ชาวไทยเรานิยมนับถือพระพุทธเจ้า
ควบคู่ไปกับการบูชาเทพเจ้า-มหาเทพองค์อื่นๆ กันอย่างแพร่หลาย
ซึ่งก็ไม่มีข้อห้ามใดๆ เนื่องจากศาสนาพุทธ ศาสนาพราหมณ์
ศาสนาฮินดู ต่างก็มีความเกี่ยวข้องกันทั้งในด้านประวัติศาสตร์
คำสอน และประเพณีวัฒนธรรม โดยเฉพาะกับวิถีชีวิตของคนไทย
เช่น การนับถือ พระพุทธเจ้า พร้อมกับ เทพเจ้าของจีน
(เจ้าแม่กวนอิม พระสังกัจจาย ฮก-ลก-ซิ่ว แปดเซียน
จี้กง เทพเจ้าไฉ่สิ่งเอี๊ย ฯลฯ)
หรือเป็นพุทธศาสนิกชนที่มีความสนใจบูชามหาเทพของ พราหมณ์-ฮินดู
เพิ่มเติม เช่น พระพิฆเนศ พระพรหม พระวิษณุ พระศิวะ
พระแม่อุมา พระแม่กาลี พระแม่สรัสวดี พระแม่ลักษมี ฯลฯ |
|
คำถาม
- สามารถตั้งพระพิฆเนศหิ้งเดียวกับพระพุทธเจ้าได้หรือไม่?
คำตอบ - ได้...แต่ควรหลีกเลี่ยง (ไม่บาป
แต่ไม่เหมาะสม)
ถ้าท่านมีความศรัทธาและต้องการบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์จำนวนหลายๆ
องค์พร้อมๆ กัน ก็ไม่ควรจะตั้งบนชั้น หิ้ง หรือโต๊ะหมู่บูชาชุดเดียวกัน
ควรจะแยกออกเป็นชุดๆ อาจจะจัดเรียงโต๊ะหรือหิ้งให้เรียงกันจากซ้ายไปขวา
หรือมีฉากกั้น จะเป็นการเหมาะสมกว่า
การแยกโต๊ะสำหรับบูชาพระ ควรแบ่งตามนิกาย-ลัทธิ ให้ชัดเจน
ดังต่อไปนี้ หิ้งศาสนาพุทธ - ประดิษฐานพระพุทธรูป
(ศาสนาพุทธ) เช่น พระพุทธเจ้า และพระอัครสาวก (พระสารีบุตร
พระโมคคัลลานะ พระอานนท์)
พระบรมสารีริกธาตุ พระสีวลี พระธาตุของพระพุทธสาวก พุทธเจดีย์จำลอง
ตลอดจนท้าวจตุคามรามเทพ และพระเกจิอาจารย์ ฯลฯ
หิ้งเทพเจ้าจีน - ประดิษฐานเทพเจ้าของจีนหรือญี่ปุ่น
เช่น พระสังขจาย เจ้าแม่กวนอิม ฮก-ลก-ซิ่ว แปดเซียน จี้กง
ไฉ่ซิงเอี้ย เจ้าพ่อกวนอู
เห้งเจีย รูปเทพธิดา นางฟ้าจีน มังกร เต่า หงษ์ แมวนำโชค
วัตถุมงคลแก้ฮวงจุ้ย ฮู้ ยันต์จีนต่างๆ ฯลฯ หิ้งศาสนาฮินดู
- ประดิษฐานมหาเทพ-มหาเทวีของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู
เช่น พระพิฆเนศ พระพรหม พระวิษณุ พระศิวะ พระแม่ทั้ง 3
พระราม พระหนุมาน พระกฤษณะ ฯลฯ หิ้งกษัตริย์ไทย
- พระบรมฉายาลักษณ์กษัตริย์ของไทย เช่น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ
สมเด็จพระบรมราชินีนาถฯ เสด็จพ่อ ร.5 เสด็จเตี่ยกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์
สมเด็จพระนารายณ์มหาราช สมเด็จพระนเรศวรมหาราช พ่อขุนรามคำแหง
พระนางสุพรรณกัลยา ฯลฯ
(โต๊ะนี้สำหรับชาวไทย ส่วนใหญ่จะอนุโลมให้ตั้งอยู่รวมกับโต๊ะหมู่บูชาของพระพุทธเจ้าได้
โดยตั้งให้มีระดับชั้นต่ำกว่าพระพุทธเจ้า) หิ้งวัตถุมงคล
- วัตถุมงคลอื่นๆ เช่น ผ้ายันต์ ตะกรุด นางกวัก
กุมารทอง รักยม เหล็กไหล ชูชก เงาะป่า ปลัดขิก มีดหมอ เขี้ยวเสือ
ควายธนู ฯลฯ
(ชุดนี้ควรตั้งให้เหลื่อมต่ำลงกว่าทั้ง 4 หิ้งที่กล่าวมา) |
|
ต้องอ่าน!!
ความรู้เรื่องการสวดมนต์ การสวดบูชาพระพิฆเนศนั้น
เราสามารถสวดด้วยบทใดก็ย่อมได้ตามที่ได้ลงไว้ให้ศึกษาในส่วนต่างๆ
ของเว็บไซต์สยามคเณศนี้
ไม่ว่าจะเป็นบทสวดสั้นๆ เพียงบรรทัดเดียว (เช่น โอม ศรี คเณศายะนะมะฮา,
โอม เอกทันตะ ยะนะมะฮา, โอม เหรัมภะ ยะนะมะฮา ฯลฯ)
หรือจะเป็นบทสวดยาวๆ (ที่เริ่มต้นด้วย โองการพินทุ นาถังอุปปันนัง....หรือ
โอมปารวตีปัตเย...)
ก็สามารถทำให้องค์พระพิฆเนศท่านพึงพอใจได้เช่นเดียวกัน
การบทสวดสั้นๆเพียงท่อนเดียว ก็เพื่อการสะดวกเมื่อต้องเร่งรีบหรือเดินทางไปไหนมาไหน
แล้วเดินผ่านเทวาลัยหรือศาลพระพิฆเนศ
เพียงยกมือไหว้แสดงความเคารพ แล้วกล่าวบทสวดเพียงท่อนเดียวก็เสร็จพิธี
(หรือจะสวด 3 จบ 5 จบ 9 จบก็ตามสะดวก) สำหรับการสวดบทยาวๆ
ก็เพื่อให้เกิดสมาธิในการตั้งจิต หรือใช้สวดเนื่องในโอกาสพิเศษหรือขอพร
แต่ผู้ศรัทธาหลายท่านก็ใช้บทสวดแบบสั้นที่มีท่อนเดียว แต่สวดท่องซ้ำๆกัน
เป็นร้อยเที่ยว พันเที่ยว
เพื่อการนั่งสมาธิให้เข้าถึงญาณและบารมีแห่งองค์ท่าน
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ไม่สำคัญว่าจะสวดบทไหน หรือสวดกี่เที่ยว เพราะบทสวดทุกบทนั้น ต่างก็มีความหมายที่ดี
ล้วนแปลความได้ว่าเป็นการยกย่องพระพิฆเนศ
และเป็นการสื่อให้องค์พระพิฆเนศได้รับรู้ถึงความศรัทธาของเราที่มีต่อองค์ท่าน
ผลดีจะเกิดกับผู้สวดก็ต่อเมื่อปฏิบัติการสวดบูชาเป็นประจำ และสวดให้ได้ทุกวัน
...ก่อนตัดสินใจกระทำการสิ่งใด ก็ให้สวดมนต์ต่อองค์ท่านก่อน เพื่อขอเปิดทางไปสู่ความสำเร็จ
...หากพบทางตันแม้ได้ทดลองทุกวิถีทางแล้ว ก็ให้สวดบูชาต่อองค์ท่าน
เพื่อขอประทานสติปัญญาและทางออก
...เมื่อเกิดความเครียด กระวนกระวาย สับสนในจิตใจ ก็สวดบูชาต่อองค์ท่านเพื่อขอประทานสมาธิ
...ก่อนออกเดินทางไกล ก่อนไปเจรจาต่อรอง ก่อนกระทำการใดๆ อันเป็นการเสี่ยง
ฯลฯ
ก็สวดบูชาต่อองค์ท่าน เพื่อขอให้บารมีองค์พระพิฆเนศได้คุ้มครองให้ปลอดภัยและประสบแต่โชคดี
การสวดมนต์นั้น ไม่ว่าจะสวดบูชาต่อพระพุทธรูปในศาสนาพุทธ หรือสวดบูชาต่อเทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์-ฮินดูก็ตาม
ไม่สำคัญว่าเราจะรู้ความหมายหรือไม่ เนื่องด้วยการสวดมนต์แม้เราไม่ทราบความหมาย
ก็ยังก่อให้เกิดสมาธิและความศรัทธา
และหากสวดอย่างทราบความหมาย ก็ก่อให้เกิดปัญญา สื่อถึงอค์เทพเจ้าได้อย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น...
ฉะนั้น อานิงสงค์จากการสวดบูชาภาษาบาลี-สันสกฤตและภาษาโบราณต่างๆ
นั้นมีอยู่จริง!!
ขอเพียงตั้งใจสวด ไม่วอกแวก สวดด้วยใจบริสุทธิ์ สวดให้เกิดสมาธิ
ก็ย่อมเกิดผลดีแก่ทุกคน
***สงวนลิขสิทธิ์บทความ***
การนำเนื้อหานี้ไปใช้ที่อื่นกรุณาอ้างอิงหรือขอบคุณเว็บไซต์สยามคเณศและทำลิงก์กลับมาที่
http://www.siamganesh.com
คลิกที่นี่เพื่อกลับไปหน้าแรกพระพิฆเนศ
, เสาชิงช้า
โบสถ์พราหมณ์
เทวสถาน ,
วัดแขกสีลม
|
|