มหากาพย์
นั้นเป็นบทประพันธ์ที่ใช้กาพย์แต่งขึ้น โดยใช้เรื่องราวปรัมปราเล่าสืบต่อกันมา
เรียกว่า อิติหาส (อิติ+หา+อาส แปลว่า
เป็นเช่นนั้นจริงๆ หมายถึงวิชาประวัติศาสตร์นั่นเอง) ซึ่งมีมหากาพย์ที่รู้จักกันดีคือ..
มหากาพย์รามายณะ เป็นมหากาพย์ชิ้นแรกของโลกที่รจนาโดย
ฤาษีวาลมีกิ แต่งจำนวน ๒๔,๐๐๐ โศลก มีทั้งหมด
๗ กานฑ (กัณฑ์) หรือ ๗ ตอน เป็นเรื่องราวของพระรามและนางสีดา
รามายณะ แปลว่า การไปของพระราม
ซึ่งหมายถึงการเดินทางบุกป่าฝ่าดงของพระรามในการติดตามหานางสีดานั่นเอง
ต่อมาเรื่องราวของมหากาพย์นี้ได้เผยแพร่ไปในประเทศแถบเอเชียอาคเนย์
ทำให้เกิดการแต่งวรรณคดีเรื่องนี้ขึ้นในหลายชาติเช่น อินโดนิเซีย
มลายู กัมพูชา ลาว พม่า และไทย สำหรับไทยนั้นได้แต่งเติมและสร้างเรื่องใหม่ให้เหมาะสมกับขนบธรรมเนียมฝ่ายกรุงศรีอยุธยาในชื่อว่า
รามเกียรติ์ สำหรับใช้ในการแสดงโขน เป็นการถ่ายทอดเรื่องราวของ
พระราม กษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา โดยอาศัยเค้าโครงมาจากคัมภีร์รามายณะ
สำหรับคัมภีร์รามายณะนั้น ได้ใช้เป็นหลักในการสร้างศรัทธาของกษัตริย์ผู้ครองอาณาจักรของชนชาติสยามมาแต่โบราณ
สำรวจพบแหล่งโบราณสถานหลายแห่งเชื่อว่า ได้มีการนับถือพระวิษณุ
พระอิศวร และพระพิฆเนศขึ้นในพื้นที่ต่างๆ โดยเฉพาะดินแดนทางตอนใต้
จนในที่สุดชนชาติไทยได้สร้างวรรณคดีเรื่อง "รามเกียรติ์"
ขึ้นเองจากเค้าโครงเรื่องรามายณะ และแต่งให้รามเกียรติ์เป็นต้นแบบของ
พระนารายณ์ (พระวิษณุ) พระผู้เป็นเจ้าของพราหมณ์ฝ่ายไทยโดยเฉพาะ
จึงแตกต่างจากต้นฉบับรามายณะที่ชาวฮินดูหรือพราหมณ์ใช้เป็นบทสวด
(โศลก) ในสมัยรัชกาลที่ ๖ นั้นได้มีการเรียนรู้ถึงเรื่อง
พระนารายณ์สิบปาง เพิ่มเติมอีกด้วย
นอกจากนั้นยังมีกาพย์ที่แต่งสรรเสริญพระผู้เป็นเจ้าโดยเฉพาะพระราม
(คือ พระนารายณ์อวตาร) โดยพรรณนาชีวประวัติและยกย่องคุณความดีอีกหลายเล่ม
มหากาพย์มหาภารตะ เป็นมหากาพย์ที่ยิ่งใหญ่
แต่งเป็นฉันท์โดย ฤาษีเวทวยาส หรือ กฤษณะ
ไทวปายนะ แต่งจำนวน ๑ แสนโศลก มีทั้งหมด ๑๘ บรรพ
(ปรว) หรือประมาณ ๒๒๐,๐๐๐ บรรทัด เนื้อเรื่องเป็นการพรรณนาถึงการทำสงครามที่ขับเคี่ยวกันระหว่างพี่น้องสองตระกูล
คือ ตระกูลเการพ (โกรพ) กับ ตระกูลปาณฑพ
ที่สืบเชื้อสายมาจากบรรพบุรุษเดียวกัน คือ ท้าวภรต
(โอรสท้าวทัศยันต์กับนางศกุนตลา) เพื่อแย่งชิงราชสมบิติหรือแย่งกันปกครองแผ่นดินซึ่งเป็นเรื่องปกติของประเทศต่างๆทุกแห่ง
ชาวฮินดูนั้นถือว่ามหาภารตะนี้ คือสงครามระหว่างฝ่ายธรรมะที่ชนะอธรรม
ณ ทุ่งกุรุเกษตร ต่างสู้รบกันนานถึง
๑๘ วัน ต่างสูญเสียรี้พลมากมายจนเป็น "มหายุทธ"
ที่ดุเดือดบ้าคลั่ง สงครามเรื่องนี้เกิดก่อนพระพุทธเจ้าประสูติ
๕๐๐ ปี นับเป็นงานวรรณกรรมที่ยิ่งใหญ่ที่รวบรวมเรื่องปรัมปราขนบธรรมเนียมประเพณี
และนานาปรัชญาจากพหุเทวนิยม เทวนิยม เอกนิยม ที่ต็มไปด้วยพลังทางสร้างสรรค์
นอกจากนั้นยังใช้เป็นธรรมศาสตร์ อรรถศาสตร์ นิติศาสตร์และโมกศาสตร์ด้วย
มหากาพย์นี้มีโศลกยกย่องว่า
"สิ่งใดที่มีอยู่ในมหากาพย์นี้ สิ่งนั้นอาจมีให้เป็นในที่อื่นได้...
แต่สิ่งใดที่ไม่มีอยู่ในมหากาพย์นี้ สิ่งนั้นย่อมจะหาไม่ได้เลยในที่แห่งนี้"
ในมหากาพย์มหาภารตะเรื่องนี้ปรากฎมีชื่อ พระอาจารย์โทรณะ
ว่าเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญอย่างยอดเยี่ยมในศิลปะทั้งหลาย
รวมทั้งวิชาการณรงค์สงครามด้วย ด้วยเหตุนี้ บรรดาเจ้าชายทั้งหลายต้องศึกษาและเป็นลูกศิษย์พระอาจารย์ผู้นี้ทั้งสิ้น
ผู้รจนานั้นได้แต่งกาพย์หริวงศ์ เพื่อสรรเสริญพระเกียรติคุณของพระกฤษณะผู้ที่ชาวฮินดูเคารพนับถือว่า
เป็นอวตารปางหนึ่งของ พระวิษณุเทพเจ้า
จนมีชื่อเรียกว่า พระคัมภีร์พระเวทที่ ๕
อีกชื่อหนึ่ง
ศรียวาหระลาล เนห์รู ประธานาธิบดีอินเดียได้กล่าวถึงมหากาพย์สองเล่มนี้ใน
"พบถิ่นอินเดีย" ว่า "ข้าพเจ้าไม่รู้จักหนังสือเรื่องใดที่ไหนจะมีอิทธิพลเหนือจิตใจของมวลชนอย่างต่อเนื่อง
และแผ่ไพศาลมากเท่ากับหนังสือสองเล่มนี้ แม้หนังสือนี้จะมีอายุเก่าแก่ดึกดำบรรพ์แล้ว
หนังสือสองเล่มนี้ยังสร้างพลังอย่างจริงจังในวิถีชีวิตของประชาชนชาวอินเดีย"
สังคมชีวิตของอินเดียโบราณ จึงมึ่งเน้นการศึกษาศาสตร์และพระคัมภีร์ต่างๆมากมายสำหรับการสร้างอาณาจักรให้มั่นคง
โดยยึดเอาความเชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์และการนำศาสนามาใช้ครองตนครองแผ่นดินและเป็นหลักของการสร้างอาณาจักรให้เจริญรุ่งเรืองต่อไป
มหากาพย์สองเล่มนี้ ต่อมาได้ถูกพราหมณ์นำเดินทางเข้ามาเผยแพร่
และมีบทบาทสำคัญของการสร้างอาณาจักในดินแดนสุวรรณภูมิและประเทศอาเซียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย
|