พระพิฆเณศ
รูปพระพิฆเนศ
คลิกที่นี่เพื่อกลับไปหน้าแรกพระพิฆเนศ
โลกหลายใบของเด็กชายพราหมณ์
นิรมล มูนจินดา : เรื่อง / ประเวช ตันตราภิรมย์ : ภาพ
ขอขอบพระคุณ นิตยสารสารคดี (ฉบับที่ 215 เดือนมกราคม 2546)

เด็กชาย... ที่สนามฟุตบอล โรงเรียนเทพศิรินทร์
วันพุธที่ 10 กรกฎาคม 2544 / 7.30 น.


วันนี้ไม่เหมือนกับทุกวัน สำหรับนักเรียนโรงเรียนเทพศิรินทร์...

เพราะเป็นวันแรกที่ได้เข้าแถวเคารพธงชาติกันในสนามฟุตบอลที่มีหญ้าขึ้นเต็มแล้ว

และเป็นวันที่เคารพธงชาติเช้ากว่าปรกติ เนื่องจากมีการประกาศมอบรางวัลนักเรียนดีเด่นด้านต่าง ๆ เช่น ประกาศชมเชยนักเรียนที่เก็บกระเป๋าสตางค์ได้ในรถแท็กซี่ รางวัลนักเรียนเรียนดี รางวัลความประพฤติดี รางวัลชนะเลิศการแข่งขันหมากล้อม รางวัลนักกีฬาเทควันโด และรางวัลร้านค้าดีเด่นภายในโรงเรียนที่จัดโดยชมรมคุ้มครองผู้บริโภคของโรงเรียน

ด.ช.ภีษม (อ่าน พี-สะ-มะ) รังสิพราหมณกุล
อายุ 12 ปี นั่งขัดสมาธิบนพื้นหญ้าในแถวนักเรียนชั้น ม.1/2 เขาถูกเพื่อนข้าง ๆ แซวว่า "ภีษมดังแล้ว" "ภีษมเป็นดาราแล้ว" เมื่อสังเกตเห็นช่างภาพ สารคดี กำลังโฟกัสเลนส์มาทางเขา

ภีษม เป็นใคร ?
ที่โรงเรียน ภีษมเป็นนักเรียนชั้นมัธยม 1 ที่ต้องสวมเสื้อนักเรียนสีขาว และกางเกงขาสั้นสีน้ำตาล และเข้าเรียนตามตารางสอนของวันนี้ เขาต้องสอบทำสะพานโค้ง วิดพื้น และซิตอัป ให้ได้ไม่น้อยกว่า 15 ครั้งใน 20 วินาที ต้องเรียนวิชาศิลปะ ได้พักกินอาหารกลางวันก่อนนักเรียนชั้นอื่น ๆ ตอน 10.40 น. ต้องสอบวิชาภาษาไทย ถูกเรียกให้ออกมานำเสนอ โครงงานวิทยาศาสตร์หน้าชั้นเรียนในคาบสุดท้าย และเลิกเรียนตอน 14.00 น.

ส่วนวันอื่นๆ ภีษมเรียนวิชาภาษาอังกฤษ ภาษาไทย คณิตศาสตร์ คอมพิวเตอร์ ลูกเสือ สังคมศึกษา พุทธศาสนา งานบ้าน สุขศึกษา และกิจกรรม อย่างที่เด็ก ม.1 ทั่วไปในโรงเรียนนี้พึงจะเรียน แต่หลักสูตรการศึกษาของนักเรียนชั้นนี้พิเศษกว่าปีอื่น ๆ นิดหน่อย ตรงที่เป็นหลักสูตรนำร่องการศึกษาแบบบูรณาการ ตามพระราชบัญญัติการศึกษาใหม่ พุทธศักราช 2542

ภัคพล ผุดประภากุล และ อานนท์ มณีโชติ เป็นเพื่อนสนิทของ ภีษม เด็กทั้งสามอยู่กลุ่มเดียวกันในวิชาวิทยาศาสตร์ นั่งเรียนใกล้ ๆ กัน กินข้าวกลางวันด้วยกัน เล่นปิงปองและฟุตบอลด้วยกัน

ภัคพลเป็นเด็กชายเจ้าเนื้อ เล่นปิงปองเก่ง ภีษมคิดว่า ภัคพล "เป็นคนอารมณ์ดี ชอบทำให้หัวเราะ และเตือนให้ทำการบ้าน" ส่วนอานนท์ เด็กชายสวมแว่นตารูปกลมกรอบสีดำ ผู้ไม่ค่อยถนัดเรื่องกีฬานั้น "เรียนเก่งที่สุดในกลุ่ม ชอบติวให้เพื่อน ชอบชวนไปห้องสมุด"

ช่วงพักกลางวันหลังรับประทานอาหารแล้ว จึงไม่แปลกที่จะเห็นภีษมเล่นฟุตบอลกับภัคพล และเพื่อนคนอื่นในห้อง ในขณะที่อานนท์นั่งดูเพื่อนอยู่ที่ขอบสนามใกล้ ๆ และถ้าได้ลองนั่งอยู่ในหมู่พวกเขา ก็จะได้ยินเสียงพูดคุย เสียงหัวเราะ เสียงแซวดักคอกันไปมาน่าสนุกสนาน

นั่นเป็นธรรมชาติของกลุ่มเด็กก่อนวัยรุ่นทั่วไป

คนอื่นอาจมองว่าภีษมดูแปลกไปจากคนอื่น ๆ ตรงที่เขาไว้ผมยาวแต่รวบเป็นมวยเรียบร้อยมัดไว้ที่ด้านหลัง บางทีเขาถูกล้อว่า "เหมือนเด็กผู้หญิง" แต่เขาไม่โกรธ "เพราะมันเป็นเรื่องของเขา เขาจะว่าจะแกล้งก็อยู่ที่ตัวเขาเอง"

หากถ้าคุณถามอานนท์ว่าภีษมแปลกไปกว่าคนอื่นหรือเปล่า
เขาจะตอบว่า "ไม่แปลกครับ ไม่เห็นเป็นไรเลย เขาก็เหมือนเด็กทั่วไป"
ส่วนภัคพลตอบว่า "มีอย่างหนึ่งที่ผมชอบคือ เขาเป็นเพื่อนที่ดี"

ในชั่วโมงศิลปะ เมื่ออาจารย์ศิริชัยสอนเรื่ององค์ประกอบศิลปะ แล้วปล่อยให้นักเรียนในห้องสเก็ตช์ภาพเกี่ยวกับวัฒนธรรมไทย ขณะที่เพื่อนในชั้นคนอื่นๆ วาดภาพประเพณีลอยกระทง แข่งเรือยาว หรืออะไรอื่นกันอยู่นั้น ภีษมก็กำลังร่างภาพด้วยดินสอ เป็นรูปเสาชิงช้าหน้าโบสถ์พราหมณ์

ในพิธี...ที่เทวสถาน โบสถ์พราหมณ์ พระนคร
พระราชพิธีตรียัมปวาย-ตรีปวาย มกราคม 2544

วันนี้เป็นวันแรกของ พระราชพิธีตรียัมปวาย-ตรีปวาย หรือพิธีต้อนรับ พระอิศวร และ พระนารายณ์ ซึ่งเสด็จลงมาเยี่ยมโลกมนุษย์ปีละครั้ง พิธีตรียัมปวาย เป็นพิธีรับเสด็จพระอิศวร กระทำในวันขึ้น 7 ค่ำ ถึง 15 ค่ำ เดือนยี่ ส่วน พิธีตรีปวาย หรือพิธีรับพระนารายณ์ กระทำในวันแรม 1 ค่ำ ถึง แรม 5 ค่ำ พิธีทั้งสองทำติดต่อกันไป เริ่มต้นด้วยการสวดเปิดประตูศิวาลัยไกรลาส อัญเชิญเทพเจ้าลงสู่โลกมนุษย์เพื่อทรงประทานพร โล้ชิงช้าเพื่อหยั่งความมั่นคงแข็งแรงของพื้นโลก (ปัจจุบันไม่มีแล้ว คงไว้แต่พิธีไหว้เสาชิงช้า) สวดสรรเสริญเทพเจ้า ถวายข้าวตอกดอกไม้ ถวายข้าวเวทย์ เครื่องกระยาบวชหรืออาหารที่ไม่เจือด้วยของสดคาว สรงน้ำเทพเจ้า แล้วอัญเชิญเทพเจ้าขึ้นสู่หงส์อันเป็นพาหนะกลับคืนสู่วิมานเรียกว่า กล่อมหงส์หรือช้าหงส์

ภัคพลและอานนท์รู้ว่าเพื่อนของเขา "เป็นพราหมณ์" แต่ทั้งคู่ไม่เคยมาเที่ยวโบสถ์พราหมณ์

เมื่อถามว่า ตามความคิดของเด็กชายทั้งสอง พราหมณ์ต้องทำอะไรบ้าง

ภัคพลตอบว่า "พราหมณ์เข้าโบสถ์และทำพิธี"

ส่วนอานนท์ บอกว่า "พราหมณ์สวดมนต์ไหว้พระ อ่านหนังสือสอบ และไม่ปล่อยผมเวลาอยู่ข้างนอก"

ถ้าหากเด็กทั้งคู่ตื่นแต่มืดมาร่วมพิธีในเช้าวันนี้ เขาจะได้เห็นภีษมสวมเสื้อราชปะแตน นุ่งโจงกระเบน และสวมถุงเท้าสีขาว นั่งนิ่งด้วยท่าทีนิ่งสงบ เข้าร่วมพิธีกับพราหมณ์อาวุโสท่านอื่น ๆ อย่างไม่ขัดเขิน
พระราชพิธีตรียัมปวายวันแรกนี้ เขามีหน้าที่เป่าสังข์พร้อมกับพราหมณ์ผู้ใหญ่ ในหมู่พราหมณ์ด้วยกัน เขาอายุน้อยที่สุดและเป็นที่สนใจมากที่สุด ศาสนิกที่มาเข้าร่วมพิธีกระซิบกระซาบถึงเขา และสื่อมวลชนรายงานเรื่องของเขาทางหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์

...ภีษมเกิดในตระกูลหัวหน้าพราหมณ์...
บรรพบุรุษของตระกูลรังสิพราหมณกุลมาจากตอนใต้ของอินเดีย เดินทางโดยเรือเข้ามาตั้งรกรากทางภาคใต้ของประเทศไทยที่จังหวัดพัทลุง ก่อนย้ายมายังนครศรีธรรมราช ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 พระครูอัษฎาจารย์ (แจ้ง) ได้ขึ้นมารับราชการเป็นพราหมณ์วังหน้าที่กรุงเทพมหานคร ต่อมาในรัชกาลที่ 5 พราหมณ์วังหน้าย้ายมารวมกับพราหมณ์วังหลวง บุตรหลานของท่านก็ย้ายมาเป็นพราหมณ์วังหลวงด้วย กระทั่ง ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชครูวามเทพมุนีภมเวทีศรีไสยศาสตร์อนุษฎุษภวาทโกศล (หว่าง หรือ สว่าง รังสิพราหมณกุล) ได้ดำรงตำแหน่งประธานพราหมณ์พิธีในราชสำนักและเป็นองคมนตรี

ในรัชกาลต่อมา บุตรชายของท่านคือ พระมหาราชครูพิธีศรีวิสุทธิคุณวิบูลเวทย์บรมหงส์พรหมพงศ์พฤฒาจารย์ (สวาสดิ์ รังสิพราหมณกุล) เป็นประธานพราหมณ์ราชสำนัก และเป็นผู้ประกอบพิธี ในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบัน โดย พระราชครูวามเทพมุนี (สมจิตต์ รังสิพราหมณกุล) ผู้เป็นบุตรดำรงตำแหน่งประธานคณะพราหมณ์ อันเป็นตำแหน่งประมุขของพราหมณ์ไทยในรุ่นถัดมา

ปัจจุบันประธานคณะพราหมณ์ทำหน้าที่ดูแลองค์การศาสนาพราหมณ์-ฮินดู อันได้แก่ เทวสถาน โบสถ์พราหมณ์ , สมาคมฮินดูสมาช (วัดเทพมณเฑียร), และ ฮินดูธรรมสภา (วัดวิษณุ ยานนาวา) คือ พระมหาราชครูอัษฎาจารย์ (ละเอียด รัตนพราหมณ์) โดยมี พระราชครูวามเทพมุนี (ชวิน รังสิพราหมณกุล) ผู้เป็นลุงของภีษม เป็น หัวหน้าคณะพราหมณ์

ภีษม บวชเป็นพราหมณ์เมื่อ 3 ปีก่อน ในพระราชพิธีตรียัมปวาย-ตรีปวาย ขณะเรียนอยู่ชั้นประถม 5 เขาถูกวางตัวให้ทำหน้าที่สืบต่อจากพระราชครูวามเทพมุนี

"เขารู้ว่า ต่อไปเขาต้องเป็นหัวหน้ารับผิดชอบ ต้องเรียนรู้ทั้งหมด ต้องประกอบพระราชพิธี งานของเขาคอยอยู่ที่นี่ เพราะคุณปู่ คุณปู่ทวดเขาก็ทำที่นี่มาตลอด และคุณลุงก็ทำต่อมา" พราหมณ์ศรีล (อ่าน สะ-รีน) บิดาของพราหมณ์ภีษมกล่าว

ในหมู่พราหมณ์ ผู้เป็นพ่อมักปล่อยให้การตัดสินใจที่จะบวช เพื่อสืบต่อสายสกุลพราหมณ์เป็นของลูกอย่างอิสระ ซึ่งในทางปฏิบัติ ไม่ใช่ลูกพราหมณ์ทุกคน หรือทุกสกุลจะเลือกบวช หลายสกุลอย่าง บุรณศิริ คุรุกุล ศิริพราหมณกุล วสุพราหมณ์ สตะเวทิน สวัสดิเวทิน เสตะพราหมณ์ และจารุเสน ไม่มีบุตรชายบวชสืบต่อและขาดจากความเป็นพราหมณ์ไป หรือถึงแม้จะตกลงใจบวช ก็หลังจากที่พราหมณ์ผู้เป็นพ่อถึงแก่กรรมแล้ว จนมีคำกล่าวว่า "ถ้าพ่อไม่ตาย ลูกก็ไม่รับ" การตัดสินใจของภีษมที่บวชแต่ยังเล็ก จึงนับว่าเป็นเรื่องพิเศษ

"เขาเข้าใจว่า เขามีหน้าที่ตั้งแต่เกิด เขาถึงมีอัธยาศัยอย่างนี้" พระราชครูวามเทพมุนีผู้เป็นลุงกล่าว

แม้การตัดสินใจบวชนั้นเป็นของเฉพาะตน แต่พราหมณ์ที่มีบุตรชาย ก็มักเปิดโอกาสให้บุตรได้รู้จัก และเรียนรู้ชีวิตของพราหมณ์ ด้วยการพาบุตรมาเข้าร่วมพิธีกรรมตั้งแต่เล็ก เพื่อสังเกตดูว่าบุตรมีความสนใจหรือมี "วิญญาณ" แห่งความเป็นพราหมณ์หรือไม่ ซึ่งในศาสนาพราหมณ์ถือว่า "วิญญาณ" เป็นตัวกำหนดว่าบุคคลจะปฏิบัติตนไปในทิศทางใด

"ปัจจุบันเราถือว่า วิญญาณเป็นของเขา ก็ให้เขาเลือก บางคนเรียนสายหนึ่งมา พอสำเร็จแล้วก็ไม่ได้ทำตามสิ่งที่เรียน คนเรียนหมอจบแล้ว ไปทำงานขายสินค้าก็มี บางคนจบทหารออกมาไม่ได้เป็นทหาร แต่มาเป็นครูสอนวิชาโหราศาสตร์ นั่นคือวิญญาณเขาเป็นอย่างนั้น

"ตอนเล็ก ๆ ไม่กี่ขวบ ก็ให้เขาเข้าร่วมพิธีในโบสถ์ เราเพียงแต่นำเขามานั่งอยู่ตรงนี้ ถ้าเขาสนใจเขาก็จะนั่งอยู่ ถ้าเขาไม่สนใจก็ออกไป แต่เขาสนใจและมีความอดทน คืออยู่ได้ตลอดพิธี 2-4 ชั่วโมง ติดต่อกัน 3-4 วัน เขาอยู่ได้ทุกครั้ง คณะพราหมณ์ก็เปิดโอกาสให้เขาเข้ามาอยู่ในพิธี ไม่ได้กีดกันว่าเป็นเด็กและไม่ห้ามในบางสิ่งที่เขายังเป็นเด็กอยู่ เขาจะง่วงบ้าง หลับบ้าง เอนบ้าง ก็ปล่อยเขา แต่เขายังชอบมาพิธี"


มีลูกพราหมณ์หลายคนเข้ามาร่วมพิธี แต่ทนอยู่ได้เพียงชั่วระยะเวลาสั้น ๆ ก็ต้องออกไปเล่นข้างนอก ในจำนวนนั้นบางคนไม่สนใจพิธีอีกเลย แต่ก็มีอีกหลายคนที่กลับมาร่วมพิธีอีก กระทั่งตัดสินใจบวชเอาตอนโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว

ตัวของภีษมเองก็ดูมีความใฝ่ใจในเรื่องนี้เป็นอย่างดี

"เมื่อก่อนตอนเด็ก ผมอยากเข้านอนกับพ่อ แต่พ่อต้องเข้าโบสถ์ ผมทะเลาะกับพ่อ บอกพ่อว่า ถ้าพ่อไปที่งาน จะไม่ยุ่งกับพ่ออีกเลย พ่อบอกว่าไม่ได้ พ่อต้องไป ผมก็ยืนยัน แล้วร้องไห้ นอนไม่หลับ

"ครั้งหนึ่งพ่อพาเข้าไปไหว้พระในโบสถ์ หลังจากนั้นผมก็อยากมาอีก ชอบ ในโบสถ์มีพระ (รูปเทพเจ้าองค์ต่าง ๆ) พอดีมีพิธีเป็นเหมือนสวดมนต์ ผมเลยคิดว่า โห มีคาถาเหมือนในหนังที่เสกคาถาแล้วมีอะไรออกมา ผมก็เลยชอบ ตอนแรกไม่ได้รู้สึกว่านั่นเป็นศาสนา คิดว่ามีคาถาสวดแล้วจุดไฟ ไฟติดพรึ่บ ตอนดับไฟก็ใช้มือดับ เหมือนสวดแล้วมีพลังในการทำอย่างนั้นได้ เหมือนขอพลังจากพระมาไว้กับตัว คิดจนโอเวอร์

"แล้วมารู้ความจริงว่า ในการที่ดับไฟได้เป็นเพราะไฟไม่ได้รับออกซิเจน มันเลยดับ ส่วนที่ไฟติดนั้น ไฟถูกจุดไว้ก่อนแล้วพอหยอดน้ำมันลงไป ไฟก็ลุกขึ้นมา การสวดมนต์ก็ไม่ใช่คาถา แต่เป็นการสวดมนต์สรรเสริญพระเป็นเจ้า"

ในสายตาของเราอาจคิดว่า การนั่งนิ่งในพิธีของผู้ใหญ่เป็นเวลานาน อาจไม่ใช่ธรรมชาติของเด็ก ๆ ในยุคนี้ ใครที่สงสัยว่าเขาเบื่อหน่ายกับการนั่งนาน ๆ บ้างไหม เด็กชายวัย ๑๒ คนนี้ จะตอบข้อสงสัยด้วยน้ำเสียงราบเรียบอย่างสุภาพว่า

"เบื่อบ้าง นั่งในพิธีนาน ๆ มันก็เป็น ก็ต้องปรับเปลี่ยนตัว ต้องอดทนมากขึ้น คนเรานั่งนาน ๆ หรืออ่านหนังสือนาน ๆ ก็ต้องเบื่อ ถึงจะอ่านหนังสือการ์ตูนก็ต้องเบื่อ ผมเรียนหนังสือนาน ๆ ผมก็เบื่อ ฟังครูสอนก็เบื่อ บางครั้งก็เบื่อเล่น กินข้าวก็เบื่อกินข้าว บางทีอาบน้ำก็เบื่ออาบน้ำ ทุกอย่างมันก็ต้องมีเบื่อกันบ้าง แต่มันก็ต้องเก็บไว้บ้าง ไม่ใช่บอกว่าเบื่อแล้วทิ้งไปเลย"

จึงตั้งแต่เล็ก พราหมณ์ภีษมคุ้นเคยกับสำเนียงสวดที่คนธรรมดาฟังไม่เข้าใจ เสียงแตรสังข์และบัณเฑาะว์ กลิ่นธูปเทียน และบรรยากาศศักดิ์สิทธิ์ของพระราชพิธี การตัดสินใจของเขาจึงไม่ใช่เรื่องลำบากเกินไป

"ผมชอบตั้งแต่เด็ก ไม่ได้คิดอะไรมาก อยากเป็นเหมือนพ่อ ดีใจตอนได้ขึ้นสวดพระเวทกับพ่อในพิธี"

พราหมณ์ภีษมได้ฝึกฝนการอ่านและสวดภาษาคฤนถ์ (ภาษาทมิฬที่ใช้สวดสดุดีในพิธีกรรม) กับบิดามาตั้งแต่เล็ก เขาสวดสรรเสริญพระเป็นเจ้าได้อย่างแคล่วคล่องในพิธีและพระราชพิธีต่าง ๆ กระทั่งมีโอกาสพิเศษที่ พระมหาราชครูอัษฎาจารย์ ประธานคณะพราหมณ์ผู้ประกอบพิธีบูชา อนุญาตให้พราหมณ์น้อยได้ขึ้นสวดออกเสียงในพิธีเช่นเดียวกับพราหมณ์ผู้ใหญ่ที่ครองพรตมานาน

"ตัวสั่นเลย มือที่จับสมุดพระเวทก็สั่น ขาก็สั่น ตัวมันสั่นเหมือนกับจะล้ม แต่พอสวดเสร็จปุ๊บก็หายเลย พ่อบอกว่า เป็นพลังจากพระเป็นเจ้า"

เมื่ออยู่ในพิธีกรรม ต่อหน้ารูปพระเป็นเจ้าทั้งหลาย ต่อหน้าพราหมณ์ผู้ใหญ่ และศาสนิกชน พราหมณ์ภีษมนิ่งสงบและตั้งอกตั้งใจกับสิ่งที่ตนทำอยู่เบื้องหน้าในขณะนั้น เมื่อพราหมณ์ผู้ใหญ่อ่านบทสวดสรรเสริญพระเจ้า เขาจะหยิบเอาสมุดสำหรับสวดเล่มน้อยขึ้นซ้อมอ่านตามไปด้วย บางคราเขาก็ชำเลืองดูบิดาผู้ร่วมอยู่ในพิธีเป็นแบบอย่าง ผู้ที่สังเกตเห็นย่อมอดพิศวงในความเคร่งขรึมจริงจังของเขาไม่ได้

ก็พราหมณ์น้อยผู้นี้ ดูผิดไปจาก ด.ช.ภีษม หรือ ด.ช.ลูกแก้ว ผู้มีชีวิตชีวาของเพื่อน ๆ และญาติมิตร ดูเป็นคนละคนกับเด็กชายที่อาจารย์เรืองวุฒิ ทัศนะสกุล คุณครูประจำชั้น ม.1/2 บอกว่าเป็นเด็ก "คุยเก่ง มีรายชื่อตลอดเวลาที่หัวหน้าห้องจดชื่อ" และเป็นคนเดียวกับที่ภัคพลและอานนท์ลงความเห็นว่า "มีเรื่องเล่าให้เพื่อน ๆ ฟังมากที่สุด"

ในวันแรกของพระราชพิธีตรียัมปวาย-ตรีปวายอย่างวันนี้ พราหมณ์ภีษมต้องคล้องสายยัชโยปวีตสีขาวอันเป็นเครื่องหมายแห่งความเป็นพราหมณ์ และผูกแขน "ถือพรต" รับประทานอาหารมังสวิรัติตลอดพิธีเป็นเวลานาน 15 วัน

ความที่พราหมณ์ภีษมต้องเข้าร่วมศาสนพิธีอยู่เสมอ พราหมณ์ศรีลจึงทำจดหมายขออนุญาตทางโรงเรียนให้ลูกชายลาหยุดและเข้าร่วมพิธีกรรม กระนั้นเขาก็อดเป็นห่วงว่าจะกระทบกับการเรียนของลูกชายไม่ได้

"เพราะฉะนั้นจะให้เขาอยู่ในพิธีการบ่อยไม่ได้ พิธีไหนที่เห็นว่าสำคัญหรือจะไม่มีอีก หรือเป็นพิธีที่ไม่ได้ทำทุกปี เช่น พิธีแห่น้ำศักดิ์สิทธิ์ในพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา 72 พรรษา ก็ต้องให้เข้าอยู่ดูพิธีตลอด แต่ถ้าเป็นพิธีปรกติที่มีอยู่ทุกปีอยู่แล้ว ก็ไม่ให้หยุดเรียน"

นอกเหนือจากการปฏิบัติตนระหว่างพระราชพิธีแล้ว พราหมณ์ภีษมยังต้องฝึกฝนการมุ่นมวยผมเอง การหัดนุ่งผ้าโจงกระเบน และการฝึกปฏิบัติวัตรต่าง ๆ เช่น การนั่งกราบพระแบบ "กระโหย่งไหว้" การห้ามรับประทานเนื้อสัตว์ต้องห้าม เช่น เนื้อวัว เนื้อปลาไหล หอยสังข์ เนื้อหงส์ เนื้อหนู รวมทั้งสุราและของมึนเมาด้วย

พ่อกับลูก...ที่หอเวทวิทยาคม โบสถ์พราหมณ์

แม้ว่า "พราหมณ์เด็ก" จะเป็นเรื่องธรรมดาสามัญของพราหมณ์ในประเทศอินเดีย แต่ในเมืองไทยแล้ว ลูกแก้วเริ่มต้นเร็วมาก เมื่อเทียบกับพราหมณ์รุ่นพ่อรุ่นลุง ที่ถือบวชหลังจากเรียนจบมหาวิทยาลัยไปแล้ว

แต่ไม่ว่าจะเป็นคนรุ่นไหน วิธีการอบรมบ่มเพาะในหมู่พราหมณ์ตั้งแต่วัยเยาว์ ก็เป็นแบบแผนเดียวกันมาตลอด ลูกแก้วเองก็เริ่มต้นด้วยการติดสอยห้อยตามบิดา มายังโบสถ์พราหมณ์ตั้งแต่ยังเล็ก ดุจเดียวกับที่คุณพ่อและคุณลุงของเขาปฏิบัติมา

พราหมณ์ศรีลเองก็ยังบอกว่า ตอนที่เขาติดตามคุณพ่อมาเข้าร่วมพิธีนั้น "ก็หลับเสมอ เสร็จพิธีก็อุ้มกลับ บางทีก็นอนที่โบสถ์"

ถึงรุ่นของลูกแก้ว คุณพ่อก็ปฏิบัติอย่างเดียวกับคุณปู่ "ให้ได้เห็นพิธีกรรมว่า อันนี้หมายถึงอะไร ถ้าเราป้อนทีเดียวทั้งหมด เด็กคงจะรับไม่ได้ เพราะว่าศาสนพิธีเป็นเรื่องละเอียดอ่อน เป็นเรื่องที่ต้องมีศรัทธาเป็นพื้นฐาน แล้วถึงจะเริ่มเข้าใจ และจะให้เขาเข้าใจว่ามีด้านเดียวก็ไม่ได้ จึงบอกว่า มองได้หลายอย่าง หลายมุม เห็นบางอย่างมีเงา บางอย่างมีแสงสว่าง

"แต่ถ้าเราวาดไว้ให้ว่าเป็นอย่างนี้ เสร็จแล้วเขามองอีกด้านหนึ่งและเกิดขัดแย้งว่า เอ๊ะ ทำไมไม่เหมือนกัน การสอนจึงไม่บอกว่ามีด้านเดียว ความหมายของพิธีแต่ละหน แต่ละครั้งว่าเป็นไปเพื่ออะไรก็ไม่เหมือนกัน"

พราหมณ์ศรีล อายุ 46 ปี บวชเป็นพราหมณ์เมื่อ พ.ศ. 2522 หลังสำเร็จการศึกษาจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นการบวชเพื่อสืบทอดสายสกุลพราหมณ์ต่อจากบิดาพร้อมกับพี่ชาย คือพระราชครูวามเทพมุนี

"สมัยที่เป็นเด็กนั้น การทำอะไรที่เป็นของเก่า ๆ จะถูกล้อเลียน และยังไม่มีการยอมรับมากเหมือนสมัยนี้ ในเรื่องหลักการศาสนาพุทธก็นำ ศาสนาอื่น ๆ ไม่ได้ถูกยกย่องหรือถูกกล่าวขานมาก ส่วนทางครอบครัวก็ไม่อยากให้เกิดภาพที่เข้ากับเพื่อนไม่ได้ จึงตัดผมเกรียนและสวมเครื่องแบบไปโรงเรียน"

ในช่วงเวลานั้น บุตรพราหมณ์อาจได้รับการยอมรับในสังคมวงกว้างน้อยกว่า มีช่องทางในการเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ รอบตัวน้อยกว่า และมีผู้สนับสนุนน้อยกว่าปัจจุบัน

แต่ไม่ว่าจะเป็นยุคสมัยใด ลูกหลานของพราหมณ์ซึมซับความรู้ความเข้าใจทางศาสนาได้ จากการปฏิบัติอันเป็นประสบการณ์ทางตรง

"สมัยก่อนการปฏิบัติของพราหมณ์ไม่จำเป็นต้องมีวุฒิการศึกษาในระบบ เรียนทางสายพราหมณ์มาแบบเดิมที่ถ่ายทอดกันมา"

ในทางทฤษฎี เช่น การศึกษาพระเวท การอ่านเขียนอักขระ โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน สวดสดุดีสังเวย การสวดโศลกต่าง ๆ นั้น พราหมณ์ศรีลและพระราชครูวามเทพมุนี ได้ศึกษากับ พราหมณ์อุระคินทร์ วิริยะบูรณะ ในบรรยากาศที่เด็กรุ่นนี้ไม่มีโอกาสได้รู้จัก

"ตอนอยู่มัธยมปลาย วันเสาร์อาทิตย์ ท่านก็มาเรียกแต่เช้าให้ไปเรียนที่หน้าโบสถ์พระนารายณ์๑ ถ้ามีพราหมณ์อื่นมาฟังด้วย ท่านก็ไม่ห้าม ใครจะนั่งฟัง ใครจะเก็บประโยชน์ได้อย่างไรก็แล้วแต่ แทนที่เราจะเอาเวลาไปเล่นอย่างอื่น วิธีที่เรียนก็ไม่เหมือนกับโรงเรียนสอน เป็นการคุย เล่าเรื่องประสบการณ์ของอาจารย์สมัยก่อน ตัวอาจารย์เองก็เขียนตำรามาก ถ้าอยากรู้อะไรก็ถามได้

"สมัยก่อนท่องอย่างเดียว ไม่มีการจดการเขียนอย่างสมัยนี้ มีแต่กระดานชนวน ไม่มีกระดาษ เขียนเสร็จลบปั๊บ ต้องจำได้ เพราะฉะนั้นการเรียนสมัยก่อน 'อยากได้ผล ต้องเอาไฟลนต้น' คืออยากได้ความรู้ต้องหมั่นไปหาอาจารย์ หมั่นปรนนิบัติท่าน แสดงความมีมานะอดทน ผู้ใหญ่จะบอกทีละอย่าง บอกแล้วท่านจะถามว่าได้หรือยัง ถ้าได้แล้ว ถึงจะต่อ ถ้าไม่ได้ก็อยู่ตรงนั้น ต้องท่องเป็นชั่วโมง

"ท่านอธิบายวิธีลึก ๆ ซึ่งคนธรรมดาไม่จำเป็นต้องรู้ ผู้ที่เรียนต้องมีความจงรักภักดีต่อราชวงศ์ คนอื่นไม่มีสิทธิรู้ในเรื่องพวกนี้ ท่านก็ไม่สอน"

เมื่อเทียบกับเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกัน การเรียนรู้ทางพราหมณ์ ไม่เป็นภาระหนักสำหรับวัยรุ่นคนหนึ่ง พราหมณ์ศรีล บอกว่า

"เป็นธรรมชาติมากกว่า"

วัยรุ่นของพราหมณ์ศรีลจึงมิได้ผ่านไปอย่างเข้มงวด เขาได้ใช้ชีวิตกับเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกัน ได้เล่นฟุตบอลและดูแข่งฟุตบอล ได้ไปเที่ยว ได้ดูหนัง โดยมีข้อแม้ว่า ต้องบอกกล่าวผู้ใหญ่ และไม่ประพฤติสิ่งเสียหายให้ถูกติเตียนไปถึงสกุล

"เราจะดูหนังเรื่องอะไร เหมาะสมไหม สิ่งที่ไม่ควรไปดู ก็ไม่ดู ที่ที่ไม่ควรไปก็ไม่ไป เขารู้ว่าเราเป็นลูกของพราหมณ์ พราหมณ์ของใคร ของพระเจ้าแผ่นดิน เพราะฉะนั้นไม่ใช่แค่เรื่องเฉพาะตน แต่ยังต่อไปถึงสังคมที่เราอยู่ ถึงส่วนรวมที่เราผูกพันอยู่ด้วย"

หลังสำเร็จการศึกษา พราหมณ์ศรีลประกอบอาชีพทนายความประมาณ ๒ ปี จึงตัดสินใจรับราชการ ทำหน้าที่เป็นพราหมณ์สำนักพระราชวัง และประกอบพิธีกรรมให้แก่ประชาชนท่วไป

"เป็นทนายความก็ไว้ผมมวยออกว่าความ ทั้งคดีแพ่งและคดีอาญา ไปยึดทรัพย์ก็ไป จับตามหมายจับก็ทำ เมื่อบรรจุเป็นพราหมณ์ราชสำนักแล้วก็เลิก เพราะไม่มีเวลาให้ ถ้านัดศาลแล้วไม่ไปไม่ได้ พิธีการหรือรัฐพิธีที่สำคัญก็ต้องทำ สำคัญทั้งคู่ จึงเลือกมาทำให้พระองค์ท่าน เนื่องจากพราหมณ์ในเมืองไทยก็มีไม่มาก ส่วนทนายความมีมากแล้ว"
เป็นพราหมณ์เด็ก...ระหว่างโบสถ์ บ้าน และโลกของเด็กวัยรุ่น

จากเอกสาร หลักธรรมของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู จัดพิมพ์โดยเทวสถาน โบสถ์พราหมณ์ กล่าวว่า...

คำว่า 'พราหมณ์' หมายถึง ผู้ที่มีความรู้เกี่ยวกับพระพรหม พระเวท และอาตมัน ในคัมภีร์ธรรมศาสตร์ บอกไว้ว่า ผู้ใดผู้หนึ่งมีลักษณะ 11 ประการ ดังต่อไปนี้ ผู้นั้นย่อมเป็นพราหมณ์ หรือกล่าวอีกทีก็คือ ผู้เป็นพราหมณ์ย่อมมีลักษณะ 11 ประการ ตามธรรมชาติ คือ ศม ทม ตป เศาจ สนฺโตษ กฺษมา สรลา ชฺญาณ ทยา อาสฺติกตา และสตฺย

ศม หมายถึง ความสุภาพ ภายในจิตใจไม่มีความยุ่งยากหรือปั่นป่วนด้วยกาม โกรธ โลภ หลง
ทม หมายถึง สภาพจิตใจที่ได้รับการระงับไว้แล้ว รู้จักข่มจิตใจของตนด้วยความสำนึกในเมตตา และมีสติอยู่เสมอ รู้จักอดกลั้น ไม่ปล่อยจิตใจให้หวั่นไหวไปตามอารมณ์ได้ง่าย ๆ
ตป แปลว่า ความร้อน หรือการร้อน หมายถึง การฝักใฝ่ในการหาความรู้ ความจริง และพยายามทำให้สำเร็จ ไม่ว่าจะผจญกับความยากลำบากเพียงใด
เศาจ แปลว่า ความบริสุทธิ์ หมายถึง การทำตนเองให้บริสุทธิ์ทั้งใจและกาย
สนฺโตษ หมายถึง พอใจ หรือมีความสุขในทางสันติ
กฺษมา หมายถึง ความอดกลั้น อดโทษ พยายามอดทนโดยถือความเมตตากรุณาเป็นที่ตั้ง
สรลตา แปลว่า ความซื่อตรง ทั้งการพูดและการกระทำ
ชฺญาณ หมายถึง ความชอบทางการศึกษาหาความรู้
ทยา หมายถึง ความมีเมตตากรุณาต่อชีวะทั้งหลาย
อาสฺติกตา คือ การมีความเชื่อถือ ไว้วางใจ เชื่อฟัง และมอบความจงรักภักดีไว้ต่อพระพรหม
สตฺย แปลว่า จริง หรือความจริง หมายถึง ความเห็นอันสุจริต บริสุทธิ์ใจ ซื่อสัตย์ต่อกัน

ชื่อ ภีษม (พี-สะ-มะ) เป็นภาษาสันสกฤต แปลว่า ผู้มีสัจจะ ผู้ไม่กลัวที่จะทำความดี ไม่กลัวต่ออบายทั้งหลาย เด็กชายผู้เป็นเจ้าของชื่อ ต้องฝึกฝนที่จะดำเนินชีวิตให้เป็นไปตามลักษณะ 11 ประการ ซึ่งเป็นลักษณะของพราหมณ์ในอุดมคติ ซึ่งอาจไม่ใช่ของง่ายในยุคที่ลัทธิบริโภคนิยม ส่งเสริมให้ผู้คนทำอะไรได้ตามใจเช่นในยุคนี้

อย่างไรก็ตาม ภีษมยังเป็นเด็ก ยังมีโลกซีกอื่นของเขาอีกนอกเหนือจากการเล่าเรียน และการฝึกฝนปฏิบัติ เขาดูหนังและฟังเพลงได้อย่างที่
"เป็นเครื่องเรียนรู้ว่า สำเนียงต่าง ๆ เป็นอย่างไร แต่จะร้องหรือแสดงอย่างเขาไม่ได้ การฝึกตามทำนอง จะมีส่วนช่วยในการสวดมนต์บูชาพระ" โดยไม่ติดแต่เรื่องความสนุกอย่างเดียว เขายังเล่น เกมคอมพิวเตอร์ และ เพลย์สเตชั่น ได้ระหว่างปิดเทอมด้วย

ส่วนเสื้อผ้าที่พ้นไปจากชุดผ้าสีขาวที่แสดงถึงความบริสุทธิ์ สำหรับสวมใส่ในพระราชพิธีพราหมณ์ ก็สามารถแต่งกายปรกติโดยใช้สีสุภาพได้ ลูกแก้วเล่าให้ฟังว่า สมัยที่ "ยังเป็นเด็กกว่านี้" คุณพ่อเลือกเสื้อโปโลให้สวมกับกางเกงขายาว คาดเข็มขัดอย่างเรียบร้อย แต่ตอนนี้เขา "แต่งสไตล์ของตัวเอง"
สไตล์ของตัวเองหมายถึง เสื้อเชิ้ต หรือ เสื้อยืดสีสดประเภท "No Fear - No Rules" สวมกับกางเกงสามส่วนสีกากี ปลายขามียางยึดให้รูด สำหรับสวมมาเรียนวิชาภาษาสันสกฤตในวันเสาร์

พราหมณ์ศรีลคิดว่า "น่าจะแต่งให้เรียบร้อยไปเลย แต่ทางคุณแม่เขาก็บอกว่า ให้ซื้อแบบวัยรุ่นทั่วไปเหมือนอย่างเด็กคนอื่นบ้าง คุณแม่เขาบอกว่า เขาก็ยัง 12 ขวบเอง หมอบอกว่าฟันน้ำนมยังหลุดไม่หมด เหลืออีก 4 ซี่ เพราะฉะนั้นถ้าเขาอยากจะแต่งตัวแบบเด็ก ๆ บ้างก็ให้เขา ถ้าเราดูแล้วอยู่ในกลุ่มที่พอรับได้ อย่างกางเกงยีนบ้าง กางเกงสามส่วนบ้าง เสื้อเชิ้ตสี ๆ บ้าง รองเท้าผ้าใบ รองเท้าสานก็ได้ไม่ว่า แต่ถ้าแปลก เช่น ย้อมสีผม ก็บอกว่าไม่เหมาะสมสำหรับเรา"

ซึ่งคุณพ่อคนที่อยากให้ลูกแต่งตัวเรียบร้อยคนเดียวกันนี้ ก็เป็นคนพาลูกไปเที่ยวต่างจังหวัด ไปดูหนัง ด้วยเหตุผลที่ว่า ลูก ๆ กำลังอยู่ในสังคมแห่งเทคโนโลยี "ถ้าเขาไม่ดูกับเรา เขาก็ดูในอินเทอร์เน็ตเองได้" และคุณพ่อคนเดียวกันนี้ที่ "ไปไหนต้องมีลูกไปด้วย ไม่ฝาก ถ้าเป็นงานที่เชิญในฐานะครอบครัวแล้ว เอาไปหมด ถ้าเอาไปด้วยไม่ได้ก็ไม่ไปเลย"

ไปอินเดีย...ปีหน้า (2545)

วันเสาร์เวลาสิบโมงเช้า สำหรับเด็กวัยรุ่นคนอื่น ๆ อาจกำลังเป็นเวลาแห่งการดู "ช่อง 9 การ์ตูน" "Cartoon Network" เรียนพิเศษกวดวิชา ออกเที่ยวเล่นกับเพื่อนฝูง หรืออาจยังนอนอยู่ แต่สำหรับลูกแก้ว มันคือเวลาเรียนภาษาสันสกฤต ที่หอเวทวิทยาคม เทวสถาน โบสถ์พราหมณ์

"ลูกแก้วรับภาระหนักในการสืบทอดศาสนา เขาจะต้องเรียนมากกว่าปรกติ คือเรียนพระเวทด้วย เรียนปรัชญาด้วย เรียนทางโลกด้วย แล้วกลับมารับภาระหน้าที่ที่นี่ ตอนนี้เขาอายุ 11-12 เราจะส่งเขาไปเมื่ออายุ 13 เรียนมัธยมและเรียนพระเวทใช้เวลา 2 ปี และต่อปริญญาสายปรัชญาอีก 6 ปี คือปริญญาตรี 4 ปี และปริญญาโท 6 ปี หรือจะไปถึงปริญญาเอกก็ได้ ขึ้นอยู่กับความสนใจของเขา เขาจะได้เข้าใจว่ารากฐานเดิมเป็นอย่างไร วัฒนธรรมเช่น ตัดจุก แต่งงาน ขึ้นบ้านใหม่ของทางอินเดียเป็นอย่างไร เวลาคิดถึงพระเป็นเจ้าเขาคิดอย่างไร ส่วนของเราปฏิบัติอย่างไร" พระราชครูวามเทพมุนีอธิบาย

ลูกแก้วเองก็สมัครใจไปเรียนต่อในครั้งนี้ เขาบอกว่า

"ถ้าไปไหนแล้วมีความสุขก็ไปหมด พ่อให้เอาความรู้กลับมา ผมคิดว่าจะช่วยให้โบสถ์ดีขึ้น และอย่างอื่นดีขึ้นด้วย"

ปีนี้ทางโบสถ์พราหมณ์ส่ง "พราหมณ์รุ่นใหม่" ไปอินเดียเพื่อศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยแล้ว 1 คน และจะส่งไปอีก 3 คน เพื่อเรียนในระดับมัธยมต้น ปริญญาตรี และปริญญาเอก ในปีหน้า

และเพราะการเดินทางไปอินเดียในครั้งนี้ จะเป็นการใช้ชีวิตคนเดียว อย่างนักเรียนประจำในต่างแดน คุณลุงและคุณพ่อจึงเตรียมความพร้อมของลูกแก้ว ด้วยให้แยกจากครอบครัวและบ้านซึ่งตั้งอยู่สุขาภิบาล 3 มาทดลองอยู่ที่บ้านคุณอาบริเวณหลังโบสถ์พราหมณ์ เพื่อฝึกการรับผิดชอบตนเอง และปรับตัวเป็นเวลา 1 ปี โดยคุณพ่อจะรับกลับบ้านก็เฉพาะในวันเสาร์อาทิตย์

พราหมณ์ศรีลเรียกการไปเรียนต่อของลูกแก้วในครั้งนี้ว่า "เป็นการกลับสู่มาตุภูมิ" เป็นการกลับไปยังแผ่นดินที่ให้กำเนิดศาสนาพราหมณ์หรือศาสนาฮินดู

รากเหง้าที่สำคัญที่สุดของศาสนาพราหมณ์ หรือศาสนาฮินดูนั้นคือ คัมภีร์พระเวท ซึ่งเป็นคัมภีร์ที่เก่าแก่ที่สุดของอินเดีย และอาจเป็นคัมภีร์ที่เก่าแก่ที่สุดของโลกด้วย (อายุราว 2,000-1,500 ปีก่อนคริสตศักราช ถึง ค.ศ. 700)

สารานุกรมบริตานนิกา เล่ม 20 พูดถึงพระเวทว่า เวท หมายถึงความรู้ เป็นความหมายโดยรวมของคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เป็นคัมภีร์ที่เป็นความจริงนิรันดรซึ่งปฏิเสธหรือท้าทายไม่ได้ และมิได้เกิดจากทั้งพระเป็นเจ้าและมนุษย์ แต่ได้ถูกเปิดเผย และถูกได้ยินโดยฤาษีผู้มีญาณพิเศษ แล้วถ่ายทอดออกมาเป็นภาษาสันสกฤตอันเป็นภาษาที่สมบูรณ์ที่สุด พระเวทจึงศักดิ์สิทธิ์และเป็นความเชื่อสูงสุด ถือเป็นศูนย์กลางของศาสนิกพราหมณ์ฮินดูทุกนิกาย

อาจารย์กรุณา กุศลาสัย เคยกล่าวถึงความลึกซึ้งอย่างน่ามหัศจรรย์ของ คัมภีร์พระเวท ว่า "เป็นการคลี่คลาย การปรากฏออกมาของจิตใจมนุษย์ในระยะแรกๆ แห่งความคิดนึก จิตใจนั้นช่างน่าอัศจรรย์เสียนี่กระไร !"

รพินทรนาถ ฐากูร ก็เคยกล่าวถึงพระเวทด้วยว่า "เป็นพินัยกรรมทางกาพย์กลอนของปฏิกิริยาร่วมกันของประชาชนชาติหนึ่ง ซึ่งมีต่อความอัศจรรย์และความหวาดหวั่นในการดำรงชีวิต ประชาชนชาตินี้ผู้มีจินตนาการเข้มแข็งและสดใส ได้ตื่นขึ้นในสมัยรุ่งอรุณแห่งอารยธรรม และได้รู้สึกถึงความลึกลับอันไม่มีที่สิ้นสุดซึ่งมีปรากฏในชีวิต ...การรู้สึกถึงสิ่งลี้ลับมหัศจรรย์เช่นนี้ ก่อให้เกิดความเสน่หาต่อชีวิตมากขึ้น"

พราหมณ์กับพิธีกรรม

ในโลกปัจจุบัน คนไทยเห็นพราหมณ์ในฐานะผู้ประกอบพระราชพิธี รัฐพิธี และพิธีราษฎร์ ตามหน้าที่ของพราหมณ์ที่บัญญัติไว้ ได้แก่ การพยายามแสวงหาความจริงและการศึกษาชั้นสูง การให้การศึกษาแก่ผู้อื่น การทำพิธีบูชาต่าง ๆ ทั้งที่ประกอบยัญกรรมเอง หรือเชิญพราหมณ์อื่นมาประกอบพิธี การทำพิธีบูชาต่าง ๆ ตามความประสงค์ของผู้มีจิตศรัทธา ที่ต้องการให้ประกอบพิธีกรรมให้เขา การทำบุญให้ทานตามกำลัง และการรับทักษิณาหรือของทำบุญจากผู้มีจิตศรัทธา

พราหมณ์หลายท่านบอกว่า ปัจจุบันมีผู้เชิญให้ประกอบพิธีมากกว่าแต่ก่อน ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานราชการ บริษัทห้างร้าน หรือกองถ่ายละคร

"มีผู้เชิญให้ทำพิธีมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะไปทำให้แล้ว เขาสบายใจ มีการพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น เขาก็แนะนำผู้อื่นให้มาเชิญให้ไปทำพิธี การทำพิธีเป็นการสอนศาสนาและเผยแผ่ศาสนาอย่างหนึ่ง อย่างที่เขียนไว้ในหนังสือที่จดทะเบียนกับกรมการศาสนาว่า 'สำนักพราหมณ์พระราชครูในสำนักพระราชวัง เผยแผ่ศาสนาโดยการประกอบพิธีกรรม'

" การเผยแผ่ศาสนา คือการไปประกอบพิธี แล้วแนะนำว่า พิธีนี้ทำไปเพื่ออะไร ทั้งหมดเพื่อกำจัดกิเลส ความโลภ โกรธ หลง เพื่อระงับจิตใจ โดยใช้สมาธิ ปัญญา และพิธีกรรม ไม่ใช่ทำพิธีเพื่อความโลภ หลง อำนาจ แต่ทำไปเพื่อสักการะพระเป็นเจ้า เป็นการถวายกุศลต่อพระเป็นเจ้า เป็นการมีความกตัญญูต่อสิ่งที่ควรกตัญญู คือ ธรรมชาติ บิดามารดา และครูอาจารย์"

กลุ่มคนที่สนใจในพิธีกรรมส่วนมากมักเป็นพ่อค้านักธุรกิจ "เพื่อความเป็นสิริมงคลของบริษัทและเป็นขวัญกำลังใจของพนักงาน" ในขณะที่กลุ่มประชาชนคนธรรมดาเชิญพราหมณ์ไปทำพิธีกรรมน้อยลง เว้นแต่เมื่อศาลพระภูมิชำรุด ปลูกบ้านใหม่ หรือขึ้นบ้านใหม่

เรื่องนี้พระราชครูวามเทพมุนี มองว่า "พิธีกรรมคงไม่สูญ คงมีต่อเนื่องอยู่ แต่วิธีการจะย่อลงไป เวลาจะกระชับลงไป ความหมายของพิธีกรรมจะถูกลดทอนลงไป พิธีกรรมที่ถูกย่อลงไปมาก ๆ ก็ไม่ได้เห็นความหมายของพิธี เช่น ในพิธีหนึ่ง เราจะสร้างขอบเขตจักรวาล มีมณฑลพิธี มีบายศรี เขาพระสุเมรุ เครื่องผลไม้อาหารการกิน และมีธูปเทียนดอกไม้บูชา การนอบน้อมบูชา และนำควันธูปขึ้นไปก็เป็นการทำให้เกิดขวัญและกำลังใจหนักแน่น แต่พิธีกรรมเหล่านี้ลดลงไปเพราะภาวะเศรษฐกิจ"

แม้แต่ชุมชนในละแวกโบสถ์พราหมณ์เองก็มีความเปลี่ยนแปลงในแง่นี้

"สมัยก่อนชาวบ้านแถวนี้ทั้งหมดก็จะมารวมกลุ่มกัน เด็ก ๆ มาวิ่งเล่นสนุกสนานเป็นพื้นฐานเดียว แต่ปัจจุบันทุกคนมีภารกิจ อาจจะมีคนมาเข้าร่วมพิธีกรรมในโบสถ์ก็จริง แต่ก็ไม่ใช่คนในละแวกนี้ คนที่มาก็ต้องการความสำเร็จ ต้องการบางสิ่งบางอย่างที่ไม่ได้เข้าไปถึงหลักธรรม เพราะฉะนั้นภาวะที่หลวมก็จะหลวมมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นด้านการปฏิบัติ ทางความคิด หรือทางความรู้"

ในขณะเดียวกัน ลูกหลานพราหมณ์ก็มีส่วนร่วมในพิธีกรรมน้อยลงด้วย

"สมัยนี้ลูกหลานพราหมณ์มีความสนใจความรู้ของพราหมณ์น้อยลงกว่าแต่ก่อน อาจจะมองว่าไม่เข้ากับยุคสมัย ทำให้การมาฝึกหัดหรือร่วมพิธีกับพราหมณ์พ่อน้อยลง เพราะเด็กสมัยนี้เรียนหนังสือก็หนักแล้ว จะเอาเวลาที่ไหนมาเรียนทางพราหมณ์ และเด็กเองก็มีสังคมเพื่อนฝูงของตัวเอง เป็นไปตามสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมเมืองอย่างกรุงเทพฯ มีสิ่งที่ชักนำไปในทางที่ไม่ถูกต้องมากกว่าในอดีต ที่ลูกหลานพราหมณ์มีความสัมพันธ์ที่ดีกับครอบครัว มีความใกล้ชิดกับพ่อพราหมณ์ จึงทำให้การถ่ายทอดต่าง ๆ นั้นเป็นไปได้ด้วยดี

"ในปัจจุบัน แม้แต่ตัวพราหมณ์เองก็หาเวลาว่าที่จะมาถ่ายทอดความรู้ได้น้อยลง เพราะเมื่อออกไปทำพิธีกรรมข้างนอกมาแล้ว กว่าจะฝ่าการจราจรที่ติดขัดมาถึงบ้านก็เป็นเวลาเย็นแล้ว และตัวเด็กเองก็เหน็ดเหนื่อยจากการเรียน ไหนจะต้องทำการบ้านอีกเป็นจำนวนมาก ต่อไปอาจจะต้องมีการเปิดเทปบันทึกเสียงการเป่าสังข์แทน เพราะลูกหลานไม่มาช่วยเป่าสังข์"
สิ่งสำคัญของการเป็นพราหมณ์

ปีนี้ พระมหาราชครูอัษฎาจารย์ (ละเอียด รัตนพราหมณ์) ประธานคณะพราหมณ์ มีอายุ 81 ปี ท่านเติบโตตามแบบแผนเดียวกับบุตรพราหมณ์คนอื่น ๆ โดยติดสอยห้อยตามบิดามายังโบสถ์เพื่อเข้าร่วมพิธีตั้งแต่ยังเป็นเด็ก

แม้ว่าบ้านสวนของท่านจะอยู่ไกลถึงพระโขนง ต้อง "พายเรือจากพระโขนงมาทางคลองแสนแสบ ขึ้นที่ประตูน้ำ แล้วนั่งรถสามล้อลากต่อมาที่โบสถ์"

"ตอนนั้นยังไม่ได้ซ้อม ไม่ได้ฝึกอะไร มาอยู่เฉย ๆ ง่วงหลับเราก็นอน เขาไม่ได้บังคับอะไร พักได้ พ่อชวนมาก็อยากมาอยู่ด้วย ได้ดูเขาโล้ชิงช้า มีงานสนุกสนาน มาแรมอยู่ที่นี่ทุกปีจนโตเป็นหนุ่ม" ท่านพูดช้า ดวงตาและรอยยิ้มอ่อนโยนฉายความเมตตากรุณา

ถึงแม้จะอายุมาก แต่ท่านยังคงทำหน้าที่ทั้งการประกอบพระราชพิธี และพิธีกรรมต่าง ๆ ตามแต่จะมีผู้เชิญ "ไปไหวก็ไป สมัยก่อนไปต่างประเทศก็ไป ให้ทำพิธีตั้งศาลพระพรหมที่ออสเตรเลีย เราต้องคำนวณวันเดือนปีเกิดเขา ทำแล้วให้เขามีความสุข ความเจริญรุ่งเรือง ไม่มีโรคภัย"

ท่านพระมหาราชครูบอกว่า เมื่อบวชเป็นพราหมณ์แล้วต้องเรียนรู้เกี่ยวกับพิธีการต่าง ๆ ต้องฝึกอ่านหนังสือภาษาสันสกฤตที่ใช้ในการประกอบพิธี และเรียนวิชาโหราศาสตร์ "นาน.. กว่าจะเป็น"

"จะว่ายากก็ยาก จะว่าง่ายก็ง่าย การฝึกจิตใจลำบากหลายอย่าง ต้องฝึกปฏิบัติเพื่อให้จิตใจมีหลักธรรมเหมือนพระ ทำสมาธิให้มั่น ทำจิตใจให้มั่นคง มีวิธีตั้งจิตคือ ไม่ให้เดือดร้อน ให้มีความสุขตลอดไป"

พระมหาราชครูฯ หรือที่ศาสนิกเรียกด้วยความเคารพว่า "หลวงพ่อ" หรือ "คุณพระ" คิดว่า ไม่ว่าจะเป็นพราหมณ์สมัยนี้หรือพราหมณ์สมัยก่อนก็ต้องฝึกฝนตามแบบแผนเดียวกัน

"พราหมณ์รุ่นใหม่ ๆ ก็ต้องเรียนรู้เหมือน ๆ กัน เข้ามาใหม่ ก็ต้องเรียนรู้ใหม่"

ผู้เป็นพราหมณ์ทุกคนจะต้องเรียนวิชาพื้นฐาน 6 ประการ เรียกว่า ษัฎศาสตร์ หรือ เวทางคศาสตร์ ได้แก่ ศึกษาศาสตร์-การอ่านทำนองพระเวท กัลปศาสตร์-การใช้พระเวท ไวยากรณ์ศาสตร์-การอุบัติของเสียงและการออกเสียง นิรุกติศาสตร์-ภาษา ฉันทศาสตร์และกาพยศาสตร์-การแต่งกาพย์และคำฉันท์ และ โชยติษศาสตร์-โหราศาสตร์และดาราศาตร์

ยิ่งหากได้บรรจุเป็นพราหมณ์ราชสำนักในตำแหน่ง พราหมณ์พิธี ประจำกองพระราชพิธี สำนักพระราชวัง แล้ว จะถือว่าเป็นข้าราชการเต็มตัว และจะต้องรู้จักพระราชพิธีต่าง ๆ เช่น พระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา พระราชพิธีฉัตรมงคล พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ พระราชพิธีเปลี่ยนเครื่องทรงพระแก้วมรกต พระราชพิธีตรียัมปวาย-ตรีปวาย ซึ่งพราหมณ์ราชสำนักจะได้รับหมายจากสำนักพระราชวัง โดยมีประธานคณะพราหมณ์เป็นหัวหน้าในการประกอบพิธีต่างๆ

พราหมณ์ราชสำนักจะเกษียณเมื่ออายุ 60 ปี แต่ก็สามารถขอต่ออายุราชการได้ หรือขอลาออกจากราชการก็ได้ด้วย และเมื่อทำความดีความชอบต่าง ๆ ก็จะได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ และบรรดาศักดิ์จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นพระครู พระราชครู และพระมหาราชครู ตามลำดับ

ใครสักคนอาจถามท่านพระมหาราชครูอัษฎาจารย์ว่า อะไรเป็นสิ่งสำคัญที่สุดของการเป็นพราหมณ์ คำตอบที่เรียบง่ายและจริงใจมีอยู่ว่า

"คือการทำให้คนมีความสุขความเจริญ ให้อยู่เย็นเป็นสุข เดี๋ยวนี้คนเข้ามากันมาก เคารพนับถือ มาเข้าพิธีด้วยก็ดี ทำให้เขามีความสุขความเจริญแล้ว เราก็ชอบ"

...ปีนี้ (เมื่อ 2544) พราหมณ์ภีษม หรือ ด.ช.ลูกแก้ว มีอายุ 12 ปี เขาเป็นเช่นเด็กนักเรียนทั่วไปที่ต้องตื่นแต่เช้า เพื่อไปให้ทันโรงเรียน และเลิกเรียนตอนบ่ายสองโมง ต้องทำการบ้าน ทำโครงงานวิทยาศาสตร์ และต้องสอบ
เขาฟังเพลงของ ดาจิม โมทีฟ และซิลลีฟูลส์ ดูการ์ตูน โปเกมอน ดิจิมอน แม่มดจอมซน และ นักซิ่งสายฟ้า ในวันหยุดสุดสัปดาห์ ดูทอยสตอรี ทาร์ซาน อะบั๊กไลฟ์ และสตาร์วอร์ ทุกเอพิโซด เล่นการ์ดเกม เพลย์สเตชั่น เล่นตำรวจกับมือปืนกับน้องสาว เป็นแฟนหนังของหลี่เหลียนเจี๋ยและเจ็ตลี ดูรายการ "สาระแนโชว์" และ "คดีเด็ด" และเป็นเจ้าของ ตุ๊กตาสไปเดอร์แมน

...เขาจะเดินทางไปอินเดียเพื่อเรียนรู้ถึงสิ่งสำคัญที่สุดของการเป็นพราหมณ์...
 
คัดลอกมาจาก นิตยสารสารคดี (ฉบับที่ 215 เดือนมกราคม 2546)
นิรมล มูนจินดา : เรื่อง / ประเวช ตันตราภิรมย์ : ภาพ

กลับหน้าแรก - ศาสนาพราหมณ์



---------------- อ่านเรื่ององค์เทพเพิ่มเติม ----------------
หน้าแรก-องค์เทพ (สยามคเณศ)
ศาสนาพราหมณ์ ศาสนาฮินดู เทพเจ้าอินเดีย
พระพรหม ท้าวมหาพรหม พระพรหมเอราวัณ ศาลพระพรหม
, พระวิษณุ พระนารายณ์ พระนารายณ์ทรงครุฑ
นารายณ์ทรงสุบรรณ คาถาบูชาพระนารายณ์สิบปาง

, พระศิวะ พระอิศวร , พระราม รามเกียรติ์ รามายณะ ,
พระกฤษณะ ภควัทคีตา มหาภารตะ ,
ครุฑ พระยาครุฑ พญาครุฑ
วิธีไหว้พญาครุท ตำนานพญาครุท บทบูชาพญาครุท
,
พญานาค พระยานาค วิธีบูชาพญานาค การไหว้พญานาค

พระแม่อุมาเทวี เจ้าแม่อุมาเทวี , พระแม่กาลี เจ้าแม่กาลี ,
พระแม่ทุรคา เจ้าแม่ทุรกา , พระตรีมูรติ การบูชาพระตรีมูรติ
พระแม่ลักษมี เจ้าแม่รัศมี พระนางลักษมี พระลักษมี ,
พระแม่สรัสวตี พระสรัสวดี พระแม่สุรัสวตี พระสุรัสวดี ,
พระขันทกุมาร การบูชาพระขันธกุมาร ,
หนุมาน พระหนุมาน องค์หนุมาน การไหว้หนุมาน ,
พระอินทร์ พระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ

ท้าวจตุโลกบาล - เทพผู้รักษาประจำทิศ เทพประจำทิศ ,
ท้าวเวสสุวัณ ท้าวเวสสุวรรณ ท้าวกุเวร
พระแม่คงคา แม่น้ำคงคา เมืองพาราณสี ประเทศอินเดีย
, พระแม่ธรณี , พระแม่โพสพ

--------- สถานที่ ศาล เทวาลัย เพื่อกราบไหว้ขอพรองค์เทพ ---------
วัดเทพมณเฑียร วัดเทพมณเทียร , เทวสถานโบสถ์พราหมณ์ เสาชิงช้า
, วัดวิษณุ ยานนาวา , พิพิธภัณฑ์พระพิฆเนศ พิพิธภัณฑ์พระพิฆเณศวร์ เชียงใหม่
,
ศาลพระพิฆเนศห้วยขวาง พระพิฆเณศสี่แยกห้วยขวางรัชดาภิเษก , เสาชิงช้า
,
พระพิฆเนศนครนายก พระพิฆเณศที่ใหญ่ที่สุดในโลก (ปางนั่ง-ปูนปั้น)
,
พระพิฆเนศฉะเชิงเทรา พระพิฆเนศที่ใหญ่ที่สุดในโลก (ปางยืน-สำริด)
วัดพระศรีมหาอุมาเทวี สีลม วัดแขกสีลม นวราตรี งานนวราตรี
เมืองโบราณ สมุทรปราการ , พิพิธภัณฑ์ช้างสามเศียร ช้างเอราวัณ สมุทรปราการ
ช้าง 3 เศียร พิพิธภัณฑ์ช้าง 3 เศียร จังหวัดสมุทรปราการ

- พระพิฆเนศ ฉะเชิงเทรา องค์พระพิฆเณศ วัดสมาน จ.ฉะเชิงเทรา
- พระพิฆเนศวร ฉะเชิงเทรา องค์พระพิฆเนศ พระพรหม พระวิษณุ พระศิวะ ที่วัดสมานรัตนาราม จังหวัดฉะเชิงเทรา
- ศาลท้าวมหาพรหมเอราวัณ พระพรหมเอราวัณ แยกราชประสงค์
- พระพิฆเนศที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ที่อินเดีย อัสตะวินายัก พระพิฆเนศกำเนิดตามธรรมชาติ 8 แห่ง
- รวมรูปองค์เทพ | - รวมสถานที่บูชาองค์เทพ | - รวมความรู้การบูชาองค์เทพ

โครงการ "พันเทวาลัย ล้านศรัทธา"
รวมสถานที่สักการะเทพเจ้าของพราหมณ์ฮินดูทั่วประเทศไทย

ศาลพระพิฆเณศวร์ เทวาลัยพระศิวะ วัดแขก โบสถ์พราหมณ์ เทวสถาน | เทวาลัยพระวิษณุ ศาลพระพรหม วัดแขก พระแม่อุมาเทวี

----------------- เทศกาล งานสำคัญต่างๆ -----------------
- "คเณศจตุรถี" งานแห่พระพิฆเณศวร์ วันคเณศจตุรถี วันประสูติพระพิฆเนศวร์
- "นวราตรี" งานวัดแขก งานแห่พระแม่อุมาเทวี ร่างทรงพระแม่อุมา งานนวราตรี
- "มหาศิวราตรี" เทศกาลมหาศิวาราตรี วันบูชาพระศิวะในงานมหาศิวะราตรี
- "ดีปาวลี" ดีวาลี่ ทีปาวาลี เทศกาลดีปาวาลี งานบูชาพระแม่ลักษมีในงานดีปาวรี
- "พระราชพิธีตรียัมปวาย" งานตรียัมปวาย งานประจำปี เทวสถานโบสถ์พราหมณ์
- โบสถ์พราหมณ์ การเดินทางไปโบสถ์พราหม์ แผนที่โบสถ์พราห์ม
, พระราชพิธีแรกนาขวัญ งานแรกนาขวัญ

[ การบูชาเทพเจ้า ]
- รวมบทสวดมนต์บูชาพระพิฆเนศวร
คาถาบูชาพระพิฆเณศวร์ การไหว้องค์เทพ บูชาเทพ วิธีบูชาองค์เทพ


- ความเข้าใจผิดๆเกี่ยวกับการบูชาเทพ การไหว้เทพฮินดู
- เครื่องหมายโอม...สัญลักษณ์โอม และวิธีการสวดบูชา | - เครื่องหมายสวัสดิกะ...สัญลักษณ์สวัสติกะแห่งพระพิฆเนศ

- สิ่งที่ควรรู้สั้นๆ เกี่ยวกับพระพิฆเนศ การบูชาพระพิฆเณศวร์ | - ตำนานกำเนิดพระพิฆเนศ ประวัติพระพิฆเณศ
- ตำนานว่าด้วยเศียรช้าง งาข้างเดียว และหนูบริวารของพระพิฆเนศ
- ตำนานองค์พระพิฆเนศในเอเชียแปซิฟิก | - ตำนานองค์พระพิฆเนศในประเทศไทย
- พระคเณศ ในฐานะเทพแห่งปัญญาและความรู้ | - พระพิฆเณศในฐานะหัวหน้าบริวารของพระศิวะ
- พรที่พระพิฆเนศได้รับจากมหาเทพ-มหาเทวี | - อานิสงค์จากการบูชาพระพิฆเนศ การขอพรพระพิฆเนศ
- คเณศจตุรถี...วันประสูตรพระพิฆเนศ วันคเนศจตุรถี เทศกาลพระพิฆเนศ งานแห่พระพิฆเณศวัดแขก

- การบูชาพระแม่กาลี (ตามวิธีของ อ.พิทักษ์ โค้ววันชัย สำนักพิมพ์สยามคเณศ)
- บทสรรเสริญพระศิวะ ผู้คืออักขระ 5 ตัว บทสวดพระศิวะมหาเทพ | - พระแม่ลักษมี 8 ปาง การบูชาพระแม่ลักษมี
- พญาครุฑ การบูชาพญาครุฑ องค์พญาครุฑ | - พญานาค การบูชาองค์พญานาค | - ท้าวเวสสุวรรณ ท้าวเวสสุวัณ ท้าวจตุโลกบาล
- รูปพระแม่อุมาเทวี องค์พระแม่อุมาเทวี พระศรีมหาอุมาเทวี การบูชาพระแม่อุมาเทวี | - องค์พระตรีมูรติ การบูชาพระตรีมูรติ
- พระวิษณุ หรือ พระนารายณ์ การบูชาพระวิษณุ องค์พระวิษณุ ปางของพระวิษณุ | - องค์พระแม่ลักษมี รูปพระแม่ลักษมี

- ตำนานพระสีวลี ผู้เป็นเลิศในลาภสักการะ | - พระสีวลีผู้เป็นเลิศในลาภสักการะ | - การบูชาพระสีวลี การขอพรพระสีวลี
- การกำเนิดพระสีวลี โดยการทรงประทานพรของพระพุทธเจ้า | - พระสีวลี หรือ พระสิวลีพระอรหันต์ผู้มีลาภสักการะเป็นที่สุด
- ตำนานพระสีวลี พระสิวลี พระสีวะลี ตำนานกำเนิดพระสีวลี
- พระเกจิ ประวัติพระสงฆ์ หลวงพ่อจรัญ | - การเดินทางไปวัด ขอพรหลวงพ่อ วัดในจังหวัดต่างๆ
- เจ้าแม่กวนอิม องค์เจ้าแม่กวนอิม การบูชาเจ้าแม่กวนอิม พระแม่กวนอิมปางต่างๆ

[ เรื่องร่างทรง ]
เรื่องร่างทรง 1 - เตือนใจเรื่องร่างทรง มารสังคมที่ต้องระวัง (รับขันธ์ ร่างทรง ตำหนักทรง มีองค์ คนมีองค์ องค์เทพ)
เรื่องร่างทรง 2 - คนมีองค์ กับ ร่างทรง ต่างกันอย่างไร ? (รับขันธ์ ร่างทรง ตำหนักทรง มีองค์ คนมีองค์ องค์เทพ)
เรื่องร่างทรง 3 - ร่างทรงกำลังทรงเจ้า หรือกำลังโดนผีสิง ? (รับขันธ์ ร่างทรง ตำหนักทรง มีองค์ คนมีองค์ องค์เทพ)
เรื่องร่างทรง 4 - การรับขันธ์ อันตรายถึงชีวิต! (รับขันธ์ ร่างทรง ตำหนักทรง มีองค์ คนมีองค์ องค์เทพ)
เรื่องร่างทรง 5 - ตอบคำถามร่างทรง (รับขันธ์ ร่างทรง ตำหนักทรง มีองค์ คนมีองค์ การทรงเจ้า องค์เทพ)
เรื่องร่างทรง 6 - ถอนขันธ์ ลาขันธ์ (การรับขันธ์ ร่างทรง ตำหนักทรง มีองค์ คนมีองค์ คนทรงเจ้าองค์เทพ)
เรื่องร่างทรง 7 - รวมข่าวร่างทรงถูกจับ (การรับขันธ์ ร่างทรง ตำหนักทรง มีองค์ คนมีองค์ คนทรงเจ้า องค์เทพ)

[ พระศิวะมหาเทพ ]
1. ตำนานพระศิวะ | 2. รูปลักษณ์ แห่งพระศิวะ วิธีบูชาพระศิวะมหาเทพ  |  3. เมล็ดรุทรักษะ เมล็ดน้ำตาพระศิวะ
4. โคนนทิ พาหนะแห่งพระศิวะ สัตว์ศักดิ์สิทธิ์  |  5. ศิวะนาฏราช พระศิวะร่ายรำ ปางของพระศิวะ
6. ศิวลึงก์ สัญลักษณ์แทนองค์พระศิวะ การบูชาศิวลึงค์  |  7. คาถา บทสวดมนต์ การบูชาพระศิวะ

[ พระประจำวันเกิด , นวนพเคราะห์ ]
พระประจำวันเกิด พระประจำวันอาทิตย์ พระประจำคนเกิดวันอาทิตย์ พระสุริยะเทพ (พระอาทิตย์)
พระประจำวันเกิด พระประจำวันจันทร์ พระประจำคนเกิดวันจันทร์ พระจันทร์ 
พระประจำวันเกิด พระประจำวันอังคาร พระประจำคนเกิดวันอังคาร พระอังคาร ,
พระประจำวันเกิด พระประจำวันพุธ พระประจำคนเกิดวันพุธกลางวัน พระพุธ
พระราหู การไหว้พระราหู วิธีบูชาพระราหู คาถาบูชาพระราหู พระประจำวันเกิด พระประจำคนเกิดวันพุธกลางคืน
พระประจำวันเกิด พระประจำวันพฤหัสบดี พระประจำคนเกิดวันพฤหัสบดี พระพฤหัสบดี
พระประจำวันเกิด พระประจำวันศุกร์ พระศุกร์  , พระประจำวันเสาร์ พระประจำวันเกิด พระเสาร์ , พระเกตุ

รวมโองการเชิญเทพ / บทไหว้ครู / กลอนไหว้ครูของไทย
สำหรับผู้ศรัทธาในเทพทุกระดับชั้น เพื่อการบวงสรวงบูชาเทพในพิธีอันเป็นสิริมงคลต่างๆ
โองการเชิญเทพ - พระราชนิพนธ์ ขอพรพระคเณศ
โองการเชิญเทพ - พระราชนิพนธ์ บทเสมาสามัคคีเสวก
เชิญเทพ โดย ขุนสารประเสริฐ 1
เชิญเทพ โดย ขุนสารประเสริฐ 2
เชิญเทพ โดย ขุนสารประเสริฐ 3
นมัสการเทพ (สามัคคีประเภทคำฉันท์)
เชิญเทพ - กรมพระยาเดชาดิศรฯ 1
เชิญเทพ - กรมพระยาเดชาดิศรฯ 2
เชิญเทพ - ร.6 (เสื้อเมือง หลักเมือง)
เชิญเทพ - รัชกาลที่ 6 (ทวยเทพ)
โองการเชิญเทพ - บวงสรวงท้าวโลกบาล
บทอัญเชิญเทพประจำเมือง



อ.พิทักษ์ โค้ววันชัย
เจ้าของเว็บไซต์สยามคเณศ และ นักเขียนหนังสือองค์เทพ







อ.พิทักษ์ โค้ววันชัย นักเขียนหนังสือการบูชาองค์เทพ
เจ้าของเว็บไซต์สยามคเณศ Siamganesh.com
ผู้เผยแพร่ความรู้ในการบูชาองค์เทพคนสำคัญของไทย

สั่งซื้อหนังสือ คลิกที่นี่




สั่งซื้อหนังสือ คลิกที่นี่









สั่งซื้อหนังสือ
ผลงาน อ.พิทักษ์ โค้ววันชัย
คลิกที่นี่



ติดต่อสยามคเณศได้ที่ siamganesh@gmail.com
Facebook : สยามคเณศดอทคอม
Facebook : มหาบูชา


ขออำนาจแห่งพระพิฆเนศวรโปรดดลบันดาลให้ท่านทั้งหลายล้วนประสบแต่ความสำเร็จในทุกๆประการด้วยเทอญ

สงวนลิขสิทธิ์ SiamGanesh.com, All Rights Reserved.