"ฟ้อนรำระบำเต้น"
คำคล้องจองแต่โบราณกาลที่เป็นต้นกระแสให้มีพัฒนาการเป็น โขน
กับ ละคร (ฟ้อน คำลาว-ระบำ, รำ คำเขมร-เต้น คำลาว)
คำว่าโขนกับละคร เป็นคำเดียวกัน มีรากจากตระกูลชวา-มลายู ว่า
lecon ในราชสำนักเขมรเขียน ละโขน อ่านว่า ละคอน นับเป็น "วัฒนธรรมร่วม"
การละเล่นที่มีลักษณะเฉพาะของสุวรรณภูมิในอุษาคเนย์
โขน การละเล่นรวมหมู่
โขน-ไม่น่าจะมีกำเนิดมาจากการละเล่นอย่างใดอย่างหนึ่งเพียงอย่างเดียว
(อย่างที่เคยอธิบายกันสืบมาว่าโขนมีกำเนิดมาจากชักนาคดึกดำบรรพ์
หรือโขนมีกำเนิดมาจากหนัง เป็นต้น) แต่โขนควรเป็นการละเล่นซึ่งก่อรูปขึ้นมาจากประเพณีหลายๆ
อย่างที่มีอยู่ก่อนแล้วคือหนัง ระบำ รำเต้น ชักนาคดึกดำบรรพ์
และ ฯลฯ ให้รวมเข้าด้วยกันแล้วกลายเป็นสิ่งใหม่เรียกชื่อว่า
"โขน"
แม้บริเวณ ที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา จะยกย่องชื่อ "ทวารวดี"
จากมหากาพย์รามายณะและมหาภารตะมาเป็นชื่อบ้านเมืองและแว่นแคว้น
แต่ก็มิได้หมายความว่าชนชั้นสูงยกย่องศาสนาพราหมณ์หรือฮินดูไว้สูงสุด
เพราะพุทธศาสนามีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน
แท้จริงแล้วทั้ง พุทธศาสนาและศาสนาพราหมณ์หรือฮินดูมีบทบาทสำคัญประสมประสานอยู่ด้วยกันดัง
กรณีเมืองอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรีและเมืองละโว้ จังหวัดลพบุรี
ล้วนมีศาสนวัตถุสถานที่เนื่องในพุทธและพราหมณ์อยู่พร้อมๆ กันมาตั้งแต่ยุคแรกรับแบบแผนจากอินเดีย
และยังมีระบบความเชื่อดั้งเดิมคือผีอยู่ด้วย
เมื่อมีระบบความเชื่อ อย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นมาย่อมเป็นเรื่องธรรมดาๆ
ที่ผู้เป็นใหญ่ในสังคมนั้นๆ จะต้องจัดให้มีการละเล่นเพื่อเสริมความขลังและศักดิ์สิทธิ์
ให้ระบบความเชื่อนั้นๆ เพราะฉะนั้นบ้านเมืองที่ยกย่องคติรามายณะ
ก็ควรจะมีการละเล่นที่เกี่ยวข้องกับเรื่องรามเกียรติ์ (ถือเป็นชื่อพื้นเมือง)
แม้ว่าระบบความเชื่อในยุคแรกๆ จะยังปะปนกันระหว่างพุทธกับพราหมณ์
(หรือจะเรียกฮินดูก็ตามที) และผี แต่ลักษณะผสมดังกล่าวก็มิได้เป็นอุปสรรคที่จะจัดให้มีการละเล่น
น่าเชื่อว่ามีการละเล่นที่เกี่ยวข้องกับระบบความเชื่อ เช่น
รามเกียรติ์หรือมหาภารตะเรื่องใดเรื่องหนึ่งแล้วตั้งแต่ยุคทวารวดี
เพราะชื่อบ้านเมืองว่าทวารวดีมีความศักดิ์สิทธิ์มาจากมหากาพย์
2 เรื่องนี้
แต่ก็น่าเสียดาย เพราะยังไม่พบหลักฐานเกี่ยวกับการละเล่นดังกล่าว
ที่พอจะเห็นร่องรอยความต่อเนื่องบ้างก็คือความเชื่อตามคติ "จักรพรรดิราช"
ในราชสำนักเขมร ซึ่งแสดงออกในพระราชพิธี "อินทราภิเษก"
เช่น สมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 (พ.ศ.1656-หลัง พ.ศ.1688 และเชื่อว่าพระเจ้าสุริยวรมันที่
2 เกี่ยวดองเป็นวงศ์ญาติกับกษัตริย์ราชวงศ์มหิธรปุระแห่งลุ่มน้ำมูลละแวกพิมาย
-พนมรุ้งในเขตอีสานใต้)
การชักนาคกวนน้ำอมฤตหรือกวนเกษียรสมุทรน่าจะเป็นการละเล่นมหึมาอยู่ในราชสำนักพระ
เจ้าสุริยวรมันที่ 2 เพราะมีภาพสลักเรื่องนี้อยู่ที่ปราสาทนครวัด
และมีความสืบเนื่องมาเป็นการละเล่นอยู่ในราชสำนักสยามในลุ่มน้ำเจ้าพระยา
ก่อนสมัยกรุงศรีอยุธยา จนกระทั่งตราไว้ในกฎมณเฑียรบาลชื่อ "ชักนาคดึกดำบรรพ์"
ในพระราชพิธีอินทราภิเษกซึ่งยกย่องว่าเป็นแบบแผนที่พระเจ้าแผ่นดินกรุง
ศรีอยุธยายุคแรกๆ จัดให้มีขึ้น
หลังสถาปนากรุงศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ.1893 แล้ว พระราชพิธีอินทราภิเษก
ที่มีการละเล่นเกี่ยวข้องกับชักนาคดึกดำบรรพ์มิได้จัดให้มีขึ้นทุกรัชกาล
เท่าที่มีบันทึกอยู่ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาจะมีประมาณ
3 ครั้ง คือในแผ่นดินสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ครั้งหนึ่ง ในแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิครั้งหนึ่ง
และในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าปราสาททองอีกครั้งหนึ่ง (ความจริงอาจมีมากกว่านี้
แต่ก็ไม่ทุกรัชกาล)
หลังแผ่นดินสมเด็จพระ เจ้าปราสาททองแล้วไม่พบร่องรอยการละเล่นชักนาคดึกดำบรรพ์อีกเลย
แต่มีชื่อ "โขน" เกิดขึ้นครั้งแรกในสมัยสมเด็จพระนารายณ์
เรื่องที่เล่นโขนมาจากรามายณะของอินเดีย เมื่อไทยรับรามายณะฉบับทมิฬ-อินเดียใต้มาแล้วจึงเรียกภายหลังว่ารามเกียรติ์
โขน-เป็นการละเล่นที่ค่อยๆ ก่อรูปขึ้นช่วงใดช่วงหนึ่งระหว่างแผ่นดินสมเด็จพระรามาธิบดีที่
2 (พ.ศ.2034-2072) กับแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง (พ.ศ.2172-2199)
เพราะเมื่อถึงแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ โขนที่เคยศักดิ์สิทธิ์อยู่ในราชสำนักก็กลายเป็นมหรสพเล่นอยู่ในโรงเพื่อต้อน
รับอัครราชทูตลาลูแบร์เรียบร้อยแล้ว
รามเกียรติ์จากทมิฬ-อินเดียใต้
ละคร-เล่นเรื่องรามเกียรติ์และเรื่องอื่นๆ ได้ทุกเรื่อง เมื่อประกาศเล่นละครจึงต้องบอกว่าเล่นเรื่องอะไร
โขน-เล่น รามเกียรติ์เรื่องเดียวเท่านั้นไม่เล่นเรื่องอื่น
ฉะนั้น จึงไม่ต้องประกาศว่าโขนเรื่องรามเกียรติ์ เพราะโขนเล่นเรื่องอื่นไม่ได้
การประกาศโขนจะบอกชื่อตอนหรือชุดจากเรื่องรามเกียรติ์ เช่น โขนชุดนางลอย
โขนชุดนาคบาศ โขนชุดจองถนน เป็นต้น
เรื่อง "รามเกียรติ์" ที่แพร่หลายอยู่ในดินแดนสยามมาแต่โบราณ
(รวมทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) มิได้มีต้นตอมาจาก "รามายณะ"
ฉบับของมหากวีวาลมีกิโดยตรง เพราะมีข้อแตกต่างกันมาก ดังที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงพระราชนิพนธ์ตั้งข้อสังเกตไว้หลายประการในหนังสือ บ่อเกิดรามเกียรติ์
แท้ ที่จริงแล้ว รามเกียรติ์ฉบับชาวสยามมีต้นเรื่องมาจากรามายณะฉบับของชาวทมิฬในอินเดียภาค
ใต้ ดังที่พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลาภพฤฒิยากร ทรงพระนิพนธ์ไว้
(เมื่อ พ.ศ.2479 และ พ.ศ.2499) แล้วทรงอธิบายเพิ่มเติมต่อไปอีกว่าชาวอินเดียใต้สมัยราชวงศ์ปัลลวะและคุปตะ
นำเรื่องนี้เข้ามาเผยแพร่ ต้นเรื่องรามเกียรติ์น่าจะเป็นรามายณะฉบับท้องถิ่นอินเดียใต้
ตลอดจนหนังสือปุราณะประจำถิ่นนั้น
นอกจากนี้เมื่อไทยรับนับถือพระ ศิวะหรือพระอิศวรเป็นเทพแห่งไสยผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดแล้ว
บรรดาปุราณะของพวกไศวะคือพวกที่นับถือพระศิวะเป็นใหญ่ ได้แก่
ลิงคปุราณะ และศิวปุราณะ ก็ได้มามีอิทธิพลต่อเรื่องพระรามในไทยด้วย
หน้ากากรามเกียรติ์
ในกฎมณเฑียรบาลมิได้ระบุแบบแผนการแต่งเครื่องของผู้เล่นชักนาคดึกดำบรรพ์ที่เป็นเทวดา
วานร ยักษ์ และทวยเทพชั้นสูงต่างๆ
แต่ก็มีภาพสลักรูปอสูรและเทวดาตลอดจนรูปต่างๆ เป็นต้นเค้าอยู่บนผนังปราสาทหินในเขมรและภาคอีสานของไทย
เช่น ปราสาทพิมาย ปราสาทพนมรุ้ง และปราสาทนครวัด ฯลฯ
เอกสารของลาลูแบร์รายงานว่าผู้ เล่นโขน (และระบำ) นุ่งผ้าแต่ไม่สวมเสื้อจึงแต่งเครื่องประดับกับตัวเปล่า
แต่มีเทริดสวมหัวอย่างเครื่องแต่งตัวขุนนางสมัยนั้น
พระเจ้าบรมวงศ์ เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ทรงแปลเอกสารลาลูแบร์ที่รายงานเรื่องโขนตอนหนึ่ง
ทรงถอดคำว่า Mask เป็นไทยว่า "หน้าโขน" ทุกครั้ง มิได้ทรงใช้ว่า
"หัวโขน" เลย
หน้าโขน -หมายถึงหน้ากากใช้ในการละเล่นโขนสมัยแรกๆ ที่ยังไม่มีหัวโขน
หน้าโขนใช้ปิดหน้าเป็นรูปต่างๆ มีตัวอย่างคือ หน้ากากพรานบุญในโนราชาตรี
ตำรา ไหว้ครูและครอบโขนละครฉบับหลวงสมัยรัชกาลที่ 4 ที่ตกทอดมาจากกรุงศรีอยุธยาไม่เรียก
"หัว" แต่ล้วนเรียก "หน้า" ทั้งหมด เช่น
หน้าฤๅษี หน้าทศกัณฐ์ หน้าพระราม หน้าพระลักษมณ์ หน้าหนุมาน
หน้าช้าง หน้าม้า ฯลฯ
ลักษณะหน้าโขนอาจมีพัฒนาการมาจากหน้ากากผีบรรพบุรุษใน การละเล่นดั้งเดิม
เช่น หน้ากากปู่เยอญ่าเยอที่เล่นในวันสงกรานต์แถบล้านช้าง และอาจสัมพันธ์กับการพอก
(แต่ง) หน้าในการละเล่น "กถากลิ" เรื่องรามายณะ (รามเกียรติ์)
ของแคว้นทมิฬในอินเดียภาคใต้
ถ้าผู้เล่นชักนาคดึกดำ บรรพ์ใส่หน้ากากหรือหน้าโขนเป็นรูปยักษ์-ลิง
ย่อมสอดคล้องกับรายงานลาลูแบร์ที่ว่าสวมเทริดอยู่บนหัว เพราะยังไม่มีหัวโขน
ถ้ามีหัวโขนแล้ว และเมื่อผู้เล่นสวมหัวโขนก็ไม่ต้องสวมเทริดซ้อนหัวโขนเข้าไปอีก
เพราะฉะนั้นก็เชื่อได้ว่าการละเล่นชักนาคดึกดำบรรพ์ในพระราชพิธีอินทราภิเษกนั้น
ผู้เล่นใส่หน้ากากหรือหน้าโขนเป็นวานร อสูร และเป็นตัวต่างๆ
ที่ระบุไว้ในเรื่องรามเกียรติ์แล้วสวมเทริดอยู่บนหัวอีกชั้นหนึ่ง
ต่อมาจึงพัฒนาหน้าโขนให้ยึดติดกับเทริดแล้วสวมหัวปิดหน้าปิดหัวมิดชิดเป็นรูปร่างหน้าตาต่างๆ
จึงเรียกหัวโขน
หัวโขน-อาจจะเริ่มก่อรูปขึ้นเมื่อสมัยปลายกรุงศรีอยุธยา ราวแผ่นดิน
พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศหรือหลังๆ มาเล็กน้อย แล้วเจริญมากขึ้นในแผ่นดินสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยแห่งกรุงรัตนโกสินทร์
ดังที่ทรงประดิษฐ์หัวโขนเรียก "พระยารักน้อย-พระยารักใหญ่"
ท่าเต้นโขน ยักษ์, ลิงได้จากท่ากบขอฝน 2,500 ปีมาแล้ว
ถีบเหลี่ยม เป็นศัพท์โขน ใช้เรียกการฝึกหัดเบื้องต้นเพื่อดัดส่วนขาให้อยู่ในท่าตั้งเหลี่ยมที่ต้อง
การ คนที่หัดเป็นยักษ์และลิงต้องย่อให้ได้เหลี่ยมตรง หมายถึงยืนหลังตรง
ย่อขา แบะเข่าทั้งสองข้างให้เป็นเส้นตรงออกไป เข่าซ้ายแบะไปทางซ้าย
เข่าขวาแบะออกไปทางขวา จนส่วนโค้งของเข่าเป็นมุมฉาก
ท่าโขนตั้ง เหลี่ยมตรงหรือตั้งเหลี่ยมอัดหน้าตรง ไม่มีในท่าฟ้อนรำต่างๆ
93 ท่า ที่จิทัมพรัมในอินเดีย (ดูลายเส้นในหนังสือละครฟ้อนรำ
พระนิพนธ์ สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์เมื่อ
พ.ศ.2546)
แต่ท่าโขนเหล่านี้มีตรงกับท่ากบ (ขอฝน) ในภาพเขียนสีทั้งที่พบในมณฑลกวางสีกับที่พบในภาคอีสานของไทย
อายุราว 2,500 ปีมาแล้ว ผมเขียนเล่าไว้ในหนังสือคนไทยอยู่ที่นี่
ที่อุษาคเนย์ (มหาวิทยาลัยศิลปากร พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2537) ว่าภาพเขียนสีบนผาลายในมณฑลกวางสีเป็นรูปคนจำนวนนับพัน
ทำท่าเดียวกันคือยืนย่อเข่า ถ่างแข้งถ่างขาสองข้าง เหมือนท่ายักษ์
ท่าลิงในโรงโขนกรมศิลปากร
ท่ากบ หมายถึงคนทำท่าเป็นกบที่ยกย่องเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์
บันดาลให้มีน้ำฝนไว้ทำไร่ไถนา เกิดความอุดมสมบูรณ์ ประเพณีอย่างนี้มีทั่วไปทุกชาติพันธุ์ในอุษาคเนย์
ภาพสลักบนปราสาท หินในกัมพูชาและในอีสาน มีกองทหารนุ่งโจงกระเบนทำท่าเดินทัพ
(หรือสวนสนาม) ตัดไม้ข่มนามก่อนออกรบในสมรภูมิ ล้วนตั้งเหลี่ยมอัดหน้าตรงไปในทิศทางเดียวกันเหมือนท่ากบ
แสดงว่าเป็นแบบแผนพื้นเมืองอุษาคเนย์ที่ได้จากท่ากบ (ขอฝน) อันเป็นท่าเต้นศักดิ์สิทธิ์
แบบแผนภาพสลักจากท่ากบนี่เอง เป็นต้นแบบให้ท่ายักษ์ท่าลิงของโขนสืบมาจนถึงทุกวันนี้
ถ้าดูดีๆ จะเห็นว่าท่าเซิ้งบั้งไฟกับท่ารำมวยโบราณของอีสานก็มีต้นเค้ามาจากท่ากบเดียวกันนี่แหละ...
(ที่มา : คอลัมน์สยามประเทศไทย ในมติชน ฉบับวันศุกร์ที่ 19
มิถุนายน 2552)
|