พระพิฆเณศ
รูปพระพิฆเนศ
คลิกที่นี่เพื่อกลับไปหน้าแรกพระพิฆเนศ
บทเทศนา ศรีสัตยนารายณ์ กถา (ภาษาไทย) ตอนที่ 1
***** ลิขสิทธิ์บทความของ "ศรีหริทาส" มหาวิทยาลัยศิลปากร *****

|| โอมฺ ศฺรีคุรุภฺโย นมะ ||

อารัมภกถา

พิธีสัตยนารายณบูชา( สตฺยนารายณ ปูชา) เป็นพิธีสำคัญอันหนึ่งในศาสนาฮินดู เป็นพิธีที่จัดขึ้นเพื่อถวายบูชาแด่องค์พระนารายณ์ โดยมีความพิเศษอยู่ตรงที่ เรียกองค์พระนารายณ์ว่า “ สัตยนารายณ์” ข้อนี้น่าพิเคราะห์ เพราะคำว่า “ สัตยะ(สตฺย) ” นั้นตรงกับคำว่า “ สัจจะ” ซึ่งหมายถึง “ ความจริง” การที่เราเรียกองค์พระนารายณ์ว่าทรงเป็น “ ความจริง” นั้นเพราะเหตุว่า ชาวฮินดูเห็นว่าสรรพสิ่งทั้งปวง โลก ดวงดาว จักรวาลอันไพศาลรวมทั้งชีวิตของเราเองนั้น เป็นก็แต่เพียง “มายา” เป็น เพียงนาฎกรรมกรีฑาอันสนุกสนานขององค์พระผู้เป็นเจ้าเท่านั้น มิได้เป็นสิ่งที่มีอยู่จริงเลย เพราะมันเกิดขึ้นมีขึ้นเพียงชั่วขณะหนึ่ง แล้วก็สูญสลายไป

มีเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้นที่เป็นความจริงอันนิรันดร เที่ยงแท้ไม่แปรเปลี่ยน คือองค์พระผู้เป็นเจ้า ซึ่งในที่นี้เราเรียกพระนามแทนพระผู้เป็นเจ้าสูงสุดนั้นว่า พระนารายณ์ ทั้งนี้ชาวฮินดูก็เข้าใจว่านั่นเป็นเพียงการสมมุติเรียกพระนามอันหนึ่งของ พระเจ้า(God) เท่านั้น เพราะพระเจ้าสูงสุดย่อมทรงปรากฏในทุกรูปแบบ ทุกชื่อ ทุกหนทุกแห่งในธรรมชาติ แม้ในตัวเรา ทรงไม่อาจอธิบายให้เข้าใจจริงๆได้โดยอาศัยเพียงภาษาของมนุษย์ หรือหากกล่าวเน้นลงไปคือ พระองค์ทรงพ้นไปจากโลกสมมุติโดยสิ้นเชิง พ้นไปจากภาษาและความคิด เราต้องอาศัยศรัทธาและปัญญาที่จะเข้าถึงพระองค์

ในพิธีสัตยนารยณ์บูชานั้นใช้เพียงสิ่งที่เรียบง่ายเช่น มะพร้าว หมาก หม้อกลัศ หรือใช้หิน “ศาลิครามศิลา” เป็น ตัวแทนพระผู้เป็นเจ้าในพิธีบูชา ศาลิครามนั้นเป็นหินสีดำชนิดหนึ่ง บางก้อนก็มีฟอสซิลของแอมโมไนท์อยู่ภายใน พบที่แม่น้ำ คัณฑกี ใกล้เทือกเขามุกตินาถในเนปาล ถือกันว่าเป็นของศักดิ์สิทธิ์มาก เหตุเพราะเชื่อกันว่าเป็นองค์พระนารายณ์อวตารมาในรูปของหิน ชาวฮินดูจึงปรนนิบัติศาลิครามเยี่ยงปฎิบัติต่อเทพเจ้าเลยทีเดียว ข้าพเจ้าคิดว่านี้เป็นจิตวิญญาณของชาวฮินดูที่แท้จริง มิใช่การกระทำไปเพราะความงมงาย แต่การที่เราจะมองเห็น “พระเจ้า” ใน สิ่งเล็กน้อยอย่างหินเล็กๆก้อนหนึ่งนั้น มิใช่เรื่องง่ายดายเลย เพราะมนุษย์ผู้อหังการจะยอมสละความยึดมั่นในอัตตาของตัวเอง ก้มลงศิโรราบกราบกรานหินเล็กๆได้ด้วยความจริงใจนั้นยากยิ่ง ความอ่อนน้อมต่อธรรมชาติในฐานะภาคส่วนแห่งพระผู้เป็นเจ้านั้นคือจิตวิญญาณ ของชาวฮินดูที่แท้จริง

ในพิธีสัตยนารายณ์บูชา นอกจากการกระทำบูชาตามประเพณีแล้วนั้น ก็มีส่วนสำคัญอันหนึ่งคือการแสดงธรรมโดยพราหมณาจารย์ผู้ประกอบพิธี ซึ่งยกเป็นนิทานปรัมปราเล่าเรื่องที่เกี่ยวกับอานิสงค์หรือที่มาของพิธี นั้นๆ เรียกว่า “ กถา” เพื่อฉลองศรัทธาสาธุชน ให้มีความยินดีในกุศล เมื่อแรกที่ข้าพเจ้าได้มีโอกาสร่วมพิธีสัตยนารายณ์บูชา ในเทศกาลมกรสังกรานติ ปูรณิมา ณ วัดเทพมณเฑียร สมาคมฮินดูสมาช ก็ได้ฟัง สัตยนารายณ์กถา อาศัยว่ามีฉบับภาษาอังกฤษอยู่ในมือ จึงพอจะตามเรื่องที่ท่านอาจารย์ ปัณฑิต ศรีลลิต โมหัน วยาสผู้เทศนา แสดงเป็นภาษาฮินดีไปได้บ้าง ข้าพเจ้าได้ถวายฉบับภาษาอังกฤษไปให้ท่านสำเนาหนึ่งเพื่อท่านจะได้สอนแก่ชาว อินเดียที่ไม่ได้ใช้ภาษาฮินดี และยังแจ้งต่อท่านว่าจะแปลเป็นภาษาไทย เพื่อให้ชาวไทยได้มีโอกาสเข้าใจความหมาย ได้มีโอกาสซาบซึ้งกับอรรถและธรรม เพื่อจะได้เจริญปัญญา ท่านได้อนุโมทนาและอำนวยพรในดำริของข้าพเจ้า

ข้าพเจ้าเลือกเอา สัตยนารายณ์กถา ฉบับภาษาอังกฤษที่แปลโดย ศฺรี อโศก พาสเคการ ซึ่งเผยแพร่อยู่ในเวปไซต์ http://sanskrit .gde.to ซึ่ง เป็นเวปไซต์ที่รวบรวมเอาโศลก บทสวดมนตร์ งานชิ้นสำคัญต่างๆในภาษาสันสกฤตและศาสนาฮินดูไว้มากที่สุดแห่งหนึ่งบนโลกไซ เบอร์ โดยเผยแพร่เป็นวิทยาทานมานาน นับว่าน่าอนุโมทนายิ่งนัก ข้าพเจ้าก็ได้อาศัยเวปไซต์นี้เองเป็นแหล่งค้นคว้าหาความรู้ จึงขอแสดงความขอบคุณไว้ ณ ที่นี้ด้วย

เหตุที่ข้าพเจ้าเลือกเอาสัตยนารายณ์ กถาฉบับนี้ เพราะศรีอโศก ได้สอดแทรก เนื้อหาเชิงสังคมเอาไว้ตลอดเรื่อง ทั้งยังปรับปรุงให้มีเนื้อหาร่วมสมัย ไม่โลดโผนพิสดาร จึงน่าที่จะเป็นที่รับฟังของคนรุ่นใหม่ได้ง่าย ข้าพเจ้าได้ปรับปรุงแก้ไขเนื้อหาบ้างเล็กน้อย เพื่อง่ายแก่การอ่าน ความผิดพลาดใดๆที่ปรากฏในหนังสือนี้จึงเป็นของข้าพเจ้าเพียงผู้เดียว ข้าพเจ้าได้เพิ่มส่วนที่เป็น ศฺรีสตฺยนารายณาษฺโฏตฺตรศต นามาวลีะ หรือบทสวดพระนามทั้ง 108 ขององค์สัตยนารายณ์ โศลกชื่อชาคฤหิ (จงตื่นเถิด!) และปรา ปูชา(การบูชาอันสูงสุด)ซึ่งเป็นข้อเตือนใจและบทเพลงอารตี ชคทีศฺวรจี ภาษาฮินดี(ซึ่งยังไม่มีเวลาที่จะแปล หวังใจว่าจะได้แปลในโอกาสต่อๆไป) ไว้ในส่วนท้ายของเล่ม โดยเลือกถอดจากอักษรเทวนาครีเป็นภาษาไทย ตามหลักการถอดอักษรที่ถูกต้อง เพื่อเป็นการรักษาต้นฉบับ แม้ว่าจะค่อนข้างยากสำหรับการอ่านของคนทั่วๆไป แต่การถอดอย่างถูกต้องตามหลักการนั้น ก็ให้ประโยชน์หลายสถาน คือ

1. ย่อมทำให้สามารถพอจะเดาความหมายของศัพท์ต่างๆได้บ้าง เช่น หากถอดว่า “เทวา” ก็พอเดาได้ว่าแปลว่า “เทพ” แต่ถ้าถอดว่า “เดวา” (ตามการออกเสียง) อาจทำให้ไม่ทราบว่าจริงๆแล้วเป็นคำว่าอะไร หรือหากถอดว่า “ ดุะข” ก็จะไม่ทราบว่าเป็น ทุข หรือทุกข์นั้นเอง

2. การออกเสียงในภาษาอินเดียนั้นต่างจากไทยแม้ว่าจะใช้พยัญชนะตรงกันและมีศัพท์เหมือนๆกัน เช่น เราออกเสียงอักษรอูษมัน คือ “ส” “ศ” “ษ” ไม่ ต่างกัน แต่ชาวอินเดียออกเสียงต่างกันทั้งสามตัว ซึ่งต้องอาศัยการเรียนรู้ ผู้สนใจจริงๆ ที่อยากจะออกเสียงมนตร์ให้ตรงกับภาษาเดิม (ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ เพราะชาวอินเดีย ถือว่าเสียงมนตร์ที่ออกอย่างถูกต้อง มีผลต่อร่างกายและจิตใจ) จึงต้องเพียรพยายามฝึกฝน ไปสอบถามจากผู้รู้ หรือต้องหมั่นไปวัดฮินดู ซึ่งนอกจากจะเป็นการเพิ่มพูนความรู้แก่ตัวแล้ว ก็จะได้กุศลอีกทางหนึ่ง ผู้ที่สนใจจริงๆ การหาความรู้เช่นนี้คงมิใช่เรื่องเกินกำลังกระมัง

เนื้อหาของสัตยนารายณ์ ข้าพเจ้าคิดว่าฉบับดั้งเดิมเก่าแก่คงเป็นเรื่องอิทธิปาฎิหารย์ตามแบบนิทานใน คัมภีร์ปุราณะ แต่สำหรับข้าพเจ้าแล้ว ปาฎิหารย์มิใช่เรื่องสำคัญ จุดที่ข้าพเจ้าอยากให้ผู้อ่านใคร่ครวญคือ สิ่งที่ผู้เขียนได้สอดแทรกไว้ในเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการดูแลรับใช้สามีภรรยาลูกหลาน การช่วยเหลือผู้อื่นและผู้ยากไร้ด้วยจิตใจดั่งการถวายต่อพระเป็นเจ้า การมีความภักดีและความจริงใจ เพราะทั้งหมดนี้คือความหมายแท้จริงอันหนึ่งของการ “บูชา” ซึ่งมิใช่เพียงพิธีกรรมตามประเพณีเท่านั้น ความรักในหัวใจเราคือเครื่องบูชาอันสูงสุด ซึ่งถวายผ่าน “พระเจ้า”ใน ตัวผู้อื่นและในสรรพสิ่งแห่งธรรมชาติ ความรักซึ่งหอมหวนยิ่งกว่าดอกไม้และหวานกว่าน้ำผึ้งป่าอันมิอาจซื้อหาได้ ด้วยเงินทอง และความพยายามที่จะประจักษ์แจ้งความจริงสูงสุดโดยมิย่อท้อ คือสิ่งที่ผู้เขียนเสนออย่างน่าพินิจใคร่ครวญ

ท้ายนี้ ข้าพเจ้าอยากแก้ความเข้าใจผิดบางประการที่มีต่อชาวฮินดู ชาวฮินดูนั้นมิได้งอมืองอเท้าเฝ้าอ้อนวอนร้องขอแต่พระเมตตาของพระเจ้า แต่ชาวฮินดูเชื่อเรื่อง “ กรรม” พระเป็นเจ้า เป็นแต่ผู้อำนวยให้กฎของกรรมดำเนินไปอย่างถูกต้อง การไม่ทำความดี แม้ผู้นั้นจะร้องขอปานใดก็มิอาจให้ผลดีได้ การบูชาที่ดีควรเป็นไปเพื่อการเคารพสักการะด้วยศรัทธาบริสุทธิ์ เราบูชาเพราะเรามีใจอยากบูชา เพราะเรามีความเคารพรักในพระเป็นเจ้า มิใช่กระทำในเชิงติดสินบนหรือเพื่อขอสิ่งใดๆ ข้าพเจ้าคิดว่าท่านทั้งหลายไม่ควรร้องขอผลประโยชน์ทางวัตถุใดๆจากพระเป็นเจ้า (บางคนร้องขอผลประโยชน์ทางอบายมุขจากพระเป็นเจ้าเช่น หวย เบอร์เสียด้วยซ้ำ ซึ่งมิใช่สิ่งควรกระทำเลย) สิ่งที่เราอาจพอจะขอพระเมตตาต่อพระองค์ได้เช่น ความสันติสุขในจิตใจ กำลังใจ ส่วนสิ่งอื่นๆ พระองค์ย่อมจัดสรรให้เหมาะสมแก่เราเอง และการแสวงหาผลประโยชน์จากพระเป็นเจ้านั้นเป็นบาปหนักไม่ว่าจะในรูปแบบใดๆก็ ตาม เช่น การเข้าทรง (ซึ่งเป็นไปโดยอำนาจกิเลส เช่นความจงใจหลอกลวง หรือจิตใจอันผิดปกติ เจ็บป่วยของตนเอง) หรือในรูปแบบอื่นๆ นอกจากนี้ยังเป็นการหลอกลวงเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเอง ขอเน้นย้ำว่า การทรงเจ้าเข้าผีไม่มีในคำสอนของศาสนาฮินดู และเราย่อมเข้าถึงพระเป็นเจ้าได้ด้วยความศรัทธาของตัวเราเอง โดยไม่ต้องพึ่งคนทรงเจ้าหรือผู้วิเศษคนใด

ความดีใดๆอันพึงมีในหนังสือนี้ ข้าพเจ้าขอถวายเป็นเทวปูชาแด่เทพเจ้าทุกพระองค์ เป็นมาตาปิตรปูชา และเป็นคุรุปูชาแด่ ท่านปัณฑิต อาจารย์ ศรีลลิต โมหัน วยาส ผู้ทรงคุณอันประเสริฐ และแด่ท่านอาจารย์ ประมวล เพ็งจันทร์ ขอพระเป็นเจ้าประทานพรแด่ท่านที่ได้อ่าน ให้มีความสุขศานติ และได้พบกับสัจจธรรมอันสูงสุดด้วยเทอญ

โอม ศานติ

ศรีหริทาส



โอมฺ ศฺรีคเณศาย นมะ ||

|| ศฺรีสตฺยนารายณ กถา ปรารมฺภ ||

|| ปหิลา อธฺยาย || ศรีสัตยนารายณ์ กถา อัธยายที่1 (บทที่ 1)

บัดนี้
ข้าพเจ้าจักได้สาธยายเรื่องราวและความหมายที่อยู่เบื้องหลังพิธีสัตย นารายณ์บูชา ซึ่งเราทั้งหลายได้กระทำไปแล้ว ในรูปแบบที่ง่ายต่อการทำความเข้าใจ โดยตามประเพณีแล้วนั้น เรื่องราวเกี่ยวกับสัตยนารายณ์บูชาจะถูกเล่าในเชิงนิทาน ซึ่งเป็นเรื่องอันเกิดในอดีตอันไกลโพ้น โดยในกาลครั้งนั้นผู้คนยังสามารถประสบกับปาฏิหาริย์ต่างๆได้ ผิดกับสมัยปัจจุบันที่ผู้คนไม่จำเป็นต้องเชื่อปาฏิหาริย์เช่นนั้นแล้ว คนในยุคเรานี้ล้วนเชื่อในปาฏิหาริย์สมัยใหม่เช่น ซิลิคอนชิปในคอมพิวเตอร์ที่สามารถทำหน้าที่ต่างๆได้อย่างมากมาย แต่ไม่อาจทำใจให้เชื่อในปาฏิหาริย์อันถูกเล่าตามประเพณีมานับแต่อดีตจากรุ่น สู่รุ่นได้ ดังนั้นข้าพเจ้าจะพยายามเล่าเรื่องสัตยนารายณ์โดย ให้คนรุ่นใหม่สามารถเข้าใจและเข้าถึงได้(โดยเรื่องราวที่จะเล่านี้เก็บความ จากคัมภีร์ปุราณะ) กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ในป่าแห่งหนึ่งนามว่า ไนมิษฺ ซึ่งเป็นที่พำนักของท่านฤาษีเศานักและบรรดาฤาษีทั้งหลาย ฤาษีเหล่านั้นพากันถามผู้เล่านิทาน(สูตะ)ว่า ทำอย่างไรที่บุคคลจะได้รับความสันติแห่งจิตใจ สุขภาพที่ดี ทรัพย์สมบัติและความสุข สูตะกล่าวตอบว่า คำถามเช่นนี้ก็ได้บังเกิดขึ้นในจิตของท่านพรหมฤาษีนารทมุนีเช่นกัน ขณะเมื่อท่านนารทรู้สึกขัดข้องว้าวุ้นใจและปราศจากความสุข เมื่อได้พบเห็นความทุกข์ของสรรพชีวิตทั้งหลายในจักรวาล ด้วยเหตุนั้น ท่านนารถมุนี จึ่งได้นั่งสมาธิดำดิ่งลงในความสงบอันลึกซึ้ง เพื่อค้นหาตัวตนอันแท้จริง และท่านได้ประจักษ์ถึง “โอมฺ” พยางค์ลึกลับอันศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งก็คือ “อาตมัน” อัน เป็นตัวตนที่แท้จริงของเรา เป็นจุดเริ่มต้นแห่งสรรพสิ่งทั้งปวง คือสำนึกรู้แห่งการดำรงอยู่ของเรา และด้วยการประจักษ์เช่นนั้นเอง ได้ทำให้ท่านรู้ว่า เมื่อไหร่และที่ไหนที่สิ่งนั้นเกิดขึ้นมา และเมื่อใดคือจุดสิ้นสุดของมัน ภายใต้ดวงตาอันปิดสนิทนั้นเอง ท่านนารทมุนี ได้คิดคำนึงถึงสิ่งที่งดงามที่สุด หล่อเหลาที่สุด รูปลักษณ์ที่ทรงพลังที่สุดเท่าที่จะเกิดขึ้นได้ภายใต้ห้วงอวกาศอันไม่มีที่ สุดนี้ ซึ่งประกอบไปด้วยดวงดาวจำนวนนับอนันต์ซึ่งอยู่ภายใต้กาแลคซี่จำนวนนับอนันต์ เช่นกัน กาแลคซี่ทางช้างเผือก ระบบสุริยจักรวาล พระอาทิตย์ และพระจันทร์ สิ่งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิตในจักรวาล ทวีป ประเทศ บ้านเมืองนี้ และผู้คนทั้งหลายที่อยู่รอบๆตัว ท่านรำพึงว่า ใครกันหนอที่ เป็นผู้สร้างสรรพสิ่งเหล่านี้ ท่านผู้นั้นอยู่ที่ใด ท่านผู้นั้นเป็นอย่างไร ในที่สุดท่านนารทก็พบว่า ผู้สรรค์สร้างจักรวาลนี้มิใช่ใครอื่น แต่เป็นองค์พระวิษณุนารายณ์ผู้ทรงฤทธานุภาพ ซึ่งมีพระเนตร พระเศียร พระกร และพระบาทอย่างละพัน(ลักษณะของพระเป็นเจ้าที่กล่าวมานี้ ปรากฏใน “ปุรุษะสูกตะ” ซึ่งว่าด้วยการสร้างโลก ในคัมภีร์ฤคเวท – ผู้ แปล) องค์พระเป็นเจ้าผู้ทรงฤทธานุภาพนี้ ทรงอยู่ภายในทุกสรรพสิ่งในจักรวาลแต่ขณะเดียวกันพระองค์ก็อยู่เหนือสรรพสิ่ง เหล่านั้นด้วย พระเป็นเจ้าผู้ทรงฤทธานุภาพนั้นง่ายดายที่จะเข้าถึงในขณะเดียวกันก็ยากที่จะ รับรู้ถึงพระองค์ พระองค์ทรงสถานุ(มั่นคงไม่เคลื่อนไหว) แต่ขณะเดียวกันก็ทรงเคลื่อนไหวรวดเร็วกว่าความคิด พระองค์เล็กกว่าอะตอมที่เล็กที่สุดเท่าที่เราจะจินตนาการได้ ขณะเดียวกันก็ทรงใหญ่ยิ่งกว่าท้องฟ้า พระองค์ทรงสถิตในดวงใจของผู้เที่ยงธรรม ผู้ซึ่งเอาใจใส่ต่อสรรพชีวิตที่น่าสงสารและทุกข์ทนเฉกเช่นเดียวกับเอาใจใส่ ต่อญาติมิตรของเขาเอง ทรงสถิตกับบุคคลผู้ที่เสียสละเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของสังคม ผู้ซึ่งคิดถึงความสุข ความปิติยินดี และเจตน์จำนงที่ดีของสังคมเสมอ และพระองค์ทรงสถิตในผู้เลี้ยงดูคนที่หิวโหยทั้งหลาย พระองค์ยังสถิตกับคนชอบธรรม คือผู้ทำงานหนักเพื่อขจัดเสียซึ่งความมืดมิดแห่งอวิชชาและจุดไฟแสงสว่างแห่ง ปัญญาแก่ผู้คน ด้วยการประจักษ์แจ้งถึงองค์พระเป็นเจ้าผู้ทรงฤทธานุภาพนี้เอง ท่านนารทมุนีก็เป็นสุข ความว้าวุ้นขัดข้องทั้งปวงในจิตใจของท่านก็ปลาสนาการไป จิตของท่านสงบสันติเป็นอย่างยิ่ง และนั่นก็ส่งผลให้สุขภาพของท่านดีขึ้น เมื่อร่างกายดีก็ไม่ยากที่บุคคลจะแสวงหาและได้มาซึ่งทรัพย์สมบัติ ดังนั้นสุขภาพที่ดี ทรัพย์สมบัติ ความมีใจกว้างขวาง ความสันติสุขแห่งจิตใจ ก็จะเกิดขึ้นเองโดยอัตโนมัติ เมื่อบุคคลได้ประจักษ์ถึงความจริงแท้ของพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงฤทธานุภาพ คือ องค์สัตยนารายณ์นั่นเอง

จบอัธยายที่ 1 แห่ง ศรีสัตยนารายณ์ กถา ด้วยประการฉะนี้

โอมฺ ศฺรีสตฺยนารายณาย นมะ || โอมฺ นโม ภควเต วาสุเทวาย ||


|| ศฺรีสตฺยนารายณ กถา ||

|| ทุสรา อธฺยาย || ศรีสัตยนารายณ์ กถา อัธยายที่2 (บทที่ 2)

วันหนึ่ง ท่านพรหมฤาษีนารทได้พบกับพราหมณ์ยากจน ในนครกาศี(พาราณสี)อันงดงาม พราหมณ์ยากจนผู้นั้นหิวโหย ทั้งยังเศร้าหมองเพราะความสังเวชในสภาพของตนเอง เมื่อท่าน นารทมุนี ได้เห็นพราหมณ์ผู้นั้นแล้ว ท่านได้เข้าไปใกล้แล้วถามขึ้นว่าเหตุใดเขาจึงดูเศร้าหมองนัก พราหมณ์ตอบว่า “ โอ ข้าแต่ท่านพรหมฤาษี ทำอย่างไรเล่าข้าพเจ้าจะสามารถขจัดเสียซึ่งความยากจนและความทุกข์ประดามีที่ ข้าพเจ้าประสบอยู่ ข้าพเจ้าว้าวุ้นสับสนจนไม่อาจนอนหลับลงได้ในยามราตรี ได้โปรดบอกข้าพเจ้าหน่อยเถอะ ว่าทำไฉนข้าพเจ้าจะขจัดเสียซึ่งความเศร้าหมองที่ข้าพเจ้ามีในบัดนี้” ท่านนารทมุนีตอบว่า “นี่ แน่ะ มิตรรัก ในเบื้องต้นท่านจงพยายามทำความเข้าใจว่า จริงๆแล้วท่านคือใคร จงพยายามทำความเข้าใจถึงรูปลักษณ์และธรรมชาติอันแท้จริงของ สัจธรรมสูงสุด จงพินิจพิจารณาเถิดว่าพิธีสัตยนารายณ์บูชานั้นกระทำอย่างไร ด้วยการประจักษ์แจ้งความจริงของตน ท่านก็จะบรรลุสิ่งทั้งปวงที่ท่านต้องการ” พราหมณ์ ผู้นั้นจึ่งกลับไปบ้าน ในไม่กี่วันต่อมาเขาได้พินิจพิเคราะห์ว่าพิธีสัตยนารายณ์นั้นกระทำอย่างไร เขาได้สังเกตความเรียบง่ายของพิธีในการใช้ หมาก มะพร้าวและหม้อน้ำกลศ ที่ถูกใช้เพื่อทำความเข้าใจธรรมชาติอันแท้จริงของสิ่งสูงสุด เขาเองก็ได้เริ่มวิธีการเช่นเดียวกันนี้เพื่อจะทำความเข้าใจองค์สิ่งสูงสุด เขาดูแลช่วยเหลือภรรยา ดั่งถวายบริการแด่องค์พระลักษมี เขามอบความรักแด่บุตรชายของตนดั่งถวายความรักต่อองค์พาลกฤษณะ(พระกฤษณะในวัย เด็ก) และเขามอบความรู้แด่บุตรสาวดั่งถวายต่อองค์พระสรัสวตี ทัศนะที่มีต่อชีวิตของเขาได้เปลี่ยนไปแล้ว เขาเริ่มมองเห็นสิ่งต่างๆว่าเป็นส่วนหนึ่งหรือเศษเสี้ยวหนึ่งขององค์พระผู้ เป็นเจ้าสูงสุด ทั้งหมดนี้ได้ทำให้เกิดสันติสุขขึ้นในหัวใจของเขา ความว้าวุ้นสับสนได้มลายไป เขากลายเป็นผู้ที่มีความสุข เมื่อใดที่จิตเป็นสุขร่างกายก็จะตอบสนองในแง่ดีด้วย ดังนั้นสุขภาพของเขาก็ดีขึ้น เขาสามารถที่จะทำงานหนักได้ และด้วยการเปลี่ยนแปลงทั้งการทำงานหนักและธรรมชาติของตัวเขาเอง พราหมณ์ผู้นั้นกลายเป็นบุคคลอันเป็นที่ต้องการของสังคม สถานภาพทางสังคมของเขาก็ดีขึ้น ความซื่อสัตย์จริงใจและความรักภักดีต่อพระผู้เป็นเจ้า โดยปราศจากความปรารถนาผลทางวัตถุใดๆ ก็ทำให้เขาได้รับสิ่งทั้งปวงอันเหมาะสมที่เขาจะพึงได้รับ วันหนึ่ง ขณะที่พราหมณ์ผู้นั้นกำลังประกอบพิธีสัตยนารายณ์บูชาอยู่นั้น เขาก็สังเกตเห็น ชายขายฟืนยากจนและหิวโหยซึ่งเทินมัดกองฟืนไว้บนศรีษะ ยืนอยู่ที่ประตูบ้านของเขา ชายขายฟืนเอ่ยถามว่าพราหมณ์กำลังทำสิ่งใด พราหมณ์จึงเชื้อเชิญชายขายฟืนเข้ามาในบ้านและชวนให้เขาพินิจดูว่าเขากำลังทำ อะไรอยู่ และกล่าวบอกชายขายฟืนว่าทำอย่างไรที่บุคคลจะได้รับสิ่งที่พึงใจอย่างเต็มที่ จากการพยายามทำความเข้าใจธรรมชาติอันแท้จริงของพระผู้เป็นเจ้าคือองค์สัตย นารายณ์ โดยการสังเกตพิธีสัตยนารายณบูชานั่นเอง ชายขายฟืนได้กลายเป็นผู้ที่มีความสุขอย่างยิ่ง เขาได้เจริญรอยตามพราหมณ์ผู้นั้น
ด้วยการเปลี่ยนแปลงคุณลักษณะของจิตใจในทางที่ดีขึ้น
ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพกาย พละ
กำลัง และการทำงาน
การเปลี่ยนแปลงอันน่าอัศจรรย์ใจนี้นำมาสู่การทำงานที่หนัก
ขึ้นอันจะนำไปสู่ทรัพย์สิน บุตรที่ดีและครอบครัวที่เป็นสุข

จบอัธยายที่ 2 แห่ง ศรีสัตยนารายณ์ กถา ด้วยประการฉะนี้

โอมฺ ศฺรีสตฺยนารายณาย นมะ || โอมฺ นโม ภควเต วาสุเทวาย ||

อ่านต่อ บทเทศนา ศรีสัตยนารายณ์ กถา (ภาษาไทย) ตอนที่ 2

บทความนี้เป็นลิขสิทธิ์ของ อาจารย์คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง (ศรีหริทาส)
อาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา มหาวิทยาลัยศิลปากร


ผู้ที่ต้องการนำไปเผยแพร่ในเว็บไซต์อื่น ด้วยวัตถุประสงค์ทางการกุศล
สามารถทำได้โดยอ้างอิงถึงผู้เขียนให้ชัดเจน

ห้ามตีพิมพ์เพื่อการค้าโดยมิได้รับอนุญาต
เราขอขอบพระคุณมา ณ ที่นี้ / สยามคเณศ

....................................................................................

ผลงานของ อ.คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง
วิมุกโตทัย (บทสรรเสริญพระศิวะ) ส่วนที่ 1
วิมุกโตทัย (บทสรรเสริญพระศิวะ) ส่วนที่ 2
วิมุกโตทัย (บทสรรเสริญพระศิวะ) ส่วนที่ 3

อ่านผลงานของ อ.คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง "มีนัดกับพระเจ้า ที่แดนภารตวรรษ"
| พระคเณศ 1 | พระคเณศ 2 | พระคเณศ 3 | พระคเณศ 4 | พระคเณศ 5 |
พระเครื่องพระพิฆเนศวร์ พระศิวะ พระอิศวร พระวิษณุ พระนารายณ์ พระลักษมี พระอุมาเทวี พระแม่ลักษมีเทวี พระสุรัสวดี พระสุรัสวตี พระสรัสวตี พระสรัสวดี พระนารายณ์ทรงครุฑ พระแม่กาลี เจ้าแม่กาลี พระแม่ทุรกา เจ้าแม่ทุรกา ทุรคาเทวี พระกฤษณะ หนุมาน พญาครุฑ
อ่านเรื่องเทพเจ้าเพิ่มเติม
ความรู้เกี่ยวกับศาสนาพราหมณ์-ศาสนาฮินดู
พระพรหม , พระวิษณุ , พระศิวะ , พระราม , พระกฤษณะ ,
พระแม่อุมาเทวี , พระแม่กาลี , พระแม่ทุรกา , พระตรีมูรติ
พระแม่ลักษมี , พระแม่สุรัสวดี , พระขันทกุมาร , พระหนุมาน
บทสวดมนต์บูชาพระพิฆเนศ วิธีบูชาพระพิฆเณศ พระคเนศ

วัดเทพมณเฑียร วัดเทพมณเทียร , เทวสถานโบสถ์พราหมณ์ ,วัดวิษณุ ยานนาวา , พิพิธภัณฑ์พระพิฆเนศ พิพิธภัณฑ์พระพิฆเณศ เชียงใหม่ , ศาลพระพิฆเนศห้วยขวาง
พระพิฆเณศสี่แยกห้วยขวางรัชดาภิเษก
,
เสาชิงช้า ศาลากลางกรุงเทพ , พระพิฆเนศนครนายก
วัดพระศรีมหาอุมาเทวี สีลม วัดแขกสีลม , งานนวราตรี งานวัดแขก
พิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณ พิพิธภัณฑ์ช้างสามเศียร สมุทรปราการ

ขออำนาจแห่งพระพิฆเนศวรโปรดดลบันดาลให้ท่านทั้งหลายล้วนประสบแต่ความสำเร็จในทุกๆประการด้วยเทอญ
สงวนลิขสิทธิ์ SiamGanesh.com, All Rights Reserved.