1.
มันตระ (ภาษิต, บทเพลง, มนตร์) จัดว่าเป็นคำประพันธ์ที่เก่าที่สุดของวรรณคดีพระเวท
เป็นคัมภีร์ของศาสนาพราหมณ์ซึ่งต่อมาพัฒนาเป็นศาสนาฮินดู คัมภีร์นี้ไม่ปรากฏผู้แต่งและเวลาแต่ง
สันนิษฐานว่าเริ่มแต่งขึ้นประมาณ 1500 ปี ก่อนคริสตกาล และท่องจำเล่าสืบต่อกันมาโดยไม่มีการเขียน
ต่อมาได้มีการรวบรวมเข้าด้วยกัน โคลงกลอนซึ่งประกอบเป็นพระเวทนั้นใช้สำหรับร้องสรรเสริญบูชาเทวดาในพิธีบวงสรวงเทพยดา
ซึ่งคงจะเป็นเทพยดาประจำเผ่า นอกจากนี้ยังใช้ท่องบ่นในพิธีแต่งงาน
พิธีศพมันตระประกอบด้วยคัมภีร์ 4 เล่ม คือ
ฤคเวท จัดว่าเป็นคัมภีร์ทางศาสนาที่เก่าที่สุดในโลก
รวบรวมเอาบทสวดแด่เทพยดาต่างๆ เข้าไว้ คงจะเป็นการรวบรวมบทสวดของเผ่าต่างๆ
เข้าด้วยกันจึงมีการกล่าวถึงพระเจ้าหลายองค์ โดยมิได้ระบุอย่างแน่ชัดว่าองค์ใดเป็นประมุขของทวยเทพ
บทสวดเหล่านี้จะถูกจดจำสืบต่อกันมาหลาย ชั่วอายุคน โดยไม่มีการหลงลืมหรือบิดเบือน
เนื่องจากความศักดิ์สิทธิ์ของพิธีกรรมและความศักดิ์สิทธิ์ของคำสวดทุกพยางค์
จนกระทั่งมาถึงเมื่อประมาณศตวรรษที่ 8 ก่อนคริสตกาลจึงมีการจดบันทึกฤคเวทลงเป็นลายลักษณ์อักษร
คัมภีร์ฤคเวทนี้ถือว่าเป็นคัมภีร์ของพวกนักบวชอย่างแท้จริงเพราะ
นอกจากจะเป็นผู้แต่งขึ้นแล้วก็ยังเป็นผู้ใช้ในการประกอบพิธีกรรมสังเวยเทพยดาอีกด้วย
สามเวท แต่งขึ้นเพื่อรวบรวมบทสวดที่เลือกมาจากฤคเวท
เพื่อประโยชน์ในการสวดเท่านั้น จึงไม่ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับพวกอารยันนอกเหนือไปจากที่ฤคเวทได้ให้ไว้
ยัชุรเวท คัมภีร์นี้รวบรวมมนตร์ที่นักบวชประเภทหนึ่ง
ต้องท่องในการประกอบพิธีกรรม ซึ่งประพันธ์ไว้เป็นทั้งร้อยกรองและร้อยแก้ว
คัมภีร์นี้เองที่เป็นต้นเค้าให้แก่คัมภีร์พราหมณะเพราะ มีอยู่ด้วยกันหลายฉบับ
"ฉบับดำ" คือตัวมนตร์กับคำอธิบายอย่างสังเขปในการประกอบพิธี
ส่วน "ฉบับขาว" เป็นการอธิบายอย่างละเอียดถึงเนื้อหาแห่งพิธีกรรม
ตลอดจนเหตุผลที่อยู่เบื้องหลัง การประกอบพิธีแต่ละขั้นตอน "ฉบับขาว"
นี้เรียกว่า พราหมณะ (เข้าใจว่ามาจากคำ พรหมะ
ในฤคเวทซึ่งมีความหมายหนึ่งในหลายๆ ความหมายว่า "สาระแห่งการสวด"
ดังนั้นผู้ทำการสวดจึงถูกเรียกว่าพราหมณ์) ในบรรดาพระเวททั้งสามซึ่งบางทีเรียกว่า
ไตรเวท จะสะท้อนให้เห็นถึงความคิดพัฒนาการของความคิดในหมู่อารยันชั้นสูง
ซึ่งมีนักบวชเป็นผู้นำ แต่เนื่องจากพวกอารยันมีหลายเผ่า จึงทำให้บางกลุ่มไม่ยอมรับความเชื่อที่ปรากฏในฤคเวท
นอกจากนี้การที่พวกอารยันอพยพเข้ามาอยู่ในดินแดนของชนชาติอื่น
ย่อมเป็นธรรมดาอยู่เองที่จะต้องปรากฏลักษณะความเชื่อของผู้คนดั้งเดิมอยู่บ้าง
จะถือเอาไตรเวทเป็นตัวแทนของความเชื่อทั้งหมดไม่ได้ ดังนั้นคัมภีร์เล่มสุดท้ายของมันตระคือ
อาถรรพเวท นี้จึงมีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์ด้วยเหตุดังกล่าว
อาถรรพเวท รวบรวมขึ้นหลังฤคเวท บรรจุเรื่องราวของ
การสาป-การเสก การท่องมนตร์ที่เป็นคำประพันธ์
นอกจากนี้ยังมีเรื่องของความเชื่อผีสางเทวดาแบบง่ายๆ และ เรื่องไสยศาสตร์
ที่ไม่ลึกซึ้งเหมือนอย่างเรื่องราวที่ปรากฏในฤคเวท จึงเหมาะสำหรับคนที่มีระดับวัฒนธรรมต่ำกว่าคนที่เชื่อในฤคเวท
เข้าใจว่าอาถรรพเวทสะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อของประชาชนส่วนใหญ่
จึงมีร่องรอยของวัฒนธรรมที่ไม่ใช่อารยันผสมผสานอยู่อย่างมาก
2. พราหมณะ ปลายสมัยพระเวทความสำคัญของตัวพิธีกรรมสังเวยเทพยดามีมากขึ้น
ในขณะที่ตัวเทพยดากลับลดความสำคัญลง จึงเกิดคัมภีร์เพื่ออธิบายความหมายของพิธีกรรมต่างๆ
ที่ปรากฏในพระเวท คัมภีร์พราหมณะแต่งขึ้นราว 800-600 ปี ก่อน
ค.ศ. ซึ่งยังเป็นผลงานของนักบวช (พราหมณ์) ดังนั้น จึงสอดคล้องกับหลักการใหญ่ๆ
ของพระเวท คือ เน้นการกระทำสังเวยแก่เทพยดา อย่างไรก็ตามคัมภีร์พราหมณะก็ได้สะท้อนให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงในความคิดเกี่ยวกับศาสนาอยู่เหมือนกัน
3. อารัณยกะ หรือหนังสือคำสอนสำหรับใช้ในป่า
ซึ่งเป็นภาคผนวกของพราหมณะ มีภาษาสำนวนและแม้แต่เนื้อความคล้ายกับพราหมณะ
แต่ให้ความสนใจแก่ความหมายของพิธีกรรมและความหมายในสัมหิตา มากกว่าพราหมณะที่สนใจแต่กฎเกณฑ์ของการประกอบพิธีกรรม
4. อุปนิษัท ในปลายสมัยพราหมณะ ความเชื่อทางศาสนาของพวกพราหมณ์ไม่เป็นที่เพียงพอแก่สภาพของประชาชนอินเดีย
ซึ่งได้ผ่านความเปลี่ยนแปลงในทางการเมือง และสังคมไปมากแล้วความไม่รู้สึกเพียงพอต่อคำอธิบายทางศาสนาในพระเวท
และพราหมณะนี้ทำให้อินเดียก้าวเข้าสู่ยุคหนึ่ง ของการคิดค้นทางด้านศาสนาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลก
คัมภีร์อีกประเภทหนึ่งเริ่มปรากฏขึ้นเรียกว่า อุปนิษัท ความสนใจของคัมภีร์ประเภทนี้มิใช่อยู่ที่พิธีสังเวยอีกต่อไป
แต่อยู่ที่การคิดค้นหาทางอภิปรัชญาอย่างลึกซึ้ง โดยเฉพาะการค้นหาทางแห่งความหลุดพ้นโดยสิ้นเชิงจากการเวียนว่ายตายเกิด
ในสมัยนี้มีคนจำนวนมากออกกระทำทุกขกริยา หรือมิฉะนั้นก็ออกไปแสวงหาสมณธรรมตามป่าเขา
โดยตัวคนเดียวบ้างเป็นหมู่คณะบ้าง แล้วเที่ยวประกาศคำสอนอย่างใหม่ในที่ต่าง
ๆ คำสอนนี้แม้ว่าจะมีความสำคัญต่างไปจากพระเวท แต่ก็หาได้ปฏิเสธพระเวทยังไม่ยอมรับความสำคัญของ
พิธีกรรมสังเวยเทพยดาของพราหมณ์อยู่ เป็นแต่เพียงไม่เห็นว่าจะเป็นช่องทางนำไปสู่ความหลุดพ้นเท่านั้น
คำสอนของอนาคาริกหรือ ของเรียกง่าย ๆ ในที่นี้ว่าฤษีเหล่านี้รวมเรียกว่าอุปนิษัทซึ่งแปลว่าการเข้ามานั่งใกล้
(เพื่อรับการสอน) อุปนิษัท ที่แต่งรุ่นแรก ๆ เป็นร้อยแก้ว อธิบายคำสอนอย่างสั้น
ๆ ด้วยบทสนทนาซักถาม อุปนิษัทรุ่นหลังแต่งเป็นคำประพันธ์ก็มี
ถึงแม้อุปนิษัททั้งหลายไม่เกี่ยวเนื่องกันเอง (เพราะรวบรวมจากคำสอนของคนหลายกลุ่ม)
และไม่มีเอกภาพแต่มีสาระสำคัญตรงกันในด้านคำสอนดังจะอธิบายข้างหน้า
คัมภีร์ทั้ง 4 ประเภทที่กล่าวนี้เรียกว่า ศรุติ คือได้ยินได้ฟังมาโดยนิมิตจากเทพเจ้า
จึงมีความศักดิ์สิทธิ์ที่สุด ยังมีคัมภีร์อีกประเภทหนึ่งซึ่งส่วนใหญ่แต่งขึ้นในภายหลังจากยุคพระเวท
แต่ถือเป็นส่วนต่อของพระเวทจึงเรียกว่า เวทางค์ (คือส่วนแห่งเวทะ)
เวทางค์เป็นเรื่องของความรู้อันจะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาวรรณคดีพระเวทส่วนที่เป็นศรุติ
แต่ไม่ถือว่าศักด์ิสิทธิ์เท่าเรียกว่า สัมฤติ
(คือจดจำกันต่อๆ มาแปลตามศัพท์ว่า ระลึกได้)
วิชาที่จัดอยู่ในเวทางค์คือ ศึกษา (สัททศาสตร์)
กัลปะ (พิธีกรรม) วยากรณะ
(ไวยากรณ์) นิรุกตะ (รากศัพท์) ฉันทะ
(หลักคำประพันธ์) และ ชโยติษะ (ดาราศาสตร์) |