กรมศิลปากรได้จัดกิจกรรมสื่อมวลชนสัญจร
"เส้นทางข้ามคาบสมุทรตะกั่วป่า-อ่าวบ้านดอน เชื่อมโยงเส้นทางการค้าทางทะเลโลก"
โดยพาคณะสื่อมวลชนตระเวนเยี่ยมชมโบราณสถาน แหล่งโบราณคดี และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติในพื้นที่จังหวัดชุมพร
ระนอง สุราษฏร์ธานี พังงา และนครศรีธรรมราช เมื่อเร็วๆ นี้
ตลอดเส้นทางทีมงานนักโบราณคดี กรมศิลปากร ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดีที่เป็นหลักฐานเส้นทางข้ามคาบสมุทร
ตะกั่วป่า-อ่าวบ้านดอน เพื่อให้สื่อมวลชนแขนงต่างๆ ได้นำเสนอข้อมูลเรื่องราวเผยแพร่สู่สาธารณชน
เส้นทางการค้าทางทะเล โลก "คาบสมุทรตะกั่วป่า-อ่าวบ้านดอน"
นี้ ถูกค้นพบโดยสำนักศิลปากรที่ 15 ภูเก็ต หลังจากที่พบหลักฐานข้อมูลที่ทำให้สันนิษฐานได้ว่า
เส้นทางข้ามคาบสมุทรอันดามัน-อ่าวไทย ที่มีทุ่งตึกเป็นเมืองท่าฝั่งตะวันออก
และแหลมโพธิ์เป็นเมืองท่าฝั่งตะวันตก เนื่องจากหลักฐานที่ค้นพบ
เช่น ลูกปัดชนิดต่างๆ เศษกระเบื้อง เครื่องภาชนะดินเผา ต่างพบว่ามีอายุอยู่ในยุคเดียวกัน
จุดแรกที่คณะสื่อมวลชนเดินทางไป เยี่ยมชม คือ ภูเขาทอง จ.ระนอง
เป็นโบราณสถานที่มีลักษณะเป็นเนินเขาเล็กๆ ไม่ใหญ่มาก สภาพบริเวณโดยรอบมีการแอบลักลอบขุดจนเป็นหลุมบ่อจำนวนมาก
โบราณวัตถุที่พบ ได้แก่ ลูกปัดแก้วแบบอินโดแปซิฟิกบีดส์ มีลักษณะในหนึ่งเม็ดมีสีเดียว
ใช้เทคนิคการทำด้วยการดึงแก้วให้มีลักษณะเป็นแท่งหลอดแล้วนำมาตัดเป็นชิ้นๆ
จากนั้นนำมาเผาด้วยไฟความร้อนสูงอีกครั้ง เพื่อลบเหลี่ยมให้มีลักษณะโค้งมนสวยงาม
โดยสถานที่แห่งนี้มีลูกปัดจำนวนมากจนเพียงพอและสามารถสรุปได้ว่าเป็นแหล่ง
ผลิตลูกปัดที่มีอายุประมาณ 2,000 ปี มาแล้ว นอกจากนี้ ยังพบหลักฐานอื่นๆ
อีกเช่น ลูกปัดทอง มีลักษณะเทคนิคการทำที่คล้ายกับดินแดนฝั่งตะวันออกกลางที่นำทองคำเม็ดเล็กๆ
มาติดกันเป็นรูปร่างที่เรียกว่า "โกลด์บีดส์" และที่สำคัญยังพบภาชนะดินเผาแบบรูเล็ทเทดแวร์เป็นจำนวนมาก
ซึ่งเป็นชนิดเดียวกับที่พบในประเทศอินเดีย โดยเชื่อว่ามีแหล่งผลิตจากตอนใต้ของประเทศอินเดีย
รัฐทมิฬนาดู หรือไม่ก็ลุ่มแม่น้ำคงคา
จากนั้นคณะสื่อมวลชนได้มุ่งหน้าเข้าสู่ตำบล บางนายสี อ.ตะกั่วป่า
จ.พังงา จุดมุ่งหมายคือ เขาพระเหนอ มีลักษณะเป็นเขาลูกเล็กๆ
ตั้งอยู่ตรงข้ามกับแหล่งโบราณคดีทุ่งตึก โดยการเดินทางไปที่แห่งนี้ต้องเปลี่ยนจากรถเป็นเรือเล็ก
แล้วล่องทวนน้ำขึ้นไปบริเวณปากแม่น้ำตะกั่วป่า จากนั้นต้องลุยโคลนป่าชายเลนเพื่อเข้าไปสู่ตัวเขาพระเหนอ
ที่มีการขุดพบโบราณวัตถุอายุราว 1,000 ปีเศษ ลักษณะโบราณวัตถุที่พบคือทางเดินที่ปูด้วยอิฐขึ้นไปสู่ยอดเขาที่มีรูปปั้น
พระนารายณ์ประดิษฐานอยู่บนจุดสูงสุด รูปปั้นนี้มีลักษณะทางกายวิพาคเหมือนกับมนุษย์
กล่าวคือมีการแสดงกล้ามเนื้อที่เหมือนมนุษย์ ซึ่งในการปั้นนั้นจำเป็นต้องใช้ช่างที่มีฝีมือสูง
โดยรูปปั้นบนยอดเขาพระเหนอจะอยู่บริเวณปากแม่น้ำตะกั่วป่า ซึ่งสื่อให้เห็นว่ารูปปั้นนี้อาจมีความหมายโดยใช้เป็นสัญลักษณ์หรือเป็นที่
หมายตาในการเดินทางค้าขาย แต่ปัจจุบันนี้รูปปั้นได้ถูกนำมาเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระ
นคร กรุงเทพฯแล้ว
ลงจากเขาพระเหนอแล้ว นักโบราณคดีของกรมศิลปากรก็พานั่งเรือข้ามแม่น้ำตะกั่วป่ามุ่งหน้าสู่โบราณ
สถานทุ่งตึก ที่ตั้งอยู่ฟากตรงข้าม ที่ทุ่งตึกนี้มีการขุดค้นพบโบราณสถานถึง
8 แห่ง แสดงให้เห็นว่าสถานที่แห่งนี้เคยมีชุมชนใหญ่มาก่อน โดยทุ่งตึกเป็นท่าที่อยู่ทางทิศตะวันตกหรือชายฝั่งทะเลอันดามัน
เป็นจุดเริ่มต้นของเส้นทางการค้าทางทะเลโลก ซึ่ง ณ ทุ่งตึกนี้
ตั้งอยู่ฝั่งตะวันออกของเกาะคอเขาพอดี ดังนั้น จึงมีเกาะคอเขาเป็นกำบังลมทำให้สามารถจอดเรือได้ทุกฤดูกาล
นอกจากพบโบราณสถานแล้ว ยังพบโบราณวัตถุที่สำคัญอีกคือ โบราณวัตถุที่เป็นสินค้าฟุ่มเฟือย
หรือสินค้าชั้นดีสำหรับคนรวย ที่ถูกนำเข้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะเครื่องถ้วยจีนในราชวงศ์ถัง
เครื่องถ้วยเปอร์เซีย และภาชนะแก้วเขียนสีที่ถูกนำมาจากตะวันออกกลาง
ภาชนะแก้วจากซีเรีย ส่วนลูกปัดที่พบเป็นลูกปัดชนิดโมเสคที่ใช้เทคนิคขั้นสูง
โดยใช้สีหลายสีจนลูกปัดมีรูปทรงและสีสันที่สวยงาม นับว่าเป็นลูกปัดที่สวยที่สุดในประเทศไทยเลยทีเดียว
สถานที่ต่อมา คือ เขาพระนารายณ์ หรือเขาเวียง ตั้งอยู่ปริเวณต้นแม่น้ำตะกั่วป่าในเขตตำบลบ้านเหล
อ.กะปง จ.พังงา มีลักษณะเป็นภูเขาสูง ซึ่งรัชกาลที่ 6 เคยเสด็จประพาสเมื่อ
พ.ศ.2452 ทรงพบเทวรูปพระนารายณ์พร้อมบริวารอีก 2 องค์ ตั้งอยู่บริเวณด้านล่างภูเขา
จึงนำไปประดิษฐานไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร เทวรูปกลุ่มนี้มีหลักฐานระบุได้อย่างชัดเจนว่า
เคยประดิษฐานบนยอดเขาพระนารายณ์ แต่ที่พบบริเวณด้านล่างภูเขา
เนื่องจากพม่าเคยมาตีดินแดนบริเวณนี้ และต้องการนำเทวรูปกลับประเทศ
แต่ไม่สามารถนำไปได้ เพราะเกิดอาเพศฝนตกห่าใหญ่ จึงวางพิงต้นไม้ไว้
จา นั้นคณะสื่อมวลชนนั่งรถเข้าสู่ฝั่งตะวันออกของ จ.สุราษฎร์ธานี
ไปที่ควนพุนพิน ตำบลท่าข้าม อ.พุนพิน ตั้งอยู่ตรงแม่น้ำพุมดวงและแม่น้ำตาปีไหลมาบรรจบกันพอดี
เป็นแหล่งโบราณสถานที่แตกต่างจากแหล่งโบราณคดีแห่งอื่นๆ คือเป็นแหล่งโบราณคดีที่มีลักษณะอารยธรรมเป็นแบบศาสนาพุทธ
แต่โบราณสถานแห่งอื่นๆ จะเป็นอารยธรรมแบบฮินดู หรือพราหมณ์ ที่ควนพุนพินแห่งนี้มีการขุดพบพระพิมพ์ดินดิบ
พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร และยังเป็นแหล่งค้นพบลูกปัดเป็นจำนวนมากด้วย
คณะสื่อมวลชนเดินทางต่อ ไปจนถึง เขาศรีวิชัย ภูเขาลูกสุดท้ายก่อนที่จะเข้าสู่หาดแหลมโพธิ์
เมืองท่าฝั่งตะวันออก เป็นภูเขาลูกเดียวโดดๆ บนพื้นที่ราบ อยู่ห่างจากแม่น้ำพุมดวงประมาณ
400 เมตร พบโบราณสถานตามแนวสันเขาถึง 8 แห่ง หลักฐานทางโบราณคดีที่พบคือพระนารายณ์องค์ใหญ่
อายุราวพุทธศตวรรษที่ 13 นอกจากนี้ ยังพบเครื่องถ้วยสมัยราชวงศ์ถังของจีน
เครื่องถ้วยเปอร์เซีย ภาชนะแก้ว ภาชนะดินเผาพื้นเมือง และลูกปัดชนิดต่างๆ
อีกมาก
โบราณสถานแห่งสุดท้าย แหลมโพธิ์ ตำบลพุมเรียง อ.ไชยา จ.สุราษฏร์ธานี
มีหลักฐานทางโบราณคดีที่ขุดพบ คือเครื่องถ้วยสมัยราชวงศ์ถังของจีน
เครื่องถ้วยเปอร์เซีย เหรียญจีนยุคไกหยวน เครื่องถ้วยพื้นเมืองจำนวนมาก
ลูกปัดภาชนะแก้ว และซากของหางเสือเรือ
ร.อ.บุณยฤทธิ์ ฉายสุวรรณ หัวหน้ากลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่
15 ภูเก็ต กรมศิลปากร ซึ่งเป็นวิทยากรและผู้นำทาง ได้บอกเล่าข้อมูลเส้นทางข้ามคาบสมุทรตะกั่วป่า-อ่าวบ้านดอน
ว่ามีอายุประมาณ 400 ปี คืออยู่ในช่วงระหว่างพุทธศตวรรษที่ 13-16
หรือประมาณ 1,000-1,300 ปีมาแล้ว โดยจากหลักฐานพบว่า ทุ่งตึกเป็นแหล่งโบราณสถานที่มีความร่วมสมัยกับแหลมโพธิ์
กล่าวคืออยู่ในช่วงระยะเวลาเดียวกัน แหลมโพธิ์นี้เป็นเมืองท่าทางทิศตะวันออกมีโบราณวัตถุที่เหมือนกันกับทุ่งตึก
มาก เพียงแต่สัดส่วนที่พบนั้นมีจำนวนไม่เท่ากัน ทุ่งตึกพบโบราณวัตถุจากดินแดนทางฝั่งตะวันตก
เช่น จากประเทศอินเดีย และดินแดนตะวันออกกลาง มากกว่า ส่วนแหลมโพธิ์จะพบโบราณวัตถุจากดินแดนฝั่งตะวันออก
เช่น จีน มากกว่า
" โดยเส้นทางการค้าสายนี้ ถ้าเริ่มจากฝั่งตะวันตกจุดเริ่มต้นจะอยู่ที่ทุ่งตึก
เกาะคอเขา จ.พังงา ที่เป็นเมืองท่าขนาดใหญ่ เป็นจุดแวะพักและขนถ่ายสินค้าจากเรือใหญ่ลงเรือเล็ก
แล้วล่องเรือทวนน้ำขึ้นไปทางปากแม่น้ำตะกั่วป่า ตรงเขาพระเหนอ
ทวนแม่น้ำไปเรื่อยๆ จนถึงเขาพระนารายณ์ อ.กะปง ซึ่งเป็นต้นแม่น้ำตะกั่วป่า
จะมีคลองรมณีและคลองเหลไหลมาบรรจบกัน แล้วจะล่องเรือเข้าไปทางคลองรมณีไปจนถึงบ้านท่าหัน
อ.กะปง ซึ่งเรือไม่สามารถเดินต่อไปได้อีก จึงเรียกว่า ท่าหัน
จึงใช้เส้นทางเดินบกไปตามลำธารน้ำตื้นๆ ตามคลองหินลับ หรือล่องเขาสก
เพื่อไปอีกด้านของเขาสกที่มีคลองสก อยู่ในเขตอ.พนม จ.สุราษฏร์ธานี
โดยจะมีท่าต้นไทร ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนขนย้ายสินค้าลงเรือเล็กอีกครั้ง
แล้วล่องตามคลองสกที่ไหลลงแม่น้ำพุมดวงมาเรื่อยๆ จนผ่านควนพุนพิน
เลยไปจนถึงชุมชนที่บริเวณเขาศรีวิชัย ออกสู่ทะเลเลียบชายฝั่งอ่าวไทยตรงอ่าวบ้านดอน
ไปจอดอีกครั้งที่เมืองท่าแหลมโพธิ์ เพื่อขนถ่ายสินค้าขึ้นเรือใหญ่หรือค้าขายกับประเทศฝั่งตะวันออกต่อไป
" ซึ่งจากโบราณสถานและโบราณวัตถุที่ถูกขุดค้นพบทั้งหมดนี้
สามารถเป็นหลักฐานบ่งชี้ได้อย่างชัดเจนเลยว่า มีดินแดนใดที่เข้ามาติดต่อและใช้เส้นทางการค้านี้บ้าง
อย่างประเทศอินเดีย โบราณวัตถุที่ค้นพบ เช่น เครื่องภาชนะแบบรูเล็ทเทดแวร์
ประเทศตะวันออกกลางจากหลักฐานลูกปัดเปอร์เซีย และจีน จากหลักฐานเครื่องประดับในยุคราชวงศ์ถัง
เครื่องถ้วยแบบฉางฉ่า เครื่องถ้วยเคลือบแบบยั่ว เครื่องถ้วยแบบเหมยเซียน
นอกจากนี้ ยังพบหลักฐานจากประเทศอื่นๆ เช่น อียิปต์ ซีเรีย มาเลเซีย
อีกด้วย"
ร. อ.บุณยฤทธิ์ได้สรุปความสำคัญของ "เส้นทางข้ามคาบสมุทรตะกั่วป่า-อ่าวบ้านดอน"
ซึ่งมีทุ่งตึกและแหลมโพธิ์เป็นเมืองท่าว่า มีความสำคัญอย่างมาก
เพราะเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางสายไหมทางทะเล เป็นจุดที่เชื่อมโยงระบบการค้าทางทะเลของโลกระหว่างฝั่งตะวันตกและตะวันออก
ของแหลมมาลายูเข้าด้วยกัน เป็นที่ขนถ่ายสินค้าและติดต่อค้าขายของประเทศฝั่งคาบสมุทรแปซิฟิกกับฝั่งคาบ
สมุทรอินเดีย จึงสมควรอย่างยิ่งหากจะกล่าวว่า
"ประเทศไทย คือศูนย์กลางการค้าของโลกในอดีต"
|