ภาพเขียนกาลีกัตแม้จะมีต้นกำเนิดจากศิลปะพื้นบ้าน
วาดโดยช่างฝีมือท้องถิ่น วางขายตามซอกซอยละแวกวัดกาลีกัต ทั้งสืบทอดฝีไม้ลายมืออยู่เพียงศตวรรษเศษ
แต่ด้วยความที่มีเส้นสายเฉพาะตัว มีเรื่องราวที่เป็นดั่งกระจกสะท้อนสังคมของเมืองกัลกัตตาครั้งเป็นอาณานิคม
ของอังกฤษ ศิลปะข้างถนนที่เทียบค่าได้กับโปสต์การ์ดในปัจจุบัน
จึงกลายเป็นของสะสมเป็นความภาคภูมิใจของเมือง ทั้งเป็นแรงบันดาลใจแก่ศิลปินรุ่นใหม่
อะไรคือเสน่ห์ในภาพเขียนเหล่านี้
อินเดียนั้นมีความหลากหลายทางวัฒนธรรมสูง
กระทั่งในหมู่ชาวฮินดูต่างรัฐต่างภาค ก็ศรัทธารักใคร่เทพต่างองค์กันไป
ในกรณีของรัฐเบงกอลตะวันตกเทพสำคัญที่นิยมบูชาคือเจ้าแม่กาลี
ซึ่งวัดที่สำคัญและขึ้นชื่อที่สุดคือวัดกาลีกัต (Kalighat) ในเมืองกัลกัตตา
วัดนี้สร้างขึ้นราวปี 1809 และกลายเป็นที่นิยมดังมีผู้คนจากทุกสารทิศเดินทางมากราบไหว้
ทำให้ร้านรวงผุดขึ้นโดยรอบ ส่วนใหญ่ขายเครื่องสักการะ เช่น ดอกไม้
ธูปเทียน ขนม น้ำมัน รวมถึงร้านขายของที่ระลึกสำหรับซื้อติดมือกลับไปประดับหิ้งบูชา
อาทิ รูปปั้นจำลองเจ้าแม่กาลีและเทพองค์ต่างๆ สายประคำ กำไลโลหะ
พานใส่เครื่องสักการะชุดเล็กชุดน้อย ฯลฯ ทำให้ศิลปินและช่างฝีมือพื้นบ้านจากปริมณฑลทยอยเข้ามารับจ้างและผลิตของที่
ระลึกเหล่านี้ โดยเฉพาะช่างปั้นสกุลกูมาร์มารับงานปั้นหุ่นเจ้าแม่กาลีสำหรับใช้ในเทศกาล
บูชาใหญ่ที่เรียกว่า Kali Puja ราวช่วงเดือนตุลาคมของทุกปี
กลุ่มสำคัญอีกกลุ่มคือ "ปัตตัว"
ช่างเขียนพื้นบ้านซึ่งเดิมจะเขียนจิตรกรรมพื้นบ้านที่เรียกว่า
"ป็อต" ภาพเขียนป็อตนี้มี 2 แบบ คือแบบที่เป็นภาพเดียวทรงสี่เหลี่ยม
และเป็นม้วนภาพเขียนแบ่งเป็นช่องตามแนวดิ่ง ซึ่งนักเล่านิทานพื้นบ้านจะใช้ประกอบการขับลำนำเล่าตำนานความเชื่อและเรื่อง
ราวการรบทัพปราบมารของเหล่าทวยเทพ
ช่างเขียนกลุ่มนี้เริ่มหันมาวาดรูปขายคนที่มาวัดสำหรับนำกลับไปประดับ
บ้านหรือขึ้นหิ้งบูชา โดยปรับสไตล์ให้สอดคล้องกับลักษณะของตลาด
จากเดิมที่วาดเป็นม้วนผ้าก็หันมาวาดบนกระดาษราคาถูก ชนิดที่ไม่ตัดขอบหรือลงเคลือบกาว
ขนาดประมาณ 45 x 27 เซนติเมตร ในยุคแรกนิยมวาดภาพเทพองค์สำคัญๆ
เช่น เจ้าแม่กาลี พระศิวะ พระกฤษณะ หนุมาน ทั้งในลักษณะของภาพเดี่ยว
และฉากการสู้รบกับมารซึ่งขมวดองค์ประกอบเป็นฉากหรือตอนเดียวจบในภาพ
สไตล์การเขียนก็ต่างไปจากภาพเขียนป็อตดั้งเดิมซึ่งประณีตบรรจง
มีรายละเอียดของฉากเหตุการณ์และเรื่องราว ทั้งใช้สีฝุ่นทึบแสง
ส่วนภาพที่วาดขายนี้อาจเป็นด้วยเหตุที่ต้องผลิตจำนวนมากเพื่อสนองความต้อง
การของลูกค้า ขณะเดียวกันก็ไม่สามารถตั้งราคาได้สูง เพราะคนซื้อมีตั้งแต่คนจนถึงเศรษฐี
ศิลปินพื้นบ้านเหล่านี้ปรับมาเขียนในสไตล์การตวัดฝีแปรงรวดเร็ว
โดยจับบุคลิกและสัญลักษณ์เด่นของเทพแต่ละองค์ขึ้นรูปด้วยฝีแปรงน้อยเส้น
ไม่เน้นการวาดเหมือนจริง บางสไตล์จะเขียนตัวด้วยสีพื้นแล้วใช้เส้นสีตัดเส้นเน้นโครงร่างและเครื่อง
ประดับ ส่วนใหญ่จะเน้นการเก็บรายละเอียดเฉพาะใบหน้า ทั้งโครงร่างและรูปหน้ามักมีลักษณะโค้งกลมกลึง
ซึ่งคาดว่าได้อิทธิพลมาจากสไตล์การปั้นหุ่นดินที่ทำอยู่ในย่านเดียวกัน
และช่างเขียนหลายคนก็รับงานปั้นมาก่อน ภาพที่ออกมาจึงมีลักษณะกึ่งแอ็บสแตร็คท์และมินิมัลอยู่ในตัว
จุดเด่นอีกข้อคือการแรเงาที่เกิดจากการปาดพู่กันหรือเศษผ้าชุบสีผ่อนน้ำหนัก
อ่อนแก่เพื่อเสริมมิติในภาพ
อาจิต โกช นักสะสมและนักวิจารณ์งานศิลปะมีชื่อของกัลกัตตากล่าวว่า
"ภาพเขียนเหล่านี้สด ฉับพลัน ทั้งในเรื่องราวและฝีแปรง
เขียนในลักษณะการตวัดลากฝีแปรงแบบม้วนเดียวจบ เส้นนั้นมั่นคง
เนียน ไม่มีลังเล แทบดูไม่รู้ว่าขึ้นต้นหรือจบที่ไหน" ภาพที่เขียนกันมีทั้งภาพสี
และภาพเขียนลายเส้น พื้นหลังมีทั้งแบบปล่อยโล่งเป็นพื้นขาว และแบบที่ลงสีผืนแต้มเสริมด้วยผ้าม่านหรือพื้นหญ้าตามแต่ลักษณะฉาก
ระดับความประณีตและสีที่ใช้มี 2 ระดับ ได้แก่ "rasi"
แบบที่จัดองค์ประกอบง่ายๆ ไม่ลงรายละเอียดมาก และแบบ "raja"
ที่องค์ประกอบอาจซับซ้อนขึ้น ทั้งมีการใช้สีเงินและทองมาเสริมความขรึมขลัง
เมื่อเปรียบเทียบกับภาพเขียนป็อตและภาพเขียนประเพณีอื่นๆ
ของอินเดีย ซึ่งนิยมวาดใบหน้าตัวละครจากมุมด้านข้าง ภาพเขียนกาลีกัตมักวาดหน้าตรง
หรือหันข้างสามในสี่ส่วน ผู้รู้บางคนชี้ว่าเป็นอิทธิพลจากสไตล์ภาพเขียนตะวันตกที่แพร่เข้ามาในยุค
นั้น แต่บางท่านสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นเพราะภาพเขียนยุคแรกๆ เป็นภาพเทพเจ้าสำหรับนำไปบูชา
ผู้ซื้อย่อมต้องการได้ภาพหน้าตรง ทำให้ต่อมาแม้จะเขียนเรื่องราวอื่นๆ
ก็คงสไตล์ดังกล่าวไว้
สำหรับสีที่ใช้ส่วนใหญ่เป็นสีพื้นบ้านที่ช่างเขียนผสมเองตามตำราที่ตก
ทอดมาแต่โบราณ เช่นสีดำนิยมใช้เขม่า พู่กันก็เช่นกัน มักทำขึ้นเองจากขนแกะ
ขนกระรอก หรือหางแพะ ภาพเขียนกาลีกัตยุคถัดมา นอกจากภาพเทพเจ้ายังเริ่มมีภาพประเภทล้อเลียนเสียดสี
ที่ถือเป็นการ์ตูนล้อ (caricature) รุ่นบุกเบิกของอินเดีย คนที่ตกเป็นเป้าล้อกลุ่มหลักคือบรรดา
"บาบู" หรือหนุ่มผู้ดีชาวอินเดียที่ฟุ้งเฟ้อกับไลฟ์สไตล์ตะวันตกแบบผู้ดีอังกฤษ
ทั้งชอบเข้าสังคม ร่ำสุราหานางโลม จนถือกันว่าหากวันไหนหนุ่มผู้ดีพวกนี้ไม่ได้ออกบ้านหาหญิงยามค่ำ
แสดงว่า เขาต้องป่วยหนักถึงขั้นล้มหมอนนอนเสื่อ ช่างเขียนกาลีกัตมักวาดล้อ
บรรดาบาบูเป็นรูปหนุ่มแขกนุ่งโดตี (ผ้านุ่งของชาวอินเดียกึ่งโจงกระเบนกึ่งโสร่ง)
แต่ใส่รองเท้าบู๊ต และบ่อยครั้งจะเห็นหนุ่มผู้ดีมีการศึกษาเหล่านี้เป็นฝ่ายโดนหยอกเอินหรือ
ช่วงใช้โดยบรรดานางโลมของตน เช่น ภาพนางโลมจูงแกะ (แกะหรือแพะเป็นสัตว์ที่นิยมใช้บูชายัญเจ้าแม่กาลี)
เศรษฐีหนุ่มนวดเท้าให้นางโลม หรือภาพที่เขียนจากสุภาษิตยอดฮิตในยุคนั้นที่ว่า
"อยู่บ้านเป็นหนูตัวสาบ ออกบ้านกรุยกรายยกชายกระเบน"
ที่เหน็บแนมผู้ชายกระเป๋าแห้งที่หมดเงินไปกับชีวิตฟุ้งเฟ้อ เป้าการล้อยอดฮิตอีกกลุ่มคือบรรดาสนิมสังคมที่มือถือสากปากถือศีล
ซึ่งมีข่าวคาวมาให้ซุบซิบนินทาในวงน้ำชารอบวัดอยู่ไม่ขาด สนิมสังคมที่ว่าคือบรรดาพราหมณ์หรือนักพรตที่เปลือกนอกเป็นคนทรงศีลกินเจ
แต่เนื้อในเจ้าชู้ไก่แจ้ชอบหาเศษหาเลยกับบรรดาสานุศิษย์ผู้หญิง
ราวช่วงทศวรรษ 1870 เป็นต้นมา ภาพเขียนกาลีกัตกลายเป็นที่นิยมในหมู่นักสะสมงานศิลปะ
ทั้งชาวอินเดียและชาวยุโรป ดังที่ภาพเขียนจำนวนมากถูกกว้านซื้อและส่งกลับไปยุโรป
ขณะเดียวกันพิพิธภัณฑ์แห่งชาติกัลกัตตาก็เริ่มเห็นความสำคัญของศิลปินพื้น
บ้านเหล่านี้และเก็บสะสมงานดังกล่าว เหตุผลสำคัญประการหนึ่งคือ
ขณะที่แวดวงศิลปะกระแสหลักเริ่มรับอิทธิพลตะวันตกทั้งในแง่เทคนิคและสไตล์
ด้วยเหตุที่ศิลปินจำนวนมากอยู่ภายใต้การอุปถัมภ์หรือว่าจ้างโดยบริษัทอีสต์
อินเดีย จำกัด และชาวยุโรปที่เข้ามาทำการค้า จนเกิดเป็นงานศิลปะที่เรียกกันว่า
Company School ส่วนภาพเขียนกาลีกัต ที่แม้จะมีลูกค้ากลุ่มหนึ่งเป็นชาวตะวันตก
แต่มิได้อยู่ภายใต้การอุปถัมภ์ของลูกค้ากลุ่มใดโดยตรง ทำให้มีอิสระในการสร้างสไตล์เฉพาะตัว
พร้อมกับคงความเป็นศิลปะพื้นถิ่นทั้งในแง่เทคนิค สไตล์ และเนื้อหา
ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 เทคนิคการพิมพ์จากแม่พิมพ์แกะไม้และแม่พิมพ์หินได้รับการพัฒนา
และเป็นที่นิยมมากขึ้น ผลทำให้พิมพ์ภาพได้เป็นจำนวนมากและมีราคาถูก
ภาพเทพเจ้าราคาถูกจากกระบวนการพิมพ์ดังกล่าวจึงเริ่มออกมาตีตลาด
ทั้งเป็นของใหม่ที่ผู้คนพากันนิยมเมื่อเทียบกับภาพเขียนที่กลายเป็นของโบราณ
ราคาสูง ปรากฏการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ศิลปินภาพเขียนกาลีกัตจำนวนมากหันไปประกอบอาชีพ
อื่น บ้างไปรับจ้างวาดบล็อกภาพพิมพ์ บ้างกลับไปรับงานปั้น จนถึงราวทศวรรษ
1930 ภาพเขียนกาลีกัตก็หมดยุค และไม่มีผู้สืบทอด
ทุกวันนี้ ยามดูภาพเขียนกาลีกัต นอกจากจะเห็นภาพสะท้อนของชาวเมืองกัลกัตตาในศตวรรษที่
19 เรายังเห็นถึงรากศิลปะวัฒนธรรมอันหลากหลายและแข็งแกร่งของอินเดีย
ที่แฝงอยู่ในฝีแปรงของศิลปินพื้นบ้าน และทวนกระแสอิทธิพลศิลปะตะวันตกที่ลามไหลมาพร้อมกับลัทธิล่าอาณานิคม |