สิ่งที่ผู้ศึกษาค้นคว้าเรื่องเทพเจ้าจำนวนมากยังสับสนกันอยู่ก็คือ
เหตุกำเนิดและทิพยภาวะที่แท้จริงขององค์เทพ
ในเมื่อผู้มีวิจารณญาณทุกคนย่อมประจักษ์ว่า เทพนิยาย (Mythology)
และเทวตำนานต่างๆ เป็นสิ่งที่ไม่สามารถเชื่อถือได้จนกว่าจะมีการกลั่นกรองสังเคราะห์เอาความจริงที่ซ่อนอยู่ออกมา
แต่สำหรับผู้ที่ไม่เคยได้รับการศึกษาทางเทวศาสตร์อย่างเป็นระบบ
ก็ยากยิ่งที่จะรู้วิธีการสังเคราะห์ดังกล่าว
ผู้เขียนจึงขอใช้บทความนี้เพื่อให้พวกเราเข้าใจหลักการทางเทววิทยาตามระบบที่เป็นสากล
ที่ทั่วโลกใช้ร่วมกันเฉพาะในส่วนนี้เสียก่อน เมื่อเข้าใจในหลักที่ว่านี้
ก็จะสามารถต่อยอดไปทำความเข้าใจกับเรื่องปลีกย่อยต่างๆ ได้ต่อไปอีกมาก
หลักของเทวกำเนิด ก่อนอื่นต้องทำความตกลงใจกันเสียก่อนว่า
โลกนี้ไม่มีพระผู้สร้าง ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ
โดยการผสมผสานกันของธาตุทั้ง ๔ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ ธาตุทั้งสี่นี้ทำให้เกิดสรรพสิ่งทั้งมีชีวิตและไม่มีชีวิต
ทั้งสัตว์และพืช ล้วนเกิดไปตามลำดับวิวัฒนาการ ค่อยๆ ปรับแต่งให้เหมาะสมกับการที่จะดำรงชีวิตให้อยู่รอดได้
และสืบเผ่าพันธุ์ต่อไป โดยเฉพาะสัตว์บางพวก ก็มีวิวัฒนาการจนกลายเป็นมนุษย์ในที่สุด
ตามกระบวนการทางธรรมชาติ
เพราะฉะนั้น มนุษย์จึงเกิดขึ้นมาในโลกนี้ก่อนเทวะทั้งหลาย และมนุษย์นั้นเอง
เป็นปัจจัยให้เกิดเทพเจ้าขึ้น แต่มิได้หมายความตามทฤษฎีของพวกนักศาสนศาสตร์ฝ่ายมิจฉาทิฏฐิที่มักสั่งสอนกันว่า
เทพเจ้าและสิ่งเร้นลับเหนือธรรมชาติเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นหรือปรุงแต่งกันไปเอง
แท้จริงแล้ว มนุษย์มิได้สร้างเทพเจ้า เพราะมนุษย์ไม่สามารถสร้างสิ่งที่เหนือกว่าตนได้
แต่มนุษย์เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดเทพเจ้า โดยเกิดจากตัวมนุษย์เอง
ดังในสมัยแรกสุด ที่มนุษย์รู้จักการอยู่ร่วมกัน พึ่งพาอาศัยกัน
และให้ความไว้วางใจเชื่อถือในบุคคลคนหนึ่งที่เก่งที่สุด มีความสามารถมากที่สุดในกลุ่มโดยยกย่องให้เป็นผู้นำ
ผู้นำหรือหัวหน้าเผ่าเหล่านี้ บางคนสร้างคุณงามความดีไว้มาก
เป็นเหตุให้เมื่อตายแล้วทุกคนในเผ่ามีความเคารพรักและอาลัย ยังคงให้การนับถือบูชาคอยเซ่นสรวงประหนึ่งยังมีชีวิต
วิญญาณของอดีตหัวหน้านั้น เมื่อได้รับพลังจิตความยึดมั่นจากคนที่ยังมีชีวิตอยู่
ประกอบกับคุณงามความดีที่ทำไว้มาก ก็ทำให้มีพลังแก่กล้า สามารถดำรงชีวิตหลังความตายอยู่ได้ด้วยผลแห่งการปฏิบัติบูชาของคนรุ่นหลัง
และสามารถใช้พลังอำนาจที่มีอยู่ช่วยเหลือคนที่บูชาตนได้ระดับหนึ่ง
พลังอำนาจเช่นนี้เมื่อใช้ไป เกิดผลที่ดีต่อคนที่ได้รับความช่วยเหลือ
ก็กลายเป็นผลบุญย้อนกลับไปสู่ดวงวิญญาณนั้นเอง ดังนั้น ยิ่งได้รับการบูชามาก
ก็ยิ่งมีโอกาสที่จะช่วยเหลือผู้คนได้มาก เมื่อช่วยเหลือผู้คนได้มาก
ผลบุญที่ย้อนกลับก็ทำให้สถานะทางวิญญาณยิ่งแก่กล้าขึ้น จากผีธรรมดาก็กลายเป็นผีชั้นสูง
สูงขึ้นไปตามกาล มีอิทธิฤทธิ์เหนือกว่าวิญญาณเร่ร่อนสัมภเวสีทั่วไป
นี่คือเหตุปัจจัยที่จะทำให้เกิดมีเทพเจ้าขึ้น
นอกจากผู้นำเผ่าในอดีต บุคคลศักดิ์สิทธิ์ เช่น พ่อมดหมอผีประจำเผ่า
เป็นผู้สั่งสมความรู้ในพลังลี้ลับต่างๆ ไว้มาก เมื่อตายไปแล้วได้รับการบูชาเช่นกัน
ก็กลายเป็นวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ที่จะเลื่อนฐานะขึ้นไปเรื่อยๆ ตามกาล
และประพฤติเหตุเช่นนี้ก็ทำให้เกิดประเพณีการบูชาบรรพบุรุษ ซึ่งคนทั่วโลกทำกันมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์
รวมทั้งชาวจีนด้วย
แต่วิญญาณที่มีพลังอำนาจกล้าแข็ง ไม่ใช่ว่าจะเป็นวิญญาณที่ดีเสมอไป
ขึ้นอยู่กับตอนที่ยังมีชีวิตอยู่ว่าเป็นคนอย่างไรด้วย ถ้าเป็นคนดี
ตายแล้วก็เป็นผีที่ดี ฤทธานุภาพที่แสดงออกก็หนักไปทางพระคุณ
จะใช้พระเดชก็ใช้อย่างมีเหตุมีผล ผีเช่นนี้ก็ได้รับความนับถือที่ความดี
คนก็ยกย่องว่าเป็นเทวะ (Deva)
ขณะที่คนไม่ดีแต่มีอำนาจ ตายแล้วก็เป็นผีที่ไม่ดี ฤทธานุภาพที่แสดงออกก็หนักไปทางพระเดช
บังคับให้ผู้คนหวาดกลัวยอมเซ่นสรวงบูชาด้วยกลัวภยันตราย คนก็พากันนับถือกันด้วยความจำเป็นเพราะถูกบังคับ
เพราะถ้าไม่นับถือก็ได้รับความวิบัติเป็นสิ่งตอบแทน ผีเช่นนี้คนไม่ยกย่องว่าเป็นเทวะ
แต่เรียกว่าเป็นอสูร และปีศาจ
การนับถือวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ใดให้เป็นเทวะนั้น เมื่อสังคมมนุษย์มีวิวัฒนาการขึ้น
ซับซ้อนขึ้น ก็พลอยมีพัฒนาการมากขึ้นไปด้วย เมื่อสมัยยังเป็นยุคหิน
รู้จักแต่เข้าป่าล่าสัตว์ ก็นับถือกันแต่อดีตผู้นำ หรืออดีตหมอผีที่จะปกป้องคุ้มครองเผ่าพันธุ์ให้อยู่รอด
แต่เมื่อเริ่มเจริญขึ้นเป็นบ้านเป็นเมือง เกิดมีผู้ชำนาญการหรือมีความรู้ความสามารถเฉพาะอย่างแยกย่อยกันเป็นเรื่องๆ
ไป คนเหล่านี้เมื่อช่วยเหลือบ้านเมืองให้เจริญ ก็ได้รับการยกย่องนับถือจากคนทั่วไป
เมื่อมีลูกศิษย์ก็ได้นับการนับถือบูชาจากลูกศิษย์ หรือผู้ที่ได้สืบทอดความเชี่ยวชาญนั้นๆ
คนเหล่านี้เมื่อตายไป วิญญาณจึงอยู่ภายใต้เงื่อนไขเดียวกับวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ที่กล่าวมาแล้ว
ยิ่งได้รับการบูชาต่อเนื่อง ก็ยิ่งมีอำนาจบารมีสูงขึ้นไป โดยสรุปเทวะในชั้นแรกเริ่มที่สุดตั้งแต่มนุษย์ยังป่าเถื่อนจนกระทั่งเจริญเป็นบ้านเมืองมีอารยธรรมซับซ้อน
จึงอาจแบ่งได้ ๕ ประเภท
1) เทพประจำเผ่า หมู่บ้าน หรือเมือง หรืออาณาจักร
เกิดมาจากหัวหน้าเผ่าหรือผู้นำในยุคแรกๆ และมีทิพยฐานะสูงขึ้นไปตามการเจริญเติบโตของสังคมและวัฒนธรรม
2) เทพผู้ควบคุมสิ่งต่างๆ ในธรรมชาติ มาจากพ่อมด
แม่มดหมอผีผู้สำเร็จวิชาที่จะควบคุม หรือบังคับเปลี่ยนแปลง ธาตุทั้งสี่
ในธรรมชาติให้เป็นไปตามความต้องการของตนได้ระดับหนึ่ง ซึ่งไม่ได้มีอยู่เพียง
๔ องค์ ตามจำนวนธาตุ หากแต่ละธาตุก็มีเทพหลายองค์ซึ่งสมัยมีชีวิตอยู่
มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการที่จะควบคุมอาการอย่างหนึ่งอย่างใดของธาตุนั้นๆ
ได้ในลักษณะที่หลากหลายแตกต่างกันไป
เช่น แม่หมอผู้สำเร็จวิชาควบคุมธาตุดิน เมื่อตายไปและได้รับการนับถือบูชา
ก็จะกลายเป็นพระแม่ธรณี ซึ่งมีหลายองค์แตกต่างกันไปตามเผ่าพันธุ์ต่างๆ
ทั่วโลก พระแม่ธรณีนี้เมื่อเป็นมนุษย์มีลักษณะนิสัยอย่างไร มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านใด
เมื่อเป็นเทพก็ทรงมีเทวานุภาพในด้านนั้นเป็นพิเศษ
พระแม่ธรณีของกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่เกิดแผ่นดินไหวรุนแรง
หรือเกิดธรณีพิบัติบ่อยครั้ง ก็มักเป็นเทพที่ดุและเด็ดขาด เพราะต้องทรงใช้เทวานุภาพคอยยับยั้งความรุนแรงเหล่านั้นเสมอ
พระแม่ธรณีที่เกิดขึ้นในดินแดนที่อุดมสมบูรณ์ ผู้คนมีความสุข
ก็มักเป็นเทพที่ใจดีอ่อนหวาน เพราะจะใช้เทวานุภาพก็เพื่อความผาสุกของผู้คนที่นับถือพระนาง
ยกตัวอย่างอีกก็เช่นธาตุน้ำ เราจะเห็นว่าในอินเดียมีเทพแห่งน้ำอยู่หลายองค์
ที่ทรงมีเทวฐานะสูงสุดก็คือพระวรุณ ซึ่งเป็นเทพแห่งน้ำและฝน
แต่ก็ยังมีพระแม่คงคา เป็นเทวีประจำแม่น้ำคงคา มีพระมณีเมขลา
เป็นเทวีแห่งฝนและเป็นเทวีผู้รักษาพระสมุทร เทวะเหล่านี้มิใช่บุคลาธิษฐานอันเกิดจากความไม่เข้าใจในปรากฏการณ์ธรรมชาติ
ตามคำอธิบายของพวกมิจฉาทิฏฐิ แต่เกิดมาจากผู้ที่มีความรู้ความชำนาญในศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งนั้นๆ
ทั้งสิ้น
คนโบราณมิใช่เป็นผู้โง่เขลาเบาปัญญา ขาดความรู้แท้ในธรรมชาติตามที่นักมิจฉาทิฏฐิสมัยใหม่กล่าวหากัน
เพราะแม้ว่าในชั้นต้นจะไม่รู้อะไรมากก็จริง แต่เวลาล่วงเลยมานับพันนับหมื่นปี
คนเหล่านั้นมีเวลาพอเพียงที่จะสั่งสมความรู้ความเข้าใจในธรรมชาติที่ถูกต้องและละเอียดกว่าเรา
3) เทพบรมครู หรือเทพปรมาจารย์ มาจากผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิชาต่างๆ
ดังจะเห็นจากเทววิทยาจีน เต็มไปด้วยเทพปรมาจารย์ในแทบทุกสาขาวิชาที่เป็นความรู้ของมนุษย์
ในขณะที่บางองค์มีความโดดเด่นในหลายๆ วิชาก็มี เพราะเมื่อสมัยเป็นมนุษย์
มีความรู้ความเชี่ยวชาญในวิชาที่หลากหลาย แต่เทวานุภาพของเทพประเภทหลังนี้
ที่จะอำนวยให้เกิดผลสำเร็จแก่ผู้บูชาในวิชาแขนงใดแขนงหนึ่งโดยเฉพาะนั้น
จะให้ทัดเทียมกับเทพผู้เป็นบิดามารดาของศาสตร์นั้นๆ มาแต่แรกเลยมิได้
4) เทพแห่งดวงดาว หรือเทพนพเคราะห์ ก็เช่นเดียวกับเทพประจำสภาวะต่างๆ
ในธรรมชาติ คือในอดีตเมื่อยังมีชีวิตอยู่ เป็นมนุษย์ผู้หยั่งถึงหรือสำเร็จในวิชาที่จะควบคุมดัดแปลงพลังและอิทธิพลจากดวงดาวต่างๆ
ในสุริยจักรวาลที่มีอิทธิผลต่อสรรพสิ่งในโลกได้ระดับหนึ่ง มิได้หมายความว่า
ดวงดาวเหล่านั้นกลายเป็นเทพเจ้าขึ้นมาภายหลัง ตามที่นักศาสนศาสตร์ฝ่ายมิจฉาทิฏฐิคิดกัน
แต่เทพประเภทนี้ เท่าที่ยอมรับกันในทางเทวศาสตร์ทั่วโลก มีเพียงพระสุริยเทพ
และพระจันทรเทวี คือผู้สำเร็จวิชาที่เกี่ยวกับพระอาทิตย์และพระจันทร์เท่านั้น
และก็เหมือนธาตุทั้งสี่ในธรรมชาติ ที่ผู้สำเร็จวิชาในแต่ละธาตุเหล่านั้นย่อมมีมากแตกต่างกันไปตามแต่วัฒนธรรมและภูมิภาคต่างๆ
ผู้สำเร็จวิชาที่เกี่ยวกับพระอาทิตย์พระจันทร์ในแต่ละภูมิภาคทั่วโลกก็มีหลายคนในหลายภูมิภาคและหลายยุคสมัย
คนเหล่านี้เมื่อตายไปแล้ว ย่อมได้รับการยกย่องเป็นเทวะในระดับที่แตกต่างกัน
ตามพลังอำนาจที่ตนมีอยู่ มิใช่ว่าเป็นสุริยเทพแล้ว จะต้องมีพลังสุริยะที่ทัดเทียมกันหมด
ไม่ว่าจะเป็นสุริยเทพของอินเดีย (Surya) ญี่ปุ่น (Amaterasu)
กรีก (Helios) โรมัน (Apollo) อียิปต์ (Ra) ฯลฯ โดยเฉพาะอียิปต์
มีเทพที่เกี่ยวข้องกับพระอาทิตย์อยู่หลายองค์ กล่าวคือเทพสำคัญๆ
มักมีความเกี่ยวข้องกับพระอาทิตย์ทั้งสิ้น และแต่ละองค์ก็มีเทวานุภาพไม่เท่ากัน
ส่วนดาวนพเคราะห์อื่นๆ ที่มีคัมภีร์ระบุว่าเป็นเทพนั้น ส่วนมากยังไม่เป็นที่ยอมรับกันในทางเทววิทยาว่าเป็นเทพจริง
มักจะเป็นแต่บุคลาธิษฐานที่โบราณาจารย์ผูกขึ้น เพื่อรวบรวมความรู้ทางโหราศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับคุณสมบัติและอิทธิพลด้านดี-ร้ายของดาวดวงนั้นๆ
มากกว่า เพราะสิ่งเหล่านี้ถ้ามีการถอดรหัสออกมา ก็จะเป็นองค์ความรู้ในทางโหราศาสตร์ในเรื่องของดาวนั้นๆ
ทั้งสิ้น
เช่น พระศุกร์ ตามตำราว่าเป็นอาจารย์ของพวกอสูรต่างๆ เพราะดาวศุกร์เป็นดาวที่ส่งอิทธิพลในด้านของโลกียะ
ความรัก ความลุ่มหลง และกามารมณ์ แต่ตำราเดียวกันนั้นก็ว่าพระศุกร์เป็นเทพฤาษีด้วย
นั่นก็เพราะอิทธิพลของดาวศุกร์สามารถกล่อมเกลาจิตใจให้ประณีต
ทำให้เกิดสมาธิ และความฉลาดโดยเฉพาะในทางศิลปวิทยาต่างๆ พระอิศวรสร้างพระศุกร์ขึ้นจากโค
๒๑ ตัว ก็เพราะว่า ดาวศุกร์นั้นเกี่ยวข้องกับสัตว์ประเภทโค และกำลังของดาวศุกร์ที่ใช้คำนวณกันในทางโหราศาสตร์นั้นมีกำลัง
๒๑
ที่ยกตัวอย่างมานี้ จะเห็นว่าเป็นสิ่งที่ทำไว้ให้ตีความในแง่โหราศาสตร์ทั้งสิ้น
ไม่ใช่องค์ความรู้ที่พรรณนาถึงความเป็นเทพ (Divinity)
แล้วเหตุใดนักเทววิทยาจึงไม่คิดเผื่อว่า อาจจะมีปรมาจารย์บางท่านในอดีต
ที่สำเร็จวิชาเกี่ยวแก่อานุภาพและอิทธิพลของดวงดาวต่างๆ ที่มีต่อโลกมนุษย์
เช่นเดียวกับผู้ที่สำเร็จวิชาเกี่ยวกับพระอาทิตย์-พระจันทร์ได้เหมือนกัน?
คำตอบก็คือ ไม่มีหลักฐานใดๆ ที่จะทำให้คิดไปในแง่นั้น วิชามายาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับพลังแห่งพระอาทิตย์
พระจันทร์นั้นมีมาแต่โบราณกาล และตกทอดมาถึงคนรุ่นเรานับสิบๆ
สายวิชา คนที่เป็นเอตะทัคคะในวิชาเหล่านี้ ย่อมมีตัวตนจริงอย่างไม่ต้องสงสัย
แต่วิชาที่เกี่ยวกับดาวนพเคราะห์อื่นๆ ไม่มีตกทอดมาถึงเรานอกจากวิชาโหราศาสตร์
ที่เน้นการศึกษาให้เข้าใจกฎธรรมชาติของดวงดาวบนท้องฟ้า เพื่อการดำเนินชีวิตให้เหมาะสมกับกฎนั้นๆ
ไม่ใช่มายาศาสตร์ที่จะควบคุม เปลี่ยนแปลง ลดเพิ่มพลังอำนาจของดวงดาวด้วยเวทมนต์คาถา
ด้วยพลังจิต หรือด้วยพิธีกรรมใดๆ เมื่อไม่มีองค์ความรู้ในส่วนนี้สืบทอดต่อๆ
กันมา ก็หมายความว่า ไม่มีการนับถือเทพในสายนี้สืบต่อกันมาด้วย
เทววิทยาในระดับโลก จึงยอมรับการมีตัวตนของเทพนพเคราะห์แต่เพียงพระสุริยเทพ
และพระจันทรเทวีเท่านั้น
ความจริงโหราศาสตร์ก็พูดถึงพระอาทิตย์และพระจันทร์เช่นเดียวกับดาวนพเคราะห์ต่างๆ
และมีองค์ความรู้ในการดำเนินชีวิตให้เหมาะสมกับอิทธิพลของดาวทั้งสองดวงนี้ด้วย
แต่พึงเข้าใจว่า พระอาทิตย์ และพระจันทร์ในทางโหราศาสตร์นั้น
เป็นดาวฤกษ์และดาวเคราะห์ ในขณะที่เทวศาสตร์นั้น หมายถึงผู้ที่สำเร็จวิชาเกี่ยวกับพระอาทิตย์และพระจันทร์
จนได้รับการยกย่องเป็นสุริยเทพและจันทรเทวี
5) เทพที่เกิดจากคัมภีร์ พระสูตร และคาถาต่างๆ
เดิมก็คือปรมาจารย์ผู้แต่งหรือผู้สำเร็จคัมภีร์ พระสูตร และพระคาถาเหล่านั้นในสมัยแรกสุดนั่นเอง
เทพเหล่านี้ จะเข้าถึงได้โดยการบำเพ็ญภาวนาตามคัมภีร์หรือพระสูตรนั้นๆ
จนเกิดนิมิต เช่น พระโพธิสัตว์และเทพเจ้าต่างๆ ของทางมหายาน
หรือแม้แต่พระสุนทรีวาณีของเราก็เป็นไปในลักษณาการเดียวกันนี้
เพียงแต่เทพประเภทนี้ มิได้มีจริงไปเสียทั้งหมดทุกองค์ ตามที่คัมภีร์หรือพระสูตรต่างๆ
กล่าวอ้าง โดยเฉพาะพระสูตรของทางมหายานซึ่งเมื่อได้รับอิทธิพลตันตระเข้าไปมากก็เฟ้อจนเกิดมีเทพต่างๆ
ขึ้นมามากมาย ในจำนวนนั้น มีไม่กี่องค์เท่านั้นที่มีตัวตนจริง
องค์ใดบ้างที่มีตัวตนจริง ก็อาจแลเห็นได้จากพระโพธิสัตว์และเทพเพียงไม่กี่องค์ที่ยอมรับนับถือกันอยู่ทั่วไป
ในขณะที่ทำเนียบเทวดาของศาสนาพุทธมหายานนั้น กล่าวถึงเทพไว้มากกว่าร้อยองค์
ในบรรดาเทพทั้ง ๕ ประเภทนี้ เทพประเภทแรกสุดคือเทพประจำเผ่า
หมู่บ้าน หรือเมือง หรืออาณาจักร มักเป็นเทพที่ถูกปรุงแต่งให้กลายเป็นผู้สร้างโลก
ตามคติที่นับถือพระเจ้าองค์เดียว หรือ เอกเทวนิยม ดังเช่นชนชาติยิว
นับถือพระยะโฮวาเป็นเทพประจำเผ่าของตนมาแต่เดิม ต่อมาก็ยกย่องเป็นพระเจ้าผู้สร้างโลก
และสร้างชาวยิวขึ้นมาเป็นพิเศษ ด้วยอุปาทานว่า เผ่าพันธุ์ของตนเป็นเผ่าพันธุ์ที่ดีที่สุด
อุปาทานเช่นนี้ เกิดขึ้นเพราะชาวยิวในสมัยแรกๆ นั้นแม้จะเป็นพวกที่ฉลาดหลักแหลม
แต่มีนิสัยเห็นแก่ตัว พยายามช่วงชิงผลประโยชน์ของผู้อื่นและเบียดเบียนแก่งแย่งให้ร้ายกันเองโดยตลอดมา
ไม่มีน้ำใจเอื้ออาทรหรือรู้จักการเสียสละ จึงเป็นเผ่าพันธุ์ที่ฉลาดแต่หาความเจริญมั่นคงมิได้
ต้องถูกชนชาติอื่น เช่น อียิปต์ บาบิโลเนีย ควบคุมเป็นทาสถูกใช้งานลำบากแสนสาหัส
เมื่อลำบากมากเข้าก็พยายามย้อมใจตัวเองว่า พระเจ้าที่ตนนับถือเป็นพระเจ้าผู้สร้างโลกทั้งปวง
ที่จะเมตตาช่วยเหลือพวกตนแต่เพียงพวกเดียว และจะส่งผู้มาไถ่พวกตนให้พ้นจากความทุกข์ยากที่ได้รับ
ศาสนายิวที่ยึดมั่นในพระเจ้าผู้สร้างโลกและพระเจ้าองค์เดียวจึงกลายเป็นรากฐานของศาสนาคริสต์
และศาสนาอิสลามต่อมา
ซึ่งถ้าจะพูดกันอย่างแท้จริงแล้ว พระยะโฮวาผู้สร้างโลกในศาสนายิว
ก็คือเทพประจำเผ่าเผ่าหนึ่งในบรรดาเผ่าเร่ร่อนนับสิบนับร้อย
ที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วดินแดนเมโสโปเตเมียเมื่อหลายพันปีมาแล้ว
ซึ่งแต่ละเผ่าก็มีเทพประจำเผ่าของตนเองทั้งสิ้น และก็ไม่ใช่เฉพาะแต่ชาวยิวเท่านั้นด้วยที่คิดว่าเทพประจำเผ่าของตนเป็นเทพผู้สร้างโลก
ในศาสนาอาซาทรู แห่งภูมิภาคสแกนดิเนเวียเช่นกัน จอมเทพโอดินเป็นเทพประจำเผ่าใดเผ่าหนึ่งมาก่อน
เทวประวัติของพระองค์นั้นชัดเจนว่าพระองค์เคยเป็นผู้วิเศษที่ชำนาญทางเวทมนต์และญาณทิพย์
อีกทั้งเป็นผู้ค้นพบเทพพยากรณ์ซึ่งเรียกกันว่า รูนส์ (Runes)
ด้วย แต่เมื่อภูมิภาคสแกนดิเนเวียเริ่มเผชิญกับการคุกคามของศาสนาคริสต์
เรื่องของกำเนิดโลก การสร้างโลก (Creation) ซึ่งไม่เคยอยู่ในความสนใจของชาวนอร์สมาก่อนถูกนำมาพูดกันในหมู่นักบวชอาซาทรู
ลงท้ายจอมเทพโอดินซึ่งเป็นเทพสูงสุดของชาวนอร์สก็จึงกลายเป็นเทพเจ้าผู้สร้างโลกไป
และเมื่ออิทธิพลทางศาสนาคริสต์แผ่เข้าไปมาก ความเชื่อในแง่นี้ก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้น
บรรดากลุ่มชนที่นับถือเทพองค์ใดองค์หนึ่งเป็นเทพสูงสุดนั้น
อาจแบ่งได้เป็น ๒ พวกใหญ่ๆ พวกแรกไม่ปฏิเสธศรัทธาหรือเทพเจ้าของชนชาติอื่นหรือเผ่าพันธุ์อื่น
เมื่อทำสงครามกันได้ชัยชนะ และยึดครองชนชาติอื่นได้ ก็รับเอาเทพประจำเผ่านั้นๆ
หรือเทพอื่นใดที่ผู้ถูกครอบครองนับถืออยู่เข้ามาเป็นบริวารของเทพฝ่ายตน
และยกย่องเทพฝ่ายตนขึ้นเป็นเทพสูงสุดเหนือเทพเหล่านั้น
การเอาเทพอื่นมาเป็นบริวาร ทำได้โดยผูกตำนานใหม่ คืออธิบายว่า
เทพหรือเทวีของเผ่าหรือเมืองที่ถูกครอบครองนั้น เป็นชายา เป็นโอรส
เป็นธิดา ของเทพสูงสุดที่ผู้ชนะนับถืออยู่ ยกตัวอย่างง่ายๆ ว่า
เมื่อเผ่าที่นับถือพระศิวะ ได้ครอบครองเผ่าที่นับถือพระอุมา
ก็บัญญัติเสียใหม่ว่า พระอุมาเป็นชายาของพระศิวะ และเมื่อเผ่าเดียวกันนี้ได้ครอบครองเผ่าที่นับถือพระคเณศ
พระสกันท์ ก็บัญญัติว่า พระคเณศ พระสกันท์เป็นโอรสของพระศิวะ
กับพระอุมา เป็นการยกย่องให้เกียรติกันในระดับหนึ่ง ขณะเดียวกันก็อาศัยบารมีของเทพเหล่านี้ยกฐานะพระศิวะให้สูงส่งขึ้นไปอีก
การที่เทพของเผ่าหนึ่ง เป็นบริวารของเทพของอีกเผ่าหนึ่ง บางทีก็ไม่เกิดจากการแพ้สงครามเสมอไป
แต่อาจเกิดจากการสวามิภักดิ์ของเผ่าที่เล็กกว่า เช่นกรณีของพระหนุมานและพระราม
พระหนุมานเป็นหัวหน้าเผ่าที่นับถือลิง ซึ่งสวามิภักดิ์และช่วยเหลือพระราม
ซึ่งเป็นผู้นำชนชาติทมิฬเผ่าใหญ่เผ่าหนึ่งในการทำสงครามกับเหล่าอสูรแห่งเกาะลังกา
เมื่อทั้งพระรามและพระหนุมานหมดอายุขัย ทั้งสองก็เป็นเทวะไปตามลักษณาการนั้นๆ
บางที ผู้ชนะได้ครอบครองผู้แพ้ก็จริง แต่ผู้แพ้นั้นมีกำลังอำนาจมาก
อาจกระด้างกระเดื่องหรือหวนกลับมาเล่นงานผู้ชนะเอาเมื่อไรก็ได้ที่สบโอกาส
เมื่อเป็นเช่นนี้ วิธีการอ้างว่าเทพของผู้แพ้เป็นเมียเป็นลูก
หรือเป็นบริวารของผู้ชนะก็ไม่พอ จำจะต้องให้เกียรติแด่เทพของผู้แพ้ให้มากขึ้นไปอีก
นั่นก็คือการบัญญัติเสียใหม่ว่า เทพของผู้แพ้นั้น เป็นเทพองค์เดียวกับเทพสูงสุดของผู้ชนะนั่นเอง
เพียงแต่แบ่งภาค หรืออวตารไปในลักษณะต่างๆ เพื่อกระทำสิ่งสำคัญให้ลุล่วง
กรณีนี้เห็นได้ชัดจากผู้นับถือพระวิษณุ ได้รวมเอาเทพพื้นเมืองต่างๆ
ที่มีคนนับถืออยู่แล้วเป็นอันมาก มีลัทธินิกายของตนเองทั้งสิ้น
ไม่ว่าจะเป็นพระวราหะ (เทพหมูป่า) พระนรสิงห์ พระปรศุราม พระกฤษณะ
พระราม หรือแม้แต่พระพุทธเจ้าของศาสนาพุทธ ซึ่งเป็นศาสนาใหญ่ที่ประชันกันศาสนาฮินดูอย่างไม่ได้เปรียบเสียเปรียบกัน
ก็พลอยถูกนำไปรวมเข้าเป็นองค์อวตารของพระวิษณุด้วย
ศักดิ์ศรีแห่งองค์อวตารนี้ ย่อมเสมอกับพระเป็นเจ้าที่ผู้ชนะอ้างว่าเป็นเทพสูงสุด
ดังนั้นจึงเป็นที่พอใจแก่ผู้นับถือเทพเหล่านั้นมาแต่เดิม ในขณะเดียวกัน
เทพของผู้ชนะก็พลอยได้รับการนับถือไปด้วย แต่ในศาสนาที่มีหลักการแตกต่างออกไป
เช่นศาสนาพุทธ วิธีการนี้ก็ไม่ได้ผล
จะเห็นว่า การรวมเอาเทพของผู้อื่นมาเป็นชายา โอรส ธิดา บริวาร
หรือการอ้างว่าเป็นองค์อวตารเช่นนี้ เป็นวิธีที่ทำให้ปกครองง่าย
และนิยมใช้กันทั่วไปในชนชาติที่ประนีประนอมยืดหยุ่น ไม่ดูหมิ่นศรัทธาของผู้อื่น
ทำให้เกิดคติการนับถือเทพหลายองค์ (พหุเทวนิยม) ดังจะเห็นได้จากในศาสนาอียิปต์
กรีก-โรมัน เมโสโปเตเมีย สแกนดิเนเวีย ฮินดูและจีน เป็นต้น สังคมของชนชาติเหล่านี้
แม้จะมีปัญหาพื้นฐานเช่นเดียวกับมนุษย์ปุถุชนทั่วไป แต่ปัญหาส่วนใหญ่ก็มิได้มีสาเหตุมาจากเรื่องศาสนา
แต่ถ้าเป็นพวกที่แข็งกร้าว ไม่ประนีประนอม ลุแก่อำนาจ
พอใจแต่จะควบคุมบังคับกดขี่ผู้อื่นเป็นสำคัญ พวกนี้เมื่อพิชิตเผ่าพันธุ์หรือชนชาติใดก็เอาแต่จะล้มล้างเทพของผู้แพ้
และบังคับให้ผู้แพ้ต้องนับถือแต่เทพของตนเท่านั้น พวกนี้มักเป็นศาสนาที่นับถือพระเจ้าองค์เดียว
คือพวกยิว คริสต์ และอิสลามดังกล่าวแล้ว ซึ่งมักจะเกิดการกระทบกระทั่งกับผู้อื่นที่มีลัทธิความเชื่อแตกต่างกันได้ง่าย
ดังที่เราเห็นกันอยู่ในปัจจุบัน |