ถ้าวัดกันตามจำนวนปริมาณ
และความถี่ในการเดินทางไปต่างจังหวัดแล้ว ชลบุรีคงเป็นจังหวัดที่แทบจะทำลาย
สถิติในชีวิตของฉันเลยก็ว่าได้ เพราะในรอบหนึ่งปีฉันมีภารกิจต้องไปทำธุระในจังหวัดดังกล่าวมากมาย
ไม่ว่า เรื่องงานหรือเรื่องส่วนตัว ประมาณว่า ถ้าเดือนไหนไม่ได้ไปก็ถือว่าเป็นเรื่องน่าแปลกใจอย่างยิ่ง
(ทั้งกับตัวฉันเองและคนใกล้เคียง)
ทว่าวันนี้ แม้ฉันจะมาจังหวัดชลบุรีอีกครั้ง แต่ก็มีเรื่องให้ฉันต้องแปลกใจอย่างยิ่ง
(อีกแล้ว) ไม่ใช่แปลกใจบรรยากาศ หรือผู้คนหรอก แต่แปลกใจตัวเองมากกว่าที่มัวไปเตร็ดเตร่อยู่ที่ไหนไม่รู้
ถึงไม่มีโอกาสไปเยือนสถานที่บางแห่งซึ่งสวยงาม และมีเรื่องราวน่าสนใจเข้าขั้นไม่ควรพลาด
นี่ถ้าคนใกล้ตัวไม่หาทางมัดมือแล้วชก เอ๊ย ลากจูงไปด้วย คงเอาแต่นอน
(กิน) จนตัวกลิ้งหรือย่ำหาดทรายชายทะเลเล่นมิวสิควิดีโออยู่ร่ำไป
เอาเถอะ! อย่างไรเสียฉันก็ได้มีโอกาสไปมาแล้วเมื่อเร็วๆนี้ ไม่ให้เสียทีที่เป็นขาประจำของจังหวัดชายฝั่งอ่าวไทยแห่งนี้
หลังจากสรรหาช่วงเวลาที่เหมาะสมแล้ว ฉันกับเพื่อนตกลงใจใช้เวลาวันอาทิตย์ทั้งวันไปตามสถานที่ที่ไม่เคยไปเยือน
มาก่อนทั้งสองแห่ง อย่าเพิ่งตกใจว่า เอ๊ะ ไปสองแห่งใช้เวลาทั้งวันเลยหรือ
อยากบอกว่า จริงๆแต่ละที่ก็กินเวลาไปอย่างละ ครึ่งวันแล้ว ยิ่งมากับกลุ่มที่ชอบเก็บรายละเอียดหรือภาพสวยๆโน่นนิดนี่หน่อยตามเบี้ยบ้าย
รายทางอย่างกลุ่มเพื่อนฉันด้วย ก็เป็นอันว่า หนึ่งวันนี่ละที่จะมอบให้กับ
"อุทยานสามก๊ก" ในช่วงสายและหลังเที่ยงจนถึงบ่ายจึงไปชม
"ปราสาทสัจธรรม"
๑.
"ไปอ่านสามก๊กบนผนังกันเถอะ"
เชื่อว่าหลายคนคงคุ้นเคยกับชื่อ "สามก๊ก" กันมานาน
เพราะถือเป็นพงศาวดารประวัติศาสตร์จีนที่ได้รับการบอกเล่าขาน
มาหลายต่อหลายรุ่น คติต่างๆที่แฝงในเนื้อหาตำรายุทธพิชัยสงครามในอดีตได้นำมาประยุกต์ใช้เป็น
ตำราในการดำเนินชีวิต และการบริหารธุรกิจในหลายองค์กรจนเปรียบเสมือนคัมภีร์เก่าแก่ที่ทรงคุณค่า
ยิ่ง และคงความนิยมในกลุ่มผู้สนใจอย่าง แพร่หลายผ่านสื่อมากมาย
แต่ฉันก็ยังไม่เชื่อว่าจะมีสามก๊กอยู่บนผนังกำแพงให้สามารถอ่านได้ตามคำชวน
ของเพื่อนเจ้าถิ่น จนกระทั่ง ๑๐.๐๐ น. กว่าๆ ของวันนั้นฉันจึงบอกกับตัวเองว่า
ไม่เชื่อก็อย่าไปคิดว่าไม่มี!
บนเนื้อที่กว่า ๓๖ ไร่ห่างจากถนนสุขุมวิทประมาณ ๑๕ กิโลเมตร
ข้างซอยแม่ลาปลาเผา ในเขตตำบลโป่ง อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี
เมื่อวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๘ คุณเกียรติ ศรีเฟื่องฟุ้ง หนึ่ง
ในนักธุรกิจเชื้อสายจีน ที่มีชื่อเสียงของประเทศไทย ผู้ก่อตั้งบริษัทกระจกไทย
จำกัด (ซึ่งต่อมาคือ บริษัทกระจกไทย-อาซาฮี จำกัด (มหาชน)) ได้ริเริ่มความคิดจะสร้างสถานที่ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยคุณค่าของศิลปวัฒนธรรม
ประวัติศาสตร์และเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย และจีนบนผืนดินดังกล่าว
เพื่อให้ผู้มาเยือนได้เข้ามาศึกษาหาความรู้ และเพลิดเพลินไปกับ
ความสวยงาม ทั้งยังตั้งเจตนารมณ์ที่จะนำรายได้จากการเข้าชมกลับไปตอบแทนสังคม
และแผ่นดินไทยที่เขาได้เคยอาศัย และใช้ชีวิตอยู่ แต่น่าเสียดายว่า
ยังมิได้เริ่มก่อสร้าง คุณเกียรติก็เสียชีวิตไปก่อน บุตรชายคนโตคือ
คุณชัยคีรี ศรีเฟื่องฟุ้ง จึงได้เข้ามาสานฝันของผู้เป็นพ่อให้สำเร็จเป็นรูปร่าง
ซึ่งอาจารย์ธีรวัลย์ วรรธโนทัย อาจารย์รณฤทธิ์ ธนโกเศส และ อาจารย์วโรภาสน์
วงศ์จตุรภัทร จากกรมศิลปากรได้ออกแบบตามสถาปัตยกรรมที่ผสมผสานระหว่างศิลปะและวัฒนธรรม
ไทย-จีน นำเสนอเรื่องราวในพงศาวดาสามก๊ก รวมทั้งข้อคิด คำสั่งสอนที่คุณเกียรติได้ถ่ายทอดไว้เมื่อยังมีชีวิตอยู่
วางรูปแบบตามศาสตร์ฮวงจุ้ยจีนอย่างถูกต้องสวยงาม จนกระทั่งเปิดให้ผู้สนใจเข้าชมกัน
เป็นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ.๒๕๔๕ ปัจจุบันมี คุณเจตน์ ศรีเฟื่องฟุ้ง
เป็นผู้อำนวยการอุทยาน
เนื่องจากเราเข้าประตูด้านหลังของอุทยานที่อยู่ใกล้ๆกับโรงแรม
Horseshoe Point สิ่งก่อสร้างแห่งแรกที่ปรากฏ แก่สายตาคือ อาคารอเนกประสงค์
ใช้ทำกิจกรรมหรือจัดนิทรรศการต่างๆ ภายในประดับด้วยตุ๊กตากระเบื้องจีน
๑๘ อรหันต์ ที่ตามประวัติเล่าขานว่า เดิมเคยเป็นโจรสลัดปล้นฆ่ากลางทะเลจนวันหนึ่งสำนึกบาปได้
จึงตัดสินใจโยนอาวุธลงทะเล แต่แล้วจึงคิดว่าหากผู้ใดเก็บอาวุธได้อีกก็จะนำไปทำร้ายผู้อื่นต่อ
จึงกระโดดลงไปงมของ ครั้นขึ้นมาได้ ทุกคนก็กลายเป็นพระอรหันต์
พร้อมอาวุธที่กลายเป็นของศักดิ์สิทธิ์ นอกจากนี้ยังมีฮก ลก ซิ่ว
และพระสังกัจจายน์ ด้านหลังอาคารจะเห็นระเบียงโค้งจันทร์เสี้ยวซึ่งวางแนวแกนตะวันออก-ตะวันตก
เชื่อมต่ออาคารกลางหรืออาคารประธาน และอาคารเจ้าแม่กวนอิม
"จากลักษณะภูมิประเทศของที่ตั้งที่เป็นพื้นที่ลาดต่ำไปทางทิศใต้
และมีภูเขาทอดตัวด้านทิศเหนืออาคารกลาง หรืออาคารประธานจึงตั้งอยู่บนจุดที่สูงที่สุด
ของพื้นที่ทั้งหมดตามหลักการกำหนดภูมิจักรวาลศึกษาค่ะ"
คุณอึ่ง-เจ้า หน้าที่ดูแล อุทยานเล่าให้ฟังก่อนบรรยายภาพว่า
เราจึงเห็นอาคารดังกล่าวอยู่ระดับสูงกว่าอาคารอื่นๆ และหันหน้าไปทางทิศใต้
ซึ่งลาดต่ำกว่า มีภูเขาเป็นฉากหลัง กำหนดระดับการเข้าถึงของตัวอาคารประธาน
ยกระดับขึ้นไปเป็นระยะๆ จนเชื่อมต่อกับ บันไดทางขึ้น
แดดสายกำลังโลมเลียผิวอย่างแสบร้อน เพื่อนคณะหลายคนจึงรีบชวนให้เข้าไปยังอาคารกลาง
แต่ฉันกลับติดใจลูกหินสองลูกที่หมุนตามแรงดันน้ำ อันเป็นสัญลักษณ์ของหยินและหยางที่แทนความดี-ความชั่ว
ฉันมองอยู่นานจนคนตามหลังมาพูดขึ้นมาว่า ใกล้จะบรรลุแล้วกระมัง
แล้วก็ชวนฉันขึ้นไปยังอาคารประธานซึ่งเป็นอาคารเก๋ง สวยงาม สูง
๔ ชั้น หลังคาปูประเบื้องสีน้ำเงินเข้มสื่อถึงท้องฟ้าและทะเล
ประดับรูปประติมากรรมจีนต่างๆ ส่วนยอดสุดเป็นการประยุกต์สถาปัตยกรรมระหว่างหัวเม็ดแบบไทยและแบบจีน
เดินขึ้นบันไดก็ไปจ๊ะเอ๋กับรูปปั้นมังกร ๔ เล็บสองตัว
เมื่อถอดรองเท้าเข้ามาข้างในชั้นที่ ๑ จึงเห็นรูปปั้น ประวัติ
ผลงาน ภาพตระกูลของคุณเกียรติ ด้านหลังรูปปั้นจำลอง ขนาดใหญ่ปรากฏข้อความในจดหมายปิดผนึก
ถึงลูกหลานที่เต็มไปด้วยถ้อยคำบอกเล่าประสบการณ์ในการดำเนินชีวิต
และธุรกิจที่น่าสนใจ เป็นเสมือนมรดกที่เจ้าของสถานที่ได้มอบให้กับทายาทและผู้มาเยือนอย่างไม่มี
วันเสื่อมสลาย ใครไม่อยากอ่านแบบเงยหน้าจนปวดคอเคล็ด เขาก็มีกระดาษที่พิมพ์จดหมายไว้แล้วให้ไปอ่านกัน
นอกจากนี้ยัง จัดแสดงรูปปั้นตัวเอกในเรื่องสามก๊กรวม ๑๒ รูป
ซึ่งมีเพียงชุดเดียวในโลก ฝีมือโดยช่างปั้นและแกะสลักกระเบื้องเคลือบชื่อดังของจีน
เดินต่อเนื่องขึ้นชั้นที่ ๒ และ ๓ มีภาพเขียนสีน้ำมันบนผืนผ้าใบยาว
๑๐๐ เมตร วาดโดยจิตรกรชาวจีนชื่อ Zhang Kexin ที่ใช้เวลารังสรรค์
๕ ปีเต็ม นำเสนอเรื่องราวของขงเบ้ง รวม ๑๖ ตอน มาถึงชั้นที่
๔ ชั้นสุดท้าย คือ หอแก้วประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุหัน หน้าออกสู่ทะเล
พร้อมด้วยพระอรหันตธาตุ พระพุทธรูปปางประทานพร รูปปั้นพระสังกัจจายน์
และพระตี่จังอ้วง ระเบียงภายนอกเป็นจุดชมวิวเบื้องล่าง สังเกตได้ว่ารูปแบบจัดวางสวน
เป็นรูปทรงเรขาคณิตตามหลักการวางผังที่เป็นมงคลโบราณไทยและจีนนั่นเอง
มองออกไปไกลด้านบนก็สามารถเห็นหน้าผา เขาชีจรรย์ได้ ฉันถือโอกาสพักเหนื่อยและพักสายตา
ปล่อยให้ลมทะเลพัดคลายความร้อนไปเรื่อยๆจนเกือบหลับ (ดีที่ไม่ตกลงมา)
ลงมาข้างล่าง มุ่งตรงไปยังอาคารเก๋งด้านซ้ายมือ ข้างในประดิษฐานองค์พระโพธิสัตว์พระแม่กวนอิม
สลักจากหินอ่อนขาวขนาดใหญ่ปางประทับนั่ง สูง ๔ เมตร หนัก ๑๒
ตัน รอบๆองค์มีรูปปั้นกังไสจีนตั้งเรียงรายอยู่เรียกว่า ท้าวจตุโลกบาลหรือท้าวจาตุมหาราช
ซึ่งหมายถึงหัวหน้าเทวดาบนสวรรค์ชั้นแรกที่มีหน้าที่ดูแลรักษาโลกในทิศทั้ง
สี่ ด้านนอกอาคารถัดมาไม่ไกลเป็นลานไม้โบราณที่กลายสภาพไปเป็นหิน
จัดวางไว้สวยงามและกลมกลืนเข้ากับการจัดสนาม
เดินลัดเลาะไปอีกนิดจะเห็นอาคารศาลเจ้ากวนอู ซึ่งหล่อด้วยเรซิ่นไฟเบอร์กลาส
นำแบบจากต้นฉบับเดิมที่เหมือนตัวจริงมาก โดยเฉพาะใบหน้าน่าเกรงขาม
มือถือง้าวไม้สักแกะสลัก และจากข้างหลังอาคารนี้ไม่ไกลนัก จะเห็นระเบียงจิตรกรรมยาว
๒๒๓.๘ เมตร ซึ่งบนผนังปรากฏภาพวาดกระเบื้องเคลือบดินเผาจากจีน
บันทึกเรื่องราวตอนสำคัญๆในพงศาวดารสามก๊ก ๕๖ ตอน ฉันกับเพื่อนเดินดูตั้งแต่รูปที่
๑ พร้อมเสียงเจ้าหน้าที่คนเดิมขยายความรู้เพิ่มเติมว่า ภาพวาดคัดตั้งแต่ตอนต้นที่วีรบุรุษ
ทั้งสามร่วมสาบานในสวนท้อจนถึงตอนที่สุมาเอี๋ยนรวมประเทศเป็นหนึ่งเดียว
"กว่าจะคัดเลือก ออกแบบ วาดภาพทั้งหมดก็ใช้เวลากว่า ๑ ปีค่ะ"
เรียกว่า เป็นหนึ่งปีที่น่าภูมิใจสำหรับอีกหลายปีต่อมาจริงๆ
เดินไปยังไม่ทันถึงรูปสุดท้ายซึ่งอยู่ใกล้กับทางที่เราเข้ามา
เพื่อนตัวดีร้องหามื้อเที่ยงกันให้ขรม จริงๆบ่นกันมาตั้งแต่
ยังไม่ทันถึงรูปที่ ๑๐ เลย ฉันจึงได้แต่เดินอ่านผ่านๆเก็บความสวยงามและประทับใจอย่างรวดเร็ว
กะไว้ว่าวันหลังจะมาอ่าน อย่างละเอียดอีกครั้ง บอกแล้วว่าแค่ที่นี่ที่เดียวก็ปาไปครึ่งวันกว่าๆแล้ว
ไม่งั้นท้องคงไม่ร้องประสานเสียง เพราะพริ้งไปตลอดทางขากลับออกมาอย่างนี้หรอก!
๒.
หลังรับประทานอาหารกลางวันเสร็จแล้ว เพื่อไม่ให้หนังตาหย่อนไปตามๆกัน
ช่วงหลังเที่ยงอย่างนี้ เราจึงออกตัว มุ่งหน้าสู่ "ปราสาทสัจธรรม"
บริเวณแหลมราชเวช อำเภอบางละมุง ในซอยนาเกลือ ๑๒ ถนนสายพัทยา-นาเกลือ
ถึงแม้ว่าคณะเราจะไม่ได้ลงไปเล่นทะเลวันนี้ แต่ฉันกลับพบว่า
บรรยากาศของการชื่นชมมองวิวทิวทัศน์บนชายฝั่ง มองดูเส้นฟ้ากับน้ำสีฟ้าครามเข้มตัดกันที่สุดสายตา
ก็เป็นกิจกรรมแห่งความสุขไม่แพ้การลงไปว่ายหรือดำน้ำเลย ยิ่งเมื่อมองปราสาทไม้อันลือชื่อ
มีฉากหลังเป็นผืนฟ้าและผืนทะเล อะไรเลยจะดีไปกว่าปล่อยให้เวลาเคลื่อนคล้อยผ่านไปและพักสายตากับหัวใจให้
เลื่อนไหลไปกับภาพนั้นอย่างแสนสุข
แต่ก่อนที่พวกเราจะได้เข้าไปชมปราสาท ทางเจ้าหน้าที่ได้พาพวกเราไปชมการแสดงปลาโลมากัน
โดยพระเอก กับนางเอกวันนี้มีชื่อว่า "สิงห์สมุทร"
กับ "บังอร" พวกเขาโชว์ลีลาต่างๆเรียกเสียงปรบมือและรอยยิ้มของพวกเรา
ได้พอสมควร ไม่ว่าจะเป็นท่าพื้นๆอย่างกระโดดขึ้นจากน้ำในระยะ
๒ เมตร ฝึกเก็บห่วงหรือลูกบอล เต้นรำไปตามเพลง ทีเด็ดสุดอยู่ที่
เจ้าสิงห์สมุทรต้องกระโดดขึ้นจากน้ำไปแตะลูกบอลที่แขวนอยู่ ตอนแรกคิดว่าจะมีรอบเดียว
แต่เนื่องจาก มีผู้เรียกร้องกันมาก ฝ่ายพระเอกจึงยอมตามใจโชว์ให้อีก
๓ รอบ เหนื่อยแทนจริงๆ แต่ไม่เป็นไรมีปลาสดๆเป็นรางวัลรออยู่แล้ว
จบการแสดงใคร จะรอให้อาหารหรือถ่ายรูปกับพวกเขาก็ได้ เพื่อนฉันบางคนก็ไม่เว้น
เห็นใครทำอะไรก็ต้องทำบ้าง งานนี้จึงต้องปล่อยไป!
จากนั้น เจ้าหน้าที่นำชมจึงพาฉันกับเพื่อนเดินเท้าเข้าไปชมปราสาทสัจธรรมกันแบบใกล้
ชิดพร้อมบรรยายว่า สถาปัตยกรรม ไม้ขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศหลังนี้
สร้างขึ้นเมื่อวันที่ ๑๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๒๔ โดยคุณเล็ก วิริยะพันธ์
ที่ในวงการธุรกิจมักเรียกกันว่า "เสี่ยเล็ก" เจ้าของบริษัทวิริยะประกันภัย
จำกัด กับบริษัทธนบุรีประกอบรถยนต์ จำกัด และเป็นผู้ก่อตั้งเมืองโบราณที่บางปู
และพิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณ จังหวัดสมุทรปราการ
"คุณเล็กได้ทุ่มเทกำลังแรงกาย แรงใจ ความคิดในการศึกษาค้นคว้า
เรียนรู้และสั่งสมประสบการณ์ทางด้าน ศิลปวัฒนธรรม ศาสนา ปรัชญา
และตระหนักว่าความเป็นมนุษย์ที่ผ่านมานับพันปีเป็นสิ่งที่จรรโลงมาได้ด้วย
สัจธรรม ทางศาสนาปรัชญาโดยมีศิลปะเป็นสื่อ จึงคิดว่าน่าจะนำสิ่งดีงามในสิ่งเหล่านั้นมาปรุงแต่งและแสดงออกมาให้มวล
มนุษยชาติ ได้รับรู้ โดยเชื่อว่ามนุษย์เรานั้นเกิดและดำเนินชีวิต
อยู่ได้ด้วยสิ่งก่อกำเนิดทั้งเจ็ดที่สำคัญ คือฟ้า ดิน พ่อ แม่
พระอาทิตย์ พระจันทร์ และดวงดาว นอกจากนี้มนุษย์ยังมีส่งที่ต้องกระทำ
และมุ่งปฏิบัติคุณธรรมอีก ๔ ประการ คือ ตั้งหลักให้กับโลก ให้ชีวิตแก่มนุษย์
ต่อเนื่องปรัชญาอมตะ เพื่อความสงบสุขของโลก เพื่อก้าวไปสู่โลกแห่งอุดมคติตามความเชื่อเรื่องโลกหน้า
ของชาวตะวันออก คือ โลกในยุคพระศรีอาริยเมตไตรย (พระศรีอาริย์)
ที่อนาคตพระพุทธเจ้าจะมาตรัสรู้บนโลกมนุษย์ เป็นองค์สุดท้าย
และเชื่อว่าจะมีแต่ความศานติสุขค่ะ ในที่สุดจึงเกิดปราสาทสัจธรรมขึ้นมา
แกะสลักเป็นรูปทรงไทยจตุรมุข มีฐานด้านล่างเป็นฐานสิงห์ ตกแต่งศิลปะแนวความคิดใหม่ที่ผสมผสานกันตั้งแต่อยุธยาตอนต้น
จนถึงยุครัตนโกสินทร์ปัจจุบัน" มัคคุเทศก์กล่าว
จากแนวความคิดนามธรรม คุณเล็กได้แปรสภาพให้เป็นรูปธรรมอย่างเด่นชัดผ่านงานแกะสลักไม้อันวิจิตรงด
งามยิ่ง บางชิ้นฉันแทบ จะต้องบอกกับตัวเองให้ขึ้นใจ นี่คืองานไม้ไม่ใช่งานปูนปั้น
เพราะดูใกล้เคียงกันเหลือเกิน อย่างห้องแรก ที่ก้าวขึ้นบันไดไม้เข้าไป
จะเห็นรูปบุคคลแกะสลักไม้ ซึ่งแทนความหมายของบิดา มารดา และสอนให้คนทั่วไปเคารพ
สิ่งที่อยู่ใกล้ตัวเองก่อน ให้รู้จักแสดงออกถึง ความรัก ความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณเป็นอันดับแรกเพื่อความเจริญก้าวหน้าต่อไป
เดินไปข้างใน ด้านข้างมีรูปแกะสลักนางอัปสราทั้ง ๘ องค์ ยืนในท่าตริพังหรือท่าพักกิริยาสามส่วน
คือ เข่า เอว ไหล่ บันไดที่ฉันยืนอยู่ก็เป็นรูปยักษ์แบกอยู่
ตรงนี้บอกเป็นนัยหมายถึงผู้มั่งมีที่ค้ำจุนศาสนาและเผื่อแผ่ไปยังคนทุกข์ยาก
อันจะเป็นพื้นฐาน จิตใจให้ก้าวเข้าไปสู่เทวาลัยเพื่อเห็นสัจธรรมกันต่อไปผ่านประตูเข้าสู่
จักรวาลและบุษบกทรงสถูปไม้ ซึ่งอยู่ตรงกลางของห้องโถงใหญ่ ที่เจาะหน้าต่างให้ลมและแสงสว่างเข้าออกทั้งสี่ด้าน
"คุณเล็กจำลองรูปแกะสลักส่วนนี้มาจากถ้ำอชันตาหรือถ้ำเอลโลราที่ประเทศ
อินเดีย ซึ่งได้สะท้อนให้เห็นถึง ความสามารถทางศิลปะ ที่งดงามของชาวอินเดียยุคโบราณ
ท่านนำภาพนั้นมาสร้างเป็นเหมือนกับมหาสถูป แต่เนื่องจากไม่ได้บรรจุอัฐิธาตุไว้
จึงเรียกว่า มหาบุษบก หรือสัญลักษณ์แห่งการหลุดพ้น คือ ความว่างเปล่า
เหมือนองค์บุษบกที่ลอยอยู่ในจักรวาล สะท้อนว่ามนุษย์ทุกคนล้วนเกิดขึ้น
ตั้งอยู่ และดับเสื่อมสูญไป คงเหลือแต่เพียงดวงจิตหรือวิญญาณ
ด้านบนมหาบุษบกเป็นโดมซึ่งมีรูปแกะสลักเทวดานางฟ้าของหลายศาสนา
และรูปพระพุทธเจ้า อีกทั้งมีรูปดอกบัวปทุมอยู่ปลายแหลมขององค์บุษบกด้วย
ซึ่งสื่อถึงสัญลักษณ์ของพระศรีอาริยเมตไตรย และสังเกตตรงบริเวณที่โล่งๆนะคะว่า
จะไม่มีเทวรูปมาตั้งไว้เลย แต่คุณเล็กต้องการสื่อให้เห็นว่า
มนุษย์ทั้งหลายในโลกนี้ ไม่ว่าจะศาสนา หรือชาติใดก็สามารถบรรลุธรรมและเป็นเทพที่ยิ่งใหญ่ได้
จึงไม่จำเป็นว่าที่ตรงนี้จะต้องเป็นของใคร คนใดคนหนึ่งเสมอไป
คนทั่วไปสามารถ เข้าไปนั่งใกล้ๆถ่ายรูปได้ค่ะ" จบคำ เพื่อนกลุ่มเดิมก็โยนกล้องมาให้ฉันจัดการ
แถมขู่ด้วยว่าต้องถ่ายให้สวยเท่าตัวจริงด้วย ฉันจึงกลายเป็น
ช่างภาพจำยอมไปอย่างช่วยไม่ได้
เดินชมข้างในปราสาทอย่างช้าๆ ประกอบกับผู้รู้เล่าให้ฟังว่า ปราสาทหลังนี้สร้างจากไม้แข็งทั้งสิ้น
อาทิ ไม้ประดู่ ไม้ตะเคียนทอง ไม้แดง ไม้เต็ง ไม้สักทอง เป็นต้น
โดยจะแกะสลักกันที่เมืองโบราณก่อนนำมาที่นี่ แล้วใส่เข้าไปประดับ
กับส่วนของโครงสร้าง ผลงานบางชิ้นต้องใช้ตะปูดามเอาไว้ก่อน แต่ในอนาคตต้องถอนออกให้หมดและใส่เดือยตอกสลัก
เข้าลิ่ม เข้าหางเหยี่ยว ยึดไม้ให้เนื้อไม้เข้ากับไม้ด้วยกันตามแบบโบราณ
"เอ๊ะ! แล้วสีเขียวๆบนเนื้อไม้คืออะไรครับ" มีเสียงถามจากคนข้างๆ
และปรากฏเสียงตอบทันใจว่า
"สีเขียวที่เห็นนั้นคือน้ำยาซี.ซี.เอ. ประกอบด้วยตะกั่ว
ทองแดง สารหนู ที่นำไม้มาแช่หรืออัดฉีดตามเสา เพื่อป้องกันเชื้อรา
และความเค็มจากน้ำทะเลที่อาจซึมเข้าไปในรอยแตกของเนื้อไม้ที่มีอายุค่ะ"
ฉันจึงหายสงสัยไปด้วย เพราะนึกว่าเขาทาสีไว้เพื่อความสวยงาม
หรือเปล่า
ด้านทิศตะวันตกถัดจากนั้น เราจะเห็นผลงานการแกะสลักลายนูนสูง
นูนต่ำ และลอยตัวรอบด้านทั้งสี่มุม ซึ่งสื่อถึงปรัชญาศาสนา พราหมณ์-ฮินดูที่เคารพเชื่อถือสิ่งที่เคารพสูงสุด
นั่นคือ โลกธาตุทั้งสี่ คือ ธาตุดิน มีพระอิศวรเป็นผู้สร้าง
ช่างได้แกะสลักเป็นยอดเขามี รูปลักษณะเทพนูนสูงอยู่บนนั้นตามความเชื่อว่าอารยธรรมพราหมณ์-ฮินดูข้าม
เทือกเขาหิมาลัยมาสู่อินเดีย เมื่อมีผู้สร้างย่อมมีผู้ธำรงรักษา
คือพระวิษณุที่อยู่อีกด้านหนึ่งซึ่งใต้ฐานแกะสลัก เป็นรูปคลื่นน้ำ
แสดงความเป็นธาตุน้ำ ส่วนธาตุไฟซึ่งเป็นผู้ทำลายปรากฏตรงกันข้าม
กับผู้ธำรงรักษา เจ้าหน้าที่นำชมบอกว่า เป็นองค์เดียวกับพระศิวะเทพ
ทรงมีดวงพระเนตรที่สามอยู่กลางหน้าผาก เมื่อลืมตาคู่นั้น ดวงไฟประลัยกัลป์จะทำลายสรรพสิ่ง
ทั้งหลาย แต่เป็นไปเพื่อก่อประโยชน์และสร้างใหม่ขึ้นมา เทียบตามหลักธรณีวิทยาก็เปรียบเสมือน
ภูเขาไฟที่มีไฟอยู่ใต้บาดาล นั่นเอง ส่วนอีกด้านที่เหลือแสดงถึงธาตุลม
มีท้าวมหาพรหมเป็นเทพเจ้าแห่งลม ไม่มีสี่หน้าและสี่มือ จะสังเกตได้ว่า
ช่างได้เล่าเรื่องราวผ่านงานแกะสลักที่มีลมพัดต้นไม้ สื่อถึงพระองค์ที่เป็นความสมดุลแห่งจักรวาล
ส่วนทิศเหนือที่เราเดินไปชมเป็นส่วนสุดท้าย จะมีผลงานแกะสลักหินและไม้อายุพันกว่าปี
เล่าเรื่องราวศิลปะจีน คุณเล็กนำมาใส่เป็นภาพโค้งสามมิติ ส่วนเสาของหน้าต่างทั้งสองด้านแปด
บานที่เปิดให้ลมผ่านเข้ามาจะมีมังกรพันเสา และไก่ฟ้ากับลูกหงส์อยู่ด้านล่าง
แกะสลักงดงามตระการยิ่งนัก
"ศิลปะภายในปราสาทสัจธรรมจะบ่งบอกความละเอียด คุณเล็กต้องการให้ผู้เข้าชมได้เข้ามาดูแล้วตีกระทู้เอง
เพราะทุกคนมีสิทธิ์คิด ในแบบของตนและเป็นปราชญ์ของตัวเองได้ค่ะ
ทั้งนี้ในส่วนของสื่อ เนื้อหา และความหมายไม่ใช่สิ่งที่คิดขึ้นใหม่ด้วยความอหังการ
แต่ว่าเราได้นำสิ่งดีงามที่มีอยู่ในศาสนา ปรัชญา และศิลปกรรมมาปรุงแต่งให้เหมาะสมต่อกาลเทศะ"
ฉันออกมายืนมองปราสาทด้านนอกแบบเต็มตาอีกครั้ง พลางคิดว่า นี่ก็เป็นผลพวงจากแรงศรัทธาและความเชื่อในคุณค่า
ที่มนุษย์คนหนึ่งได้กระทำออกมาผ่านงานศิลป์ทรงคุณค่าและหาใครเทียบได้ยากใน
พิภพ แม้ตอนนี้ยังเหลือการทำงานซ่อมแซมบำรุง ควบคู่ไปกับการก่อสร้างอีก
๒๐% แต่เชื่อเหลือเกินว่าเมื่อเสร็จสมบูรณ์ เราทุกคนคงจะได้ร่วมภาคภูมิใจกับความงามฝีมือช่างไทยกันถ้วนหน้า
และแน่นอนเหลือเกินว่า ภาพอาคารไม้สูง ๑๐๕ เมตร ในพื้นที่ ๒,๑๑๕
เมตร หลังคาซ้อนลดหลั่นทั้งสี่ด้าน มีรูปแกะสลักลอยตัวอันเป็น
สัญลักษณ์ของเทพยืนบนยอดอาคารของมุขแต่ละด้านคืออีกหนึ่งภาพที่ฉันต้องเก็บ
ไว้ให้ดีในลิ้นชักความทรงจำ
ตะวันเริ่มคล้อยต่ำ ฉันกับเพื่อนพากันเดินทางกลับเข้ากรุงเทพฯเตรียมพร้อมจัดการภารกิจใหม่ในวัน
รุ่งขึ้น แวบหนึ่งที่ฉันอดรู้สึกเหนื่อย ขึ้นมาอย่างช่วยไม่ได้
แต่แล้วฉันก็คิดขึ้นมาได้ว่า สถานที่สองแห่งที่ไปมาในวันนี้ได้บอก
"สาร" บางอย่างกับฉันอย่างเงียบๆว่า อย่าเพิ่งท้อแท้เลย
ให้ดูความตั้งใจ อดทน มุ่งมั่นของคนคนหนึ่งที่พยายามสร้างสรรค์สิ่งดีงาม
เพื่อประโยชน์ต่อสังคมและแผ่นดิน จนปรากฏผลงานตระการตาสูงค่า
แล้วเราจะไม่รู้สึกว่า ชีวิตนั้นยากเกินกว่าจะจัดการได้ด้วยมันสมองและสองมือของตัวเอง
คุณว่าจริงไหม? |