ท้องฟ้าเช้านั้นมีเมฆมาก
แดดจัดจ้าขับกลุ่มก้อนสีขาวให้ดูโดดเด่น นุ่มนวล ราวกับมีเทวดา-นางฟ้ามือบอนโปรยสำลีเล่น
ภูเขา 3 ลูกเรียงกันในแนวเหนือ-ใต้ ขนาบกับลำน้ำโขง ยามเมฆเคลื่อนคล้อยลอยต่ำ
ภาพเบื้องหน้าชวนให้คิดถึงภาพเขียนของตัวเองในวัยเด็ก -ภูเขา
3 ลูก เมฆ 3 ก้อน แม่น้ำอยู่ด้านหน้า นี่ถ้ามีพระอาทิตย์ดวงกลมเพิ่มเข้ามาด้วย
จะสมบูรณ์แบบจนแทบคิดว่าดินแดนที่เด็กน้อยเคยจินตนาการถึงนั้นมีอยู่จริงๆ
แพขนานยนต์ 2-3 ลำ จอดเลียบริมลำน้ำโขงฝั่งตะวันออก พลันเมื่อรถที่ผมโดยสารมาขยับขึ้นแพ
จอดนิ่งสนิท แม่ค้าชาวลาวกลุ่มหนึ่งก็กรูกันเข้ามา ร้องเรียกขายของให้
ทั้งฝักบัว ข้าวเหนียวปิ้ง เนื้อย่าง จิ้งหรีดเสียบไม้ทอด ฯลฯ
ผมส่ายหน้าปฏิเสธแม่ค้าทุกราย พาตัวเองหลบไปยืนอยู่ริมขอบแพ
สูดอากาศบริสุทธิ์ มองดูภูเขาเบื้องหน้าแล้วคิดถึงปราสาทขอมโบราณที่ซุกซ่อนตัวอยู่ในแนวเขา
นั้น
"ใช่! ที่นั่น-ปราสาทวัดภู มรดกโลกแห่งที่สองของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
คือจุดหมายของผม"
ยืนชมธรรมชาติครู่หนึ่ง หันกลับมาอีกครั้งผู้คนก็เต็มแพแล้ว
จังหวะนั้นเองสายตาผมเหลือบไปเห็นนักเดินทางชาวไทยผู้หนึ่ง กำลังเอร็ดอร่อยอยู่กับการกิน
"ขนมจีน" ผมจึงคิดอยากจะลองลิ้มชิมรสบ้าง บอกแม่ค้าชาวลาว
เธอพยักหน้าเข้าใจ หยิบขนมจีน ตักน้ำยากะทิราด โรยผักให้ เสร็จแล้วก็ยื่นให้ผมพร้อมกับอุปกรณ์ชิ้นสำคัญอย่าง
ตะเกียบ
คนลาวกินขนมจีนกับตะเกียบ ผมลองแล้วได้อรรถรสแปลกใหม่ น่าตื่นใจเหมือนกัน
พอดีกับที่ขนมจีนหมดชาม แพขนานยนต์ก็มาเทียบท่าอีกฝั่งหนึ่งของลำน้ำโขง
และเมื่อรถยนต์ลงสู่พื้นดินอีกครั้ง ผมก็รีบกระโดดขึ้นรถทันที
นั่งชมวิวทิวทัศน์สองฝั่งทางอยู่ราว 20 นาที ก็มาถึง "มรดกโลกปราสาทวัดภู"
ซื้อตั๋วเดินชมโบราณวัตถุในพิพิธภัณฑ์ครู่หนึ่งก็ออกไปชมองค์ปราสาท
" ปราสาทวัดภู" ตั้งอยู่บนไหล่เขาด้านทิศตะวันออกของภูเขาลูกหนึ่งในจำนวนกลุ่มภูเขา
3 ลูก ที่เรียงกันอยู่ในแนวเหนือ-ใต้ ภูเขาแต่ละลูกมีชื่อเรียกต่างกันคือ
ตอนเหนือเรียกภูหลวง ตรงกลางเรียกภูจัมปาสัก และตอนใต้สุดเรียกภูเกล้า
" ภูเกล้าเป็นภูสูงที่สุด" มียอดเป็นจุกแหลมคล้ายเกล้ามวยผม
นักวิชาการบางท่านบอกว่า นี่คือ "ลึงคบรรพต" ซึ่งคนโบราณเชื่อว่ามีความสัมพันธ์กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์
จึงได้มีการสร้างเทวสถานขึ้น ณ เชิงเขาและไหล่ภูเขาลูกนี้
ซึ่งนั่นก็คือปราสาทวัดภูนั่นเอง
" ปราสาทวัดภู" สร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 9 (ก่อนเมืองพระนคร)
นักวิชาการบางสายบอกว่า เป็นศาสนสถานสำคัญของชุมชนแถบถิ่นนี้
อันมีเมือง "เศรษฐปุระ" เป็นศูนย์กลาง ซึ่งพบร่องรอยด้านทิศตะวันออกของปราสาท
เป็นเมืองโบราณรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีความยาวกว่า 1 กิโลเมตร
นี่คือเมืองสำคัญของแคว้นเจนละบก ซึ่งชาวเจนละ หรือชาวจามนี่เองที่จะเป็นผู้สร้างปราสาทขอมอันยิ่งใหญ่มากมายในกาลต่อมา
ว่ากันว่า ปราสาทวัดภูนั้นสร้างขึ้นเพื่อถวายพระศิวะในนามว่า
"ทวาย" (ผู้สร้างปะรำ) และนามว่า "ภูเตศวระ"
(ผู้เป็นเจ้าแห่งภูติผี) ซึ่งในยุคนั้น ในค่ำคืนหนึ่งของทุกปี
จะมีการฆ่าคนเพื่อบูชายัญสังเวยแก่ "ภูเตศวระ" ดังพบหลักฐานคือ
แท่นหินแกะรูปจระเข้ และรูปบันไดพญานาค
ผมเริ่มต้นชมวัดภูที่บารายด้านหน้า เดิมมีอยู่ 3 แห่ง สร้างเรียงกันในแนวเหนือใต้
แต่ปัจจุบันเหลือเพียง 2 แห่งเท่านั้น
ถัดจากบาราย เดินมาตามเส้นทางซึ่งครั้งหนึ่ง ผู้ครองเมืองแห่งนี้เคยใช้เพื่อขึ้นไปทำพิธีบูชาเทพเจ้าเบื้องบน
เสานางเรียง ที่บางคนเคยบอกว่าเมื่อกระโน้น (นานมากๆ แล้ว) เขาใช้ผู้หญิง
หรือนางมายืนเรียงรายต้อนรับกันจริงๆ วันนี้บางต้นล้มนอนราบอยู่กับพื้น
บางต้นอยู่ในสภาพเก่าทรุดโทรม มีไลเคน ตะไคร่น้ำ เกาะเขรอะ หากแต่ดูแล้วก็งดงามไปอีกแบบ
ผ่านเสานางเรียงมาได้ ก็พบกับบรรณาลัยขนาบสองข้าง
ชาวลาวเรียกบรรณาลัยนี้ว่า "โรงท้าว" กับ "โรงนาง"
เป็นสถานที่ซึ่งผู้จะขึ้นไปบูชาเทพเบื้องบน ใช้จัดแจงแต่งองค์ทรงเครื่อง
ทั้ง 2 หลังตอนนี้อยู่ในสภาพเก่าทรุดโทรมเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะด้านทิศใต้
ช่วงเวลาที่ผมไปเยือน มีการล้อมรั้วห้ามนักท่องเที่ยวเข้าไปชมด้านใน
ถัดจากบรรณาลัย ไต่ความลาดชันของแนวเขาขึ้นมาอีกขั้น ผมก็ได้พบกับหญิงวัยกลางคน
และหญิงชราชาวลาว
ทั้งคู่ร้องเชิญชวนให้นักท่องเที่ยวซื้อดอกไม้ บายศรีไปไหว้พระ
แต่พระที่ทั้งคู่ว่า เมื่อเหลือบไปเห็นให้รู้สึกแปลกใจจนต้องเขยิบเข้าไปดูใกล้ๆ
จนมั่นใจว่า นี่คือ "ทวารบาล" หรือเทพผู้พิทักษ์ศาสนสถาน
คอยดูแลสอดส่องไม่ให้สิ่งชั่วร้าย แฝงเร้นเข้าไปในสถานที่ศักดิ์สิทธิได้
สำหรับนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ หลังจากไหว้พระ (ทวารบาล) เสร็จ
ก็จะไปให้หญิงชราผูกข้อมือด้วยด้ายสีแดง รับขวัญ ซึ่งเกือบทุกราย
หญิงชราจะทำปากขมุบขมิบอวยพรว่า "ขอให้ร่ำขอให้รวย"
(ทำนองนี้)
จากตำแหน่งที่ตั้งพระ (ในปัจจุบัน) ปีนบันไดลอดต้นจำปาสักขึ้นมาอีกสักพักก็จะเห็นปราสาทประธาน
โดยในวันนี้ ในปราสาทประธานของวัดภู มีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่
ให้นักท่องเที่ยวมากมายเข้าไปกราบไหว้ เสี่ยงเซียมซีดูสนุกสนานครึกครื้นเหมือนงานวัด
"ปราสาทประธานของ "วัดภู" หันหน้าไปทางทิศตะวันออกตามคติความเชื่อ"
ด้านหน้า มีประตูทางเข้า 3 ทาง มีทับหลังอยู่เหนือประตูทั้ง
3 รอย แกะสลักคมกริบ มองเห็นชัดเจน ประตูด้านทิศเหนือและทิศใต้
มีภาพนูนต่ำเทพธิดา และทวารบาล ยืนเฝ้าประตูอยู่
ผมผ่านประตูกลาง เดินเลาะไปจนถึงหลังองค์พระพุทธรูป พบกับปราสาทซึ่งก่อด้วยอิฐหลังหนึ่ง
สภาพตอนนี้ทรุดโทรมมากๆ คาดเดาเอาจากความรู้และประสบการณ์ที่พอมีว่า
ปราสาทหลังนี้คงเป็นเทวสถานที่สร้างขึ้นก่อน โดยผู้คนในชุมชนแถบนี้
จากนั้น เมื่อมีการสร้างเพิ่มเติมโดยกษัตริย์หรือข้าราชสำนักระดับสูงก็สร้างด้วยหิน
ทราย ซึ่งต่อมาด้านหน้า และยิ่งใหญ่อย่างที่เห็นทุกวันนี้
ปราสาทหลังเก่า วันนี้เหลือเพียงผนัง หลังคาไม่มีให้เห็นแล้ว
ด้านในมีต้นไม้ใบหญ้าขึ้นรก
ผมชื่นชมกับองค์ปราสาทพักใหญ่ จากนั้นก็มีคนร้องชวนไปดูภาพแกะสลักด้านหลังปราสาทประธาน
ซึ่งแกะไว้บนผาหินทราย เป็นภาพ "ตรีมูรติ" ตามความเชื่อพราหมณ์-ฮินดู
ท้องฟ้าขณะนั้นมีเมฆมาก แดดจัดจ้าขับกลุ่มก้อนสีขาวดูโดดเด่น
การได้มาชมปราสาทวัดภู มรดกโลกแห่งที่ 2 ของ สปป.ลาว ครั้งนี้
นับเป็นประสบการณ์คุ้มค่าซึ่งยากเกินจะบรรยาย...
|