วรรณะพราหมณ์
คำว่า พราหมณ์ หมายถึง ผู้ที่มีความรู้เกี่ยวกับพระพรหม
พระเวท และอาตมา ในคัมภีร์ธรรมศาสตร์ บอกไว้ว่า ผู้ใดผู้หนึ่งมีลักษณะ
11 ประการดังต่อไปนี้ ผู้นั้นย่อมเป็นพราหมณ์บางทีก็บ่งว่า ผู้เป็นพราหมณ์ย่อมมีลักษณะ
11 ประการตามธรรมชาติ คือ ศม (ะ) ทม (ะ) ตป (ะ) เศาจ
(ะ) สนโตษ (ะ) กษมา สรลตา ชญาน (ะ) ทยา อสติกตา และ
สตย (ะ) ซึ่งแต่ละข้อมีความหมายดังต่อไปนี้
1. ศม (ะ) หมายถึง สภาพที่ภายในจิตใจไม่มีความยุ่งยาก
หรือปั่นป่วนด้วย กาม โกรธ โลภ หรือหลง (โมหะ) แม้แต่ประการใด
เป็นธรรมชาติของเขาเช่นนั้นแม้ตั้งแต่วัยเด็กมา ความวิกลวิการยุ่งยากปั่นป่วนภายในจิตใจของบุคคลเช่นนี้ก็ไม่เกิดง่าย
2. ทม (ะ) หมายถึง สภาพที่จิตใจได้รับการระงับไว้แล้ว
กล่าวคือรู้จักข่มจิตใจของตนด้วยความสำนึกในเมตตาและมีสติอยู่เสมอ
รู้จักมีจิตใจอดกลั้นไม่ปล่อยให้หวั่นไหวไปตามอารมณ์ได้ง่ายๆ
3. ตป (ะ) แปลตามศัพท์แปลว่า ความร้อน หรือ
การร้อน แต่ในที่นี้มีความหมายว่า ฝักใฝ่แต่ในความประพฤติในอันที่จะหาความรู้
หาความจริงและพยายยามแต่จะให้ประสบผลสำเร็จในการหาความรู้และความจริงนั้น
ไม่ว่าจะต้องผจญกับความยากลำบากสักเพียงไร ก็พยายามพากเพียรจนสำเร็จผลลงให้จงได้
4. เศาจ (ะ) แปลตามศัพท์ว่า ความบริสุทธิ์
หมายถึง การทำตนเองให้เป็นผู้มีความบริสุทธิ์ทั้งจิตใจและร่างกาย
5. สนโตษ (ะ) หมายถึง สภาพที่พอใจ
หรือมีความสุขอยู่แล้วในทางสันติ
6. กษมา หมายถึง ความอดกลั้น หรือความอดโทษ
กล่าวโดยย่อก็คือ (สงบ) มีความพากเพียรพยายามและอดทน โดยถือเอาความเมตตากรุณาเป็นที่ตั้งนั่นเอง
7. สรลตา แปลว่า ความซื่อหรือความตรงโดยนิสัย
คือทั้งพูดตรงและทำตรง
8. ชญาน (ะ) แปลว่า ความรู้ ความเห็น
ความชอบ ความถูกต้อง หรือความวิเวก ในที่นี้หมายถึง
ความชอบทางการศึกษาหาความรู้นั่นเอง
9. ทยา หมายถึง ความมีเมตตากรุณาต่อชีวิตทั้งหลาย
10. อสติกตา ได้แก่ การมีความเชื่อถือ
ไว้วางใจ และมอบความจงรักภักดีไว้ต่อพระพรหมนั่นเอง
11. สตย (ะ) แปลตามศัพท์ว่า จริงหรือความจริง
หรือศุทธมติ (ความเห็นอันบริสุทธิ์ใจ) หรือ ความเห็นอันสุจริต
กล่าวคือควรแสดงความซื่อสัตย์ต่อกันและกัน จนถึงทำให้เป็นที่ไว้วางใจกันและเชื่อใจกันได้โดยไม่คิดคดทรยศต่อกันอีกต่อไป
เหล่านั้นคือ ข้อที่ควรประพฤติปฏิบัติ หรือลักษณะความประพฤติของชนวรรณะพราหมณ์
กล่าวได้อีกอย่างหนึ่งก็คือ ธรรมะของพราหมณ์ นั่นเอง
นอกจากนี้ในหินทูธรรมศาสตร์ ได้มีการกำหนดการกระทำของชนในแต่ละวรรณะไว้ด้วยว่า
วรรณะใดมีการกระทำชนิดไหนบ้าง ที่ชนในวรรณะนั้นจะพึงกระทำได้
โดยไม่เสื่อมเสีย และโดยสมควร ทั้งนี้บัญญัติไว้เพื่อความสะดวกในการครองชีพของชนแต่ละวรรณะ
เช่น ชนวรรณะพราหมณ์นี้มีสิทธิหรือมีหน้าที่ ที่จะกระทำได้ถึง
6 ประการ คือ
1. ปฐนํ ได้แก่การรับการศึกษาชั้นสูง และการพยายามแสวงหาความจริง
2. ปาฐนํ ได้แก่การให้การศึกษาแก่ผู้อื่น เช่น
เป็นครู เป็นอาจารย์ เป็นต้น
3. ยชนํ ได้แก่การทำพิธีบูชาต่าง ๆ เช่น พิธียัชญ์
(หรือยัญญกรรม) และจัดพิธีการกุศลต่าง ๆ ด้วยตนเอง
4. ยาชนํ ได้แก่การทำพิธีบูชาต่าง ๆ เช่นพิธียัญญกรรม
และพิธีการกุศลอื่น ๆ ตามความประสงค์ของผู้ใดผู้หนึ่ง ที่มีจิตศรัทธาใคร่จะให้ประกอบพิธีกรรมใด
ๆ ให้
5. ทานํ ได้แก่การทำบุญให้ทานแก่ผู้อื่นตามกำลังเท่าที่จะสามารถทำได้
6. ประติครห (ะ) ได้แก่การรับทำบุญจากผู้มีจิตศรัทธา
นอกจากสิทธิและหน้าที่ทั้ง 6 ประการดังกล่าวนั้นแล้ว หากจำเป็นกล่าวคือ
ในยามวิบัติกาล (คราวคับขันหรือในยามยากลำบาก) ผู้ที่แม้เป็นพราหมณ์ก็อาจประกอบการกสิกรรมการค้าขายหรือธุรกิจอื่น
ๆ อีกได้เพื่อแก่การครองชีพที่สมควรในชีวิตนี้
วรรณะกษัตริย์
คำว่า กษัตริย์ (บาลีว่า ขตติย) แปลว่า
นักรบหรือผู้ป้องกันภัย เป็นวรรณะที่ 2 รองจากวรรณะพราหมณ์ในหินทูธรรม
วรรณะกษัตริย์นี้มีสิทธิปกครองประเทศชาติ สรุปง่าย ๆ ก็คือทำหน้าที่เป็นเจ้าแผ่นดินนั่นเอง
ในคัมภีร์ธรรมศาสตร์บ่งไว้ว่า ผู้ใดผู้หนึ่งมีลักษณะ 11 ประการดังต่อไปนี้
ผู้นั้นย่อมเป็นกษัตริย์ บางทีก็บ่งว่า ผู้เป็นกษัตริย์ย่อมมีลักษณะ
11 ประการตามธรรมชาติ คือ ศูรตา วีรย(ะ) ไธรย(ะ) เตช(ะ)
ทาน(ะ) ทม(ะ) กษมา พราหมณภกติ ปรสนนตา รกษาภาว(ะ) และ
สตย(ะ) ซึ่งแต่ละข้อ มีความหมายดังต่อไปนี้
1. ศูรตา แปลว่า ความกล้าหาญ
ผู้เป็นวรรณะกษัตริย์ควรจะเป็นผู้มีความกล้าหาญและแข็งแรงเป็นวีระบุรุษในหมู่ชนได้
ไม่รู้จักมีความขลาดกลัว
2. วีรย(ะ) แปลว่า แรง กำลังหรืออำนาจ มีความเพียร
มีความมั่นคงในการรู้เผชิญภัย ตลอดจนความมั่นคงในการรบทัพจับศึก
ผู้อยู่ในวรรณะกษัตริย์ควรมีลักษณะเช่นนี้ด้วย
3. ไธรย(ะ) แปลว่า ความมั่นคง ไม่รู้จักเบื่อหน่ายท้อถอย
มีแต่ความเพียรพยายามอย่างมั่นคงอยู่เสมอเป็นนิตย์
4. เตช(ะ) ตามศัพท์แปลว่า ความร้อน หรือ ร้อน
แต่ในที่นี้หมายถึงความมียศและมีเกียรติ กล่าวคือ รู้จักใช้อำนาจเท่าที่มีอยู่แล้วในทางที่ถูกต้องและสุจริต
เพราะฉะนั้นผู้ที่จะได้ชื่อว่าเป็นกษัตริย์ ควรจะเป็นผู้ที่ตั้งอยู่ในความสุจริตทุกประการ
5. ทาน(ะ) แปลว่า การให้ หมายถึง ความมีจิตใจที่เต็มไปด้วยอุปการะ
และชอบทำการอุปถัมภ์บำรุงแก่ผู้อื่นอยู่เป็นนิตย์ คือชอบทำบุญ
ฝักใฝ่ในการทำบุญนั่นเอง
6. ทม(ะ) และ 7. กษมา ทั้ง 2 ข้อแห่งลักษณะโดยธรรมชาติของกษัตริย์ซึ่งเหมือนกับ
2 ลักษณะของธรรมชาติแห่งพราหมณ์
8. พราหมณภกติ แปลว่า ความภักดีต่อพราหมณ์
เพราะขึ้นชื่อว่าวรรณะกษัตริย์แล้วควรนับถือวรรณะพราหมณ์อยู่เสมอ
ถ้าจะพูดไปแล้วก็ทำนองเดียวกับว่าวรรณะพราหมณ์สูงกว่าวรรณะกษัตริย์นั่นเอง
กษัตริย์จึงต้องนับถือพราหมณ์
9. ปรสนนตา แปลว่า ความร่าเริงยินดี
ความไม่รู้จักวิตก และยิ่งไปกว่านั้นก็คือแสดงความยินดี
และก่อให้เกิดความปลื้มปิติให้แก่ผู้อื่นด้วย หรือทำให้ผู้อื่นบังเกิดความยินดีเปรมใจไปด้วย
10. รกษาภาวะ หมายถึง การเตรียมตัวพร้อมอยู่เสมอในอันที่จะปกปักรักษาประเทศชาติและช่วยเหลือผู้ที่อ่อนแอ
หรือเพื่อรักษาความยุติธรรม
11. สตย(ะ) ได้กล่าวมาแล้วในข้อสุดท้ายแห่งธรรมชาติและลักษณะของพราหมณ์
เหล่านั้นคือ ข้อที่ควรประพฤติปฏิบัติ หรือลักษณะของชนในวรรณะกษัตริย์
กล่าวได้อีกอย่างหนึ่งคือ ธรรมะของกษัตริย์ นั่นเอง ผู้เป็นวรรณะกษัตริย์ควรฝึกให้เป็นนิสัยติดตนไปโดยธรรมชาติ
นอกจากนั้นแล้วผู้เป็นวรรณะกษัตริย์ ควรมีการกระทำกำหนดไว้ด้วยว่าหน้าที่ของตนก็คือ
4 ประการนี้ กล่าวคือ
1. ปฐนํ
2. ยชนํ
3. ทานํ
ทั้ง 3 ประการแรกนี้จะสังเกตได้ว่าสิทธิและหน้าที่ของ
พราหมณ์ และ กษัตริย์ คล้ายคลึงกันมากจะต่างกันก็แต่เพียงว่า
พราหมณ์ทำหน้าที่ ปาฐ (สอน) และ ยาชญ
(บูชา) ด้วยเท่านั้น
กษัตริย์เป็น รกษก(ะ) (ผู้รักษา หรือผู้คุ้มครองป้องกัน)
เพราะฉะนั้นกษัตริย์จึงต้องเป็นผู้มีความมั่นใจในการคุ้มครองรักษาดินแดน
ป้องกันมิให้ผู้ที่อ่อนแอเป็นอันตรายไปได้ รู้จักใช้อาวุธต่าง
ๆ รู้จักการยุทธวิธีตามสมัย ตลอดจนรู้จักหลักวิชากฎหมาย คือนิติศาสตร์ด้วย
นอกจากสิทธิและหน้าที่ทั้ง 4 ประการดังได้กล่าวมาแล้วนั้น หากจำเป็น
กล่าวคือ ในยามวิบัติกาลพระธรรมศาสตร์ ก็ยังอนุญาตให้ผู้ที่แม้เป็นกษัตริย์ก็อาจประกอบอาชีพอื่นได้
เช่นเป็นครูบาอาจารย์ ทำพิธีบูชายัญและการกุศลต่าง ๆ ทำการกสิกรรมและการค้าขาย
เพื่อการครองชีพได้ ที่ทำไม่ได้เหมือนชนในวรรณะพราหมณ์มีอยู่อย่างเดียว
คือรับทำบุญให้แก่ผู้อื่นไม่ได้เท่านั้นเอง
วรรณะแพศย์
หรือ ไวศยะ
เป็นวรรณะที่ 3 ในหินทูธรรม หมายถึง ผู้ที่ทำหน้าที่ประกอบการค้าและพาณิชยการต่างๆ
ในคัมภีร์พระธรรมศาสตร์บ่งไว้ว่า ผู้หนึ่งผู้ใดมีลักษณะ 4 ประการดังต่อไปนี้
ผู้นั้นชื่อว่าเป็น ไวศย คือ
1. มีความเฉลียวฉลาดในการแลกเปลี่ยนสิ่งของต่างๆ
หรืออีกนัยหนึ่งในการค้าขายนั่นเองมีความมั่นใจ ในการอุตสาหกรรมต่างๆ
ด้วย เพราะอุตสาหกรรมมักเกิดมาควบคู่กับพณิชยกรรมเสมอ
2. มีสมองดีในการคิดเลข บวก ลบ คูณ หาร ต้นทุน
กำไร ฯลฯ และรู้จักว่า เมื่อไรควรเสีย เมื่อไรควรได้ รอบคอบอยู่เสมอ
3. มีความเชื่อถือและความจงรักภักดีต่อพระเป็นเจ้า คือ
พระพรหม ผู้สร้างโลก ตลอดจนคำสั่งสอนของพระพรหมด้วย
4. มีความนับถือวรรณะพราหมณ์และวรรณะกษัตริย์ ทั้งนี้จะแสดงความนับถือนั้นออกมาได้ก็ด้วยการไปพบปะและสนทนากับชนในวรรณะพราหมณ์
เพื่อขวนขวายหาความรู้ทางธรรม แล้วนำเอาความรู้นั้นมาใช้ในชีวิตประจำวัน
มีการปฏิบัติตามคำสั่งสอนนั้นๆ ด้วย ส่วนที่ว่าควรมีความจงรักภักดีต่อชนในวรรณะกษัตริย์นั้นก็คือควรปฏิบัติตามกฎหมาย
โดยไม่ฝ่าฝืนแม้แต่ประการใด
ข้อควรปฏิบัติของชนในวรรณะไวศยะนี้ก็คือให้ทำการประกอบอาชีพกสิกรรมและการค้าขายแต่ในยามวิบัติกาลแล้ว
พระธรรมศาสตร์ก็อนุญาตให้ประกอบอาชีพได้ทุกอย่างตามกาลเทศะ แต่ทว่ามีข้อแม้ว่าจะต้องเป็นอาชีพที่สุจริตเท่านั้นเอง
วรรณะศูทร
เป็นวรรณะที่ 4 ในหินทูธรรม (ค่อนข้างได้รับการเอาเปรียบจากวรรณะอื่นๆ)
ท่านว่าศูทรนี้มีกำเนิดมาจากเบื้องพระบาทของพระพรหม เพราะฉะนั้นจึงทำหน้าที่เป็น
เสวก(ะ) คือเป็นผู้รับใช้ในกิจการงานต่าง ๆ
โดยทั่วไปในคัมภีร์พระธรรมศาสตร์บ่งไว้ว่า ผู้ใดผู้หนึ่งมีลักษณะทั้ง
7 ประการ ต่อไปนี้ผู้นั้นได้เชื่อว่าเป็นศูทร คือ
1. นมรตา แปลตามศัพท์ว่า ความอ่อนน้อม
หรือ คด โค้ง งอ อันเป็นลักษณะของผู้ที่ต้องค้อมตัวคอยรับใช้ผู้อื่นอยู่เสมอด้วยความเสงี่ยมเจียมตน
ในอีกนัยหนึ่ง นมรตา แปลว่า วินัย คือการวางตนให้จำกัดอยู่แต่ในระเบียบแบบแผนและข้อบังคับโดยมีหิริโอตตัปปะ
(ความกลัวและความละอายต่อการที่จะประพฤติชั่ว) และมุทุตา (ความอ่อนหวาน
หรือความเป็นผู้มีใจอ่อน ความละมุนละม่อมก็ได้) เป็นหลักอยู่ในความประพฤติและปฏิบัติ
2. นิษกปฏตา แปลตามศัพท์ว่า ความเป็นผู้ปราศจากความเฉื่อยชา
ปราศจากการล่อลวง ปราศจากการตลบแตลง ปราศจากความคดโกง กล่าวคือมีแต่ความซื่อสัตย์เยี่ยงทาสและผู้รับใช้ที่ดีมีหลักธรรมะ
และความเจียมตัวเจียมกายแล้วทั้งปวง
3. เศาจ(ะ)
4. อาสติกตา หน้าที่สำคัญประการหนึ่งของไวศยะ คือ เสียภาษีให้รัฐ
5. อสเตย(ะ) แปลว่า ไม่ลัก ไม่ขโมย ไม่กระทำโจรกรรมน
ั่นเอง
6. สตย(ะ) โปรดดูในลักษณะข้อ 11 ของพราหมณ์
7. อาทรภาว(ะ) แปลตามศัพท์ว่า ภาวะแห่งความเคารพนับถือที่แสดงต่อหรือมีต่อผู้อื่น
ในที่นี้หมายถึงว่าควรมีความเคารพนับถือและจงรักภักดีต่อชนในวรรณะที่สูงกว่าทั้ง
3 วรรณะ ได้แก่ วรรณะพราหมณ์ วรรณกษัตริย์ และวรรณะแพศย์
ดังนั้นจะเห็นได้ว่ามีวรรณะเป็นศูทรที่ดีควรจะมีลักษณะทั้ง
7 ประการ ดังกล่าวแล้วติดเป็นนิสัยหรือมีวาสนามาก่อนแล้วตามธรรมชาติ
มีการกระทำอันได้กำหนดไว้แล้วว่า ควรกระทำหน้าที่รับใช้หรือเป็นคนใช้ของชนในวรรณะหลาย
แต่ทั้งนี้มิได้หมายความว่าจะเป็นทาสที่ไม่มีอิสรภาพเสียเลย
ยังคงเป็นผู้มีอิสรภาพอยู่หากคอยเป็นผู้ช่วยของชนในวรรณะทั้งสามเท่านั้น
กล่าวคือผู้เป็นวรรณะศูทรควรมีความรู้ในทางปรนนิบัติวัตถากต่อวรรณะทั้งสามที่สูงกว่า
อย่างไรก็ตาม ในส่วนที่เกี่ยวกับการงานของชนในวรรณะทั้ง
4 ในยามวิบัติกาล (ฉุกเฉิน) แล้ว ชนทั้ง 4 วรรณะย่อมมีสิทธิที่จะกระทำสิ่งใดได้ทุกสิ่งทุกประการ
เพื่อความสะดวกในการครองชีวิตอยู่ในปัจจุบัน |