการเปลี่ยนแปลงในระบบความเชื่อของชาวอารยันอย่างมากมายเราได้พบการเปลี่ยนแปลงทั้ง
รูปธรรมและนามธรรม เช่น พิธีกรรม แนวคิด ปรัชญา
เราพบว่าพิธีกรรมสังเวยเทวดา ที่เคยมีบทบาทสำคัญในยุคพระเวท
และยุคพราหมณะลดความสำคัญลงไป พิธีกรรมอย่างง่าย
ๆ ที่เรียกว่า ปูชา เข้ามามีบทบาทแทน และดูเหมือนจะแพร่หลายในหมู่ประชาชนมากกว่า
ยัญกรรม ซึ่งเดิมจำกัดตัวอยู่ในหมู่ประชาชนที่มีวรรณะสูงเท่านั้น
พระเจ้าหรือเทพเจ้าของชาวอารยันในยุคแรก ๆ สูญหายไป
เกิดพระเจ้าใหม่ ๆ ขึ้นแทนที่ และดูเหมือนว่าเทพเจ้าที่เป็นส่วนขยายของเทพสูงสุดจะมีมาก
และมีบทบาทในหมู่ประชาชนค่อนข้างสูง จนทำให้เกิดเทพเจ้ามากมายในสังคมฮินดู
ศาสนิกชนบางคนอาจนับถือเทพเจ้าพร้อมกันถึง 3 องค์
คือ นับถือเทพประจำเมืองหรือประจำชุมชนไปพร้อมๆ
กับนับถือเทพประจำตระกูล และในขณะเดียวกันก็มีเทพส่วนตัวของตน
จากการที่มีพระเจ้ามากมายนี่เอง ทำให้มี
แนวคิดที่จะรวมเอาบรรดาเทพทั้งหลายของศาสนาฮินดูเข้าด้วยกัน
อาจด้วยเหตุผลเพื่อให้เกิดเอกภาพตามแนวคิดเอกนิยมที่ปรากฏในปรัชญาของอารยันในสมัยอุปนิษัท
แนวคิดที่จะรวมเอาเทพเจ้าต่าง ๆ ไว้ด้วยกันก็ได้แก่
แนวคิด "ตรีมูรติ" (Trimurti)
แปลว่า 3 ด้าน
แนวคิด ตรีมูรติ เชื่อว่า พระเจ้า
3 องค์ อันได้แก่ พระพรหม พระวิษณุ
และ พระศิวะ นั้นเป็น "อาการ"
หรือพลังด้านต่าง ๆ ของพระเจ้าสูงสุด ซึ่งมีสภาวะเป็นนามธรรมและจะไม่แสดงอาการใด
ๆ หากจะแสดงก็จะแสดงออกมา 3 ด้าน คือ
พระพรหม : การสร้าง
พระวิษณุ : การรักษา
พระศิวะ : การทำลาย
แนวคิดนี้เชื่อว่ามีขึ้นตั้งแต่สมัยราชวงศ์คุปตะ
(ประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 4-6) อย่างไรก็ตามเชื่อว่าแนวคิดนี้มิได้ส่งผลต่อพัฒนาการของศาสนาฮินดูเท่าใดนัก
นอกจากนี้ก็ยังมีแนวคิดที่มีบทบาทสำคัญทางตอนใต้ของอนุทวีป
เมื่อประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 9 คือการบูชา "หริหระ"
(Harihara) ซึ่ง หริ คือ พระวิษณุ
และ หระ คือ พระศิวะ
มีการบูชารูปเคารพซึ่งสร้างขึ้นโดยรวมบุคลิกภาพของ
พระวิษณุ และ พระศิวะ
เข้าไว้ด้วยกัน เชื่อว่า กษัตริย์ฮินดูแห่งอาณาจักรวิชัยนคร
(ประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 14-16) เป็นผู้อุปถัมภ์แนวคิดนี้
ความเปลี่ยนแปลงด้านแนวคิดปรัชญา เราพบว่าชาวอารยันได้พัฒนาแนวคิดปรัชญาทางศาสนาจากแนวคิดง่ายๆ
ในยุคพระเวท คือเพียงเพื่อตอบสนองต่อความต้องการโดยให้เทพเจ้าอำนวยอวยพรให้จนพัฒนาไปสู่ปรัชญาที่ลึกซึ้งมากขึ้นเรื่อยๆ
ในยุคพราหมณะ และยุคอุปนิษัทตามลำดับ
ท่ามกลางพัฒนาการนี้ สิ่งหนึ่งที่เราพบว่ามีบทบาทสำคัญต่อพัฒนาการนี้ก็คือ
อิทธิพลของวัฒนธรรมดั้งเดิมของลุ่มแม่น้ำสินธุ
วัฒนธรรมบางประการที่เชื่อว่ามีการประพฤติปฏิบัติในสมัยนั้น
ปรากฏขึ้นอีกครั้งท่ามกลางพัฒนาการทางศาสนาของอารยัน
เช่น การนับถือเทพที่เป็นหญิง การนับถือต้นไม้
การใช้น้ำในการประกอบพิธีกรรม แนวคิดปศุบดี ฯลฯ
ปรากฏการณ์อีกประการหนึ่งที่เกิดขึ้นเนื่องจากพัฒนาการของศาสนาฮินดูก็คือ
การสร้างโบสถ์หรือเทวาลัยที่เกิดขึ้นมากมาย
ซึ่งสะท้อนให้เห็นความสามารถระดับสูงในด้านสถาปัตยกรรมของคนอินเดีย
นอกจากนี้โบสถ์หรือเทวาลัยเหล่านี้ก็ยังเป็นศูนย์กลางของชุมชน
(คล้ายกับวัดในพุทธศาสนา แต่บทบาทในฐานะศูนย์กลางของชีวิตประชาชนคงจะน้อยกว่า)
ส่วนใหญ่คงจะใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมของพราหมณ์ที่ชาวบ้านไม่ได้ร่วม
บทบาทสำคัญอีกประการหนึ่งของโบสถ์ฮินดู คือ เป็นศูนย์กลางของการศึกษาภาษาสันสกฤต
ตั้งแต่อดีตจนถึงยุคการปกครองของคนต่างวัฒนธรรม
|
:
ขอขอบคุณ :
www.human.cmu.ac.th
บรรยายโดย : อาจารย์พีรพล อิศรภักดี |