พระพิฆเณศ
รูปพระพิฆเนศ
คลิกที่นี่เพื่อกลับไปหน้าแรกพระพิฆเนศ
วิมุกโตทัย บทสรรญเสริญพระศิวะ (ส่วนที่ 2)
***** ลิขสิทธิ์บทความของ "ศรีหริทาส" มหาวิทยาลัยศิลปากร *****

น ภูมิรฺน จาโป น วหฺนิรฺน วายุรฺน
จากาศมาสฺเต น ตนฺทฺรา น นิทฺทรา |
น คฺรีษฺโภ น ศีตํ น เทโศ น เวโศ
น ยสฺยาสฺติ มูรฺติสฺตฺริมูรฺตึ ตมีเฑ || ๖ ||

พระองค์มิใช่ธาตุดินแลน้ำ มิใช่ธาตุไฟ มิใช่ทั้งธาตุลมแลอากาศธาตุ มิใช่สภาวะตื่น มิใช่การหลับใหล มิใช่ความร้อน มิใช่ความเย็น
มิใช่สถานที่ มิใช่ที่อาศัย มิใช่รูปใดๆทั้งหมด ขอสรรเสริญ พระผู้มีสามรูป-28 พระองค์นั้น

อชํ ศาศฺวตํ การณํ การณานา
ศิวํ เกวลํ ภาสกํ ภาสกานามฺ |
ตุรียํ ตมะปารมาทฺยนฺตหีนํ
ปรฺปทฺเย ปรํ ปาวนํ ไทฺวตหีนมฺ || ๗ ||

พระผู้ไม่มีกำเนิด ผู้ไม่มีที่สิ้นสุด เป็นมูลการณะแห่งสิ่งทั้งหลาย
พระศิวะ ผู้เป็นหนึ่งเดียวปราศจากสิ่งเกาะเกี่ยว ผู้เป็นภาวะตุรียะ-29 ผู้อยู่เหนือความมืด-30 ผู้ปราศจากจุดเริ่มต้นและจุดจบ ข้าฯขอมอบกายถวายชีวิตแด่พระองค์ ผู้บริสุทธิ์โดยสิ้นเชิง ผู้พ้นจากทวิภาวะ

นมสฺเต นมสฺเต วิโภ วิศฺวมูรเต
นมสฺเต นมสฺเต จิทานนฺทมูรฺเต |
นมสฺเต นมสฺเต ตโปโยคคมฺย
นมสฺเต นมสฺเต ศฺรุติชฺญานคมฺย ||

ข้าแต่พระผู้ซ่านไปทั่ว พระผู้มีวิศวรูป-31 ข้าฯขอนอบน้อมอย่างยิ่ง
ข้าแต่พระผู้มีรูปเป็นจิตบริสุทธิ์แห่งอานันทสุข ข้าฯขอนอบน้อมอย่างยิ่ง
พระผู้อาจเข้าถึงได้โดยตบะแลโยคะ ข้าฯขอนอบน้อมอย่างยิ่ง
พระผู้อาจเข้าถึงได้โดยความรู้ทั้งปวงในศรุติ-32 ข้าฯขอนอบน้อมอย่างยิ่ง

ปฺรโภ ศูลปาเณ วิโภ วิศฺวนาถ
มหาเทว ศมฺโภ มเหศํ ตฺริเนตฺร |
ศิวากานฺต ศานฺต สฺมราเร ปุราเร
ตฺวทนฺโย วเรรฺโย น มานฺโย น คณฺยะ ||

ข้าแต่พระผู้ทรงอำนาจ ผู้ทรงตรีศูลในพระหัตถ์ พระผู้แผ่ซ่านไปทั่ว ผู้เป็นที่พึ่งแห่งสากลโลก
ข้าแต่พระมหาเทวะ พระผู้ทรงมีสุข พระเป็นเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ พระตรีเนตร
ยอดรักแห่งพระศิวา ผู้สงบรำงับ ผู้เป็นอริแห่งกามเทพและปุระ-33
ไม่มีเกียรติยศและการบูชาใดมีค่ายิ่งไปกว่ากระทำในพระองค์

ศมฺโภ มเหศ กรุณามย ศูลปาเณ
เคารีปเต ปศุปเต ปศูปานศนาศินฺ |
กาศีปเต กรุณยา ชคเทตเทก-
สฺตฺวํ หํสิ ปาสิ วิทธาสิ มเหศฺวโร’สิ || ๑๐ ||

ข้าแต่พระศัมภุ พระเป็นเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ ผู้มีพระทัยกรุณา ผู้ทรงตรีศูล
บดีแห่งพระเคารี-34 พระผู้บดีแห่งสัตว์ทั้งหลาย ผู้ทำลายบ่วงร้อยรัดแห่งสัตว์ทั้งหลาย พระเป็นเจ้าแห่งนครกาศี-35 พระมเหศวรพระองค์นั้น เพราะพระกรุณาทรงรังสรรค์ รักษาแลทำลายโลกอันนี้

ตฺวตฺโต ชคทฺภวติ เทว ภว สฺมราเร
ตฺวยฺเยว ติษฺฐติ ชคนฺมฤฑ วิศฺวนาถ |
ตฺวยฺเยว คจฺฉติ ลยํ ชคเทตทีศ
ลิงฺคาตฺมเก หร จราจรวิศฺวรูปินฺ || ๑๑ ||

ข้าแต่เทวะ พระผู้เป็นอริแห่งกามเทพ โลกนี้มีขึ้นจากพระองค์
ข้าแต่พระวิศวนาถ พระมฤฑ-36 โลกนี้ตั้งอยู่ในพระองค์นั้นเทียว
ข้าแต่พระผู้มีรูปเป็นลึงค์-37 โลกนี้มลายไปในพระองค์
สิ่งทั้งปวงทั้งเคลื่อนไหวแลหยุดนิ่ง คือรูปอันหลายหลากของพระองค์นั่นเอง

23. คือ คณะบริวารแห่งพระศิวะ ได้แก่ภูตผี ฤาษี เทวะแลอื่นๆ
24. อีกพระนามของพระอุมาเทวี
25. อีกพระนามของพระอุมาเทวี
26. พระจันทร์
27. อาตมันสูงสุด
28. พระผู้สร้าง ผู้รักษา ผู้ทำลาย
29. ภาวะสูงสุดของจิต คือภาวะที่เหนือการตื่น การฝันแลการหลับสนิท
30. ตมัสคุณ
31. มีรูปเป็นสากล หรือมีรูปอันหลากหลายไม่สิ้นสุด
32. ศรุติแปลว่า “ได้ยิน” หมายถึง คัมภีร์พระเวททั้งหลาย เพราะถือกันว่า ฤาษีโบราณได้ยินพระเวทมาจากพระเจ้าโดยตรง
33. นามของอสูร
34. อีกพระนามของพระอุมาเทวี
35. เมืองวาราณสีหรือพาราณสี
36. นามพระศิวะ
37. ศิวลึงค์ ซึ่งเป็นตัวแทนองค์พระศิวะ เป็นสัญลักษณ์ศักดิ์สิทธิ์ เมื่อพราหมณ์กระทำบูชาก็จะกระทำที่ศิวลึงค์

ศิวะลึงค์เป็นสัญลักษณ์แทนองค์พระศิวะ ทำเป็นรูป “ลึงค์” หรืออวัยวะเพศชาย บางครั้งทำเป็นรูปเศียรพระศิวะเรียกว่ามุขลึงค์ ถ้ามีห้าเศียรเรียกว่าปัญจมุขลึงค์ แต่โดยทั่วไปมักทำเป็นทรงกระบอกยอดกลมเกลี้ยงไม่มีลวดลายใดๆ ศิวะลึงค์นั้นรองรับด้วยโยนิโทรณะ หรือฐานโยนี

การบูชาศิวลึงค์อาจเป็นประเพณีท้องถิ่นที่มีมาก่อนการเข้าไปของชาวอารยัน นัยว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์(เช่นเดียวกับการนับถือปลัดขิกใน ท้องถิ่นของไทย) ต่อมารับเข้าเป็นส่วนหนึ่งของศาสนาฮินดู ศิวลึงค์มิใช่สัญลักษณ์ที่อุจจาดน่าเกลียดแต่ประการใด ท่านสวามีศิวานันทะนักบวชฮินดูที่มีชื่อเสียงกล่าวว่า จริงๆแล้วศิวลึงค์คือพระศิวะในรูปของแสงสว่างและความไร้รูปลักษณ์ พระเป็นเจ้าจะทรงอยู่ในรูปใดก็ได้ทั้งนั้น ในสัจภาวะไม่มีความต่างระหว่างความน่าเกลียดและความสวยงาม

พฺรหฺมมุราริสุรารฺจิตลิงฺคมฺ นิรฺมลภาสิตโศภิตลิงฺคมฺ |
ชนฺมชทุะขวินาศกลิงคมฺ ตตฺ ปฺรณมามิ สทาศิวลิงฺคมฺ ||

พระศิวะลึงค์อันเป็นที่สักการะโดยพระพรหมา พระมุรารี(พระนารายณ์) แลเทวะทั้งหลาย
ลึงค์อันมีวาจาวิสุทธิ์แลงามโศภิต ลึงค์อันยังให้ทุกข์แห่งการเกิดวินาศไป
ข้าฯขอประณตน้อมอย่างยิ่ง แด่พระสทาศิวลึงค์นั้น

เทวมุนิปฺรวราจิตลิงฺคมฺ กามทหมฺ กรุณากร ลิงคมฺ |
ราวณทฺรปวินาศนลิงฺคมฺ ตตฺ ปฺรณมามิ สทาศิวลิงฺคมฺ ||

ลึงค์อันเป็นที่สักการะอย่างสูงสุดแห่งเทวมุนี ลึงค์ผู้ฆ่าเสียซึ่งกาม ลึงค์ผู้กระทำกรุณา
ลึงค์อันทำลายซึ่งความทะนงตนของราวัณ(ทศกัณฐ์)
ข้าฯขอประณตน้อมอย่างยิ่ง แด่พระสทาศิวลึงค์นั้น

สรฺวสุคนฺธิสุเลปิตลิงฺคมฺ พุทฺธิวิรฺธนการณลิงฺคมฺ |
สิทฺธิสุราสุรวนฺทิตลิงฺคมฺ ตตฺ ปฺรณมามิ สทาศิวลิงฺคมฺ ||

ลึงค์อันลูบไล้จุลเจิมดีแล้วด้วยเครื่องหอมทั้งหลาย ลึงค์อันเป็นมูลการณะแห่งการวิวัฒน์ของพุทธิ
(พัฒนาการของการคิดรู้หรือสติปัญญา)
ลึงค์อันสักการะโดยนักสิทธิ์ เทวะแลอสูรทั้งหลาย
ข้าฯขอประณตน้อมอย่างยิ่ง แด่พระสทาศิวลึงค์นั้น

กนกมหามณิภูษิตลิงฺคมฺ ผนิปติเวษฺฏิตโศภิตลิงคมฺ |
ทาษฺสุยชฺญ วินาศน ลิงคมฺ ตตฺ ปฺรณมามิ สทาศิวลิงฺคมฺ ||

ลึงค์อันประดับด้วยทองคำแลมหามณี ลึงค์อันมีนาคบดีพันรัดอยู่รอบแลดูงามโศภิต
ลึงค์อันทำให้ยัชญกรรมของพระทักษะ วินาศไป-*
ข้าฯขอประณตน้อมอย่างยิ่ง แด่พระสทาศิวลึงค์นั้น

กุงฺกุมจนฺทนเลปิตลิงฺคมฺ ปงฺกชหารสุโศภิตลิงฺคมฺ |
สญฺจิตปาปวินาศนลิงฺคมฺ ตตฺ ปฺรณมามิ สทาศิวลิงฺคมฺ ||

ลึงค์อันถูกไล้ทาด้วยชาดแดง** แลกระแจะจันทน์ ลึงค์อันงามโศภิตด้วยสายสร้อยดอกบัว
ลึงค์ผู้ทำลายเสียซึ่งบาปที่สั่งสมพอกพูน
ข้าฯขอประณตน้อมอย่างยิ่ง แด่พระสทาศิวลึงค์นั้น

เทวคณารฺจิตลิงฺคมฺ เสวิตลิงฺคมฺ ภาไวรฺภกฺติเรว จ ลิงฺคมฺ |
ทินกรโกฏิปฺรภากรลิงฺคมฺ ตตฺ ปฺรณมามิ สทาศิวลิงฺคมฺ ||

ลึงค์อันเป็นที่บูชารับใช้โดยคณะเทพ ลึงค์อันเป็นที่บูชาด้วยรักแลภักดี
ลึงค์อันประภาแสงดั่งดวงทินกร นับด้วยโกฏิ
ข้าฯขอประณตน้อมอย่างยิ่ง แด่พระสทาศิวลึงค์นั้น

อษฺฏทโลปริเวษฺฏิตลิงฺคมฺ สรฺวสมุทฺภวการณลิงฺคมฺ |
อษฺฏทริทฺรวินาศิตลิงฺคมฺ ตตฺ ปฺรณมามิ สทาศิวลิงฺคมฺ ||

ลึงค์อันห่อหุ้มไปรอบด้วยกลีบบุปผาทั้งแปดชนิด ลึงค์อันเป็นมูลการณะของสรรพสิ่ง
ลึงค์อันทำลายซึ่งความยากจนขาดแคลนทั้งแปดประการ***
ข้าฯขอประณตน้อมอย่างยิ่ง แด่พระสทาศิวลึงค์นั้น

สุรคุรุสุรวรปูชิตลิงฺคมฺ สุรวนปุษป สทารฺจิต ลิงฺคมฺ |
ปราตฺปรํ ปรมาตฺมากลิงฺคมฺ ตตฺ ปฺรณมามิ สทาศิวลิงฺคมฺ ||

ลึงค์อันเป็นที่บูชาสักการะโดยคุรุของเทวะแลเทวะผู้ประเสริฐทั้งหลาย
ลึงค์อันเป็นที่สักการะอยู่ทุกเมื่อด้วยวนบุปผาแห่งสวรรค์ ลึงค์อันเป็นบรมสัตย์ เป็นปรมาตมัน
ข้าฯขอประณตน้อมอย่างยิ่ง แด่พระสทาศิวลึงค์นั้น

ลิงฺคาษฺฏกมิทํ ปุณยํ ยะ ปเฐตฺ ศิวสนฺนิเธา |
ศิวโลกมวาปฺโนติ ศิเวณ สห โมทเต ||

บุณย์แห่งการท่องบทสวดสรรเสริญพระศิวลึงค์ทั้งแปดบทนี้ ใกล้องค์พระศิวะ
ย่อมไปสู่ศิวโลก ร่วมเสวยบรมสุขกับพระศิวะ

* เทวตำนานเล่าว่าพระทักษะไม่เชิญพระศิวะผู้เป็นเขยไปร่วมพิธียัชญกรรม ทำให้พระสตีชายาของพระศิวะเสียพระทัยโดดลงกองไฟ(ซึ่งต่อมาฮินดูบางพวกได้นำ มาเป็นพิธีสตี คือการที่ภรรยาโดลงกองไฟเผาศพของสามี) พระศิวะทรงพิโรธกลายร่างเป็นไภรวะ เข้าประหัตประหารพระทักษะแลเทวดาในที่นั้น
** ผงกุงกุมหรือสินทูร ใช้เจิมหน้าผาก
*** เรียกว่า อษฺฏทริทฺร ได้แก่ 1.ธนทริทฺร ความยากจนเงินทอง 2.อายุรทริทฺร ความมีอายุสั้นมีสุขภาพไม่ดี 3. วิทฺยาทริทฺร ความยากจนความรู้
4.กีรฺติทริทฺร ความยากจนเกียรติยศ 5.วาคฺทริทฺร ความยากจนวาจา มีคำพูดไม่ไพเราะไม่น่าเชื่อถือ 6.คุณทริทฺร ความยากจนคุณความดีต่างๆ
7.กามทฺริทร ความยากจนความสุขแบบชาวโลก 8.ธรฺมทริทฺร ความยากจนธรรม

เมืองวาราณสีหรือกาศีที่คนไทยรู้จักกันในชื่อพาราณสี ถือเป็นบุณยสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดแห่งหนึ่งของฮินดูชน เนื่องจากเมืองนี้เป็นที่ที่มีแม่น้ำคงคาไหลผ่าน เป็นเมืองศูนย์กลางทางศาสนาเพราะเต็มไปด้วยวัดวาอารามแลแหล่งเรียนรู้ทาง ศาสนามากมาย แลเป็นเมืองแห่งพระศิวะ เพราะเป็นที่ประดิษฐานศิวลึงค์ที่สำคัญหนึ่งในสิบสององค์(ทวาทศชโยติลึงค์ )ของอินเดีย เรียกว่า “พระวิศวนาถ” หรือ “กาศีวิศวนาถ” ซึ่งแปลว่าพระผู้เป็นที่พึงแห่งสากลจักรวาล หากท่านได้ไปเยือนนครวาราณสี และได้มีโอกาสล่องเรือในแม่น้ำคงคายามเช้าตรู่ ท่านจะได้พบบรรยากาศที่มหัศจรรย์มีมนตร์ขลัง ราวกลับได้ย้อนไปหลายพันปีที่แล้ว เป็นบรรยากาศที่ยากจะอธิบาย ทำให้ท่านตระหนักถึงความงามของโลก ความมีศรัทธาในศาสนาของผู้คนที่ยังคง “แสวงหา” ความจริงแห่งชีวิต แลความไม่เที่ยงของสังขาร ที่เราอาจตระหนักได้โดยควันไฟเผาซากศพที่พวยพุ่งอยู่ริมน้ำอย่างไม่รู้ดับ

ชาวฮินดูไม่ได้อาบน้ำคงคาเพราะน้ำคงคาจะชำระบาปหรือสร้างอิทธิปาฏิหาริย์ เขารู้ว่ากรรมของผู้ใดผู้นั้นต้องรับเอง แต่ชาวฮินดูอาบน้ำคงคาเพื่อเชื่อมโยงตนเองกับพระผู้เป็นเจ้า เพราะน้ำคงคานั้นไหลมาจากเทือกเขาไกรลาศอันศักดิ์สิทธิ์ที่สถิตแห่งพระเป็น เจ้า ไหลมาจากพระเศียรของพระเจ้าผู้ทรงพระกรุณา ฮินดูชนต้องการเพียงสัมผัสความรักความกรุณาของพระเจ้าในน้ำแต่ละหยาดหยด เพื่อชำระอกุศลจิตและเข้าถึงพระเป็นเจ้า คือพระวิศวนาถในจิตใจตนเอง


|| วิศฺวนาถาษฺฏกมฺ ||
บทสรรเสริญพระวิศวนาถแปดบท

คํคาตรํกรมณียชฏากลาปํ
เคารีนิรนฺตรวิภูษิตวามภาคมฺ |
นารายณปฺริมนํคมทาปหารํ
วาราณสีปุรปตึ ภช วิศวนาถมฺ ||

พระศิวะ ผู้ทรงมีเครื่องประดับมุ่นมวยพระเกศาที่น่าหลงใหลคือการกระเพื่อมไหวของพระคงคา
ผู้มีพระเคารีประดับอยู่เบื้องซ้ายของพระองค์เสมอ ผู้เป็นที่รักแห่งพระนารายณ์
ผู้ประหารพระอนงค์
ขอไหว้ พระวิศวนาถ บดีแห่งนครวาราณสี

วาจามโคจรมเนกคุณสฺวรูปํ
วาคีศวิษณุสุรเสวิตปาทปีฐมฺ |
วาเมน วิคฺรหวเรณ กลตฺรวนฺตํ
วาราณสีปุรปตึ ภช วิศวนาถมฺ ||

พระผู้ซึ่งวาจาไม่อาจเข้าถึงได้ ผู้มีธรรมชาติเป็นอเนกคุณ
มีพระพรหมา พระวิษณุแลเทวะทั้งหลายรับใช้แทบเบื้องพระแท่นรองบาท
ทรงเป็นเจ้าบ่าวอันมีเจ้าสาว ประทับอยู่บนพระเพลาเบื้องซ้าย
ขอไหว้พระวิศวนาถ บดีแห่งนครวาราณสี

ภูตาธิปํ ภุชคภูษณภูษิตาคํ
วฺยาฆฺราชินาพรธรํ ชฏิลํ ตฺริเนตรมฺ |
ปาศากุศาภยวรปฺรทศูลปาณึ
วาราณสีปุรปตึ ภช วิศวนาถมฺ ||

พระผู้เป็นอธิบดีแห่งภูติ ผู้ประดับพระองค์ด้วยนาค ผู้ชำนะแลนุ่งห่มหนังพยัคฆ์
ผู้มุ่นมวยพระเกศา พระตรีเนตร
ทรงถือบ่วงบาศ อังกุศะ(ขอช้าง) แลตรีศูลในพระหัตถ์ ทรงปกป้องแลประทานพร
ขอไหว้พระวิศวนาถ บดีแห่งนครวาราณสี

ศีตาสุโศภิตกิรีฏวิราชมานํ
ภาเลกฺษณานลวิโศษิตปญฺจพาณมฺ |
นาคาธิปารจิตภาสุรกรฺณปูรํ
วาราณสีปุรปตึ ภช วิศวนาถมฺ ||

พระผู้งดงามเยือกเย็นด้วยปิ่นพระจันทร์ ผู้ทรงลืมพระเนตรก็เกิดไฟบรรลัยกัลป์พุ่งไปผลาญ(กามเทพ)
ผู้มีพระกุณฑลพญานาคอันส่องสว่างงดงาม
ขอไหว้พระวิศวนาถ บดีแห่งนครวาราณสี

ปํจานนํ ทุริตมตฺตมตํคชานา
นาคานฺตกํ ทนุชปุควปนฺนคานามฺ |
ทาวานลํ มรณโศกชรา’ฏวีนา
วาราณสีปุรปตึ ภช วิศวนาถมฺ ||

พระผู้มีห้าพักตร์ (เป็นสิงห์)ผู้ฆ่าแห่งช้างคลั่งทั้งหลายแห่งบาป
(เป็นครุฑ)ผู้ฆ่านาค ผู้ทำลายกองทัพอสูรแลนาคทั้งหลาย
พระองค์คือไฟป่าโหมไหม้ป่า แห่งมรณะ โศก แลชรา
ขอไหว้พระวิศวนาถ บดีแห่งนครวาราณสี

เตโชมยํ สคุณนิรฺคุณมทฺวิตีย-
มานนฺทกํ ทมปราชิตมปฺรเมยมฺ |
นาทาตฺมกํ สกลนิษฺกลมาตฺมรูปํ
วาราณสีปุรปตึ ภช วิศวนาถมฺ ||

พระผู้ทรงเดช ทรงเป็นทั้งสคุณ(มีคุณสมบัติต่างๆ) แลนิรคุณ (ปราศจากคุณสมบัติ) ทรงเป็นหนึ่ง ไม่เป็นสอง เป็นอานันทสุข เป็นผู้ใครๆไม่อาจชำนะได้ ผู้ใครๆไม่อาจประมาณได้ เป็นองค์แห่งเสียง ทรงทั้งเป็นแลไม่เป็น ทั้งหมดหรือส่วนเสี้ยว
ขอไหว้พระวิศวนาถ บดีแห่งนครวาราณสี

อาศา วิหาย ปริหฤตฺย ปรสฺย นินฺทา
ปาป รตึ จ สุนิวารฺย มนะ สมาเธา |
อาทาย หฤตฺกมลมธฺยคตํ ปเรศํ
วาราณสีปุรปตึ ภช วิศวนาถมฺ ||

จงละวางความปรารถนาทั้งหลาย เลิกการนินทาว่าร้ายผู้อื่น
ละทิ้งความยึดมั่นในบาปแลความหลง ตั้งจิตใจไว้ในสมาธิ
สำรวมจิตไปยังพระผู้เป็นเจ้าสูงสุดซึ่งประทับอยู่ในกมลหฤทัย(หัวใจรูปดอกบัว)ของเรา
ขอไหว้พระวิศวนาถ บดีแห่งนครวาราณสี

ราคาทิโทษรหิตํ สฺวชนานุราคํ
ไวราคฺยศานฺตินิลยํ คิริชาสหายมฺ |
มาธุรฺยไธรฺยสุภคํ ครลาภิรามํ
วาราณสีปุรปตึ ภช วิศวนาถมฺ ||

พระองค์ผู้ถ่ายถอนซึ่งโทษ มีราคะเป็นต้น ทรงเป็นที่รักของชนสาวกของพระองค์ ทรงเป็นผู้หน่ายในราคะ เป็นที่พำนักอันศานติ เป็นผู้อนุเคราะห์พระคิริชา ทรงเป็นความเลิศล้ำฉ่ำหวาน ความมั่นคง ความมีโชค ทรงงดงามด้วยยาพิษ(ซึ่งเกิดจากการเสียสละดื่มพิษของนาคครั้งกวนเกษียรสมุทร ทำให้พระศอมีสีดำ) ขอไหว้พระวิศวนาถ บดีแห่งนครวาราณสี

วาราณสีปุรปเตะ สฺตวนํ ศิวสฺย
วฺยาขฺยาตมษฺตฏกมิทํ ปฐเต มนุษฺยะ |
วิทฺยา ศฺริยํ วิปุลเสาขยมนํตกีรฺตึ
สํปฺราปฺยเต เทหวิลเย ลภเต จ โมกษมฺ ||

บุคคลใด ท่องบทสรรเสริญทั้งแปดบทแห่งพระศิวะ บดีแห่งนครวาราณสีนี้ ย่อมได้รับ วิทยา ศรี(ความมีโขค ความร่ำรวย)
สุขอันไพบูลย์ เกียรติยศอนันต์ แลเมื่อทิ้งร่างกายไปแล้ว ย่อมได้รับความวิมุติหลุดพ้น

วิศวนาถาษฺฏกมิทํ ยะ ปเฐตฺ ฉิวสนฺนิเธา |
ศิวโลกมวาปฺโนติ ศิเวณ สห โมทเต ||

ผู้ใดท่องบทสรรเสริญทั้งแปดบทแห่งพระวิศวนาถนี้ ใกล้องค์พระศิวะ
ย่อมไปสู่ศิวโลก ร่วมเสวยบรมสุขกับพระศิวะ

อะไรเป็นเครื่องบูชาที่ดีที่สุด คนร่ำรวยอาจถวายเงินทองมากมาย อาจสร้างวัดใหญ่โตที่ทำด้วยหินอ่อน ถวายอาหารอย่างดี ถวายเครื่องทรงที่ประดับด้วยเพชรพลอยนานา แล้วคนจนเล่า คนจนที่ไม่มีแม้แต่อาหารเลวๆสำหรับตนเองจะมีสิ่งใดถวายพระเป็นเจ้า แต่กระนั้นมนุษย์ทุกคนไม่ว่าดีหรือเลว รวยหรือจน ก็ล้วนมีสมบัติที่สำคัญที่สุดสิ่งหนึ่งติดตัวมาคือ “ใจ” แลด้วยสมบัติชิ้นนี้เองที่เราทุกคนอาจถวายแด่พระเป็นเจ้าได้ เราผู้ไม่มีสิ่งมีค่าใดๆติดตัวอาจเข้าไปสู่เทวสถานหรือสถานที่งดงามด้วย ธรรมชาติ ครั้นแล้วเราก็ตรึกนึกจินตนาการถึงสิ่งที่ดีที่สุด สวยงามที่สุดเท่าที่เราจะนึกคิดได้ แล้วเราก็ถวายสิ่งที่อยู่ในใจนั้นแด่พระองค์ นี่คือจิตวิญญาณที่แท้แห่งความเป็นฮินดู ที่ทุกคนไม่ว่าราชาหรือขอทานยาจก ขอเพียงมีใจที่รักภักดีก็สามารถถวายบูชาแด่พระเจ้าได้เสมอหน้ากัน แลด้วยจิตวิญญาณที่ว่านี้เอง เราก็อาจแปรผันทุกสิ่งในชีวิตเราให้กลายเป็นเครื่องบูชาแด่พระผู้เป็นเจ้า ผู้สถิตในหัวใจของเราได้ทุกเมื่อ

|| ศิวมานสปูชา ||
การบูชาพระศิวะด้วยใจ

รตฺไน กลฺปิตามาสนํ หิมชไละ สฺนานํ จ ทิวฺยามฺพรํ
นานารตฺนวิภูษิตํ มฺฤคมทาโมทางฺกิตํ จนฺทนมฺ |
ชาตีจมฺปกพิลฺวปตฺรรจิตํ ปุษฺปํ จ ธูปํ ตถา
ทีปํ เทว ทยานิเธ ปศุปเต หฺฤตฺกลฺปิตํ คฺฤหฺยตามฺ || ๑ ||

ข้าแต่พระสมุทรแห่งความกรุณา พระผู้เป็นนายของสัตว์ทั้งหลาย ข้าฯขอถวายพระราชอาสน์อันประดับด้วยรัตนะอันมีค่าแด่พระองค์ กับทั้งน้ำอันเย็นชุ่มฉ่ำเพื่อพระองค์จะได้สรงสนาน วิภูษาอาภรณ์อันประดับด้วยรัตนะต่างๆ ทั้งเครื่องกระแจะจุลจันทน์หอมผสมชะมดเช็ดเพื่อประทินพระวรกาย ดอกมะลิ ดอกจำปาแลใบมะตูม ธูปหอมแลประทีป ขอทรงโปรดรับสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ อันข้าฯจัดเตรียมไว้ในใจเพื่อพระองค์ด้วยเถิด พระผู้เป็นเจ้า

เสาวรฺเณ นวรตฺนขณฺฑรจิเต ปาตฺเร ฆฺฤตํ ปายสํ
ภกฺษฺยํ ปญฺจวิธํ ปโยทธิยุตํ รมฺภาผลํ ปานกมฺ |
ศากานามยุตํ ชลํ รุจิกรํ กรฺปูรขณฺโฑชฺชฺวลํ
ตามฺพูลํ มนสา มยา วิรจิตํ ภกฺตฺยา ปฺรโภ สฺวีกุรุ || ๒ ||

ข้าวอันมีรสหวานในภาชนะล้วนด้วยทองประดับนพรัตน์ เนยใส นมโค เบญจกระยาหารที่ปรุงด้วยนมแลนมส้ม ผลกล้วย ผัก น้ำหวานอบร่ำด้วยการบูรแลหมากพลู ข้าฯได้จัดเตรียมสิ่งทั้งปวงนี้ไว้ในใจด้วยความภักดี ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ขอโปรดทรงรับสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ไว้ด้วยเถิด

ฉตฺรํ จามรโยรฺยุคํ วฺยชนกํ จาทรฺศกํ นิรฺมลมฺ
วีณาเภริมฺฤทงฺคกาหลกลา คีตํ จ นฺฤยํ ตถา |
สาษฺฏางฺคํ ปฺรณติะ สฺตุติรฺพหุวิธา หฺเยตตฺสมสฺตํ มยา
สงฺกลฺเป สมรฺปิตํ ตว วิโภ ปูชา คฺฤหาณ ปฺรโภ || ๓ ||

ฉัตร แส้ขนจามรี พัดโบกและกระจกใสสะอาด วีณา กลองเภรี กลองมฤทังคะและกลองกาหล คีตดุริยนาฎกรรม การหมอบกราบอัษฏางคประดิษฐ์กับทั้งบทสวดสดุดีทั้งหลาย สิ่งทั้งปวงที่ข้าฯจัดเตรียมไว้นี้ ขอน้อมถวายแด่พระองค์
ขอพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงพลัง โปรดทรงรับเครื่องบูชาของข้าฯด้วยเถิด

อาตฺมา ตฺวํ คิริชา มติะ สหจราะ ปฺราณาะ ศรีรํ คฺฤหํ
ปูชา เต วิษโยโปภครจนา นิทฺรา สมาธิสฺถิติะ |
สญฺจาระ ปทโยะ ปฺรทกฺษิณวิธิะ สฺโตตฺราณิ สรฺวา คิโร
ยทฺยตฺกรฺม กโรมิ ตตฺตทขิลํ ศมฺโภ ตวาราธนมฺ || ๔ ||

ข้าแต่พระเป็นเจ้าผู้ทรงพระกรุณา พระองค์คืออาตมันของข้าฯ พระคิริชาคือพุทธิปัญญา ลมปราณทั้งหลายของข้าฯคือบริวารของพระองค์ กายข้าฯคือวิมานที่ประทับ ความพึงใจอันเกิดแต่ผัสสะทั้งหลายของข้าฯคือเครื่องบูชาพระองค์ นิทราของข้าฯคือการเข้าสมาธิของพระองค์ เมื่อข้าฯเดินคือการประทักษิณรอบพระองค์ ทุกสิ่งที่ข้าฯกล่าวคือการสวดสรรเสริญพระองค์ ทุกๆสิ่งที่ข้าฯกระทำคือการถวายความภักดีต่อพระองค์

กรจรณ กฤตํ วากฺกายชํ กรฺมชํ วา |
ศฺรวณนยนชํ วา มานสํ วาปราธมฺ |
วิหิตมวิหิตํ วา สรฺวเมตตฺกฺษมสฺว |
ชย ชย กรุณาพฺเธ ศฺรีมหาเทวศมฺโภ || ๕ ||

บาปทั้งหลายที่ข้าฯได้กระทำด้วยมือ ด้วยเท้า ด้วยวาจา กาย ด้วยการกระทำ ด้วยหู ด้วยตาหรือด้วยใจ
ไม่ว่าทั้งต่อหน้าและลับหลัง ขอโปรดทรงอภัยบาปทั้งปวงนั้นด้วยเถิด

ข้าแต่พระสมุทรแห่งความกรุณา พระมหาเทวะผู้ยิ่งใหญ่ พระเป็นเจ้าผู้มีความสุข ขอพระองค์ทรงมีชัยเทอญ ขอพระองค์ทรงมีชัยเทอญ

ความจริงสูงสุดหรือสภาวธรรมชาติเดิมแท้เป็นอย่างไร เป็นคำถามที่นักปราชญ์ทั้งหลายพยายามจะอธิบาย เช่นว่าเป็นสัตตะ- ความจริง จิต -มีธรรมชาติเป็นจิต อานันทะ -เป็นอานันทสุข แต่แน่นอนว่าเป็นการยากที่จะตอบคำถามนี้ เพราะเมื่อเราลองค้นดูว่าสิ่งต่างๆทั้งที่ประกอบเป็นตัวตนของเรา ทั้งที่อยู่รอบๆตัว ทั้งที่เป็นรูปธรรมแลนามธรรม อะไรกันเล่าคือสารัตถะหรือแก่นแท้แห่งการดำรงอยู่ของเราที่เราอาจเรียกว่า อาตมัน พรหมัน หรือเรียกในแง่มุมของสภาวะการรับรู้ธรรมชาติเดิมแท้ว่า นิรวาณ หากเราใช้ความคิดเข้าไปไขว้คว้ายึดจับ เราจะหลงอยู่ในกรอบแห่งการคิด และเราจะล้มเหลว

มีความเข้าใจผิดอยู่ว่าอาตมันนั้นคือ “อัตตา” อัตตาที่หมายถึงการรับรู้การดำรงอยู่ของตัวเองแลการเข้าไปยึดครองตัวตนและ สิ่งรอบๆดังที่ท่านพุทธทาสเรียกว่า “ตัวกูของกู” แต่นั้นคือสิ่งที่ฮินดูเรียกว่า “อหังการ” ซึ่งมิใช่อาตมัน บ้างก็เข้าใจผิดไปว่าคือตัวตนที่มีลักษณะอย่างดวงวิญญาณสิงในร่างกาย ที่สามารถละจากร่างหนึ่งไปยังอีกร่างดุจดั่งการเปลี่ยนเสื้อผ้า แต่นั่นก็มิใช่อาตมันที่แท้ เป็นเพียงแต่การอุปมาเรื่องสภาวะสังขารธรรมที่ไม่เที่ยงกับสภาวะที่ไม่มีการ เปลี่ยนแปลงเท่านั้น

เมื่อเราใช้ปัญญาญาณหรือ “หัวใจ” เข้าสำรวจตรวจหาสภาวะที่ว่านี้ แลหากเราสามารถค้นพบได้ สิ่งนั้นก็อาจไม่สามารถบรรยายด้วยความคิดหรือคำพูดใดๆของมนุษย์ ฉะนั้นอย่างดีเราก็ทำได้แค่เพียงปฏิเสธว่ามันไม่ใช่สิ่งนั้นไม่ใช่สิ่งนี้ แลเมื่อนิรวาณหรือความหลุดพ้นอุทัยขึ้น ผู้หลุดพ้นอาจอุทานด้วยมหาปิติออกมาเป็นลำนำว่า “ข้าฯคือจิตบริสุทธิ์แห่งอานันทสุข ข้าฯคือศิวะ! ข้าฯคือศิวะ!” เขามิได้กล่าวออกมาอย่างพวกทรงเจ้าเข้าผีมิจฉาทิฐิที่คิดว่าตนมีเทพสิงอยู่ แต่เขาได้บังเกิดความรู้แจ้งขึ้นว่า “ตัวเขา” กับ “ ศิวะ” ซึ่งเป็นชื่อเรียกอันหนึ่งแห่งสัจภาวะหรือความจริงแท้เป็นหนึ่งเดียวกัน

ในห้วงเวลานั้น เขาได้พ้นไปจากทวันทวธรรมโดยสิ้นเชิง ไม่มีทั้งความหลุดพ้นหรือสังสารวัฏ ไม่มีทั้งสุขหรือทุกข์ ตัวเขาหรือสิ่งอื่นอีกต่อไป


นิรฺวาณษฏฺกมฺ
ลำนำแห่งนิรวาณ

มโนพุทฺธยหํการจิตฺตานิ นาหํ
น จ โศฺรตฺรชิหฺเว น จ ฆฺราณเนเตฺร |
น จ โวฺยมภูมิะ น เตโช น วายุ-
ศฺจิทานํทรูปะ ศิโว’หํ ศิโว’หมฺ || ๑ ||

ข้าฯ มิใช่ มโน-1 พุทธิ-2 อหังการ-3 จิต-4
มิใช่การฟังแลการรับรส การดมกลิ่นแลการมองเห็น
มิใช่ธาตุน้ำแลดิน ไฟแลลม
ข้าฯคือจิตบริสุทธิ์แห่งอานันทสุข ข้าฯคือศิวะ! ข้าฯคือศิวะ!

น จ ปฺราณสํโชฺญ น ไว ปญฺจวายุรฺ
น วา สปฺตธาตุรฺน วาปญฺจโกศะ |
น วากฺ ปาณิปาเทา น โจปสฺถปายู
จิทานํทรูปะ ศิโว’หํ ศิโว’หมฺ || ๒ ||

มิใช่ปราณ การรู้สำนึก หรือลมทั้งห้า-5
มิใช่ธาตุทั้งเจ็ด-6 มิใช่ปัญจโกศะ -7
มิใช่ปาก มือ เท้าทั้งสอง อวัยวะสืบพันธ์หรือขับถ่าย
ข้าฯคือจิตบริสุทธิ์แห่งอานันทสุข ข้าฯคือศิวะ! ข้าฯคือศิวะ!

น เม เทฺวษราเคา น เม โลภโมเหา
น เม ไว มโท ไนว มาตฺสรฺยภาวะ |
น ธรฺโม น จารฺโถ น กาโม น โมกฺษ-
ศฺจิทานํทรูปะ ศิโว’หํ ศิโว’หมฺ || ๓ ||

ข้าฯมิใช่ความชังหรือราคะ ข้าฯมิใช่โลภะหรือโมหะ
ข้าฯมิใช่ความยโสโอหังหรือความอิจฉาริษยา
มิใช่ธรรม-8 แลอรรถ-9 มิใช่กามหรือโมกษะ
ข้าฯคือจิตบริสุทธิ์แห่งอานันทสุข ข้าฯคือศิวะ! ข้าฯคือศิวะ!

น ปุณฺยํ น ปาปํ น เสาขฺยํ น ทุะขํ
น มํโตฺร น ตีรฺถ น เวทา น ยชฺญา |
อหํ โภชนํ ไนว โภชยํ น โภกฺตา
จิทานํทรูปะ ศิโว’หํ ศิโว’หมฺ || ๔ ||

มิใช่บุณย์ มิใช่บาป มิใช่สุข มิใช่ทุกข์
มิใช่มนตร์-10 มิใช่ตีรถะ-11 มิใช่พระเวท มิใช่ยัชญะ-12
ข้าฯมิใช่ทั้งการเสพเสวยความพึงใจหรือสิ่งให้ความพึงใจ มิใช่ผู้เสพเสวยความพึงใจ
ข้าฯคือจิตบริสุทธิ์แห่งอานันทสุข ข้าฯคือศิวะ! ข้าฯคือศิวะ!

น มฤตฺยุรฺน ศงฺกา น เม ชาติเภทะ
ปิตา ไนว เม ไนว มาตา จ ชนฺมา |
น พํธุรฺน มิตรํ คุรุรฺไนวศิษฺย-
ศฺจิทานํทรูปะ ศิโว’หํ ศิโว’หมฺ || ๕ ||

ข้าฯมิใช่ความตายหรือความกลัว ข้าฯมิใช่สิ่งที่อาจจัดหมู่พวกหรือประเภทได้
ข้าฯมิใช่บิดาหรือมารดาแลการเกิด
มิใช่ญาติพี่น้อง มิใช่มิตร มิใช่ครูหรือศิษย์
ข้าฯคือจิตบริสุทธิ์แห่งอานันทสุข ข้าฯคือศิวะ! ข้าฯคือศิวะ!

อหํ นิรฺวิกลฺโป นิราการรูโป
วิภุตฺวาจฺจ สรฺวตฺร สรฺเวนฺทฺริยาณามฺ |
น จาสงฺคตํ ไนว มุกติรฺน เมย-
ศฺจิทานํทรูปะ ศิโว’หํ ศิโว’หมฺ || ๖ ||

ข้าฯ ปราศจากการนึกคิด ปราศจากรูปลักษณ์
แผ่ซ่านไปทั่ว ไม่อาจเข้าถึงได้โดยอินทรีย์ทั้งปวง
มิใช่สมมุติหรือวิมุติ ไม่อาจหยั่งวัดได้
ข้าฯคือจิตบริสุทธิ์แห่งอานันทสุข ข้าฯคือศิวะ! ข้าฯคือศิวะ!

1. ใจหรือความคิด เป็นตัวรับรู้แลส่งผ่านข้อมูลจากประสาทสัมผัสทั้งหลายไปยังพุทธิ
2. พยานในการรู้คิด หรือความฉลาด ความเข้าใจ
3. อัตตา หรือการรับรู้ความมีอยู่ของตัวเอง
4. เจตจำนง หรือความจำได้ระลึกได้
5. ลมที่ค้ำจุนร่างกายห้าอย่าง คือ ปราณ อปาน วยาน สมาน อุทาน ซึ่งอยู่ตามส่วนต่างๆของร่างกาย
6. น่าจะหมายถึง ธาตุของกายที่เกิดจากธาตุทั้งสี่(โดยทั่วไปนับเป็นแปดอย่าง แต่ลมกล่าวไปแล้ว จึงมีเจ็ดอย่าง) ได้แก่ เลือด เนื้อ กระดูก ไขกระดูก เสียงพูด มนัส แลของเสียในร่างกาย
7. คือเครื่องห่อหุ้ม(โกศ)ชีวะทุกดวง มีห้าชั้น ได้แก่ 1.อนฺนมยโกศ-โกศที่สร้างด้วยอาหารได้แก่กายหยาบ 2.ปฺราณมยโกศ-โกศที่สร้างด้วยปราณ 3.มโนมยโกศ-โกศที่สร้างด้วยใจหรือความคิด 4.วิชฺญานมยโกศหรือพุทฺธิมยโกศ-โกศที่สร้างด้วยความรู้คิดหรือความรู้ 5 อานนฺทมยโกศ - โกศที่ประกอบด้วยอานันทสุข เป็นชั้นในสุด ซึ่งเป็นที่สถิตแห่งอาตมัน
8. การทำหน้าที่
9. ผลประโยชน์หรือการแสวงหาทรัพย์สิน
10. คำศักดิ์สิทธิ์
11. สถานที่ศักดิ์สิทธิ์
12. การบวงสรวงบูชา
ตามขนบธรรมเนียมของฮินดู เมื่อกระทำพิธี “บูชา” เทวะที่กระทำอย่างถูกต้องโดยพราหมณ์ ก็จะมีขั้นตอนต่างๆ คล้ายการเชื้อเชิญญาติมิตรที่เคารพมางานเลี้ยง เริ่มต้นด้วยการอัญเชิญ การถวายที่นั่ง ถวายการล้างเท้า ล้างมือแลถวายสิ่งต้อนรับ ถวายน้ำบ้วนปาก ถวายน้ำสรงน้ำอาบ เสื้อผ้า เครื่องประดับ สายอุปวีตมงคลพราหมณ์ เครื่องหอมจุลเจิม ดอกไม้มาลัย ถวายอาหารหมากพลู การประทักษิณเวียนขวา การกราบกราน การขับบทสวดสดุดี การเวียนประทีปแลการกล่าวคำสวัสดิมงคลอัญเชิญกลับ ด้วยขั้นตอนตามลำดับทั้งหมดนี้ การบูชาตามประเพณีจึงสมบูรณ์

แต่หากพระเป็นเจ้าทรงเป็นสภาวะนามธรรมล้วนๆเป็นสภาวะที่ไร้ขอบเขต มิใช่เป็นสภาวะบุคคลแบบ “เทวะ” เราจะบูชาด้วยวิธีการใด เราจะบูชาได้ที่ไหน แม้ว่าพระเจ้าหรือสภาวะสูงสุด(ปรพรหมัน)ที่ปราศจากคุณสมบัติใดๆ(นิรคุณพร หมัน) จะสำแดงพระองค์ด้วยอำนาจมายาออกมาเป็นพระเจ้าในแบบบุคคลหรือเทวะต่างๆ(สคุณ พรหมันหรืออีศวร)ซึ่งทำให้การบูชาตามแบบพิธีกรรมของเราเป็นไปได้ แต่การรู้แจ้งสัจธรรมความจริงแท้ ที่เป็นสภาวะไร้รูป-นาม ย่อมเป็นการบูชาที่สูงสุด


ปรา ปูชา
การบูชาอันสูงสุด

ปูรฺณสฺยาวาหนํ กุตฺร สรฺวาธารสฺย จาสนมฺ |
สฺวจฺฉสฺย ปาทฺยมรฆฺยํ จ ศุทฺธสฺยาจมนํ กุตะ || ๑ ||

ณ ที่ใดเล่าจะสามารถอัญเชิญ สภาวะแห่งความบริบูรณ์ แลอาจสามารถถวายอาสน์ แด่องค์ผู้ค้ำจุนสรรพสิ่ง
การถวายน้ำล้างพระบาท การถวายสิ่งต่างๆลงในพระกร
แลการถวายน้ำล้างพระโอษฐ์ ขององค์สภาวะอันบริสุทธิ์ จะมีจากที่ใด?

นิรฺมลสฺย กุตะ สฺนานํ วสฺตฺรํ วิศฺโวทรสฺย จ |
นิราลมฺพสฺโยปวีตํ ปุษฺปํ นิรฺวาสนสฺย จ || ๒ ||

การถวายน้ำสรงสนานแห่งองค์สภาวะนิรมล แลการถวายเครื่องนุ่งห่มแห่งองค์ผู้มีอุทรเป็นสากลโลก จะมีจากที่ใดกัน?
การถวายสายอุปวีต แห่งองค์ผู้ปราศจากประคับประคองจากสิ่งทั้งปวง แลการถวายบุปชาติแห่งผู้ที่กลิ่นสุคนธ์ไม่อาจกระทบ จะมีจากไหน?

นิรฺเลปสฺย กุโต คนฺโธ รมยสฺยาภรณํ กุตะ |
นิตฺยตฤปตสฺย ไนเวทฺยํ ตามฺพูลํ จ กุโต วิโภะ || ๓ ||

จากที่ใดเล่าที่จะถวายเครื่องหอมแห่งองค์ผู้ปราศจากมลทิน การถวายอาภรณ์เครื่องประดับแห่งองค์ผู้รื่นรมณ์อยู่เสมอจะมีจากไหน?
การถวายอาหารทั้งหลายแห่งองค์ผู้อิ่มเอมเป็นนิตย์
แลการถวายหมากพลูแห่งองค์ผู้ทรงพลังจะมีจากที่ใด?

ปฺรทกฺษิณา หฺยนนฺตสฺย หฺยทฺวยสฺย กุโต นติะ |
เวทวากฺไยรเวมยสฺย กุตะ โสฺตตรํ วิธียเต || ๔ ||

การประทักษิณาแห่งองค์อนันตภาวะ แลการนอบคำนับแห่งองค์ผู้ไม่เป็นสองโดยแท้จะมีจากที่ใด?
การสวดบทสรรเสริญแห่งองค์ผู้ถ้อยคำพระเวทไม่อาจรู้ได้จะมีจากไหน?

สฺวยํ ปฺรกาศมานสฺย กุโต นีราชนํ วิโภะ |
อนฺตรฺพหิศฺจ ปูรณสฺย กถมุทฺวาสนํ ภเวตฺ || ๕ ||

การเวียนประทีปถวาย แห่งองค์ผู้มีจิตสว่างโชติช่วง เป็นอยู่ได้เอง ผู้ซ่านไปทั่วจะมีจากที่ไหน?
พิธีกล่าวคำสวัสดิมงคล แห่งองค์ผู้บริบูรณ์ทั้งภายในแลภายนอก องค์พระผู้เป็นที่มาของทุกสิ่งจะมีจากที่ใดเล่า?

เอวเมว ปรา ปูชา สรฺวาวสฺถาสุ สรฺวทา |
เอกพุทะยา ตุ เทเวศ วิเธยา พฺรหฺมวิตฺตไมะ || ๖ ||

ดังนั้น การบูชาอันสูงสุด ย่อมมีในการณ์ทั้งหลายในกาลทุกเมื่อนั่นเทียว
โดยความรู้ในเอกภาวะ(ความเป็นหนึ่งเดียวของสัจธรรม) อนึ่ง คือการกระทำให้แจ้งซึ่งความรู้แห่งพรหมันอันสูงสุด

|| ชาคฤหิ ชาคฤหิ ||
จงตื่นเถิด! จงตื่นเถิด!

อาศยา พทฺธเต โลกะ กรฺมณา ปริพทฺธฺยเต |
อายุกฺษยํ น ชานาติ ตสฺมาตฺ ชาคฤหิ ชาคฤหิ ||
ชนฺมทุะขํ ชราทุะขํ ชายาทุะขํ ปุนะ ปุนะ |
อํตกาเล มหาทุะขํ ตสฺมาตฺ ชาคฤหิ ชาคฤหิ ||
กาม กฺโรเธา โลภ โมเหา เทเห ติษฐนฺติ |
ชฺญานรตฺนาปหาราย ตสฺมาตฺ ชาคฤหิ ชาคฤหิ ||
ไอศฺวรฺยํ สฺวปฺน สํกาศํ เยาวนํ กุสุโมปมมฺ |
กฺษณิกํ ชลมายุษฺจ ตสฺมาตฺ ชาคฤหิ ชาคฤหิ ||

ชาวโลกถูกพันธนาการด้วยความปรารถนา และถูกพันธนาการแน่นยิ่งขึ้น
ด้วยกรรมของตน พวกเขามิรู้เลยว่าชีวิตนั้นสั้นนัก ดังนั้น จงตื่นเถิด ! จงตื่นเถิด !
ทุกข์จากการเกิด ทุกข์จากความชรา ทุกข์จากภรรยา เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่าในวันสุดท้าย(ของชีวิต)
ทุกข์มหันต์ก็บังเกิดขึ้น ดังนั้น จงตื่นเถิด ! จงตื่นเถิด !
รัก โลภ โกรธ หลง อยู่ในร่างนี้ พวกมันคือโจร
ผู้ปล้นรัตนะแห่งปัญญาไป ดังนั้น จงตื่นเถิด ! จงตื่นเถิด !
ราชอำนาจเป็นดั่งความฝัน วัยเยาว์เป็นดั่งบุปผชาติ(ซึ่งโรยราเพียงชั่ววัน)
และชีวิตก็ไม่จีรัง ดั่งสายน้ำ ดังนั้น จงตื่นเถิด ! จงตื่นเถิด !

วิมุกโตทัย (บทสรรเสริญพระศิวะ) ส่วนที่ 1
วิมุกโตทัย (บทสรรเสริญพระศิวะ) ส่วนที่ 2
วิมุกโตทัย (บทสรรเสริญพระศิวะ) ส่วนที่ 3

บทความนี้เป็นลิขสิทธิ์ของ อาจารย์คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง (ศรีหริทาส)
อาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา มหาวิทยาลัยศิลปากร


ผู้ที่ต้องการนำไปเผยแพร่ในเว็บไซต์อื่น ด้วยวัตถุประสงค์ทางการกุศล
สามารถทำได้โดยอ้างอิงถึงผู้เขียนให้ชัดเจน

ห้ามตีพิมพ์เพื่อการค้าโดยมิได้รับอนุญาต
เราขอขอบพระคุณมา ณ ที่นี้ / สยามคเณศ

....................................................................................

อ่านผลงานของ อ.คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง "มีนัดกับพระเจ้า ที่แดนภารตวรรษ"
| พระคเณศ 1 | พระคเณศ 2 | พระคเณศ 3 | พระคเณศ 4 | พระคเณศ 5 |

บทเทศนา ศรีสัตยนารายณ์ กถา (พระนารายณ์) ส่วนที่ 1
บทเทศนา ศรีสัตยนารายณ์ กถา (พระนารายณ์) ส่วนที่ 2

บทความเรื่องพระศิวะมหาเทพ

- รูปลักษณ์ แห่งพระศิวะ
- เมล็ดรุทรักษะ น้ำตาแห่งพระศิวะ
- โคนนทิ พาหนะแห่งพระศิวะ
- ศิวะนาฏราช ปางร่ายรำแห่งพระศิวะ
- ศิวลึงก์ สัญลักษณ์แทนองค์พระศิวะ
- การบูชาพระศิวะ และบทสวดมนต์ต่างๆ
- เขาไกรลาส และการยาตราไปสู่ดินแดนอันศักดิ์สิทธิ์

ตำนานพระศิวะ จากหนังสือมหาเทพ
- พระศิวะมหาเทพ พระอิศวร (พระมหาเทวะ) 1
- พระศิวะมหาเทพ พระอิศวร (พระมหาเทวะ) 2
- พระศิวะนาฏราช ปางร่ายรำแห่งพระศิวะมหาเทพ
- พระศิวะ - พระนามยิ่งใหญ่แห่งพระศิวะเทพ

- พระศิวะ - ความรุ่งเรืองแห่งเมล็ดรุทรากษะ
- พระศิวะ - ความยิ่งใหญ่แห่งเมล็ดรุทรักษะ
- พระศิวะ - ความยิ่งใหญ่แห่งขี้เถ้าทางศาสนา
- พระศิวะ - วันมหาศิวะราตรี เทศกาลศิวาราตรี
พระเครื่องพระพิฆเนศวร์ พระศิวะ พระอิศวร พระวิษณุ พระนารายณ์ พระลักษมี พระอุมาเทวี พระแม่ลักษมีเทวี พระสุรัสวดี พระสุรัสวตี พระสรัสวตี พระสรัสวดี พระนารายณ์ทรงครุฑ พระแม่กาลี เจ้าแม่กาลี พระแม่ทุรกา เจ้าแม่ทุรกา ทุรคาเทวี พระกฤษณะ หนุมาน พญาครุฑ
อ่านเรื่องเทพเจ้าเพิ่มเติม
ความรู้เกี่ยวกับศาสนาพราหมณ์-ศาสนาฮินดู
พระพรหม , พระวิษณุ , พระศิวะ , พระราม , พระกฤษณะ ,
พระแม่อุมาเทวี , พระแม่กาลี , พระแม่ทุรกา , พระตรีมูรติ
พระแม่ลักษมี , พระแม่สุรัสวดี , พระขันทกุมาร , พระหนุมาน
บทสวดมนต์บูชาพระพิฆเนศ วิธีบูชาพระพิฆเณศ พระคเนศ

วัดเทพมณเฑียร วัดเทพมณเทียร , เทวสถานโบสถ์พราหมณ์ ,วัดวิษณุ ยานนาวา , พิพิธภัณฑ์พระพิฆเนศ พิพิธภัณฑ์พระพิฆเณศ เชียงใหม่ , ศาลพระพิฆเนศห้วยขวาง
พระพิฆเณศสี่แยกห้วยขวางรัชดาภิเษก
,
เสาชิงช้า ศาลากลางกรุงเทพ , พระพิฆเนศนครนายก
วัดพระศรีมหาอุมาเทวี สีลม วัดแขกสีลม , งานนวราตรี งานวัดแขก
พิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณ พิพิธภัณฑ์ช้างสามเศียร สมุทรปราการ
ขออำนาจแห่งพระพิฆเนศวรโปรดดลบันดาลให้ท่านทั้งหลายล้วนประสบแต่ความสำเร็จในทุกๆประการด้วยเทอญ
สงวนลิขสิทธิ์ SiamGanesh.com, All Rights Reserved.