ประวัติความเป็นมาและความหมาย
ลัทธินยายะ เกิดขึ้นหลังพุทธกาล โดย ฤาษีโคตมะ
หรือ เคาตมะ หรือ อักษปาทะ (200
ก่อน ค.ศ) เป็นผู้สถาปนา กล่าวคือชื่อและเนื้อหาสำคัญของลัทธินี้ได้มาจาก
นยายสูตร ซึ่งเป็นผลงานของท่าน
เคาตมะ ต่อมา วาตสยายนะ ได้แต่ง
นยายภาษยะ หรืออรรถกถาเพื่ออธิบายขยายความในนยายสูตรของฤาษีโคตมะ
และท่าน อุททโยตกระ ได้แต่ง วารติกะ
ขยายความในหนังสือนยายภาษยะอีกต่อหนึ่ง และต่อมา วาจัสปติ
ได้เขียน ตาตปรยฎีกา
ขยายความในวารติกะอีกทอดหนึ่ง จึงทำให้คัมภีร์นยายะสมบูรณ์มาก
ส่วนผู้ที่ทำให้นยายะทันสมัยหรือรู้กันว่า นวนยายะ
ก็คือท่าน คังเคศะ (ค.ศ.1200) ผู้แต่ง ตัตตวะจินดามณี
นอกจากนี้ก็ยังมีนักตรรกศาสตร์ที่สำคัญช่วยให้ปรัชญาสำนักนี้เจริญรุ่งเรือง
ต่อมาก็มี ท่านวาสุเทวะ ท่านรฆุนาถะ ท่านมธุรานาถะ ท่านชคทีศะ
และ ท่านคทาธระ เป็นต้น
คำว่า นยายะ เป็นภาษาสันสกฤต ซึ่งมีรากศัพท์ตรงกับภาษาบาลีว่า
นี ธาตุ แปลว่า นำ คือนำไปสู่ความจริงแท้ หรือเราจะรู้ความจริงแท้ได้อย่างไร
จึงเกิดวิธีการคิดหาเหตุผล เพื่อค้นหาความจริงแท้ขึ้นมา ดังนั้นนยายะก็คือตรรกวิทยาอินเดียนั่นเอง
ด้วยเหตุนี้ นยายะจึงมีชื่อหลายอย่างเช่น ตรรกศาสตร์ ศาสตร์แห่งการใช้เหตุผลบ้างปรมาณศาสตร์
ศาสตร์แห่งตรรกวิทยาและญาณวิทยาบ้าง เหตุวิทยา ศาสตร์แห่งเหตุบ้าง
วาทวิทยา ศาสตร์แห่งการโต้วาทีบ้าง และอานวีกษิกิ ศาสตร์แห่งการศึกษาเชิงวิจารณ์บ้าง
แต่จุดหมายสูงสุดของนยายะมิได้อยู่ที่ทฤษฎีแห่งความรู้ แต่อยู่ที่
โมกษะ ความหลุดพ้นทางสังสารวัฏ ส่วนทฤษฎีแห่งความรู้เป็นเพียงทางนำไปสู่โมกษะเท่านั้น
นยายะเป็นปรัชญาสัจนิยมทางตรรกะ (Logical Realism) คือ เชื่อความหลักตรรกศาสตร์ว่า
มีความจริงแท้อยู่ 2 อย่าง คือ ความจริงแท้ฝ่ายวัตถุ และ ความจริงแท้ฝ่ายนามธรรมหรือจิตใจ
ความจริงทั้ง 2 ฝ่าย ต่างก็เป็นความจริงแท้และเป็นอิสระต่อกัน
นอกจากนี้นยายะยังจัดเป็นปรัชญา อณูพหุนิยม (Atomic Plaralism)
ซึ่งถือว่าอณูของธาตุทั้ง 4 คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ เป็นมูลกำเนิดของโลกและสรรพสิ่งตลอดทั้งคนและสัตว์
ความสัมพันธ์ระหว่างนยายะกับไวเศษิกะ
นยายะ กับ ไวเศษิกะ มีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด
ดุจเดียวกับสางขยะกับโยคะ และอุปนิษัทกับเวทานตะ กล่าวคือทั้งสองลัทธิเป็นสมานตันตระ
หรือมีปรัชญาอย่างเดียวกัน อย่างเช่นลัทธิทั้งสองเห็นเหมือนกันว่า
ชีวิตในโลกนี้เต็มไปด้วยทุกข์และถือโมกษะเป็นภาวะที่ดับความทุกข์โดยสิ้นเชิง
เป็นจุดหมายสูงสุดของชีวิต และถือว่าสังโยชน์หรือพันธนะ หรือเครื่องผูกมัดสรรพสัตว์ให้ติดอยู่ในสังสารวัฏ
เกิดมาจากอวิชชา ส่วนโมกษะจะบังเกิดได้ก็เพราะวิชชา การรู้ความจริงแท้
ทั้งสองลัทธิเพียงแต่เน้นจุดต่างกันคือ ไวเศษิกะเน้นหรือพัฒนาไปทางอภิปรัชญา
แต่นยายะเน้นญาณวิทยา แต่นยายะก็ยอมรับอภิปรัชญาของไวเศษิกะเกือบทั้งหมด
ส่วนจุดที่แตกต่างกันก็พอมีบ้างดังต่อไปนี้
1. ไวเศษิกะ ถือว่า ปทารถะ หรือสิ่งต่างๆ
ที่รู้กันได้ด้วยคำพูด มี 7 อย่างคือ
ทรัพยะ, คุณะ, กรรมะ, สามานยะ, วิเศษะ, สมวายะ, อภาวะ
แต่นยายะถือว่ามี 16 อย่างคือ
ปรมาณะ, ปรเมยะ, สังสยะ, ประโยชนะ, ทฤษฏานตะ, สิทธานะ, อวยวะ
ตรรกะ, นิรณยะ, วาทะ, ชัปปะ, วิทานตะ, เหตวาภาสะ, จละ, ชาติ,
นิครหัสถานะ
นยายะได้สังเคราะห์ปถารถะทั้ง 7 อย่างของไวเศษิกะลงในปรเมยะ
ซึ่งเป็นปทารถะข้อที่ 2 ของตน
2. ไวเศษิกะ ถือว่า ปรมาณะ หรือบ่อเกิดของความรู้ที่
2 อย่างคือ ประจักษ์ประมาณ (Perception) และ
อนุมานประมาณ (Infecene) โดยรวม อุปมานประมาณ
(Comparison) และ ศัพทประมาณ (Verbal Authority)
อยู่ในอนุมานประมาณ แต่นยายะถือว่าปรมาณะมี 4 อย่างข้างต้น โดยแต่ละอย่างต่างก็เป็นอิสระต่อกัน
ไม่อาจรวมกันได้
ญาณวิทยา
ลักษณะของความรู้
ความรู้หรือญาณมีสภาวะกลางๆ ไม่จริงและไม่เท็จด้วยตัวเอง จำเป็นต้องอาศัยประสาทสัมผัสและอารมณ์
หรือสิ่งที่ถูกรู้เข้าประกอบด้วยจึงชัดเจน ความรู้มี 2 ชนิดคือ
รู้ถูก (ประมา) กับ รู้ผิด (อประมา)
กล่าวคือ ความรู้ตรงกับความเป็นจริงที่มีอยู่จริง ความรู้นั้นก็จัดว่าเป็นความรู้ที่ถูกต้อง
เช่น เห็นเชือกเป็นเชือก เห็นงูเป็นงู เป็นต้น แต่ถ้ารู้ไม่ตรงกับความเป็นจริง
เช่น เห็นเชือกเป็นงู เห็นงูเป็นเชือก อย่างนี้เป็นต้น เป็นความรู้ผิด
รวมทั้งความจำ ความสงสัย ความสำคัญผิด และการหาเหตุผลที่ตั้งอยู่บนสมมุติฐาน
ก็ตะดเป็นความรู้ผิด กล่าวคือความจำไม่ได้เป็นความรู้ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันทันใด
แต่สืบทอดมาอีกต่อหนึ่ง จึงเป็นความรู้โดยอ้อม ไม่ใช่ความรู้โดยตรง
ส่วนความสงสัยก็เป็นความรู้ที่ไม่แน่นอน สำหรับความเห็นผิดก็เป็นความเข้าใจผิด
เพราะไม่ตรงกันกับความเป็นจริง และการหาเหตุผลที่ตั้งอยู่บนสมมุติฐานก็ไม่ใช่ความรู้จริง
เพราะเป็นเพียงการตั้งสมมุติฐานคาดคะเนเท่านั้น จะถูกหรือไม่ก็ยังไม่แน่
ความรู้มีหน้าที่เปิดเผยให้เห็นปรากฎ 3 อย่างพร้อมกันคือ 1.เปิดเผยตัวผู้รู้
2. เปิดเผยสิ่งที่ถูกรู้ 3. เปิดเผยตัวความรู้ เช่น
ท่านเห็นดอกกุหลาบ ความรู้จะเปิดเผยว่า มีตัวท่านเป็นผู้เห็น
มีดอกกุหลาบเป็นสิ่งที่ถูกเห็น และความรู้ว่าท่านกับดอกกุหลาบนั้นต่างกันและต่างก็มีอยู่จริง
ความรู้ไม่ได้เป็นคุณสมบัติของจิต เป็นเพียงสมบัติจร เพราะในขณะที่หลับสนิทจะไม่ฝัน
หรือในขณะที่จิตเป็นสมาธิตลอดจนจิตที่เข้าถึงโมกษะ จะเป็นจิตว่าง
ไม่มีความรู้สึกใดใด
บ่อเกิดแห่งความรู้
ลัทธินยายะได้แสดงถึงความรู้ถูก หรือความรู้แท้ หรือความรู้สมบูรณ์ว่า
มีบ่อเกิดอยู่ 4 แหล่งด้วยกันคือ 1. ประจักษ์ประมาณ
(Perception) 2. อนุมานประมาณ (Inference)
3. อุปมานประมาณ (Comparison) 4 ศัพทประมาณ
(Testimony) ซึ่งจะได้แสดงถึงแต่ละอย่างต่อไป
ประจักษ์ประมาณ
ประจักษ์ประมาณ หรือ ปรัตยักษประมาณ
คือความรู้ที่เกิดจากอายตนะภายในหรือประสาทสัมผัส คือ ตา หู
จมูก ลิ้น กาย และใจ อย่างใดอย่างหนึ่งไปกระทบกับอายตนะภายนอก
คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์ อย่างใดอย่างหนึ่งแล้วเกิดความรู้ขึ้นมา
เช่น ตาเห็นรูป ก็รู้ว่าเป็นอะไร ได้ยินเสียงก็รู้ว่าเป็นเสียงอะไร
ได้กลิ่นก็รู้ว่ากลิ่นอะไร ลิ้นรับรสก็รู้ว่ารับรสอะไร กายสัมผัสกับอะไรก็รู้ว่าเป็นอย่างไร
อ่อนหรือแข็ง เย็นหรือร้อน ตลอดถึงการนึกคิดเอง เช่น คิดถึงสิ่งที่พอใจก็เป็นสุข
คิดถึงสิ่งที่ไม่พอใจก็เป็นทุกข์ อย่างนี้เป็นต้น ก็จะดเป็นประจักษ์ประมาณทั้งสิ้น
ข้อนี้ก็ตรงกับที่ฤาษีเคาตมะได้ให้นิยามความรู้ขั้นประจักษ์ไว้ว่า
ได้แก่ความรู้ที่ตรงกับความจริงที่เกิดขึ้นจากประสาทสัมผัสอย่างใดอย่างหนึ่งไปกระทบกับอารมณ์ภายนอกอย่างใดอย่างหนึ่งโดยตรง
และความรู้นั้นไม่ได้เกี่ยวข้องกับชื่อและคุณสมบัติใดใดของอารมณ์
หรือสิ่งที่ถูกรู้นั้นประการหนึ่ง ก็อีกประการหนึ่งเป็นความรู้ที่เกี่ยวกับชื่อและคุณสมบัติของอารมณ์นั้นๆด้วย
จากบทนิยามนี้แสดงว่า ความรู้ขั้นประจักษ์มี 2 ขั้นตอนคือ
1. นิรวิกัลปประจักษ์ หรือประจักษ์ที่ยังไม่ผสมกับความนึกคิดและความจำ
เป็นเพียงขั้นแรกของความรู้ที่เกิดจากการสัมผัสของอายตนะภายในกับอายตนะภายนอกเท่านั้น
ยังไม่ทันรู้ว่าอะไรเป็นอะไร รู้แต่เพียงว่ามีสิ่งหนึ่งเท่านั้น
อย่างเช่นการเข้าไปในห้องมืดก็จะเห็นอะไรลางๆเท่านั้น แต่ยังไม่รู้ชัดว่าอะไรเป็นอะไร
หรือแม้แต่อยู่ในที่สว่าง แต่ยังเห็นไม่ชัดว่าอะไรเป็นอะไร อย่างเห็นมีอะไรเกาะอยู่ที่พุ่มไม้
แต่ยังไม่รู้ว่าเป็นอะไร อย่างนี้เป็นต้น ดังนั้น นิรวิกัลปประจักษ์จึงเป็นความรู้ที่ยังคลุมเครือ
2. สวิกัลปประจักษ์ คือ จำได้รู้ได้ว่าสิ่งที่ถูกรู้นั้นคืออะไร
มีลักษณะอย่างไร เป็นต้น อย่างเช่นเข้าไปในห้องมืดดังกล่าวแล้วสักครู่หนึ่งสายตาปรับเข้ากับความมืด
ก็จะรู้ชัดขึ้นว่ามีอะไรอยู่ในห้องนั้น หรือเมื่อเข้าไปใกล้ต้นไม้ก็จะรู้ว่าสิ่งที่เกาะอยู่ที่กิ่งไม้คือนก
ดังนี้เป็นต้น ดังนั้นสวิกัลปประจักษ์จึงเป็นความรู้ที่แจ่มชัด
นยายะ ได้แสดงไว้ว่า ในความรู้ประจักษ์ประมาณนี้
มีกระบวนการดังนี้ ขั้นแรกอาตมันสัมผัสกับจิต ต่อไปจิตสัมผัสก็อายตนะภายใน
และขั้นสุดท้ายอายตนะภายในสัมผัสกับอายตนะภายนอก ดังนั้นการกระทบหรือสัมผัสกันระหว่างอายตนะภายในกับภายนอกจะเกิดขึ้นไม่ได้
หากจิตไม่สัมผัสกับอายตนะภายใน และในทำนองเดียวกันการสัมผัสระหว่างจิตกับอายตนะภายในจะเกิดขึ้นไม่ได้
หากอาตมันไม่สัมผัสกับจิตมาก่อน เพราะฉะนั้นกระบวนการของความรู้ประจักษ์จึงต้อวเริ่มต้นที่การสัมผัสระหว่างอาตมันกับจิตเป็นสำคัญ
จากนั้นการสัมผัสต่อๆไปก็จะตามมา
ต่อมาท่านวิศวนาถเห็นว่า บทนิยามข้างต้นยังไม่ครอบคลุมถึงประจักษ์พิเศษของพวกวิเศษที่ได้ตาทิพย์
หูทิพย์ เป็นต้น ซึ่งรู้ได้โดยไม่ต้องอาศัยประสาทสัมผัสใดๆ ท่านจึงเพิ่มคำนิยามขึ้นอีกว่า
"ความรู้ประจักษ์ได้แก่ความรู้ตรงหรือเกิดขึ้นทันทีทันใด
โดยไม่อาศัยประสาทสัมผัสใดๆ" เพราะฉะนั้นความรู้ขั้นประจักษ์ประมาณจึงมี
2 ชนิดคือ
1. ชนิดที่อาศัยประสาทสัมผัสดังกล่าวมาแล้วข้างต้น เรียกว่า
เลากิกะประจักษ์
2. ชนิดที่ไม่อาศัยประสาทสัมผัส เรียกว่า อเลากิกะประจักษ์
ซึ่งมีประเภทดังนี้
ก. สามานยลักษณประจ้กษ์ประมาณ คือการรู้ลักษณะสากล
หรือทั่วไปของสิ่งทั้งหลายอันเป็นเครื่องหมายที่บ่งบอกถึงชาติหรือประเภทของสิ่งนั้นๆ
ว่ามีลักษณะร่วมกัน เช่น ความเป็นม้า มีอยู่ในม้าทุกตัว ไม่ว่าจะเป็นม้าที่มีอวัยวะครบถ้วนหรือม้าพิกลพิการ
ไม่ว่าม้าตัวที่มีสีดำ สีแดง สีขาว สีหมอก และสีอื่นๆ ไม่ว่าม้าตัวใหญ่หรือตัวเล็ก
และไม่ว่าถ้าอยู่ที่ไหน ประเทศอะไร เหล่านี้เป็นต้น ก็เป็นม้าเหมือนกันหมดหรือความเป็นคน
ความเป็นนก และความเป็นปลา เป็นต้น ก็มีนัยทำนองเดียวกัน จากตัวอย่างข้างต้น
เรามองเห็นม้าแต่ละตัว แต่มองไม่เห็นความเป็นม้า ถึงกระนั้นเราก็รับรู้ความเป็นม้าในม้าทุกตัวได้
โดยผ่านทางม้าแต่ละตัวนั่นเอง ดังนั้นนยายะจึงกล่าวว่าสากลภาพเป็นสิ่งที่เรารับรู้ได้โดยวิธีวิสามัญคือ
ไม่อาศัยประสาทแบบปกติธรรมดา แต่อาศัยสิ่งที่สากลภาพอาศัยอยู่
เป็นสื่อกลางให้รู้เห็นสากลภาพในบรรดาสิ่งต่างๆ เหล่านั้นที่มีลักษณะร่วมกันอยู่
ข. ชญาณลักษณประจักษ์ประมาณ คือ ความจำได้หมายรู้ถึงสิ่งต่างๆ
ที่เคยพบเห็นมา อย่างเช่นเห็นน้ำแข็งก็รู้ว่าเย็น เห็นไฟก็รู้ว่าร้อน
เห็นดอกบัวก็รู้ว่าหอม ดังนี้เป็นต้น จากตัวอย่างข้างต้นจะเห็นว่า
ความเย็นของน้ำแข็งก็ตาม ความร้อนของไฟก็ตาม เป็นเรื่องที่มองไม่เห็นเพราะไม่ใช่วิสัยของตา
แต่เป็นวิสัยของกายความหอมของดอกบัว ก็เป็นวิสัยของจมูก ไม่ใช่วิสัยของตา
แต่ถึงกระนั้นเราก็รู้ถึงคุณสมบัติของสิ่งเหล่านั้นได้โดยอาศัยจิตซึ่งจัดทำสิ่งนั้นๆ
ไว้ในอดีต นอกจากนี้ทฤษฎีมายา หรือทฤษฎีภาพลวงตาของนยายะที่เรียกว่า
"อันยถาชยาติ" ก็ขึ้นอยู่กับการรับรู้ชญาณลักษณะเช่นกัน
อย่างเห็นเชือกเป็นงู ไม่ใช่เพราะเชือกมันกลายเป็นงู แต่เป็นเพราะความจำที่เคยเห็นงูมาในอดีตปรากฎขึ้นในใจ
จึงทำให้สำคัญผิดคิดว่าเชือกเป็นงู เมื่อมองเห็นเชือกในที่มีแสงสลัวมองเห็นตัวไม่ชัดเจน
ค. โยคชะ คือ ความรู้ที่เกิดจากญาณวิเศษ เช่น
หูทิพย์ ตาทิพย์ เป็นต้นตลอดทั้งความรู้เห็นแจ่มแจ้งทั้งเรื่องอดีต
ปัจจุบัน และอนาคต ดังพวกฤๅษีที่มีญาณกล้าสามารถทำนายเหตุการณ์ต่างๆ
ได้อย่างตาเห็น ความรู้ดังกล่าว เป็นความรู้ทางใจไม่ต้องอาศัยประสาทสัมผัสใดๆ
เป็นความรู้ที่เกิดจากอำนาจสมาธิ กล่าวคือ ผู้ที่บำเพ็ญสมาธิจนจิตสงบถึงระดับอุปจารสมาธิขึ้นไป
ก็จะบรรลุญาณวิเศษเหนือคนธรรมดาทั่วไปเเช่น มีหูทิพย์ ตาทิพย์
และระลึกชาติได้เป็นต้น ผู้ที่ได้ญาณวิเศษนี้ หากเทียบกับทางพุทธศาสนา
ก็คือผู้ที่ได้บรรลุอภิญญา หรือในศาสนาเช่นเรียกว่า เกวลชญาณ
หรือสางขยะและโยคะเรียกว่า ไกวัลยะ และลัทธิเวทานตะเรียกว่า
อปโรกษานุภูติ นั่นเอง
อนุมานประมาณ
คำว่า อนุมาน แยกศัพท์ออกเป็น อนุ+มาน โดยคำว่า
อนุ เป็นอุปสรรค แปลว่า ตามหรือภายหลังส่วน มาน แปลว่า ความรู้
ดังนั้นอนุมานก็คือความรู้ที่เกิดจากเหตุผล โดยใช้ความรู้ที่มีอยู่แล้วเป็นฐานสำหรับสืบสาวไปหาอีกสิ่งหนึ่งซึ่งยังไม่รู้แล้วก็สามารถรู้สิ่งนั้นได้
เช่นเห็นควันที่ภูเขา ก็อนุมานได้ว่าต้องมีไฟอยู่ที่ภูเขานั้นโดยไม่ต้องขึ้นไปดูให้เห็นกับตาว่า
มีไฟอยู่ที่นั่นจริงหรือไม่ ทั้งนี้ก็เพราะเรามีความรู้อยู่ก่อนแล้วว่า
ควันกับไฟเป็นของคู่กัน ถ้ามีควันก็ต้องไฟ หรือเมื่อเราเห็นที่ใดเปียกเราก็รู้ว่าที่นั่นมีน้ำ
ที่ใดเย็น เราก็รู้ว่ามีลม เห็นคนยิ้มแย้ม เราก็รู้ว่าเขามีความสุข
และเห็นใครโศกเศร้า เราก็รู้ว่าเขามีความทุกข์ ดังนี้เป็นต้น
ก็ทำนองเดียวกัน การที่เรารู้ได้ดังแสดงมาก็เพราะการอนุมานนั่นเอง
ดังนั้นการอนุมานก็คือ ความรู้อย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นตามความรู้อีกอย่างหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นก่อน
หรือการอนุมานได้แก่ความรู้ใหม่โดยอาศัยความรู้เก่าที่มีอยู่แล้วเป็นพื้นฐาน
ดังนั้นอนุมานประมาณจึงเป็นความรู้โดยอ้อมผิดกับประจักษ์ประมาณซึ่งเป็นความรู้โดยตรง
ความรู้ประเภทนี้จะอาศัยเรื่องต่อไปนี้เป็นองค์ประกอบดังนี้
องค์ประกอบของอนุมานประมาณ
ในการอนุมานแต่ละครั้ง จะประกอบไปด้วย
1. ตรรกบทหรือช่วงความคิด (sylloglsm) ซึ่งประกอบไปด้วยประพจน์หรือประโยคตรรก
(proposition) ดังต่อไปนี้
ก. ประพจน์หลักหรืออ้างทั่วไป (major premise)
ข. ประพจน์รองหรืออ้างเฉพาะ (minor premise)
ค. ประพจน์สรุป (conclusion)
2. ตรรกบทหรือช่วงความคิดหนึ่งๆ จะประกอบด้วยคำหรือศัพท์ 3
คำ คือ 1. คำหลัก (major term) หรือในตรรกวิทยาอินเดียแบบนยายะเรียกว่าสาธยะ
2. คำรอง (minor term) หรือตรรกวิทยาอินเดียเรียกว่า ปักษะ 3.
คำกลาง (middie term) หรือตรรกวิทยาอินเดียเรียกว่า ลิงคะหรือเหตุ
คำหลักจะมีอยูในประพจน์หลัก จึงเรียกว่า ประพจน์หลัก คำรองก็มีอยู่ในประพจน์รอง
จึงเรียกว่าประพจน์รอง และคำกลางมีอยู่ทั้งในประพจน์หลักและประพจน์รอง
ส่วนประพจน์สรุปจะมีทั้งคำหลักและคำรอง โดยคำกลางเป็นสื่อให้คำหลักและคำรองมาเชื่อมกัน
คำกลางจึงหายไปไม่ปรากฏในประพจน์สรุป เพราะหมดหน้าที่แล้ว คำกลางมีความสำคัญในการอนุมานมาก
เพราะการอนุมานจะเป็นไปได้ และจะสมบูรณ์ก็เพราะมีคำกลางเป็นรากฐาน
กล่าวคือคำกลางกับคำหลัก จะต้องมีความสัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ออก
เป็นความสัมพันธ์แบบสากล (universal relation) หรือเกี่ยวพันกันอย่างแยกไม่ออก
หรือในตรรกวิทยาอินเดีย เรียกว่า วยาปติ หรืออวินาภาวนิยท เช่น
ควันกับไฟ ความเปียกกับน้ำ ความเย็นกับลม สุขกับทุกข์ และเกิดกับตาย
เหล่านี้เป็นต้น คำกลางนอกจากจะมีความสัมพันธ์กันคำหลักอย่างแยกไม่ออกแล้ว
ก็ยังปรากฏที่่ำคำรองอีกด้วย เพื่อจะเชื่อมคำหลักและคำรองให้ติดต่อกัน
เรื่องต่างๆดังกล่าว จะเห็นได้ดังในรูปแบบหรือกระบวนการอนุมาน
หรือหาเหตุผลตามแบบนยายะ ดังนี้
[ประติปรัชญา] 1. ที่ภูเขา (ปักษะ) มีไฟ (สาธยะ)
[เหตุ] 2. เพราะว่าที่ภูเขา (ปักษะ) มีควัน
(ลิงคะหรือเหตุ)
[สาธยะ] 3. ที่ใดมีควัน (ลิงคะหรือเหตุ) ที่นั่นมีไฟ
(สาธยะ) เช่น ที่เตาหุงข้าว (อุทาหรณ์)
[อุปนัย] 4. ที่ภูเขา (ปักษะ) มีควัน (ลิงคะหรือเหตุ)
ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับไฟ (สาธยะ)
[นิคม] 5. เพราะฉะนั้นที่ภูเขา (ปักษะ) มีไฟ
(สาธยะ)
จากตัวอย่างข้างบนจะเห็นได้ว่า ไฟเป็นคำหลัก หรือสาธยะ เพราะเป็นเรื่องที่เราอยากจะทราบว่า
มีไฟอยู่จริงไหม ภูเขาเป็นคำรองหรือปักษะ เพราะเป็นที่ปรากฏของคำหลักคือไฟ
ส่วนควันเป็นคำกลาง หรือลิงคะหรือเหตุ เพราะเป็นเหตุผลหรือเครื่องหมาย
หรือปรากฏการณ์ที่ปรากฏอยู่ที่คำรอง อีกทั้งเป็นตัวเชื่อมคำหลักและคำร้องให้มาติดต่อกัน
และจากตัวอย่างดังแสดงมาจะเห็นได้ว่ารูปแบบหรือกระบวนการอนุมานตามแบบนยายะจะมี
5 ขั้นหรือ 5 ประโยค เป็นการอนุมานชนิดปรารถะคือการอนุมานสำหรับผู้อื่น
กล่าวคือ การอนุมานของนยายะจะมี 2 ชนิด คือ สวารถะ การอนุมานสำหรับตนเองกับปรารถะ
การอนุมานสำหรับผู้อื่น การอนุมานสำหรับตนเอง ไม่จำด้องจัดเป็นลำดับการอ้างเหตุผลถึง
5 ขั้น เพราะเป็นกระบวนการอ้างเหตุผลที่เกิดขึ้นภายในจิตใจของเราเอง
เข้าใจด้วยตัวเอง แต่การอนุมานสำหรับคนอื่นจำต้องแสดงถึง 5 ขั้น
เพื่อพิสูจน์ให้คนอื่นเชื่อถือในคำพูดของเราว่ามีเหตุผลและถูกต้องตามความเป็นจริง
อุปมานประมาณ
อุปมานประมาณ คือ ความรู้ที่เกิดจากการเปรียบเทียบความคล้ายคลึงกันระหว่าง
2 สิ่ง คือ สิ่งหนึ่งซึ่งรู้แล้วกับอีกสิ่งหนึ่งที่ยังไม่รู้
อย่างเช่นคนไม่เคยเห็นหมูป่ามาก่อน และได้รับคำบอกเล่าว่า หมูป่าก็เหมือนกับหมูบ้านนี่แหละ
เพียงแต่หมูป่ามีรูปร่างเพรียวกว่า จึงปราดเปรียวว่องไว ไม่อืดอาด
เหมือนหมูบ้าน ทั้งมักจะออกหากินในกลางคืน และอยู่ป่าใหญ่ไม่มีบ้านคน
กาลต่อมาสมมุติว่า คนนั้นมีโอกาสเข้าไปป่าใหญ่ และโชคดี ได้เห็นหมูฝูงหนึ่ง
ซึ่งมีลักษณะดังที่ได้รับทราบมา ทั้งอยู่ในป่าหาบ้านคนไม่ได้
ก็รู้ได้ว่า นั่นคือหมูป่านั่นเอง ความรู้อย่างนี้เรียกว่า อุปมานประมาณความรู้แบบอุปมานประมาณนี้
ทางฝ่ายเชนถือว่าเป็นความรู้ประจักษ์ ส่วนทางพระพุทธศาสนาก็ถือว่าเป็นความรู้จากคำบอกเล่ากับความรู้ประจักษ์ผสมกัน
และสางขยะกับไวเศษิกะถือว่าเป็นความรู้ประเภทอนุมาน
ศัพทประมาณ
ศัพทประมาณ คือ ความรู้ที่ได้รับจากตำรับตำรา และคำบอกเล่า
ดังนั้น นยายะ จึงแบ่งศัพทประมาณออกเป็น 2 อย่างคือ
1. ไวทิกศัพท์ ความรู้ที่ได้รับจากตำรับตำราทั้งหลาย
ดังที่เราทั้งหลายได้ศึกษาค้นคว้าหาความรู้จากการอ่านหนังสือ
และตำราต่างๆ และโดยเฉพาะที่นยายะหมายถึงคือ คัมภีร์พระเวทซึ่งเชื่อกันว่า
เป็นคัมภีร์ที่สมบูรณ์ที่สุด ไม่มีผิดพลาดโดยประการทั้งปวง เพราะคัมภีร์พระเวทมาจากพระเจ้า
คือพระพรหมประทานลงมาให้มนุษย์ไว้ปฏิบัติเพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตที่ถูกต้องดีงาม
2. เลากิกศัพท์ ความรู้ที่ได้จากคำบอกเล่า
และการสั่งสอนของคนที่น่าเชื่อถือ เช่น ผู้ทรงศีลทรงธรรม ตลอดทั้งผู้ทรงความรู้แขนงต่างๆ
อย่างเช่นเราเชื่อตามนักวิทยาศาสตร์ว่า น้ำเป็นธาตุผสมประกอบขึ้นด้วยไฮโดรเจน
2 ส่วน ออกซิเจน1 ส่วน หรือโลกมีสัณฐานกลม ลอยอยู่ในอากาศ หมุนคว้างอยู่ตลอดเวลา
เหล่านี้เป็นต้น การหาความรู้ ถ้าจะมัวแต่พิสูจน์ด้วยตัวเอง
เห็นด้วยตัวเองเท่านั้น ย่อมไม่เพียงพอ เพราะช่วงอายุของแต่ละคนไม่ยาวมากนัก
ทั้งสมรรถนะของ ตา หู จมูก ลิ้นกาย ตลอดทั้งสติปัญญาก็มีขอบเขตจากัด
จึงไม่อาจรู้ทุกสิ่งทุกอย่างได้ จึงจำต้องอาศัยความรู้จากคนอื่นและแหล่งอื่นๆ
ตลอดทั้งเครื่องมือต่างๆ ด้วย จึงจะช่วยให้มีความรู้ทั้งกว้างและลึกยิ่งขึ้นไปตามลำดับ
ทฤษฎีแห่งเหตุและผล
นยายะ ได้ให้คำนิยามถึงเหตุและผลไว้ว่า เหตุหมายถึงสิ่งที่มีมาก่อนสิ่งที่เป็นผลอย่างแน่แท้
ส่วนผลก็คือสิ่งที่เกิดสืบเนื่องมาจากสิ่งที่เป็นเหตุอย่างแน่นอนโดยปราศจากเงื่อนไขเช่นเดียวกัน
เหตุหนึ่งอย่าง ย่อมก่อให้เกิดผลหนึ่งอย่าง ดังนั้นเหตุและผลจึงมีลักษณะสอดคล้องกัน
จึงเป็นไปไม่ได้ทั้งเหตุอย่างหนึ่งที่ก่อให้เกิดผลอีกอย่างหนึ่ง
หรือเหตุหลายอย่าง แต่ทำให้เกิดผลเพียงอย่างเดียว หรือผลหลายอย่างมาจากเหตุเพียงอย่างเดียว
สรุปแล้วนยายะได้กล่าวถึงลักษณะที่สำคัญของเหตุไว้ 3 อย่างคือ
1. ปูรววฤตติ คือสิ่งที่เป็นเหตุจะต้องเป็นสิ่งที่มีอยู่ก่อน
หรือเกิดขึ้นก่อนสิ่งที่เป็นผล
2. นิยตปูรววฤตติ คือสิ่งที่เป็นเหตุจะต้องมีมาก่อนผลของเหตุนั้นเสมอไป
3. อนันยถาสิทธะ คือสิ่งที่เป็นเหตุจะต้องมีมาก่อนผลอย่างแนนอนไม่มีเงื่อนไขใดๆ
ทั้งสิ้น
นอกจากนั้นนยายะยังถือว่า ผลไม่ได้มีอยู่ก่อนในสิ่งที่เป็นเหตุ
แต่ผลถึงแม้จะเกิดมาจากเหตุ แต่ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่เป็นผลใหม่
โดยสิ่งที่เป็นเหตุทำให้มันเกิดมีขึ้นดังนั้นทรรศนะของนยายะจึงเป็นแบบ
อสัตการวาท หรือ อารัมภวาท ซึ่งตรงกันข้ามกับทฤษฎีของลัทธิสางขยะ
โยคะ และเวทานตะ ซึ่งเป็นแบบสัตการวาท ตามทรรศนะของนยายะมีเหตุอยู่
3 ชนิดคือ
1. สมวายี เหตุที่ก่อให้เกิดผลโดยตรง
เป็นเหตุที่ก่อให้เกิดผลโดยตรง เป็นเหตุที่แนบเนื่องกับผลอย่างไม่อาจแยกจากกันได้
ดังนั้นเหตุประเภทนี้จึงเป็นวัตถุเหตุ เช่น เส้นด้ายเป็นวัตถุเหตุของผ้า
หรือดินเหนียวเป็นวัตถุเหตุของหม้อดินภาชนะดินต่างๆ หรือทองคำเป็นวัตถุเหตุของทองรูปพรรณต่างๆ
เหล่านี้เป็นต้น ผลของเหตุดังกล่าวไม่อาจเกิดขึ้นได้หากไม่มีเหตุของตน
ทั้งไม่อาจดำรงอยู่เป็นผลได้โดยอยู่แยกจากเหตุ แต่ตรงกันข้ามเหตุกลับดำรงตัวอยู่ได้โดยไม่ต้องอาศัยผล
อย่างเช่นผืนผ้าไม่อาจเกิดและดำรงตัวอยู่ได้โดยไม่มีด้าย แต่ด้ายคงอยู่ได้โดยไม่ต้องมีผ้า
หรือหม้อดินไม่อาจเกิดขึ้นและไม่อาจคงอยู่ได้โดยไม่อาศัยดินเหนียว
แต่ดินเหนียวสามารถมีอยู่และดำรงอยู่ได้โดยไม่มีหม้อดิน
2. อสมวายี เหตุที่ไม่ก่อให้เกิดผลโดยตรงแต่ก็อิงอาศัยอยู่ในสิ่งที่เป็นเหตุ
ทั้งเป็นปัจจัยช่วยให้สิ่งที่เป็นผลได้เกิดขึ้นด้วย อย่างเช่นการยึดโยงสานกันของเส้นด้าย
แม้จะไม่ใช่เหตุโดยแรงที่ทำให้เกิดผืนผ้า กล่าวคือ ถ้าไม่มีเส้นด้าย
ผืนผ้าก็อาจเกิดขึ้นได้ แต่การยึดโยงสานกันของเส้นด้ายก็มีส่วนช่วยให้เกิดผืนผ้าได้ด้วยเช่นกัน
ดังนั้นการยึดโยงสานกันของเส้นด้ายจึงเป็นเหตุอีกอย่างหนึ่งที่ช่วยทำให้เกิดผืนผ้าขึ้น
เพียงแต่เป็นเหตุรองหรือเหตุโดยอ้อมเท่านั้น หรือสีของด้ายก็เช่นกัน
เป็นเหตุทำให้เกิดผ้าสีขึ้นมา แม้จะเป็นเหตุโดยอ้อมก็ตาม
3. นิมิตตะ
คือสัมฤทธิเหตุ หรือผู้นำวัตถุเหตุมาทำให้เกิดสิ่งต่างๆ ตามต้องการของตน
เช่น ช่างทอหูก เป็นนิมิตดะ หรือผู้ทำให้ผืนผ้าเกิดขึ้น ช่างปั้นหม้อเป็นนิมิตตะที่ทำให้หม้อเกิดขึ้น
ดังนี้เป็นต้น นิมิตตะนอกจากจะหมายถึงผู้ที่สร้างสิ่งต่างๆ ให้เกิดขึ้นแล้ว
ยังหมายถึงอุปกรณ์หรือเครื่องมือต่างๆ ที่ใช้ในการสร้างสิ่งนั้นๆด้วย
ส่วนในกรณีผู้กระทำที่ไม่มีชีวิต นิมิตตะ ก็หมายถึง ธรรมชาติต่างๆ
ที่เป็นปัจจัยให้มีสิ่งนั้นๆ เกิดขึ้น เช่น น้ำถูกแดดเผาให้ระเหยเป็นไอ
ไอเมื่อถูกความเย็นก็จะเกาะกลุ่มเป็นเมฆ เมฆเมื่อรวมตัวจนควบแน่นกันมากขึ้นก็จะกลายเป็นฝน
หรือใบไม้ถูกลมพัดก็จะร่วงลงมา เหล่านี้เป็นต้น
นอกจากนี้นยายะยังจำแนกเหตุออกเป็น 2 อย่าง คือ
1. เหตุทั่วไปหรือสามัญเหตุ ซึ่งมี 8 อย่าง
คือ อวกาศ เวลา ความรู้ของพระเจ้า เจตจำนงของพระเจ้า บุญ บาป
ความไม่มีอยู่ก่อนของสิ่งที่เกิดขึ้น และการไม่มีสิ่งขัดขวางไม่ให้สิ่งนั้นเกิดขึ้น
2. เหตุเฉพาะหรือวิสามัญเหตุ คือสิ่งจำเป็นหรืออุปกรณ์สำหรับทำให้สิ่งนั้นๆ
เกิดขึ้น เช่น หูกเป็นเครื่องมือของช่างหูกเป็นต้น
ทฤษฎีเหตุของนยายะก็คล้ายกับทฤษฎีเหตุของอาริสโตเติล เพียงแต่ทฤษฎีเหตุของอาริสโตเติลจะเข้าใจได้ง่ายกว่า
และมีขอบข่ายครอบคลุมมากกว่า กล่าวคือ อาริสโตเติลได้แบ่งเหตุไว้
4 อย่างคือ
ก. วัตถุเหตุ เหตุโดยตรงที่ทำให้สิ่งนั้นๆ
เกิดขึ้น เช่นดินเหนียวเป็นวัตถุเหตุของหม้อดิน
ข. สัมฤทธิเหตุ เหตุโดยอ้อมแต่ก็เป็นเหตุสำคัญที่นำวัตถุเหตุมาทำให้สิ่งนั้นๆ
เกิดขึ้น เช่น ช่างหม้อปั้นหม้อขึ้นมา ช่างหูกทอผ้าขึ้นมา
ค. รูปแบบเหตุ ได้แก่ รูปร่างลักษณะของสิ่งที่วัตถุเหตุและสัมฤทธิเหตุสร้างขึ้นมา
เช่น รูปร่างทรวดทรงของหม้อดิน หรือทรวงทรงของผืนผ้า เป็นต้น
ง. อันตเหตุ ได้แก่ เหตุสุดท้ายคือ จุดมุ่งหมายของสิ่งที่สำเร็จรูปนั้นเกิดขึ้นมา
เช่น หม้อดินสำหรับหุงข้าว ผืนผ้าสำหรับตัดเป็นเสื้อกางเกง เป็นต้น
ทรรศนะเกี่ยวกับโลก
นยายะถือว่า วัตถุเหตุของโลกตลอดถึงสากลจักรวาล ได้แก่ ปรมาณูของธาตุทั้ง
4 คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ ส่วนสัมฤทธิเหตุของสากลจักรวาลได้แก่ พระเจ้า
ปรมาณูของธาตุทั้ง 4 เกิดขึ้นเอง ไม่มีใครสร้าง ไม่มีใครทำลายได้
จึงดำรงอยู่ชั่วนิรันดร ทั้งมีจำนวนเหลือคณนา ส่วนการสร้างโลกก็เพราะว่าพระเจ้าทรงนำปรมาณูของธาตุทั้ง
4มารวมกันเข้าตามสัดส่วนที่เหมาะสม จากนั้นพระองค์ก็ยังต้องอาศ้ยอทฤษฏะ
หรืออำนาจที่มองไม่เห็นมาช่วยในการทำให้ปริมาณของธาตุทั้ง 4
มารวมกันก่อให้เกิดสิ่งต่างๆ ขึ้นมา ส่วนการทำลายโลกก็คือพระเจ้าทรงนำปรมาณูเหล่านั้นมาแยกออกจากกัน
ทรรศนะเกี่ยวกับชีวาตมัน
ชีวาตมันหรือวิญญาณของแต่ละบุคคล เป็นสภาวะที่เกิดขึ้นเอง และดำรงอยู่ชั่วนิรันดร
ทั้งมีจำนวนเหลือคณนาเช่นเดียวกับปรมาณู ชีวาตมันเป็นมูลฐานแห่งสัมปชัญญะหรือความรู้สักตัว
สัมปชัญญะไม่ได้เป็นคุณสมบัติที่ติดตัวของชีวาตมัน เป็นคุณสมบัติจรที่มีขึ้นในภายหลัง
ดังจะเห็นได้ในขณะที่หลับสนิทที่ปราศจากความฝันชีวาตมันจะไม่มีสัมปชัญญะ
ชีวาตมันเป็นผู้รับอารมณ์ เสียอารมณ์ ผู้กระทำกรรมและเสวยผลกรรม
ตราบที่ชีวาตมันยังเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏ ชีวาตมันจะมีมนัสหรือจิต
เป็นสื่อกลางในการรับรู้อารมณ์ต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาทางประสาทสัมผัส
ดังนั้นร่างกายก็ตาม มนัสก็ดาม ต่างก็เป็นอุปกรณ์ในการรับรู้โลกภายนอกของชีวาตมันเมื่อชีวาตมันบรรลุโมกษะแล้ว
ชีวาตมันจะแยกออกจากมนัสอย่างเด็ดขาดส่วนการเกิดของแต่ละคนก็เพราะชีวาตมันมาอาศัยอยู่ในร่างกาย
และการตายก็คือการที่ชีวาตมันแยกตัวไปจากร่างกายเพื่อออกไปหาร่างใหม่อาศัยต่อไป
การที่ชีวาตมันมาสัมพันธ์กับร่างกายนี่เอง เป็นเหตุที่ทำให้ชีวาตมันสำคัญผิด
คิดว่าร่างกายคือชีวาตมันจึงทำให้เกิดอุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่น
นี่แหละคือบ่อเกิดแห่งทุกข์ทั้งปวง และนี่เองที่เป็นสังโยชน์หรือการติดข้องเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏอันเนื่องมาจากอวิทยาดังแสดงมาแล้ว
ทรรศนะเกี่ยวกับพระเจ้า
พระเจ้าตามทรรศนะของนยายะ ทรงถึงพร้อมด้วยความสมบูรณ์ 6 ประการคือ
ความเป็นใหญ่ อำนาจ ความรุ่งเรือง ความงาม ความรู้ และอิสรภาพ
นยายะเชื่อว่าพระเจ้าทรงสร้างโลก แต่การสร้างโลกของพระองค์ ไม่ได้ทรงสร้างขึ้นมาโดยตรงเป็นเพียงทรงนำปรมาณูของธาตุทั้ง
4 มาผสมกันเท่านั้น ดังนี้การสร้างโลกของพระเจ้าจึงไม่ได้ทรงสร้างจากความว่างเปล่าอย่างพระเจ้าในบางศาสนา
แต่ทรงสร้างจากสิ่งที่มีอยู่แล้ว โดยเพียงแต่นำสิ่งเหล่านั้นมาจัดสรรผสมผสานกัน
นยายะเชื่อว่ามีสภาวะที่จริงแท้ มีอยู่เองและดำรงอยู่ในโลกชั่วนิรันดร
ไม่มีใครทำนายได้ มีอยู่ 7 อย่างคือ
1.ธาตุทั้งสี่ 2.อากาศ 3.อวกาศ 4.กาล 5.มโนหรือมนัส
6.ชีวาตมัน 7.พระเจ้า
ที่ว่าพระเจ้าทรงเป็นผู้รักษาและทำลายโลกนั้น นยายะก็หมายเพียงว่า
โลกยังคงดำรงอยู่ได้ก็เพราะพระเจ้ายังทรงมีความประสงค์ให้มีอยู่
แต่เมื่อถึงคราวที่พระองค์ไม่ทรงมีความประสงค์ดังกล่าว ก็จะทรงแก้ความเป็นระเบียบออก
ปล่อยให้หลุดกระจัดกระจายไปตามเดิมนอกจากนี้พระเจ้ายังทรงทำหน้าที่อีก
2 อย่างคือ
1. ประโยชกกจรตา คือคอยแนะนำให้คนทำแต่สิ่งที่ดี
ละเว้นสิ่งที่ชั่วประดุจบิดาผู้มีเมตตา คอยแนะนำบุตรน้อยของตนให้ตั้งอยู่บนความดีฉันนั้น
2. กรรมผลทาตา คือคอยให้ผลตอบแทนตามความเหมาะสมกับการกระทำของแต่ละคน
เหมือนบิดาผู้รักบุตรให้รางวัล และลงโทษแก่บุตร เมื่อทำดีและทำชั่วฉันนั้น
ข้อพิสูจน์การมีอยู่ของพระเจ้า
อุทยนะ คณาจารย์รุ่นหลังท่านหนึ่งของลัทธินยายะ
ได้อธิบายเหตุผลของการมีอยู่ของพระเจ้าไว้หลายข้อ แต่พอสรุปได้ดังนี้
1. โลกเป็นผล ดังนั้นโลกก็จะต้องมีเหตุที่ทำให้มันเกิดขึ้น
นั่นก็คีอพระเจ้าในโลกล้วนแต่มีความเป็นระเบียบ และความสัมพันธ์กันอย่างกลมกลืน
แสดงถึงว่ามีอะไรอยู่เบื้องหลังคอยควบคุมหรือคอยชักใยให้สิ่งเหล่านั้นได้เป็นไปดังที่เห็นกันอยู่
นั่นก็คือพระเจ้านั่นเอง
2. ปรมาณูต่างๆ ของธาตุทั้ง 4 คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ
จะมารวมกันอันเป็นเหตุให้เกิดโลกและสิ่งต่างๆ ปรมาณูเหล่านั้น
ไม่มีชีวิตจิตใจ จะมารวมกันได้อย่างไรจะต้องมีอะไรที่มีอำนาจมาก
มาจัดการให้รวมกันได้ นั่นก็คือพระเจ้านั่นเอง
3. โลกดำรงอยู่และเป็นไปต่างๆ แสดงว่าจะต้องมีอะไรอยู่เบื้องหลัง
ถ้าจะว่าเป็นเพราะอำนาจอทฤษฏะก็มิใช่ เพราะอทฤษฏะ หรืออำนาจที่มองไม่เห็น
ถึงแม้จะมีอำนาจมากแต่ไม่มีชีวิตจิตใจจะทำให้โลกดำเนินไปอย่างเหมือนมีจิตใจได้อย่างไร
ข้อนี้แสดงว่าจะต้องมีผู้ยิ่งใหญ่คอยบันดาล นั่นก็คือพระเจ้านั่นเอง
4. คัมภีร์พระเวท ถือกันว่าเป็นคัมภีร์ที่ศักดึ้สิทธิ์ที่สุด
และสมบูรณ์ที่สุดไม่มีข้อผิดพลาดโดยประการทั้งปวง ข้อนี้แสดงว่าไม่มีใครที่สร้างคัมภีร์นี้ได้นอกจากพระเจ้าเท่านั้น
5. มนุษย์เป็นผู้รับผลแห่งกรรมที่ได้ทำไว้ในอดีตชาติ
ดังนั้นแต่ละบุคคลจึงมีความแตกต่างกันทั้งในด้านรูปร่าง
นิสัยใจคอ ฐานะความเป็นอยู่ และฐานะในด้านสังคมนยายะเชื่อว่า
บุญ-บาปที่แต่ละคนทำไว้ จะถูกเก็บไว้ที่อทฤษฏะ ซึ่งเป็นอำนาจที่มองไม่เห็น
ซึ่งคลังแห่งบุญ-บาปนี้ ไม่มีชีวิตจิตใจ จึงไม่สามารถจัดสรรบุญ-บาปให้ทยอยออกมาสนองคนที่ทำกรรมไว้ได้
และพระเจ้านั่นเองที่นำบุญ-บาปมาให้สนองแก่คนที่ทำกรรมนั้นๆ
ไว้
โมกษะและทางดำเนินไปสู่โมกษะ
โมกษะ คือสภาวะที่ดับความทุกข์และการเวียนว่ายตายเกิดได้อย่างสิ้นเชิงจึงเป็นสภาวะที่อิสระอย่างสมบูรณ์ที่อยู่เหนือความยินดี
ยินร้าย หรือความรู้สึกทั้งหลายตลอดทั้งบุญและบาป ส่วนวิธีปฏิบัติเพื่อไปสู่โมกษะก็ด้วยปัญญา
คือรู้ความจริงว่าชีวาตมันของตน เป็นสภาวะที่เป็นอมตะ มีความสำคัญเหนือสิ่งใดๆ
ส่วนการที่ชีวาตมันต้องมามีทุกข์ก็เพราะมาพัวพันกับร่างกายมีร่างกายเป็นที่กักขัง
ทำให้เข้าใจผิดคิดว่าร่างกายเป็นตัวตนจริงๆ หรือเห็นร่างกายกับชีวาตมันเป็นอย่างเดียวกัน
จึงเกิดอุปาทานอันเป็นที่มาแห่งกิเลสทั้งปวง ส่วนวิธีปฏิบัติเพื่อให้รู้แจ่มแจ้งชีวาตมันก็มีดังนี้
ขั้นที่ 1 ให้เรียนรู้ลักษณะอันแท้จริงของชีวาตมันจากคัมภีร์
ขั้นนี้เรียกว่า ศรวณะ หรือตรงกับภาษาบาลีว่า
สวนะ
ขั้นที่ 2 ให้คิดใคร่ครวญไตร่ตรองให้ถูกต้องด้วยเหตุผล
ขั้นนี้เรียกว่า มนนะ
ขั้นที่ 3 ให้เข้าสมาธิเพ่งพิจารณาจนเห็นลักษณะที่แท้จริงของชีวาตมัน
เพื่อจะได้ยกชีวาตมันออกจากสิ่งที่ไม่ใช่อาตมัน ขั้นนี้เรียกว่า
นิธิธยาสนะ
ดังนั้นสมาธิตามหลักโยคะจึงเป็นวิธีปฏิบัติที่สำคัญที่สุด
เพราะจะช่วยให้เข้าใจถึงธรรมชาติที่แท้จริงของชีวาตมันได้อย่างแจ่มแจ้งแตกต่างจากร่างกาย
มนัส และประสาทสัมผัสต่างๆ หากทำได้ดังกล่าว ความรู้ผิด (มิธยา-ชญาณ)
ที่ว่า "ตัวเราคือร่างกายและมนัส" ก็จะถูกทำลาย ทั้งจะไม่หวั่นไหวด้วยความยินดีและยินร้ายอีกต่อไป
ผู้นั้นก็จะกลายเป็นอิสรชนที่อยู่เหนือความยินดียินร้าย จึงไม่ต้องรับผลของกรรม
ผลของบุญและบาปอีกต่อไป ทั้งจะทำสิ่งใดในปัจจุบันก็จะทำอย่างไม่มีตัณหาอุปาทาน
จึงไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป นั่นก็คือการบรรลุโมกษะอันเป็นจุดหมายสูงสุดของชีวิต
แต่ตามทัศนะนยายะบุคคลผู้มีคุณสมบัติที่จะเข้าถึงโมกษะยังไม่แน่ว่าจะบรรลุโมกษะได้หรือไม่
ทั้งนี้ก็ขึ้นกับว่าพระเจ้าจะทรงโปรดหรือไม่ เพราะพระเจ้าเป็นผู้ชี้นำทาง
เมื่อขาดผู้นำทางเสียแล้ว ผู้ปฏิบัติก็ไม่อาจดำเนินไปถูกทางได้
พระเจ้าจึงมีความสำคัญสูงสุด |