ลัทธิของฮินดู
จุดมุ่งหมายของการเคารพ พระเจ้าและสิ่งต่างๆ ทั้งมวลที่มีความเกี่ยวข้องกับพระเจ้าในทั้ง
6 นิกายของฮินดู รวมทั้งการจาริกไปยังสถานศักดิ์สิทธิ์ ก็เพื่อหลุดพ้น
ชาวฮินดูเรียกการหลุดพ้นว่า "โมกษะ"
หรือความเป็นเสรีไม่ต้องกลับมาเกิดอีก การเกิดอีกในรูปใดๆก็ตามนักปราชญ์ของฮินดูถือว่าเป็นสิ่งไม่พึงปรารถนา
ทุกๆคนจึงต้องพึ่งศาสนาเป็นทาง หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด
การทำให้วิญญาณมีความเสรีไปรวมกับปรมาตมันมีหลายวิถีในความรู้สึกนึกคิด
ด้วยเหตุนี้จึงมีแนวทางปฏิบัติแตกต่างกันไปตามแต่ความต้องการ
ไม่ให้มีการเกิดใหม่ของวิญญาณมีอยู่ทั่วไปในความรู้สึกของชาวฮินดู
ชาวฮินดูไม่เชื่อว่าชีวิตของมนุษย์โลกมีอยู่เพียงครั้งเดียว
เมื่อคนหนึ่งตายไป วิญญาณจะเดินทางออกไปจากร่างกาย
หลังจากนั้นวิญญาณจะกลับมาเกิดอีก ส่วนจะเกิดใหม่ในรูปใดนั้นย่อมแล้วแต่การกระทำของผู้นั้น
เช่น หญิงคบชู้จะเกิดใหม่เป็นสุนัขจิ้งจอก เมื่อผิดประเวณีจะเกิดเป็นกา
ส่วนคนที่เคร่งครัดทางศาสนาจะเกิดเป็นกษัตริย์ กฎแห่งกรรมมีเรื่องรายละเอียดของบาปทั้งหมด
ซึ่งมีผลกระทบถึงการเกิดใหม่ ซึ่งบางเรื่องมีความละเอียดมาก
ส่วนผู้ที่มีความรู้มากในเรื่องนี้เมื่อมองดูคนหนึ่งๆ ก็จะทราบได้ชัดว่าชาติก่อนนั้นบุคคลผู้นั้นเคยทำอะไรไว้
คนที่เคร่งศาสนาเท่านั้นจึงจะบรรลุโมกษะ แต่คนส่วนมากกลับมาเกิดอีก
เพื่อเก็บเกี่ยวผลแห่งการกระทำของตนในชีวิตนี้ อย่างไรก็ดีคนที่จะมาเกิดใหม่ไม่จำเป็นต้องมาเกิดในโลกนี้
เขาอาจมาเกิดใหม่ในทั้ง 14 โลก หรือไปเกิดเป็นพระเจ้าเป็นยักษ์หรือเป็นนาค
ชาวฮินดูมีทัศนคติในเรื่องการเกิดและการตายว่าเหมือนการเปลี่ยนเสื้อผ้าของวิญญาณ
หลักเกณฑ์เรื่องวิญญาณที่ชาวฮินดูเชื่อกันอยู่ในปัจจุบัน
ไม่มีอยู่ในคัมภีร์พระเวท เพราะแนวคิดเรื่องชีวิตหลังความตายในคัมภีร์พระเวทคือสถานที่สุขสำราญของผู้กระทำความดี
แต่วิญญาณของผู้มีความชั่วร้ายจะถูกทำลายไป เมื่อแนวความคิดใหม่ในเรื่องกฎเกณฑ์ของวิญญาณฮินดูได้รับความนิยม
บรรดานักปราชญ์จึงพบกับความยุ่งยากในการเอาแนวความคิดที่มีอยู่เดิมในคัมภีร์พระเวท
กับหลักการของวิญญาณในทฤษฎีใหม่ให้ลงรอยกันได้ จึงให้วิญญาณเดินทางออกไปจากร่างกายแล้ววิญญาณจะเดินทางไปพบกับพญายม
เทพเจ้าแห่งความตายหรือพญามัจจุราช วิญญาณจะถูกพิพากษา ภายหลังที่วิญญาณอยู่ในสวรรค์หรือนรกชั่วคราวตามคำพิพากษาแล้ว
จึงจะกลับมาเกิดใหม่
ตามความเชื่อในปัจจุบันของชาวฮินดู วิญญาณที่ออกจากร่างไปจะไปปรากฎที่ยมบุรี
ศาลของพยายม มีพญาจิตรคุปตะผู้ทำบัญชีของพญายมอ่านประวัติการกระทำความผิดของตน
พญายมจะอ่านคำพิพากษา ถ้าวิญญาณถูกลงโทษ คนรับใช้ของพญายมจะนำตัวไปลงโทษในนรกแห่งหนึ่งหรือหลายแห่ง
นรกของชาวฮินดูไม่ใช่สถานที่ที่มีแต่ความทุกข์ทรมานไม่มีที่สิ้นสุด
มันเหมือนเป็นสถานที่ชำระวิญญาณ เมื่อครบกำหนดการลงโทษแล้ว วิญญาณจะถูกนำไปสู่สวรรค์เพื่อความสุขสำราญเป็นรางวัลต่อการกระทำความดีในขณะมีชีวิตอยู่บนโลก
หรือไม่ก็อยู่ในสวรรค์โดยไม่มีกำหนด ถ้าหากว่าวิญญาณขณะมีชีวิตอยู่ในโลกได้บำเพ็ญความเพียรพยายามหาทางบรรลุโมกษะอย่างต่อเนื่อง
ในสังคมของอินเดียมีนักปราชญ์ผู้มีความรู้อยู่มากมาย
บางสำนักสอนปรัชญาแห่งการกระทำและหน้าที่อันสูงส่งว่าเป็นวิถีทางแห่งการหมดทุกข์ของมนุษย์
ซึ่งเรียกว่าปรัชญาคุณค่าแห่งชีวิตตามแนวทางของศาสนาฮินดู
คุณค่าแห่งชีวิต
ความจริงศาสนาฮินดูตระหนักถึงคุณค่า 4 ประการสำคัญของชีวิต
คือ ความมั่งคั่ง ความสุขสำราญ (ความต้องการ
ความรัก ความพึงพอใจ) คุณธรรมทางด้านจริยธรรม
(ธรรมะหน้าที่) และ เสรีภาพปราศจากความทุกข์ (โมกษะ)
เรื่องนี้จะเห็นได้ในกฎมนูธรรมศาสตร์ ความมั่งคั่งไม่ใช่ความต้องการเพื่อความมั่งคั่งเอง
แต่เพื่อความสุขสำราญของชีวิต ความสุขสำราญนั้นไม่ใช่เพื่อความสุขสำราญเอง
แต่คนเราต้องการเอาความมั่งคั่งจ่ายหนี้ 3 ประการกลับคืน เอาความมั่งคั่งสมบูรณ์ทำให้เพื่อนและชีวิตมีความสุขสำราญในการปฏิบัติตามคุณธรรม
และคุณธรรมทางจริยธรรม มีไว้เพื่อการหลุดพ้นความทุกข์ทั้งปวง
คุณธรรมทางจริยธรรมเป็นวิถีทางไปสู่ความหลุดพ้น
มีเสรีภาพปราศจากความทุกข์ทั้งมวล คุณธรรมจริยธรรมคือวิถีสูงส่งในการกำหนดอนาคตของมนุษย์รวมทั้งชีวิตในอนาคต
อย่างไรก็ดีปรัชญาเช่นนี้ได้แนะนำไม่ใช่บังคับว่า มนุษย์ควรเอาคุณธรรมทางจริยธรรมเพื่อความหลุดพ้น
(วิญญาณมีความเสรีปราศจากความทุกข์) ไม่ใช่เพื่อการเกิดใหม่ในอนาคต
กฎมนูธรรมศาสตร์จึงเป็นกฎคุณธรรมทางจริยธรรม 4 ประการแห่งความหลุดพ้นความทุกข์ของวิญญาณในปรัชญาสมัยใหม่ของศาสนาฮินดู |