ประวัติความเป็นมา (จากเว็บไซต์คลังปัญญาไทย)
พระราชพิธีมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ในสมัยโบราณคงจะเป็นพิธีที่มีความมุ่งหมายเพื่อบำรุงขวัญและเตือนให้เริ่มเพาะปลูกพืชผลโดยเฉพาะคือการทำนา
ซึ่งเป็นธัญญาหารหลักสำคัญยิ่งของการดำรงชีวิต ผู้ปกครองหรือผู้เป็นประมุขของประเทศเมื่อถึงฤดูกาลที่ควรจะเริ่มลงมือเพาะปลูกพืชผลจึงต้องประกอบกรณียกิจเป็นผู้นำโดยลงมือไถ
หว่าน พืชพันธุ์ธัญญาหารเป็นตัวอย่างเพื่อเตือนว่าถึงเวลาประกอบการเพาะปลูกตามฤดูกาล
ต่อมากาลเวลาได้เปลี่ยนแปลงไป ได้มีการพิธีเรียกว่า จรดพระนังคัลแรกนาขวัญ
ซึ่งพราหมณ์ผู้เป็นเจ้าลัทธิส่งเสริมการให้มีอำนาจและความสวัสดีต่าง
ๆ เป็นผู้แนะนำประกอบพิธีตามลัทธิไสยศาสตร์ของพราหมณ์ในพิธีนี้พระมหากษัตริย์หรือประมุขของประเทศ
อาจจะทรงมีพระราชภารกิจอื่น จึงโปรดแต่งตั้งข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิดให้ทำแทนพระองค์
เรียกว่า พระยาแรกนา ทำหน้าที่ไถ หว่านธัญญพืช พระมหาสีหรือชายาที่เคยร่วมการไถ
หว่าน ก็เปลี่ยนเป็นจัดให้นางใน คือท้าวนางในราชสำนักออกไปทำหน้าที่หาบกระบุงพันธุ์พืชช่วยพระยาแรกนาไถ
หว่าน เรียกว่า เทพี
พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญมีมานานนับพันๆ ปี และมีเกือบทุกชาติ
เช่น จีน อินเดีย เป็นต้น สำหรับประเทศไทยมีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยและสืบต่อมาในสมัยอยุธยาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์
พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ที่ทำในรัชกาลที่
1 ที่ 2 และที่ 3 เป็นพิธีพราหมณ์ตามแบบในสมัยอยุธยา ไม่มีพิธีสงฆ์ประกอบ
ครั้งถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงพระราชดำริโปรดให้มีพิธีสงฆ์ทางพระพุทธศาสนาร่วมประกอบในพิธีด้วย
เพื่อเป็นสิริมงคลแก่พืชพันธุ์ธัญญาหารที่นำเข้ามาตั้งในมณฑลพิธี แล้วจึงนำไปไถหว่านในการแรกนาขวัญ
เรียกพระราชพิธีในตอนนี้ว่า พืชมงคล เมื่อรวม 2 พิธีแล้ว เรียกว่า
พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นราชประเพณีสืบมาโดยจัดเป็นงาน
2 วัน วันแรกเป็นพระราชพิธีพืชมงคลซึ่งเป็นพิธีสงฆ์ วันรุ่งขึ้นเป็นพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญซึ่งเป็นพิธีพราหมณ์
พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญเป็นพิธีสิริมงคล เพื่อบำรุงขวัญแก่เกษตรกร
จึงเป็นวันที่มีความสำคัญ โบราณจารย์จึงได้วางหลักเกณฑ์ให้ประกอบพิธีในวันดีที่สุดของแต่ละปี
ประกอบด้วย ขึ้นแรม ฤกษ์ยาม ให้ได้วันอันเป็นอุดมฤกษ์ตามตำราโหราศาสตร์แต่ต้องอยู่ในระหว่างเดือน
6 โดยมีประเพณีต้องหาฤกษ์ตามตำราทางจันทรคติ พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญจึงไม่ได้กำหนดวันเวลาไว้ตายตัวตามปรกติแล้วจะตกอยู่ในระหว่างเดือนพฤษภาคม
การที่ต้องกำหนดให้อยู่ในเดือน 6 ก็เพราะเดือนนี้เริ่มจะเข้าฤดูฝนเป็นระยะเวลาเหมาะสมสำหรับเกษตรกร
ชาวไร่ ชาวนา จะได้เตรียมทำนาอันเป็นอาชีพหลักสำคัญของชาวไทยมาแต่โบราณ
เมื่อโหรหลวงคำนวณได้วันอุดมมงคลพระฤกษ์ที่จะประกอบพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญแล้ว
สำนักพระราชวังจะได้ลงไว้ในปฏิทินหลวงที่พระราชทานในวันขึ้นปีใหม่ทุกปี
และได้ลงกำหนดไว้ว่า วันใดเป็นวันพืชมงคล วันใดเป็นวันจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ
วันแรกนาขวัญเป็นวันสำคัญของชาติ คณะรัฐมนตรีมีมติให้หยุดราชการ 1
วัน และมีประกาศให้ชักธงชาติตามระเบียบทางราชการ
พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ได้ปฏิบัติเป็นราชประเพณีตลอดมาจนถึง
พ.ศ. 2479 แล้วได้เว้นว่างไป ต่อมา พ.ศ. 2483 ทางรัฐบาลสั่งให้กำหนดมีการพระราชพิธีเฉพาะแต่พืชมงคล
ที่พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ตามราชประเพณีที่เคยปฏิบัติมา
พระราชพิธีพืชมงคลเป็นส่วนประกอบเพื่อสิริมงคลแก่พันธุ์พืชสำหรับนำไปใช้ในการพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ
กำหนดงานก่อนวันพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ 1 วันมีอ่านประกาศถึงความสำคัญที่จะเริ่มพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ
ในประกาศนั้นอ้างหลักธรรมทางพุทธศาสนาสมัยพุทธกาลคราวเกิดฝนแล้ง ด้วยพุทธานุภาพทรงบันดาลให้ฝนตก
ทำนา ทำไร่ หว่านพืชผลได้ตามปรกติ และกล่าวถึงตำนานการสร้างพระคันธาราษฎร์อันเกี่ยวด้วยพุทธานุภาพที่ทรงบันดาลให้มีฝนตกจึงได้สร้างขึ้น
ณ เมืองคันธาราษฎร์ครั้งอดีตกาล แล้วประกาศสดุดีเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกองค์ปฐมกษัตริย์
ที่ได้ทรงสร้างพระพุทธคันธาราษฎร์ขึ้นไว้เพื่อประกอบการพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญตามตำนานที่มีมาแต่โบราณกาล
ซึ่งเป็นราชประเพณีที่ พระมหากษัตริย์ทรงอนุวัติจัดงานพระราชพิธีนี้สืบมา
สุดท้ายประกาศถวายพระพรชัยมงคล และขออำนาจคุณพระศรีรัตนตรัยสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เคารพบูชาเทพยดาทั้งปวง
ประสิทธิประสาทให้พืชพันธุ์ธัญญาหารในราชอาณาจักรอุดมสมบูรณ์งอกงามเจริญดี
ตลอดจนขอให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล จบประกาศแล้ว พระสงฆ์ 11 รูปเจริญพระพุทธมนต์เป็นคาถาพิเศษสำหรับพืชมงคลโดยเฉพาะเพื่อเสกพืชพันธุ์ต่างๆ
ที่ได้นำมาตั้งเข้าพิธีมณฑล มีข้าวเปลือกพันธุ์ต่าง ๆ ถั่วทุกชนิด
ข้าวโพด งา ฟัก แฟง แตงกวา เผือก มัน ฝ้าย เป็นต้น
ต่อมาในปี พ.ศ. 2503 เลขาธิการพระราชวังพระบรมราชโองการเหนือเกล้าฯ
สั่งว่าพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ แต่เดิมจัดเป็นงาน 2 วันแล้วได้ระงับไปคงได้แต่พิธีพืชมงคลจัดเป็นงานประจำทุกปี
สำหรับปี พ.ศ. 2503 ทางรัฐบาลเห็นควรจัดให้มีการแรกนาขวัญขึ้นอย่างเดิมเพื่อรักษาบูรพประเพณีอันเป็นมิ่งขวัญของการเกษตรไว้สืบต่อไป
สำนักพระราชวังและกระทรวงเกษตรจึงได้กำหนดงานพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ
ตามราชประเพณีเดิมขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2503 จนถึงปัจจุบันนี้ และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเป็นประธานการพระราชพิธีทุกปี
ทรงมีพระราชกระแสให้ปรับปรุงพระราชพิธีเพื่อความเหมาะสมตามยุคสมัยด้วย
พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ แต่เดิมมาทำที่ทุ่งพญาไท
เมื่อได้มีการฟื้นฟูพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญขึ้นใหม่ จึงจัดให้มีขึ้นที่ท้องสนามหลวงซึ่งเคยเป็นที่ประกอบพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญในรัชกาลที่
1 ที่ 2 และที่ 3
ส่วนผู้ที่จะเป็นพระยาแรกนาในสมัยก่อนเคยโปรดเกล้าฯ ให้ผู้ที่ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการ
เป็นพระยาแรกนา และผู้ที่เป็นเทพีหาบกระบุงทอง กระบุงเงิน บรรจุข้าวเปลือกหว่านนั้นโปรดเกล้าฯ
ให้จัดท้าวนางฝ่ายใน เมื่อเวลาได้เปลี่ยนแปลงหน้าที่ตำแหน่งไปแล้วเช่นนี้
เมื่อเริ่มฟื้นฟูพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญขึ้นมาใหม่ พระยาแรกนาจึงได้แก่
อธิบดีกรมการข้าวกระทรวงเกษตรเทพีได้คัดเลือกจากข้าราชการสตรีผู้มีเกียรติในกระทรวงเกษตร
ในปีต่อมาจนถึงปัจจุบันผู้เป็นพระยาแรกนาได้แก่ผู้ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ส่วนเทพีนั้นคัดเลือกจากข้าราชการสตรีโสดในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ระดับ
3 4 คือชั้นโทขึ้นไป
พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นพิธีเพื่อสิริมงคลแก่พืชพันธุ์ธัญญาหารสนับสนุนส่งเสริมชาวไร่ชาวนาในการประกอบอาชีพ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสนพระราชหฤทัยเป็นอย่างดี ได้เสด็จฯ
มาทรงเป็นประธานอธิษฐาน ขอความสมบูรณ์ของพืชพันธัญญาหารให้มีแก่อาณาจักรไทยและได้ทรงปลูกพันธุ์ข้าวทดลองในนาทดลองบริเวณสวนจิตรลดา
พระราชวังดุสิต ซึ่งเป็นพระราชฐานที่ประทับ เมื่อเก็บเกี่ยวแล้วพระราชทานนำมาเข้าในพระราชพิธีประมาณ
40 - 50 กิโลกรัม เมล็ดพันธุ์ข้าวที่พระราชทานมาเข้าพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญนี้
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้แบ่งไปหว่านที่ลานประกอบพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญส่วนหนึ่ง
อีกส่วนหนึ่งจัดบรรจุซองส่งไปยังจังหวัดต่างๆ ทั่วราชอาณาจักรสำหรับแจกจ่ายแก่เกษตรกรเพื่อเป็นสิริมงคลตามพระราชประสงค์ที่ทรงส่งเสริมการเกษตร
วันพืชมงคล (ข้อมูลจากวิกิพีเดียไทย) เป็นวันสำคัญที่กำหนดขึ้นเพื่อระลึกถึงความสำคัญของเกษตรกรที่มีต่อเศรษฐกิจไทย
มีการจัดพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ซึ่งเป็นพระราชพิธีโบราณ
สืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ประกอบด้วย 2 พระราชพิธีคือ
พระราชพิธีพืชมงคล และพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ พระราชพิธีนี้กระทำที่ท้องสนามหลวง
ทางราชการกำหนดให้วันพืชมงคลเป็นวันเกษตรกร และกำหนดให้วันนี้เป็นวันหยุดราชการ
ยกเว้นธนาคารและบริษัทเอกชนบางแห่งไม่หยุดทำการ วันพืชมงคลจะไม่ตรงกับวันเดิมตามสุริยคติหรือจันทรคติของทุกปี
แต่สำนักพระราชวังจะเป็นผู้ประกาศวันพืชมงคล ให้เป็นวันใดวันหนึ่งในเดือนพฤษภาคม
แล้วแต่ในแต่ละปี
พระราชพิธีพืชมงคล
เป็นพิธีทางพุทธศาสนา มีพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ เป็นพิธีสงฆ์ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่
4 ทรงกำหนดให้มีขึ้นเป็นครั้งแรก เป็นพิธีทำขวัญเมล็ดพืชพันธุ์ต่างๆ
เช่น ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวเหนียว ข้าวฟ่าง ข้าวโพด ถั่ว งา เผือก มัน
เป็นต้น ฯลฯ มีจุดมุ่งหมายที่จะให้เมล็ดพันธุ์เหล่านั้น ปราศจากโรคภัยและให้อุดมสมบูรณ์เจริญงอกงามดี
พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ
เป็นพิธีทางศาสนาพราหมณ์ เป็นพิธีพราหมณ์มีมาแต่โบราณ เป็นพิธีเริ่มต้นการไถนาเพื่อหว่านเมล็ดข้าว
มีจุดมุ่งหมายที่จะให้เป็นอาณัติสัญญาณว่า บัดนี้ฤดูกาลแห่งการทำนาและเพาะปลูกได้เริ่มขึ้นแล้ว
พระราชพิธีทั้งสองนี้ ได้กระทำเต็มรูปแบบมาเรื่อยๆ จนถึงปี พ.ศ. ๒๔๗๙
ได้เว้นไปชั่วระยะเวลาหนึ่ง ด้วยสถานการณ์โลกและบ้านเมืองอยู่ในภาวะที่ไม่สมควรจะจัดงานใดๆ
จึงว่างเว้นไป ๑๐ ปี ต่อมาทางราชการพิจารณาเห็นว่าประเทศไทย เป็นประเทศกสิกรรม
โดยเฉพาะทำนาควรจะได้ฟื้นฟู ประเพณีเก่าอันเป็นมงคลแก่การเพาะปลูก
ดังนั้น ใน พ.ศ. ๒๔๙๐ จึงกำหนดให้มีพิธีพีชมงคลขึ้นอีก แต่มีแค่พระราชพิธีพืชมงคลเท่านั้น
(พิธีเต็มรูปแบบว่างเว้นไปถึง ๒๓ ปี) ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๓ จึงจัดให้มีราชพิธีจรดพระนาคัลแรกนาขวัญ
ร่วมกับพิธีพืชมงคลนับแต่นั้นเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันนี้จึงจัดให้เป็นวันสำคัญของชาติ
พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ที่มีมาในแต่ละสมัยของไทย
(จากสำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยรามคำแหง)
ในสมัยสุโขทัย ในหนังสือนพมาศหรือตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์
เมื่อครั้งกรุงสุโขทัยนั้นมีข้อความว่า "ในเดือนหก พระราชพิธีไพศาขจรดพระนังคัล
พราหมณ์ประชุมกันผูกพรดเชิญเทวรูปเข้าโรงพิธี ณ ท้องทุ่งละหานหลวงหน้า
พระตำหนักห้าง เขากำหนดฤกษ์แรกนาว่าใช้วันอาทิตย์ พระเจ้าแผ่นดินทรงเครื่องต้นอย่างเทศทรงม้าพระที่นั่ง
พยุหยาตรา เป็นพระบวนเพชรพวง พระอัครชายาและพระราชวงศานุวงศ์ พระสนมกำนัลเลือกแต่ที่ต้องพระราชหฤทัย
ขึ้นรถประเทียบตามเสด็จไป ในกระบวนหลังประทับที่พระตำหนักห้าง จึงโปรดให้ออกญาพลเทพธิบดีแต่งตัวอย่างลูกหลวง
มีกระบวนแห่ประดับด้วย กรรเชิงบังสูร พราหมณ์เป่าสังข์โปรยข้าวตอกนำหน้า
ครั้นเมื่อถึงมณฑลท้องละหาน ก็นำพระโคอุสภราชเทียมไถทอง พระครูพิธีมอบยามไถและประฎักทอง
ให้ออกญาพลเทพเป็นผู้ไถที่หนึ่งพระศรีมโหสถ ซึ่งเป็นบิดานางนพมาศเอาแต่งตัวเครื่องขาวอย่างพราหมณ์
ถือไถหุ้มด้วยรัตกัมพลแดง เทียมด้วยโคกระวินทั้งไม่ประฎัก พระโหราลั่นฆ้องชัยประโคมดุริยางค์ดนตรี
ออกเดินไถเวียนซ้ายไปขวา ชีพ่อพราหมณ์ปรายข้าวตอกดอกไม้ บันเลือเสียงสังข์ไม้บัณเฑาะว์นำหน้าไถ
ขุนบริบูรณ์ธัญญา นายนักงานนาหลวงแต่งตัวนุ่งเพลาะคาดรัดประคดสวมหมวกสาน
ถือกระเช้าโปรยหว่านพืชธัญญา หารตามทางไถจรดพระนังคัลถ้วนสามรอบ ในขณะนั้นมีการมหรสพ
ระเบงระบำโมงครุ่มหกคะเมนไต่ลวด ลวดบ่วงรำแพนแทงวิสัยไก่ป่าช้าหงส์รายรอบปริมณฑลที่แรกนาขวัญ
แล้วจึงปล่อยพระโคทั้งสามอย่างออกกินเสี่ยงทายของห้าสิ่ง แล้วโหรพราหมณ์ก็ทำนายตามตำรับไตรเพท
ในขณะนั้นพระอัครชายาก็ดำรัสสั่งพระสนมให้เชิญเครื่อง พระสุพรรณภาชน์มธุปายาสขึ้นถวายพระเจ้าอยู่หัวเสวย
ราชมัลก็ยกมธุปายาสเลี้ยงลูกขุนทั้งปวง"เป็นเสร็จการพระราชพิธีซึ่งมีมาในเรื่องนพมาศ........................................
ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ได้กระทำแตกต่างไปบ้างดังปรากฏในกฏมณเทียรบาลความว่า
"พระเจ้าแผ่นดินไม่ได้เสด็จไปในพิธี โปรดให้เจ้าพระยาจันทกุมารเป็นผู้แทนพระองค์มอบพระแสงอาญาสิทธิ์ให้
ส่วนพระพลเทพคงเป็นตำแหน่งเสนาบดี สำหรับพระเจ้าแผ่นดินนั้น ในตอนนี้ทรงทำเหมือนหนึ่งออกจากอำนาจความเป็นกษัตรยิ์ทรงจำศิลเงียบเสียสามวัน"
ตามหนังสือ คำให้การของชาวกรุงเก่า กล่าวว่า
"พระราชพิธีจรดพระนังคัล พระเจ้ากรุงศรีอยุธยาโปรดให้
พระจันทกุมารแรกนาต่างพระองค์ ส่วนพระมเหสีก็จัดนางเทพีต่างพระองค์เหมือนกัน
นั่งเสลี่ยงเงินมีกระบวนแห่เป็นเกียรติยศ ไปยังโรงพิธีซึ่งตั้งที่ตำบลวัดผ้าขาว
ครั้นถึงเวลามงคลฤกษ์พระจันทกุมาร ถือคันไถเทียมด้วยโคอุสุภราช ออกญาพลเทพ
จูงโคไถ ๓ รอบ นางเทพีหว่านข้าวเสร็จแล้ว จึงปลดโคอุสุภราชให้กินน้ำ,ถั่ว,งา,ข้าวเปลือก
ถ้ากินสิ่งใดก็มีคำทำนายต่างๆ"
ภายในเวลาการพระราชพิธีจรดพระนังคัลสามวันนี้ ยกพระราชทานภาษี
ค่าท่าและ อากรขนอนแก่พระจันทกุมารผู้แรกนา เมื่อกระทำพิธีแล้วราษฎรจึงลงมือไถหว่านทำนาได้(บางปีฝนไม่ตก
มีการทำพิธีขอฝน)
ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ได้กระทำกันกันมาตั้งแต่รัชกาลที่
๑ไม่ได้ยกเว้น แต่ถือว่าเป็นตำแหน่งเจ้าพระยาพลเทพคู่กันกับยืนชิงช้า
เจ้าพระยาพลเทพแรกนายืนชิงช้าผู้เดียว ไม่ได้ผลัดเปลี่ยนครั้นตกมาภายหลังเมื่อเจ้าพระยาพลเทพป่วย
ก็โปรดให้พระยาประชาชีพแทนบ้าง และเมื่อเจ้าพระยานิกรบดินทร์ยืนชิงช้าก็โปรดให้แรกนาด้วย
ในครั้งแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เกือบจะตกลงเป็นธรรมเนียมว่า
ผู้ใดยืนชิงช้าผู้เป็นผู้แรกนาด้วย ครั้นมาถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เจ้าพระยาพลเทพ (หลวง) แรกนา...
การแรกนาที่กรุงเทพฯ นี้ไม่ได้เป็นการหน้าพระที่นั่ง เว้นไว้แต่มีพระราชประสงค์จะทอดพระเนตรเมื่อใด
จึงได้ทอดพระเนตร เล่ากันว่าเมื่อแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้า
ขณะเมื่อทรงปฏิสังขรณ์วัดอรุณฯ ในปีมะแมเบญจศก ศักราช ๑๑๘๕ เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรการทุกวัน
ครั้นเมื่อถึงพระราชพิธีจรดพระนังคัลจะใคร่ทอดพระเนตรจึงโปรดให้ยกการพระราชพิธีมาตั้งที่ปรกหลังวัดอรุณฯ
ครั้นมาในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรแรกนาที่ทุ้งส้มป่อยครั้งหนึ่ง
ภายหลังโปรดให้มีการแรกนาที่กรุงเก่า และที่เพชรบุรีได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตร
พระยาเพชรบุรี (บัว) แรกนาที่เขาเทพพนมขวดครั้งหนึ่งหรือสองครั้ง ในแผ่นดินปัจจุบันนี้ก็ได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรแรกนาที่ทุ้งส้มป่อยครั้งหนึ่ง
การพระราชพิธีจรดพระนังคัลแต่ก่อนมีแต่พิธีพราหมณ์ ไม่มีพิธีสงฆ์
ครั้งมาถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อทรงเพิ่มพิธีสงฆ์ในพระราชพิธีต่างๆ
จึงได้เพิ่มในการจรดพระนังคัลนี้ด้วย แต่ยกเป็นพิธีหนึ่งต่างหาก เรียกว่าพืชมงคล
โปรดให้ปลูกพลับพลาขึ้นในที่หน้าท้องสนามหลวง และสร้างหอพระเป็นที่ไว้พระคันธารราษฎร์สำหรับการพระราชพิธีพืชมงคลอย่างหนึ่ง
พุทธศาสตร์อย่างหนึ่ง แต่ก่อนมาพระยาผู้จะแรกนาก็มิได้ฟังสวด เป็นแต่กราบถวายบังคมลาแล้วก็ไปเข้าพิธีเหมือนตรียัมปวาย
กระเช้าข้าวโปรยก็ใช้พนักงานกรมนาหาบ ไม่ได้มีนางเทพีเหมือนทุกวันนี้เมื่อโปรดให้มีพระราชพิธีพืชมงคลขึ้น
จึงได้ให้มีนางเทพีสี่คน จัดเจ้าจอมเถ้าแก่ที่มีทุนรอนพาหนะพอจะแต่งตัวและมีเครื่องใช้ไม้สอย
ติดตามให้ไปหาบกระเช้าข้าวโปรย เมื่อวันสวดมนต์พระราชพิธีพืชมงคล ก็ให้ฟังสวดพร้อมด้วยพระยาผู้จะแรกนา
และให้มีการราชบัณฑิตเชิญพระเต้าเทวบิฐ ซึ่งเป็นพระเจ้าเกิดขึ้นใหม่ในรัชกาลนั้นประพรมที่
แผ่นดินนำหน้าพระยาที่แรกนา ให้เป็นสวัสดิมงคลอีกชั้นหนึ่ง การพระราชพิธีนี้
ในเวลาบ่ายวันที่จะสวดมนต์ก็มีกระบวนแห่พระพุทธรูปออกไปจากวัดพระศรีรัตนศาสดาราม..........
พระโคแรกนา
พระโค ในทางศาสนาพราหมณ์หมายถึง เทวดาผู้ทำหน้าที่เป็นพาหนะของพระอิศวร
เปรียบได้กับการใช้แรงงานและความเข้มแข้ง และหมายถึงสัตว์เลี้ยงที่พระกฤษณะและพระพลเทพดูแล
ซึ่งเปรียบได้กับ ความอุดมสมบูรณ์ ดังนั้น ในการประกอบพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ
จึงได้กำหนดให้มีพระโค เพศผู้เข้าร่วมพิธีเสมอมาตั้งแต่รัชกาลที่ ๑
เพื่อเป็นตัวแทนของความเข้มแข็งและความอุดมสมบูรณ์
ในการประกอบพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มอบหมายให้กรมปศุสัตว์เป็นหน่วยงานคัดเลือกพระโค
เพื่อใช้ในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ โดยศูนย์วิจัยการผสมเทียมและเทคโนโลยีชีวภาพราชบุรี
สังกัดสำนักเทคโนโลยีชีวภาพการผลิตปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์จะดำเนินการคัดเลือกตามหลักเกณฑ์ที่เหมาะสม
กล่าวคือ จะต้องเป็นโคที่มีลักษณะดี รูปร่างสมบูรณ์ มีความสูงไม่น้อยกว่า
๑๕๐ เซนติเมตร ความยาวลำตัวไม่น้อยกว่า ๑๒๐ เซนติเมตร ความสมบูรณ์รอบอกไม่น้อยกว่า
๑๘๐ เซนติเมตร โคทั้งคู่จะต้องมี สีเดียวกัน ผิวสวย ขนเป็นมัน กิริยามารยาทเรียบร้อย
ฝึกง่าย สอนง่ายไม่ดุร้าย เขามีลักษณะโค้งสวยงามเท่ากัน ตาแจ่มใสหูไม่มีตำหนิ
หางยาวสวยงาม มีขวัญหน้า ขวัญทัดดอกไม้ซ้ายขวา และขวัญหลังถูกต้องลักษณะที่ดี
กีบข้อเท้าแข็งแรง ถ้ามองดูด้านข้างลำตัวจะเป็นสี่เหลี่ยม
กรมปศุสัตว์ได้ทำการคัดเลือกพระโคเพื่อใช้ในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญประจำปี
พุทธศักราช ๒๕๕๔ จำนวน ๒ คู่ คือ พระโคแรกนา ๑ คู่ ได้แก่ พระโคฟ้า
พระโคใส และพระโคสำรอง ๑ คู่ ได้แก่ พระโคเทิด พระโคทูน
พระราชพิธีจรดพระนังคัล เริ่มแต่เวลาบ่ายวันสวดมนต์พระราชพิธีพืชมงคล
มีกระบวนแห่ๆ พระเทวรูปพระอิศวร ๑ พระอุมาภควดี ๑ พระนารายณ์ ๑ พระมหาวิฆเนศวร
๑ พระพลเทพแบกไถ ๑ กระบวนแห่มีธงมีคู่แห่เครื่องสูงกลองชนะ คล้ายกันกับที่แห่พระพุทธรูปเป็นแต่ลดหย่อนลงไปบ้าง
ออกจากในพระบรมมหาราชวังไปโดยทางบก เข้าโรงพิธีที่ทุ่งส้มป่อยนาหลวง
เวลาค่ำพระมหาราชครูพิธีเหมือนอย่างพิธีทั้งปวง ไม่มีการแปลกประหลาดอันใดรุ่งขึ้นเวลาเช้าตั้งแต่กระบวนแห่ๆ
พระยาผู้แรกนา กำหนดเกณฑ์คนเข้ากระบวนแห่ ๕๐๐ กระบวน นั้นไม่เป็นกระบวนใหญ่เหมือนอย่างแห่ยืนชิงช้า........
พระยาแรกนาแต่งตัวเหมือนยืนชิงช้า เมื่อถึงโรงพระราชพิธีเข้าไปจุดเทียนบูชาพระพุทธรูป
แล้วตั้งจิตอธิษฐานจับผ้าสามผืน ผ้านั้นใช้ผ้าลายหกคืบผืน ๑ ห้าคืบผืน
๑ สี่คืบผืน ๑ ถ้าจับได้ผ้าที่กว้างเป็นคำทำนายว่าน้ำจะน้อย ถ้าได้ผ้าที่แคบว่าน้ำจะมาก
เมื่อจับได้ผ้าผืนใดก็นุ่งผ้าผืนนั้น ทับผ้านุ่งเดิมอีกชั้นหนึ่ง
นุ่งอย่างบ่าวขุนออกไปแรกนา มีราชบัณฑิตคนหนึ่ง เชิญพระเต้าเทวบิฐประน้ำพระพุทธมนต์ไปหน้า
พราหมณ์เชิญพระพลเทพคนหนึ่งเป่าสังข์ ๒ คน พระยาจับยามไถ พระมหาราชครูพิธียื่นประตักด้านหุ้มแดงไถดะไปโดยรีสามรอบ
แล้วไถแปรโดยกว้างสามรอบ นางเทพีทั้ง ๔ จึงได้หาบกระเช้าข้าวปลูก กระเช้าทอง
๒ คน กระเช้าเงิน ๒ คน ออกไปให้พระยาโปรยหว่านข้าว และไถกลบอีกสามรอบจึงกลับเข้ามายังที่พัก
ปลดพระโคออกกินเลี้ยงของเสี่ยงทาย ๗ สิ่ง คือ ข้าวเปลือก ข้าวโพด ถั่ว
เหล้า น้ำ หญ้า ถ้าพระโคกินสิ่งไรก็มีคำทำนาย แต่คำทำนายมักจะว่ากันว่า
ถ้าพระโคกินสิ่งใดสิ่งนั้นจะบริบูรณ์...
การเท่านี้เป็นเสร็จพระราชพิธีจรดพระนังคัลแห่พระยากลับ แล้วเทวรูปกลับ
ในการจรดพระนังคัลเป็นเวลาคนมาประชุมมาก ถึงจุดอยู่บ้านไกลๆ ก็มักจะมาด้วยมีประโยชน์ความต้องการเมื่อเวลาโปรยข้าวปลูกลงในนา
พอพระยากลับก็พากันเข้าแย่งเก็บข้าว จนไม่มีเหลืออยู่ในท้องนาเลย เมื่อรัชกาลที่
๕ ได้โปรดให้ไปชันสูตรหลายครั้งว่ามีข้าวงอกบ้างหรือไม่ ก็ไม่พบเหลืออยู่จนงอกเลย
เมื่อทอดพระเนตรแรกนาที่เพชรบุรี พอคนที่เข้ามาแย่งเก็บพรรณข้าวปลูกออกไปหมดแล้ว
รับสั่งให้ตำรวจหลายคนออกไปค้นหาเมล็ดข้าว ว่าจะเหลืออยู่บ้างหรือไม่
ก็ไม่ได้มาเลยจนสักเมล็ดหนึ่ง
พรรณข้าวปลูกซึ่งเก็บไปนั้น ไปใช้เจือในพรรณข้าวปลูกของตัว
ให้เป็นสวัสดิมงคลแก่นาบ้าง ไปปนลงไว้ในถุงเงินให้เกิดประโยชน์งอกงามบ้าง
การแรกนาจึงเป็นที่นิยมของคนทั้งปวงไม่จืด ยังนับว่าเป็นพระราชพิธีซึ่งเป็นที่ต้องใจคนเป็นอันมาก
ประกาศพระราชพิธีพืชมงคล
ประกาศพระราชพิธีพืชมงคลนั้น เป็นคาถาภาษาบาลีพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่
๔ อ่านทำนองสรภัญญะจบแล้วดำเนินความภาษาไทยเป็นคำร้อยแก้ว เนื้อความเป็นคำอธิษฐาน
๔ ข้อดังนี้
ข้อ ๑. เป็นคำนมัสการสรรเสริญพระคุณพระพุทธเจ้าว่าทรงดับทุกข์ได้
มีพระหฤทัยคงที่ ทรงปลูกธรรมให้งอกงามจำรูญแก่บรรดาสาวกพุทธเวไนยสืบๆ
มา แม้ว่าโลกจะเร่าร้อนด้วยเพลิงกิเลสพระสัทธรรมอันมีผลเป็นอมตะก็ยังงอกงามได้ด้วยเดชะพระบารมีของพระองค์
บัดนี้เราทั้งหลายบูชาพระพุทธเจ้าพระองค์นั้นกับ พระธรรมและพระสงฆ์แล้วจะปลูกพืช
คือ บุญในพระรัตนตรัยอันเป็นเนื้อนาบุญอย่างดี พืชคือบุญนี้เมล็ดผลเป็นญาณความรู้อันเป็นเครื่องถ่ายถอนทุกข์ในโลก
สามารถส่งผลให้ได้ทั้งในปัจจุบันและในกาลภายหน้าสืบๆ ไป ตามกาลอันควรจะให้ผลเป็นอุปการะนานาประการ
ขอให้พืชคือบุญที่เราหว่านแล้ว จงให้ผลตามความปรารถนา อนึ่งขอให้ข้าวกล้าและบรรดาพืชผลที่หว่านที่เพาะปลูกลงในที่นั้นๆ
ทั่วราชอาณาเขต จงงอกงามจำรูญตามเวลา อย่าเสียหายโดยประการใดๆ
ข้อ ๒. ยกพระคาถาที่พระพุทธเจ้าตรัสแสดงการทำนาของพระองค์แก่พราหมณ์ชาวนาผู้หนึ่ง
ว่า "ศรัทธา-ความเชื่อเป็นพืชพันธุ์ข้าวปลูกของเรา ตบะ-ความเพียร
เผาบาป เป็นเมล็ดฝน ปัญญา-ความรอบรู้เป็นแอกและไถ หิริ-ความละอายใจ
เป็นงอนไถ ใจเป็นเชือกชัก สติ-ความระลึกได้ เป็นผาลและปฎักเราจะระวังกายระวังวาจาและสำรวมระวังในอาหาร
ทำความซื่อสัตย์ให้เป็นท่อไขน้ำ มีโสรัจจะ-ความสงบเสงี่ยมเป็นที่ปลดไถ
มีวิริยะ- ความเพียรเป็นแรงงานชักแอกไถ เป็นพาหนะนำไปสู่ที่อันเกษมจากเครื่องผูกพันที่ไปไม่กลับที่ไปแล้วไม่เศร้าโศก
การไถของเราเช่นนี้มีผลเป็นอมตะ มิรู้ตาย บุคคลมาประกอบการไถเช่นว่านี้แล้วย่อมพ้นจากทุกข์สิ้นทุกประการ
ดังนี้มายกขึ้นเป็นคำอธิษฐานว่าที่พระพุทธเจ้าตรัสนี้เป็นความสัตย์จริงด้วยอำนาจแห่งความสัตย์นี้
ขอให้ข้าวกล้าและพืชผลที่หว่านที่เพาะปลูกจงงอกงามทั่วภูมิมณฑลอันเป็นราชอาณาเขต
ข้อ ๓. ยกพระคาถาอันเป็นภาษิตของพระเตมีย์โพธิสัตว์
ความว่า "บุคคลผู้ไม่ประทุษร้ายมิตร โคย่อมจำรูญพูนเกิดแก่เขาพืชที่หว่านในนาของเขาย่อมงอกงามจำเริญ
เขาย่อมได้รับบริโภคผลแห่งพืชพันธุ์ที่หว่านแล้ว และว่า "บุคคลผู้ไม่ประทุษร้ายมิตรอันศัตรูหมู่อมิตรไม่อาจย่ำยีได้ดุจไม้ไทรมีรากและย่านอันงอกงามพายุ
ไม่อาจพัดพานให้ล้มไปได้ฉันนั้น มาตั้งเป็นสัตยาธิษฐานว่าด้วยอำนาจสัจวาจานี้
ขอให้ข้าวกล้าและพืชผลที่หว่านเพาะปลูกในภูมิมณฑลทั่วราชอาณาเขต จงงอกงามไพบูลย์
ข้อ ๔. อ้างพระราชหฤทัยของพระเจ้าแผ่นดิน
ซึ่งทรงพระเมตตากรุณาแก่ประชาราษฎร ตั้งพระราชหฤทัยจะบำรุงให้อยู่เย็นเป็นสุขทั่วหน้าเป็นความสัตย์จริง
ด้วยอำนาจความสัตย์นี้ขอให้ข้าวกล้าและพืชผลงอกงามบริบูรณ์ทั่วราชอาณาเขต
ต่อจากนั้น เป็นการกล่าวถึงพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่เรียกว่า "พระคัณธาราษฎร์
ที่มีพุทธานุภาพบันดาลให้ฝนตกอันเป็นพระพุทธรูปที่สำคัญในพระราชพิธีนี้
แสดงตำนานโดยลำดับจนรัชกาลที่ ๑ ได้ทอดพระเนตร และได้โปรดให้หล่อขึ้นใหม่สำหรับตั้งในพระราชพิธี
และต่อนั้นไปว่าด้วยการพระราชกุศลที่ทรงบำเพ็ญในพระราชพิธีนั้น ทรงพระราชอุทิศแก่เทพยดาทั้งปวงแล้วอธิษฐานเพื่อให้ข้าวปลาอาหารอุดมสมบูรณ์
และฝนตกตามฤดูกาล พระสงฆ์จะสวดต่อท้ายการสวดมนต์ในพระราชพิธีพืชมงคล
ส่วนพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ (วันไถหว่าน) เป็นพิธีพราหมณ์นั้นจะได้ประกอบพิธีบริเวณมณฑลพิธีสนามหลวงโดยได้ตั้งโรงพิธีประดิษฐานเทวรูปสำคัญ
อาทิ พระอิศวร พระพรหม พระนารายณ์ พระอุมาภควดี พระมหาวิฆเนศวร์ พระลักษมี
พระพลเทพ และพระโคอุศุภราช ซึ่งในตอนค่ำพระมหาราชครูจะทำพิธีบวงสรวงเพื่อความสวัสดีแก่พืชผลด้วย |