***ประวัติความเป็นมาและความหมาย***
ไวเศษิกะ กับ นยายะ มีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด
เพราะนยายะได้นำอภิปรัชญาของไวเศษิกะมาใช้ และในทำนองเดียวกันไวเศษิกะก็นำญาณวิทยาของนยายะมาใช้เช่นเดียวกัน
ดังนั้นปรัชญาของทั้งสองลัทธิจึงมีปรัชญาในแนวเดียวกัน ปรัชญาของลัทธินยายะและไวเศษิกะมีมานานแล้วก่อนพุทธกาล
เพียงแต่ผู้นำปรัชญาทั้ง 2 ลัทธิมาตั้งเป็นลัทธิเมื่อหลังพุทธกาลเท่านั้น
กล่าวคือผู้ตั้งลัทธินยายะคือ ฤาษีโคตมะ เกิดราว 200 ปีก่อน
ค.ศ. ส่วนผู้สถาปนาลัทธิไวศษิกะก็คือ ฤาษีกณาทะ หรือ อุลกะ เกิดราว
300 ปีก่อน ค.ศ. โดยฤาษีกณาทะได้เขียนไวเศษิกสูตรขึ้นมา อันเป็นที่มาของปรัชญาไวเศษิกะ
ไวเศษิกะ ศัพท์นี้มาจากคำว่า วิเศษะ
แปลว่า ความแตกต่างหรือคุณลักษณะเฉพาะ ดังนั้น
ไวเศษิกะ จึงแปลว่า ปรัชญาที่เน้นถึงความแตกต่างอันเกิดจากคุณลักษณะเฉพาะของสิ่งนั้นๆนั่นเอง
กล่าวคือ วิเศษะ เป็นคุณลักษณะที่ทำให้สิ่งต่างๆมีลักษณะที่แตกต่างกันไป
อย่างเช่น นกแตกต่างจากสุนัขและสัตว์อื่นๆ และในบรรดานกด้วยกัน
ก็มีคุณลักษณะแตกต่างกันอีก จึงมีนกชนิดต่างๆ เช่น นกแก้ว นกขุนทอง
นกยูง เป็นต้น และถึงแม้ในนกประเภทเดียวกันก็มีคุณลักษณะเฉพาะตัว
ทำให้แตกต่างกันอีก เป็นนกตัวนี้ นกตัวนั้น เป็นต้น ความแตกต่างระหว่างบรรดาสิ่งทั้งหลายดังกล่าวมา
ก็เพราะอำนาจของวิเศษะนี้เอง ก็เมื่อวิศษะมีความสำคัญดังแสดงมา
จึงเป็นที่มาของชื่อลัทธินี้ ส่วนในภาษาไทยก็นำศัพท์นี้มาใช้เช่นกัน
แต่ความหมายจะกลายออกไปในทางเกินกว่า ดีกว่า และบวกกว่าธรรมดา
เช่น ข้าราชการชั้นพิเศษ ก็หมายถึงข้าราชการชั้นสูง ชั้นผู้ใหญ่
นอกจากนี้ยังมีความหมายกลายไปทางเหนือวิสัยธรรมดา เช่น คนวิเศษ
มีตาทิพย์ หูทิพย์ เป็นต้น ส่วนเนื้อหาสาระปรัชญาลัทธิไวเศษิกะมีอย่างไรก็จะได้แสดงต่อไป
***อภิปรัชญา***
ปทารถะ
(category) 7 อย่าง
ไวเศษิกะเป็นปรัชญาประเภทพหุสัจนิยม (pluralistic realism)
เช่นเดียวกับนยายะ เพราะถือว่าสิ่งที่เรารับรู้ได้ด้วยประสาทสัมผันเป็นสิ่งมีอยู่จริง
ดังนั้นสิ่งที่มีอยู่จริงจึงมีอยู่อย่างมากมายนับไม่ถ้วน ไวเศษิกะเรียกสิ่งที่มีอยู่จริงว่า
ปทารถะ แปลว่า สิ่งที่นำมาแสดงให้รู้ได้ด้วยคำพูด หรือเมื่อว่าโดยใจความก็คือ
สิ่งต่างๆที่มีอยู่ในโลกนั่นเอง ปทารถะมี 7 อย่างคือ
1. ทรัพยะ หรือ สสาร (sub-stance)
2. คุณะ หรือ คุณสมบัติ (quality)
3. กรรมะ หรือ การเคลื่อนไหว (action)
4. สามานยะ หรือ ลักษณะร่วมสากล (generality
or universality)
5. วิเศษะ หรือ ลักษณะเฉพาะ (paricularity)
6. สมวายะ หรือ ความแนบเนื่อง (inherence)
7. อภาวะ หรือ ความไม่มี (non-existence)
ในบรรดาปทารถะทั้ง 7 อย่างนี้ ตั้งแต่ 1-6 กณาทะผู้สถาปนาลัทธิไวเศษิกะเป็นผู้บัญญัติไว้
ส่วนข้อที่ 7 อาจารย์รุ่นหลังของสำนักไวศษิกะได้เพิ่มเข้ามา
เนื้อหาของแต่ละปทารถะมีดังนี้
1. ทรัพยะ หรือ สสาร (sub-stance)
อาจารย์สำนักไวเศษิกะได้ให้คำนิยามหรือคำจำกัดความของทรัพยะไว้ว่าได้แก่
สิ่งที่เป็นที่อาศัยของคุณะและกรรมะ กล่าวคือ คุณะและกรรมะไม่อาจตั้งอยู่ได้
หากไม่มีทรัพยะเป็นที่อาศัย ทนัพยะก็เช่นกัน หากปราศจากคุณและกรรมะก็ไม่อาจแสดงตัวให้เป็นที่ประจักษ์ได้
หรือการที่เรารู้จักว่าอะไรเป็นอะไร ก็เพราะอาศัยคุณะและกรรมะของทรัพยะนั้นๆนั่นเอง
ดังนั้นทรัพยะตามที่สำนักไวเศษิกะได้จำแนกไว้ว่ามี 9 ชนิดด้วยกัน
คือ ดิน (ปฐวี) น้ำ
(อาโป) ลม (วาโย) ไฟ
(เตโช) อากาศ (ether) กาละ
(time) เทศะ (space) มนัสหรือใจ
(mind) และ อาตมัน (self) ในบรรดาทรัพยะทั้ง
9 นี้ ทรัพยะ 5 ชนิดแรกเรียกว่า ภูต เป็นวัตถุธาตุ
(physical elements) จึงรู้ได้ด้วยประสาทสัมผัส และแต่ละอย่างมีคุณสมบัติเฉพาะตน
อย่างดินก็มีกลิ่นเป็นคุณสมบัติ น้ำก็มีรสเป็นคุณสมบัติ
ลมมีสัมผัสเป็นคุณสมบัติ ไฟมีสีเป็นคุณสมบัติ และอากาศก็มีเสียงเป็นคุณสมบัติ
ในวัตถุธาตุทั้ง 5 นี้ ดิน น้ำ ลม ไฟ ก็ไม่ใช่
ดิน น้ำ ลม ไฟ ที่เราเห็นๆกัน หากแต่หมายถึงตัวธาตุซึ่งเป็นปรมาณูของมัน
เป็นธาตุบริสุทธิ์ เป็นธาตุเชิงเดียว ยังไม่ผสมกับธาตุอื่น
เป็นส่วนที่เล็กที่สุดของสสารที่ยังไม่ประกอบขึ้นจากส่วนย่อย
ดังนั้นปรมาณูทั้ง 4 จึงถูกแบ่งอีกไม่ได้ ถูกทำลายไม่ได้
ทั้งถูกสร้างขึ้นใหม่ก็ไม่ได้ จึงเป็นสิ่งที่มีอยู่ตลอดไปชั่วนิรันดร
ไม่มีเบื้องต้น ไม่มีที่สุด จัดเป็นสสารที่เที่ยง (นิตยะ)
ผิดกับดิน น้ำ ลม ไฟ ที่เราเห็นกัน เป็นธาตุผสม จึงมีคุณลักษณะตรงกันข้ามเปนสสารที่ไม่เที่ยง
(อนิตยะ) ปัญหามีว่า เมื่อปรมาณูของธาตุทั้ง 4 เป็นสิ่งที่เล็กละเอียดยิ่งนัก
เราไม่อาจรู้ได้ด้วยประสาทสัมผัส แล้วเราจะทราบได้อย่างไรว่าสิ่งที่เล็กละเอียดยิ่งนัก
เราไม่อาจรู้ได้ด้วยประสาทสัมผัส แล้วเราจะทราบได้อย่างไรว่าปรมาณูมีอยู่
เรื่องนี้ทางสำนักไวเศษิกะตอบว่า เรารู้ได้ด้วยการอนุมาน
กล่าวคือสิ่งต่างๆที่เราเห็นไม่ว่าเป็นอะไร ล้วนแต่เกิดขึ้นจากการประกอบกันของส่วนประกอบต่างๆ
(composite) และหากนำส่วนประกอบแยกย่อยไปเรื่อยๆ ก็จะถึงจุดที่ไม่อาจแยกย่อยได้อีกต่อไป
เพราะเล็กที่สุดแล้ว นั่นก็คืออะตอม สรุปแล้วเราอนุมานถึงการมีอยู่ของปรมาณูจากสิ่งต่างๆ
ซึ่งประกอบขึ้นจากส่วนประกอบต่างๆ ไปหาสิ่งที่ไม่มีส่วนประกอบเลย
อากาศ (either)
ไม่เป็นปรมาณู เพราะมีสภาวะที่แผ่ซ่านอยู่ทั่วไป
ไม่มีขอบเขตจำกัด ส่วนการที่เราพูดว่า อากาศที่นี่ที่นั่น
เราพูดกันตามสมมุติ เพื่อเข้าใจกันเท่านั้น แต่ความจริงอากาศหาได้มีขอบเขตไม่
ทั้งเป็นสิ่งดำรงอยู่ชั่วนิรันดร์เช่นเดียวกับธาตุ และการที่เรารู้ว่ามีอากาศก็โดยการอนุมานเช่นกัน
คือที่ใดมีเสียงที่นั่นมีอากาศ ทำนองเดียวกับที่ใดมีควันที่นั่นมีไฟ
เพราะอากาศมีเสียงเป็นคุณสมบัติ อากาศเป็นตัวสื่อให้เสียงเดินทางได้
ทำให้เราได้ยินเสียงต่างๆ
กาละ (time)
เป็นทรัพยะที่แพร่หลายอยู่ทั่วไปไม่มีขอบเขตจำกัด เช่นเดียวกับอากาศไม่อาจแบ่งแยกได้
แต่มนุษย์ก็สมมุติแบ่งออกเป็นวินาที นาที ชั่วโมง วัน
สัปดาห์ เดือน ปี อดีต ปัจจุบัน และอนาคต เป็นต้น ถ้าไม่มีกาละแล้ว
คำดังกล่าวก็ไร้ความหมาย กาละเป็นสิ่งที่เที่ยงแท้ ยั่งยืนสิ่งต่างๆ
ล้วนแต่ไม่เที่ยง เราได้นำกาละมาใช้กับสิ่งที่เปลี่ยนแปรเพื่อจะได้เข้าใจกัน
อย่างแก่ อ่อน เก่า ใหม่ เป็นต้น
เทศะ (space)
เป็นทรัพยะที่แพร่หลายอยู่ทั่วไปไม่มีขอบเขตจำกัด
ไม่อาจแบ่งแยกได้เช่นเดียวกับกาละและอากาศ แต่มนุษย์ก็สมมุดิแบ่งออกเป็นส่วนย่อยๆ
เช่น ที่ว่างในขวด ในโถ และในห้อง เป็นต้น ตลอดทั้งคำว่า
ใกล้ ไกล ที่นี่ที่นั่น และทิศต่างๆ มีได้ก็เพราะมีเทศะ
ถ้าไม่มีเทศะ คำต่าง ๆ ดังกล่าวก็ไร้ความหมาย
มนัสหรือใจ (mind)
เป็นอายตนะหรืออินทรีย์ภายในอย่างหนึ่ง จึงเป็นรูปธรรม
มนัสเป็นเครื่องมือของอาตมันในการรับรู้ความรู้สึกภายในต่างๆ
เช่น ดีใจ เสียใจ รัก ชัง เกลียด โกรธ สุข ทุกข์ เป็นต้น
ในการรับรู้แต่ละครั้งจะเริ่มที่ชีวาตมันก่อน โดยอาตมันมีเจตจำนงจะรู้อะไรก็จะใช้เครื่องมือสำหรับเรื่องนั้นๆติดต่อ
อย่างเช่น ชีวาตมันอยากจะเห็นรูป ชีวาตมันก็จะสัมผัสกับมนัส
มนัสก็จะสัมผัสกับตา ตาก็จะสัมผัสกับรูป ดังนั้นมนัสก็ตาม
อายตนะภายในทั้งหลายก็ตาม เป็นเพียงเครื่องมือของอาตมัน
สำหรับการติดต่อกับโลกภายนอก มนัสมีสภาพเป็นปรมาณู เราจึงไม่อาจรู้ถึงความมีอยู่ของมันด้วยประสาทสัมผัสได้
แต่ก็อาจรู้ได้ด้วยการอนุมานเช่นกันดังนี้
1. ในการรับรู้ความมีอยู่ของวัตถุภายนอก เราต้องอาศัยประสาทสัมผัส
เช่น ตา เป็นต้น จึงจะรู้ได้ฉันใด การรับรู้อารมณ์ภายใน
เช่น ความดีใจ เสียใจ เป็นต้น ก็ต้องอาศัยเครื่องมือในการรับรู้นั้นก็คือมนัสฉันนั้น
2. ประสาทรับสัมผัสของเราคือ ตา หู จมูก ลิ้น และกาย
ย่อมรับสัมผัสกับสิ่งที่เป็นคู่ของมัน และอาจเกิดพร้อมกันได้
เช่นขณะอ่านหนังสืออยู่ก็ฟังเพลงไปด้วย แต่ความเป็นจริง
เรารับรู้แต่ละอย่างไม่พร้อมกัน ข้อนี้แสดงว่าจะต้องมีอะไรอยู่เบื้องหลังคอยจัดฉากอยู่
นั่นก็คือมนัสนั่นเอง เพราะลำพังแต่ประสาทสัมผัสไม่อาจทำอย่างนั้นได้
อาตมัน เป็นส่วนที่สำคัญที่สุดของคนและสิ่งที่มีชีวิตทั้งหลาย
อาตมันเป็นผู้บงการการกระทำทุกอย่าง ไม่ว่าทางกาย วาจา
และใจ และเป็นผู้รับผลของการกระทำนั้นๆ ดังนั้นอาตมันจึงเป็นผู้เสวยสุข
ทุกข์ ดีใจ และเสียใจ เป็นต้น จึงรับผลบุญ-บาปและเวียนว่ายตายเกิดต่อไป
อาตมันมี 2 อย่างคือ ชีวาตมัน และ ปรมาตมัน ชีวาตมันคือของสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย
ดังนั้นชีวาตมันจึงมากมายนับไม่ถ้วน แต่มีคุณสมบัติแตกต่างกันไปตามชนิดของร่างกายที่ชีวาตมันเข้าไปอาศัย
ด้วยเหตุนี้ชีวาตมันในเทพ ในคน ในสัตว์ และในต้นไม้ จึงมีความแตกต่างกัน
ส่วนปรมาตมันมีหนึ่ง แต่ก็เป็นที่มาหรือผู้สร้างสากลจักรวาลและสิ่งทั้งปวง
ส่วนการมีอยู่ของชีวาตมันก็พอรู้ได้ด้วยการอนุมานจากความรู้สึกทางจิต
เช่น ความสุข ความทุกข์ ความเกลียด ความโกรธ และความรัก
ความชัง เป็นต้น ความรู้สึกเหล่านี้ต้องมีอาตมันรองรับหรืออยู่เบื้องหลัง
เพราะไม่เคยปรากฎว่ามีแต่ความสบ ความทุกข์ ความเกลียด
ความโกรธ และความรัก ความชัง เป็นต้น โดยไม่มีผู้สุข ผู้ทุกข์
ผู้เกลียด ผู้โกรธ ผู้รัก และผู้ชัง เป็นต้น ดังนั้นขณะที่เราอ่านหนังสืออยู่
ชีวาตมันนั่นแหละกำลังอ่านอยู่ จะปฎิเสธไม่ได้ว่าผู้อ่านไม่มี
มีแต่การอ่าน |
2. คุณะหรือคุณสมบัติ (quality)
คุณะหรือคุณสมบัติมีอยู่ในทรัพยะ ลัทธิไวเศษิกะได้จำแนกคุณะว่ามีถึง
24 อย่างดังต่อไปนี้ สีหรือรูป เสียง (ศฺพทะ) กลิ่น (คนฺธะ)
รส ผัสสะ จำนวน (สํงขยะ) ขนาด (ปริมาณะ) ความใกล้ (อรปตวะ)
ปัญญา (พุทธิ) ความสุข ความทุกข์ ความโลภ (อิจฉา) ความโกรธ
(ทเวษะ) ความเพียร (ปรยตนะ) ความหนัก (คุรุตวะ) ความเหลว
(ทรวตวะ) ความเหนียว (สเนหะ) ความโน้มเอียง (สํสการ) ธรรม
อธรรม ในบรรดาคุณะทั้งหมดนี้ บางอย่างก็ยังแบ่งออกไปได้อีก
ดังนี้
สี แบ่งออกเป็นสีแดง สีดำ สีเขียส และสีเหลือง
เป็นต้น
กลิ่น แบ่งออกเป็นกลิ่นหอม และกลิ่นเหม็น
รส แบ่งออกเป็นรสหวาน รสเปรี้ยว และรสขม
เป็นต้น
เสียง แบ่งออกเป็นเสียงธรรมชาติ (ธวนี)
เช่น เสียงฝน เสียงลม เป็นต้น กับเสียงดัดแปลง (วารณะ)
เช่น เสียงวิทยุ เสียงจากเครื่องขยายเสียง เป็นต้น
ผัสสะ แบ่งออกเป็น ร้อน เย็น และ ไม่ร้อน
ไม่เย็น
จำนวน เป็นเรื่องเกี่ยวกับการนับตั้งแต่
1 ขึ้นไป
ขนาด มีเล็ก ใหญ่ เล็กที่สุด และ ใหญ่ที่สุด
ความแตกต่าง เป็นคุณะทีทำให้สิ่งต่างๆ
แตกต่างกัน เช่น ปากกา แตกต่างกับ ดินสอ เป็นต้น
การรวม เป็นคุณะที่ทำให้สิ่งต่างๆ ซึ่งแตกต่างกันมาอยู่รวมกันได้
แต่เป็นเพียงการมาอยู่รวมกันเท่านั้น ไม่ใช่ผสมกลมกลืนกัน
เช่น ปากกาวางอยู่บนโต๊ะ เป็นต้น
กาละ ก็เช่น ความใหม่ ความอ่อน เป็นต้น
ส่วนที่เกี่ยวกับ เทศะ เช่น ความสั้น
ความชิด เป็นต้น
ปัญญา เป็นคุณสมบัติอย่างหนึ่งของอาตมัน
เกิดขึ้นจากการกระทบกันระหว่างมนัสกับอายตนะภายใน และอายตนะภายในกับอายนะภายนอก
ทำให้เกิดความรู้สึกต่างๆ
ความเพียรพยายาม แบ่งออกเป็น 3 คือ
1. ความเพียรพยายาม เคลื่อนเข้า ไปหาสิ่งใดสิ่งหนึ่ง
(ปรวฤตติ)
2. ความเพียรพยายาม เคลื่อนออก ห่างจากสิ่งใดสิ่งหนึ่ง
(นิวฤตติ)
3. ความเพียรพยายาม ธำรงรักษา เอาไว้
(ชีวนโยนิ)
ความหนัก หรือ ความถ่วง
เป็นคุณะที่ทำให้สสารมีน้ำหนักและตกจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ
นั่นคือกฎความโน้มถ่วงของโลกนั่นเอง
ความเหลว เป็นคุณะที่ทำให้สสารบางอย่าง
เช่น น้ำ อากาศ ไหลถ่ายเทไปมาได้
ความเหนียว เป็นคุณะที่ทำใหอนุภาคของสิ่งต่างๆ
มายึดเกาะกันไว้ อย่างดินเมื่อมีน้ำปน ก็จะยึดเกาะกันเป็นก้อน
เป็นต้น
ความโน้มเอียง แบ่งออกเป็น 3 คือ
1. ความเร็ว (เวคะ) เป็นคุณะที่ทำให้สิ่งต่างๆ เคลื่อนไหวอยู่เสมอ
2. ความประทับใจ (ภาวนา) เป็นคุณะที่ทำให้เราจดจำสิ่งที่ได้พบเห็นมา
3. ความยืดหยุ่น (สถิติสถาปกะ) เป็นคุณะที่ทำให้สิ่งที่ขยายตัวออกไปแล้วกลับคืนสู่สภาพเดิมได้อีก
เช่น หนังยาง ยืดและหดกลับได้
ธรรม คือ ความดีหรือบุญกุศล
อธรรม คือ ความชั่วหรือบาปอกุศล |
3. กรรมะหรือการเคลื่อนไหว
กรรมะในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการกระทำดังเช่นที่เข้าใจกัน
หากแต่หมายถึงการเคลื่อนไหว ซึ่งมี 5 อย่างด้วยกันคือ
1. อุตเกษปณะ
การเคลื่อนไหวทางขึ้น เช่น การยกมือขึ้น
2. อวเกษปณะ การเคลื่อนไหวทางลง
เช่น การเอามือลง
3. อากุญจนะ
การหดตัว เช่น การคู้แขนเข้า
4. ปรสารณะ การขยายตัว
เช่น การเหยียดแขนออก
5. คมนะ การเคลื่อนที่ไปในทิศทางต่างๆ
เช่น การเอื้อมมือหยิบสิ่งต่างๆ
ตัวอย่างของการเคลื่อนไหวทั้ง 5 อย่างนี้ จะเห็นได้จากลูกฟุตบอลที่กระดอนขึ้นกระดอนลง
ยุบแฟบเมื่อลมออก ขยายตัวเมื่อสูบลมเข้าไป และการกลิ้งไปมา
ไวเศษิกะถือว่ากรรมะเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการรวมตัวและแยกตัวกันออกจากสิ่งต่างๆ
กรรมะมีอยู่ในสสารที่มีขอบเขตจำกัด เช่น ดิน น้ำ ลม ไฟ
และมนัส เป็นต้น ส่วนสิ่งที่ไม่มีขอบเขตจำกัด เช่น อากาศ
อวกาศ กาละ และอาตมัน เป็นต้น จะไม่มีกรรมะอยู่ เพราะสิ่งดังกล่าวมีอยู่ในทุกแห่งหนทั้งไม่เปลี่ยนสถานะ |
4. สามานยะ หรือ ลักษณะร่วมสากล (generality)
สามานยะ คือ ภาวะสากลที่มีอยู่และครอบงำสิ่งที่อยู่ในประเภทเดียวกันทั้งหมด
โดยไม่มียกเว้น เช่น ความเป็นคนครอบคุลมถึงคนทุกคน ไม่ว่าอยู่ในที่ไหน
เผ่าอะไร ชาวป่า ชาวเมือง ตลอดถึงคนพิการ ก็ล้วนแต่เป็นคนด้วยกันทั้งนั้น
หรือที่เราเรียกสัตว์ชนิดหนึ่งว่าม้า ก็เพราะม้าทุกตัว ไม่ว่าอยู่ที่ไหน
พันธุ์อะไร พิการหรือไม่ ต่างก็มีลักษณะร่วมกัน นั่นก็คือความเป็นม้า
สามานยะแบ่งได้ 2 อย่างคือ สามานยะใหญ่ และ สามานยะย่อย
เช่น ความเป็นนก จัดเป็นสามานยะใหญ่ ส่วนนกพันธุ์ต่างๆเป็นสามานยะย่อย
อย่างนี้เรื่อยไป ความแตกต่างของสิ่งต่างๆนั้น ถ้าเป็นไปในส่วนของประเภทที่ต่างชนิดกัน
ก็แตกต่างกันด้วยสามานยะใหญ่ เช่น ความต่างกันระหว่างม้ากับวัว
แต่ถ้าเป็นสิ่งที่อยู่ในประเภทเดียวกันก็ต่างกันด้วยสามานยะย่อย
เช่น ความต่างกันระหว่างม้าด้วยกัน สามานยะเป็นภาวะที่เที่ยงและมีเพียงหนึ่ง
แต่สิ่งเฉพาะที่สามานยะอาศัยอยู่เป็นสิ่งที่ไม่เที่ยงและมีจำนวนมาก
เช่น ความเป็นม้าเป็นภาวะที่เที่ยงและมีเพียงหนึ่ง ส่วนม้าแต่ละตัวเป็นสิ่งไม่เที่ยงและมีจำนวนมาก
หรือความเป็นคนมีหนึ่ง แต่คนมีเป็นจำนวนมาก |
5. วิเศษะหรือลักษณะเฉพาะ (particularity)
วิเศษะ คือภาวะเฉพาะซึ่งตรงกันข้ามกับสามานยะ และก็เพราะวิเศษะนี่เองที่ทำให้สิ่งทั้งหลายแตกต่างกัน
เช่นนี้คนแตกต่างจากสัตว์ แม้ในคนด้วยกันก็แตกต่างกันเป็นหญิงเป็นชาย
นายดำ นายแดง เป็นต้น ส่วนสัตว์และอื่นๆ ก็เป็นไปในทำนองเดียวกัน
ดังนั้นวิเศษะก็คือภาวะที่ทำให้มีสิ่งแตกต่างกันนั่นเอง
ก็วิเศษะเป็นปทารถะที่ไวเศษิกะเน้นเป็นพิเศษจนเป็นที่มาของชื่อในลัทธินี้ |
6. สมวายะหรือความแนบเนื่อง (lnherence)
สมวายะ คือความสัมพันธ์อันถาวรที่แยกจากกันไม่ได้ เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างผ้ากับด้าย
สสารย่อมกินเนื้อที่ อากาศเมื่อถูกความร้อนย่อมขยายตัว ไฟกับความร้อน
น้ำากับความเย็น เหตุกับผล เหล่านี้เป็นต้น เป็นความสัมพันธ์กันอย่างถาวรไม่อาจแยกจากกันได้
อย่างคนดีกับความดี จะต้องอยู่ด้วยกันเป็นนิตย์ตลอดไป ดังคำกลอนที่ว่าคนดีก็เพราะมีดีอยู่ด้วย
ดีไม่ช่วยแล้วจะดีได้ที่ไหนเหมือนเหล็กดีหินดีตีมีไฟ ไม้กับไม้เสียดสีจึงมีเพลิง |
7. อภาวะหรือความไม่มี (non-existence)
อภาวะ คือความไม่มีหรือความขาด ก็ความจริงนั้นหาใช่ว่าจะมีเฉพาะแต่สิ่งที่มีอย่างเดียวก็หาไม่
แม้สิ่งที่ไม่มีก็เป็นความจริงด้วย โดยความจริงของสิ่งที่มีเรียกว่าความจริงฝ่ายบวก
หรือทางยืนยัน ส่วนความจริงของสิ่งที่ไม่มีเรียกว่า ความจริงฝ่ายลบหรือทางปฏิเสธ
การยืนยันย่อมบ่งถึงการปฏิเสธ และการปฏิเสธก็บ่งถึงการยืนยัน
ในบรรดาปทารกะทั้ง 6 อย่างดังแสดงมา เป็นความจริงฝ่ายบวก
หรือทางยืนยัน ส่วนที่ 7 นี้เป็นความจริงฝ่ายลบหรือทางปฏิเสธ
อภาวะมี 4 อย่างคือ
7.1 ปราคภาวะ
ความไม่มีในเบื้องต้นหรือความไม่มีอยู่ก่อน กล่าวคือความไม่มีของสิ่งหนี่งก่อนทิ่จะผลิตสิ่งนั้นขึ้นมา
เช่น ความไม่มีหม้อดินเหนียว ก่อนที่ช่างจะปั้นหม้อขึ้นมา
หรือความไม่มีผ้าก่อนที่ช่างหูกจะทอผ้าขึ้นมา หรือความไม่มีโต๊ะก่อนที่ช่างไม้จะสร้างขึ้น
อันนี้เป็นความไม่มีในเเบื้องต้น และสิ้นสุดลงเมื่อผลิตผลนั้นเกิดขึ้นมา
7.2 ธวังสาภาวะ
ความไม่ดีในเบื้องปลาย เป็นความไม่มีของสิ่งหนึ่งเมื่อสิ่งนั้นถูกทำลาย
เช่น หม้อแตกแล้วก็ไม่มีหม้ออีก ข้อนี้ตรงกันข้ามกับข้อแรก
ข้อแรกเป็นความไม่มีในส่วนเหตุ ส่วนข้อนี้เป็นความไม่มีในส่วนผล
7.3 อัตยันตาภาวะ
ความไม่มีสิ่งหนึ่งในอีกสิ่งหนึ่ง หรือสิ่งหนึ่งได้ขาดคุณสมบัติบางอย่างไป
เช่น ชายขาดความเป็นหญิง หญิงขาดความเป็นซาย หรือความไม่มีแมวในม้า
ความไม่มีม้าในแมว เป็นต้น
7.4 อันโยนยาภาวะ
ความไม่มีอย่างสิ้นเชิง หรือความไม่มีอย่างเด็ดขาดกล่าวคือสิ่งหนึ่งใด้ขาดคุณสมบัติบางอย่างตลอดไป
ไม่ว่าในอดีต ปัจจุบัน หรืออนาคตเช่น เต่าไม่มีหนวด กระต่ายไมมีเขา
บนฟ้าไม่มีดอกไม้ หญิงหมันไม่มีบุตร เป็นต้น
ถ้าไม่มีอภาวะที่เป็นเหตุ ก็จะไม่มีสิ่งใหม่เกิดขึ้น
ถ้าไม่มีสภาวะที่เป็นผล ทุกสิ่งก็จะไม่แตกสลาย ถ้าไม่มีอภาวะระหว่าง
2 สิ่ง ทุกอย่างก็เหมือนกันหมด และถ้าไม่มีสภาวะที่เด็ดขาด
ทุกสิ่งก็จะเปลี่ยนไปได้อย่างไม่มีขอบเขต แต่เพราะมีอภาวะทั้ง
4 อย่างข้างต้น ทุกอย่างจึงเป็นไปตามกฎของมัน จึงไม่ลักลั่นกันดังที่เราไดเห็นกัน |
***ทรรศนะการสร้างโลก***
ไวเศษิกะ เชื่อทฤษฎี อสัตการยวาท
หรืออารัมภวาท เช่นเดียวกับนยายะ คือ ผลไม่ได้มีอยู่เหตุ แม้จะสืบเนื่องมาจากเหตุ
แต่ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่เริ่มขึ้นใหม่ และถือว่าปรมาณูเป็นปฐมเหตุของสิ่งต่างๆ
ดังนั้นลัทธิไวเศษิกะจึงเป็นปรมาณูการณวาทปรมาณูถึงแม้จะมีมากมายเหนือคณนา
แต่เมื่อจำแนกแล้วก็มี 4 ประเภทคือ ปรมาณูของธาตุดิน น้ำ ลม
ไฟ ปรมาณูเหล่านี้เล็กที่สุดจนไม่อาจแบ่งต่อไปได้อีก แต่เมื่อมารวมกันก็ก่อให้เกิดเป็นสิ่งต่างๆ
ขึ้นมา ดังนั้นทฤษฎีการสรัางโลกของไวเศษิกะ จึงเหมือนกับทฤษฎีปรมาณูของดีโมคริดุส
และลิวซิปปุส นักปรัชญากรีก แต่ก็มีจุดที่เหมือนกันและแตกต่างกัน
ที่เหมือนกันก็คือทั้งไวเศษิกะและนักปรัชญากรีกเห็นว่า ปรมาณูเป็นส่วนประกอบที่เล็กที่สุดของสสาร
ดังนั้นแต่ละปรมาณูจึงไม่อาจแบ่งแยกได้ ทำลายไม่ได้สร้างขึ้นใหม่ไม่ได้
รับรู้ด้วยประสาทสัมผัสไม่ได้ แต่ก็เป็นบ่อเกิดของสิ่งทั้งหลาย
ส่วนจุดที่แตกต่างก็มีดังนี้
1. ดีโมคริตุสและลิวซิปปุสถือว่า ปรมาณูของธาตุต่างๆ
จะมีคุณภาพเหมือนกัน ต่างกันก็ในด้านปริมาณเท่านั้น
แต่ลัทธิไวเศษิกะถือว่า ปรมาณูของธาตุต่างๆ จะมีความแตกต่างกันทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ
อย่างปรมาณูของดินหยาบที่สุดในบรรดาธาตุทั้ง 4 มีสี สัมผัส รส
และกลิ่น เป็นคุณสมบัติ ปรมาณูของน้ำหยาบรองลงมา มีสี สัมผัส
และรส เป็นคุณสมบัติ ปริมาณของไฟหยาบรองลงมาอีก มีสีและสัมผัส
เป็นคุณลักษณะ ส่วนปรมาณูของลมละเอียดอ่อนที่สุด มีสัมผัสอย่างเดียวเป็นคุณสมบัติ
2. ดีโมคริตุสและลิวซิปปุสถือว่า แต่ละปรมาณูมีแต่คุณสมบัติปฐมภูมิเท่านั้น
ไม่มีคุณสมบัติทุติยภูมิ เช่น สีและน้ำหนัก เป็นต้น แต่ไวเศษิกะถือว่าแต่ละปรมาณูมีคุณสมบัติทั้งสองอย่าง
3. ดีโมคริตุสและลิวซิปปุสถือว่า ปรมาณูมีทั้งกัมมันตภาพ
(activity) และ จลนภาพ (motion) อยู่ในตัวโดยธรรมชาติ
ดังนั้นแต่ละปรมาณูจึงไม่หยุดนิ่ง แต่จะเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา
โดยเคลื่อนไหวหรือหมุนตัวเข้าหากันจากเบื้องบนสู่เบื้องล่างอย่างสับสน
จนมีการวิ่งชนกันตลอดเวลา เมื่อชนกันมากๆ ก็รวมตัวกันเป็นเกลียวปรมาณู
(vortex) และเมื่อรวมตัวกันหนาแน่นเข้าก็กลายเป็นโลกและสิ่งต่างๆ
แต่ลัทธิไวเศษิกะถือว่าแต่ละปรมาณูเป็นสิ่งที่ไร้กัมมันตภาพและจลนภาพ
จึงอยู่ในสภาวะที่หยุดนิ่งตลอดเวลา ส่วนเหตุที่ทำให้ปรมาณูทั้งหลายมีกัมมันตภาพและความเคลื่อนไหวก็เกิดมาจากอำนาจที่มองไม่เห็นที่เรียกว่า
อทฤษฏะ และการที่ปรมาณูรวมตัวกันเป็นโลกและสรรพสิ่งก็เกิดมาจากเจตจำนงของพระเจ้า
ซึ่งลัทธิไวเศษิกะเรียกว่า พระมเหศวร
4. ดีโมคริตุสและลิวซิปปุสถือว่า วิญญาณของสิ่งมีชีวิตทั้งหลายก็เกิดจากการรวมตัวกของปรมาณูเช่นกัน
แต่เป็นปรมาณูชนิดพิเศษ แต่ปรัชญาไวเศษิกะถือว่า วิญญาณหรือชีวาติมันเป็นสิ่งที่มีอยู่เป็นพิเศษต่างหากจากปรมาณู
ไม่ได้เกิดมาจากการรวมกันจากปรมาณูของธาตุใดๆ ชีวาตมันเป็นสิ่งที่มีอยู่เองตามธรรมชาติ
ไม่มีใครสร้างขึ้นหรือทำลายได้ทั้งมีความเป็นไปของตนเองโดยเฉพาะ
5. ทรรศนะะของดีโมคริตุสและลิวซิปปุส เป็นไปในด้านวัตถุนิยม
การรวมตัวกันของปรมาณูเป็นโลกและสรรพสิ่ง เป็นไปในรูปจักรกล
โดยอาศัยกัมมันตภาพและจลนภาพที่เป็นธรรมชาติของปรมาณูเอง ไม่ได้มีอำนาจภายนอกใดๆ
มาคอยบงการให้เป็นไป แต่ไวเศษิกะมีความเห็นว่า การรวมตัวกันของปรมาณูต่างๆก็ตาม
การวิวัฒนาการเป็นสิ่งต่างๆก็ตาม เป็นไปในด้านจิตนิยม คือพระเจ้ามเหศวรทรงบันดาลให้เป็นไป
***การเกิดและการสลายของโลก***
การเกิดและสูญสลายของสรรพสิ่งเป็นไปตามเจตจำนงของพระมเหศวร
ผู้เป็นพระเจ้าในลัทธิไวเศษิกะ กล่าวคือ เมื่อพระมเหศวรทรงมีความประสงค์จะสร้างโลกและสรรพสิ่ง
เจตจำนงของพระมเหศวรนี่เองที่เป็นแรงกระตุ้นไปยังอทฤษฏะ คลังแห่งบุญ-บาปที่บรรดาวิญญาณทั้งหลายได้สร้างสมไว้
ทำให้อทฤษฏะอำนาจที่มองไม่เห็นเริ่มทำงาน เริ่มด้วยปรมาณู 2
ปรมาณูมารวมกันเรียกว่า ไทอัด (diad) หรือทยัด (dyad) หรือทวยณุกะ
ถ้า 3 ปรมาณูมารวมกันก็เรียกว่า ไตรอัด (triad) หรือตรยณุกะ
หรือ ตรสเรณู และจากการรวมกันระหว่าง 2 และ 3 ปรมาณู เรื่อยไปทำนองนี้ก็เป็นเหตุให้เกิดมีสิ่งต่างๆขึ้นมาตามลำดับ
ส่วนขั้นตอนของธาตุลมเริ่มเคลื่อนไหวก่อนธาตุอื่นจึงเป็นเหตุให้ปรมาณูแห่งลมเริ่มหมุนตัว
จากการหมุนตัวมันจึงผสมกันในอัตราส่วนทวยณุกะ แล้วเป็นตรยณุกะ
จึงเกิดมหาภูตรูปของลมขึ้น แล้วลอยตัวอยู่ท่ามกลางบรรยากาศอันหาที่สุดมิได้
ลมที่เกิดขึ้นนี่แหละเป็นเบื้องต้นและเป็นตัวกลางแห่งการสั่นสะเทือนของอากาศ
จากนั้นปรมาณูของธาตุน้ำก็เริ่มกระเทือนแล้วหมุนตัวเข้าหากันในทำนองเดียวกับปรมาณูแห่งลม
จนกลายเป็นมหาภูตรูปของน้ำขึ้น แล้วเข้าผสมอยู่ในมหาภูตรูปของลม
ปรมาณูแห่งดินก็หมุนตัวจนกลายเป็นมหาภูตรูปของดินขึ้นแล้วไปผสมอยู่ในมหาภูตรูปของน้ำที่ถูกลมพัดพาให้หมุนตัวอยู่
ต่อจากนั้นปรมาณูแห่งไฟก็หมุนตัวเข้าหากันจนกลายเป็นมหาภูตรูปของไฟดุจปรมาณูอื่นดังแสดงมา
แล้วเข้าผสมอยู่กับมหาภูตรูปของลม น้ำ และดิน และจากการรวมตัวกันของมหาภูตรูปดังกล่าว
ทำให้เกิดฟองไข่ของโลก (พรหมาณฑะ) ขึ้นมา ในฟองไข่นั้นมีสิ่งมีชีวิตทรงไว้ซึ่งปัญญา
ความกล้าหาญ และความอิสระ สิ่งมีชีวิตนี้เรียกว่า พรหมมา ซึ่งพระมเหศวรทรงบันดาลให้มีขึ้น
เพื่อให้เป็นวิญญาณโลก หรือที่เรียกว่าสากลชีพ แล้วพระมเหศวรก็ทรงมอบหน้าที่การสร้างโลกแก่พระพรหมมา
เป็นผู้ดำเนินการเองเรื่อยไปจนถึงกาลอวสานของโลก จุดประสงค์ของการสร้างโลกก็เพื่อเสวยสุข-ทุกข์
ตามบุญบาปที่ชีวาตมันทำไว้ อีกทั้งยังเป็นสถานที่ฝึกอบรมบ่มจิตใจของชีวาตมันอีกด้วย
โลกที่สร้างสำเร็จแล้วนี้จะมีอายุยืนยาวหลายล้านๆๆปี แต่สักวันหนึ่งก็จะถึงจุดอวสานดุจสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นในเบื้องต้น
ก็จะแตกสลายในที่สุด แต่จะถึงวันนั้นเมื่อใด ไม่มีใครทราบ นอกจากพระมเหศวรเท่านั้น
กล่าวคือเมื่อพระมเหศวรทรงมีพระประสงค์จะทำลายโลก เจตจำนงของพระองค์ก็จะไปสัมผัสกับอทษฏะอำนาจที่มองไม่เห็น
จากนั้นอทฤษฏะก็เปลี่ยนหน้าที่จากการสร้างสรรค์มาเป็นหน้าที่ทำลาย
จากนั้นปรมาณูที่รวมตัวกันก็จะแยกออกจากกัน ทำให้ธาตุทั้ง 4
ที่คุมกันก็จะกระจัดกระจายออกจากกัน โดยเริ่มจากธาตุดินทำให้ดินสิ้นสุดลงก่อน
จากนั้นปรมาณูของธาตุน้ำก็แยกจากกันทำให้ความเป็นน้ำสิ้นสุด
ถัดไปปรมาณูของธาตุไฟก็แยกออกทำให้ความเป็นไฟสิ้นสุดลง และอันดับสุดท้ายปรมาณูของธาตุลมได้แยกตัวหมดความเป็นลมต่อไปตามลำดับ
กลับไปอยู่ตามสภาพเดิมของตน ดังนั้น ดิน น้ำ ลม ไฟ ก็ไม่มีอยู่
คงมีเฉพาะปรมาณูของธาตุทั้ง 4 เท่านั้น รายละเอียดการสร้างโลกและทำลายโลกของปรัชญาไวเศษิกะมีปรากฎอยู่ในคัมภีร์ปทารถธรรมสังคหะ
ซึ่งเป็นคัมภีร์สำคัญของลัทธินี้ เหตุใดพระมเหศวรจึงต้องทำลายโลก
ลัทธิไวเศษิกะตอบว่า เพื่อให้สรรพสัตว์ได้พักผ่อนว่างเว้นจากความทุกข์
หลังจากได้ท่องเที่ยวเวียนว่ายตายเกิดจนนับชาติไม่ถ้วน ดุจเวลาค่ำคืนเป็นเวลาพักผ่อนหลังจากเหน็ดเหนื่อยเพราะตรากตรำทำงานก็ฉันนั้น
จากที่ได้แสดงมาจะเห็นได้ว่า ทรรศนะการสร้างโลกของลัทธิไวเศษิกะและลัทธินยายะเป็นอย่างเดียวกัน
คือพระเจ้าสร้างโลกแบบสถาปนิกสร้างบ้าน กล่าวคือสถาปนิกได้นำวัสดุที่มีอยู่มาประกอบกันเข้าให้เป็นบ้านตามรูปที่คิดกำหนดไว้ฉันใด
พระเจ้าก็ทรงสร้างโลกบันดาลให้ปรมาณูของธาตุต่างๆ ที่มีอยู่แล้วมารวมกันเข้าตามแบบที่ถูกกำหนดไว้โดยอทฤษฏะก็ฉันนั้น
ตั้งแต่เริ่มมีโลกเกิดขึ้นจนถึงโลกสลายเรียกว่า กัปหรือกัลป์หนึ่ง
และหลังจากโลกสลายแล้ว ต่อไปพระมเหศวรก็ทรงสร้างโลกขึ้นมาอีก
หมุนเวียนเป็นวงกลมอยู่อย่างนี้ไม่มีที่สิ้นสุด จนไม่มีเบื้องต้น
(อนาทิ) และเบื้องปลาย เพราะต่างก็เป็นเหตุของกันและกัน
***โมกษะและทางดำเนินไปสู่โมกษะ***
โมกษะ คือภูมิที่อยู่ของผู้ที่หลุดพ้นจากกิเลส
ดังนั้นโมกษะจึงเป็นสภาวะที่อยู่เหนือบุญและบาป พ้นจากความทุกข์ทั้งปวง
พ้นจากสังสารวัฏ ไม่กลับมาเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป ผู้ที่บรรลุโมกษะแล้วจะเสวยแต่ความสุขอย่างเดียว
ไม่ต้องหวั่นไหวด้วยอารมณ์ทางจิตต่างๆ เช่น ปัญญา ความยินดี
ความยินร้าย บุญและบาป เป็นต้น เพราะอารมณ์ต่างๆเป็นเพียงคุณสมบัติจรของชีวาตมันในช่วงที่ชีวาตมันเข้าอาศัยในร่างกาย
แต่เมื่อชีวาติมันเข้าถึงโมกษะแล้วพ้นจากบ่วงร่างกายและจิตใจแล้ว
คุณสมบัติเหล่านั้นก็จะไม่มีอยู่ในชีวาตมันอีกต่อไป ชีวาตมันก็จะมีแต่ความบริสุทธิ์ผ่องใส
สะอาด สงบตลอดไป ส่วนวิธีดำเนินไปสู่โมกษะก็ด้วยวิทยาหรือวิชชา
การรู้แจ่มแจ้งในสัจธรรมคือรู้แจ่มแจ้งในสมมุติสัจจะและปรมัตถสัจจะ
รู้จักโลกรู้จักอาตมันว่าต่างกันแล้วพยายามแยกอาตมันให้ออกจากความเศร้าหมองทั้งปวง
โดยหยุดทำกรรมด้วยอำนาจตัณหาอุปาทาน บุญและบาปก็จะไม่เกิดขึ้น
เมื่อผลบุญ-บาปใหม่ไม่มี และผลบุญ-บาปเก่าค่อยๆหมดไป ในที่สุดก็จะหมดบุญ-บาปทั้งปวง
ครั้นผลของกรรมเก่าหมดและกรรมใหม่ไม่มี ชีวาตมันก็จะสลัดตนเองออกจากบ่วงทั้งปวง
กลับคืนสู่สภาพบริสุทธิ์ของตนดังเดิม
|