๑.กำเนิดศาสนา (เกิดเมื่อไหร่ ที่ไหน
จากเหตุปัจจัยอะไร)
ศาสนาฮินดู ถือกำเนิดเมื่อไหร่ไม่มีปรากฏหลักฐานแต่สันนิษฐานว่า
คำว่า ศาสนาฮินดู มีที่มาจากแม่น้ำสายชื่อสินธุ โดยชนเผ่าอารยัน
(Aryan) ผู้เข้ารุกรานชนชาวพื้นเมืองเดิมหรือพวกมิลักขะหรือดราวิทหรือดราวิเดียนเป็นผู้ก่อตั้งขึ้นกำหนดอายุช่วงนั้นประมาณ
๒,๐๐๐ ปีก่อนพุทธศักราช หรือประมาณ ๔,๐๐๐ ปีที่ผ่านมา
คำว่า สินธุ (Sindhu) ถูกเรียกให้เปลี่ยนไปเป็น
ฮินดู (Hindhu) โดยชาวเปอร์เซียที่เข้ามาค้าขายกับชาวอารยัน
และได้ถูกเรียกให้เปลี่ยนไปอีกครั้งเป็น อินดัส
และอินเดียในสมัยที่ชาวกรีกเข้ามาค้าขายกับชาวเปอร์เซีย
สำหรับชาวอารยันที่อาศัยอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำสินธุกลับเรียกศาสนาที่ตนนับถือว่า
สนาตนธรรม (Sanatana Dharma) แปลว่า ศาสนานิรันดร์
หรือบางครั้งเรียกว่า เวทิกธรรม (Vidika
Dhrama) แปลว่า ศาสนาแห่งพระเวท เนื่องจากที่มาของศาสนานี้ชาวอารยันเชื่อกันว่าเป็นการเปิดเผยจากพระเจ้าสู่มนุษย์
ไม่ได้เกิดจากความรู้ของมนุษย์และมีลักษณะดำรงอยู่เช่นนี้
ไม่มีผู้ก่อตั้ง มีเพียงลักษณะการดำเนินอยู่เช่นนี้ตามที่ได้รับการถ่ายทอดมา
รวมถึงคำว่า อารยธรรม แปลว่า ธรรมอันดีงาม
พราหมณธรรม แปลว่า คำสอนของพราหมณาจารย์ ฮินทูธรรม
หรือ ฮินดูธรรม แปลว่า ธรรมที่สอนลัทธิอหิงสาหรือศาสนาฮินดู
บางครั้งเมื่อเราแบ่งศาสนาที่เกิดขึ้นในอินเดีย
ศาสนาฮินดูจึงอยู่ในประเภท อาสติกะ (Astikaya)
หมายความว่า ผู้เชื่อว่าพระเวท (ความรู้ที่ถูกถ่ายทอดจากพระเจ้าสู่มนุษย์)
มีความศักดิ์สิทธิ์และถูกต้องโดยไม่ต้องพิสูจน์ซึ่งตรงข้ามกับประเภทที่สองคือ
นาสติกะ (Nastikaya)
๒.ศาสดาและสาวก (ใครคือศาสดาและสาวกสำคัญ)
ศาสนาฮินดูเป็นศาสนาที่ไม่มีศาสดา มีเพียงแต่ความรู้
หรือพระเวทอันเกิดขึ้นจากความเปิดเผยจากพระเจ้าสู่มนุษย์ในรูปแบบ
ศรุติ (sruti) คือ การได้ยิน ได้ฟังมา ผู้ที่ได้ยินมาหมายถึงกลุ่มนักบวชประเภทฤาษี
(sage) ที่ใช้ชีวิตในป่าและประพฤติปฏิบัติในธรรมช่วงแรกๆแล้วนำไปบอกไปสอนผู้อื่นตามที่ได้ยินมา
โดยมิได้ต่อเติม พระเวทจึงเป็นอมตธรรม เป็นนิตยธรรม และเป็นปราณหรือลมหายใจของพระเป็นเจ้าเอง
สำหรับสาวกในศาสนาฮินดูคือผู้ปฏิบัติตามในพระเวทโดยทั่วไปรู้จักกันในนาม
ฤษี ดังนั้น ศาสนาพราหมณ์ - ฮินดู ไม่มีศาสดาจริงจังเหมือนศาสนาอื่น
แต่มีหัวหน้าลัทธิหรือผู้แต่งตำรา ทำหน้าที่คล้ายศาสดา
มีดังนี้
๑.วยาสะ ท่านผู้นี้เป็นผู้รวบรวมเรียบเรียง
คัมภีร์พระเวท คัมภีร์อิติหาสะ และคัมภีร์ปุราณะ
๒.วาลฆีกิ เป็นฤษีผู้แต่ง มหากาพย์รามายณะ
ท่านเป็นพราหมณ์โดยกำเนิด แต่ถูกพ่อแม่ทิ้งตั้งแต่ยังเล็กพวกชาวนาได้นำไปเลี้ยงไว้
๓.โคตมะ หรือ เคาตมะ
ผู้ตั้ง ลัทธินยายะ เกิดประมาณ ๕๐๐ ปีก่อน
ค.ศ.
๔.กณาทะ ผู้ตั้ง ลัทธิไวเศษิกะ
เกิดประมาณศตวรรษที่ ๓ ก่อน ค.ศ.
๕.กปิละ ผู้ตั้ง ลัทธิสางขยะ
เกิดในสมัยศตวรรษที่ ๖ ก่อน ค.ศ.
๖.ปตัญชลิ ผู้ตั้ง ลัทธิโยคะ
เกิดในสมัยศตวรรษที่ ๓ หรือ ๔ ก่อน ค.ศ.
๗.ไชมินิ ผู้ตั้ง ลัทธิมีมางสา
หรือ ปูรวมีมางสา เกิดระหว่างศตวรรษที่
๖-๒ ก่อน ค.ศ.
๘.มนู หรือ มนุ ผู้แต่ง
คัมภีร์ธรรมศาสตร์ เกิดในศตวรรษที่ ๕
ก่อน ค.ศ.
๙.พาทรายณะ ผู้ตั้ง ลัทธิเวทานตะ
หรือ อุตรมีมางสา มีผู้กล่าวว่าเป็นคนเดียวกับวยาสะ
เกิดระหว่างศตวรรษที่ ๖-๒ ก่อน ค.ศ.
๑๐.จารวากะ ผู้ตั้ง ลัทธิโลกายนะ
หรือวัตถุนิยม ไม่มีประวัติแน่นอน
๑๑.ศังกราจารย์ ผู้แต่ง อรรถกถา
หรือคำอธิบายลัทธิเวทานตะ เกิดระหว่างปี ค.ศ.
๗๘๘-๘๒๐ และเป็นผู้ตั้งลัทธิอไทวตะ หรือเอกนิยม คือ นิยมพระเจ้าองค์เดียว
๑๒.นาถมุนี เป็นผู้นำคนแรกของ ลัทธิไวษณวะ
อยู่ในช่วงระหว่าง ค.ศ. ๘๒๔-๙๒๔
๑๓.รามานุชาจารย์ ถือว่าเป็นคนสำคัญยิ่งของ
ลัทธิไวษณวะ และเจ้าของปรัชญาวิศิษฏาทไวตะ
เกิดปี ค.ศ. ๑๐๒๗
๑๔.มัธวาจารย์ เป็นผู้นำท่านหนึ่งแห่ง
ลัทธิไวษณวะ และเจ้าของ ปรัชญาทไวตะ
หรือ ทวินิยม อยู่ในช่วงระหว่างค.ศ. ๑๑๙๙-๑๒๗๗
๑๕.ลกุลีศะ (สมัยของท่านนี้ยังไม่แน่นอน)
เป็นอาจารย์ใหญ่แห่ง นิกายไศวะ ฝ่ายใต้ผู้ตั้ง
นิกายปศุปตะ
๑๖.วสุคุปตะ เป็นผู้ตั้ง ลัทธิไศวะฝ่ายเหนือ
หรือที่เรียกว่า กาษปีรไศวะ (อยู่ระหว่างศตวรรษที่
๙ ก่อน ค.ศ.)
๑๗.รามโมหัน รอย เป็นผู้ตั้ง พรหมสมาช
(สมาคม) อยู่ระหว่างปี ค.ศ. ๑๗๗๔-๑๘๓๓
๑๘.สวามีทะยานัน สรัสวดี เป็นผู้ตั้ง
อารยสมาช อยู่ระหว่างปี ค.ศ. ๑๘๒๔-๑๘๓๓
๑๙.รามกฤษณะ เป็นผู้นำทางความรู้และทางปฏิบัติ
เป็นผู้จัดให้มี กระบวนการรามกฤษณะมิชชัน แม้ท่านจะไม่ได้ตั้งขึ้นเอง
แต่สวามีวิเวกานันทะ สรัสวดี ก็ตั้งขึ้นเพื่อเป็นเครื่องอนุสรณ์ถึงท่าน
อยู่ระหว่างปี ค.ศ. ๑๘๓๖-๑๘๘๖
๓.นิกายต่างๆ (แต่ละนิกายแตกต่างกันอย่างไร)
นิกายของศาสนาฮินดูเกิดจากความเชื่อ ความศรัทธาในอำนาจของเทพเจ้าที่แตกต่างกันออกไปแต่ที่พอเห็นได้เด่นชัดได้แก่
ไวษณพนิกาย หรือ วิษณุนิกาย ไศวนิกาย
หรือ ศิวะนิกาย และ ศักตินิกาย
นอกเหนือจากนี้เช่น คเณศนิกาย สรัสวดีนิกาย เป็นต้นก็มีให้เห็นแต่เป็นเพียงเฉพาะกลุ่มไม่เด่นชัดเท่ากับ
๓ นิกายที่จะกล่าวต่อไป ดังนี้
๓.๑.ไวษณพนิกาย เป็นนิกายที่ชาวฮินดูผู้มีความเคารพเลื่อมใสใน
พระวิษณุ นิกายนี้เป็นนิกายดั้งเดิมเริ่มประมาณ
ค.ศ.๔๐๐ หรือสมัยปุราณะหรือหากจะย้อนนับเข้าไปสมัยพระเวทในคัมภีร์ฤคเวทพระวิษณุหมายถึง
พระอาทิตย์ การเกิดขึ้นของนิกายนี้สันนิษฐานได้ว่า เมื่อพราหมณ์เกิดความตกต่ำขาดความมั่นคงทางสังคม
เช่น เมื่อเกิดมีศาสนาพุทธและศาสนาเชนขึ้นมา พราหมณ์ได้พัฒนาระบบความคิดทางด้านจริยธรรมมากกว่าที่จะดำเนินตามวิถีทางอย่างเก่าคือการบูชายัญด้วยสัตว์
การพัฒนาระบบจริยธรรมนี้แบ่งเป็น ๒ ระยะด้วยกันคือ
ระยะแรก เป็นระยะที่เรียกว่า นิกายภควัต
คือไม่เน้นพิธีกรรมอย่างเช่นพราหมณ์ปฏิบัติสืบทอดกันมาและไม่เน้นการใช้ปัญญาแบบพุทธศาสนา
แต่จะใช้รูปแบบง่ายๆคือ ความรักและความภักดีต่อพระเจ้าเป็นฐานในการสร้างนิกายนี้โดยการนำเอาพระกฤษณะเป็นต้นแบบของการดำเนินชีวิต
โดยเฉพาะคำสอนที่พระกฤษณะได้ทรงแสดงแก่อรชุนที่เรียกว่า
ภควัทคีตา เป็นเครื่องมือสร้างนิกายนี้
ระยะที่สอง เป็นระยะที่ให้ความเชื่อว่า
พระกฤษณะ คือ พระวิษณุ อวตารลงมาเพื่อแสดงให้เห็นว่าพระวิษณุเป็นพระเจ้าที่ทรงไปด้วยอิทธิฤทธิ์และคุณธรรมความรู้
ถึงแม้ว่าทั้งสองระยะจะดูไม่แตกต่างกันเท่าไหร่แต่ย่อมแสดงให้เห็นว่าการให้บทบาทและ
ภาระหน้าที่ของพระเจ้าในนิกายมีมากขึ้นจนปรากฏว่าพระวิษณุได้เป็นพระเจ้าแห่งการปกป้อง
คุ้มครองรักษาโลกในยุคสมัยที่โลกเกิดความยากแค้น ลำบากและไม่ได้รับความเป็นธรรมดัง
ปรากฏเป็นนารายณ์อวตารด้วยกันทั้งหมด ๑๐ ปาง ได้แก่
๑.ภาคอวตารเป็นมัตสยะ
(ปลา) เพื่อช่วยเหลือสิ่งมีชีวิตให้อยู่รอดจากการทำลายล้าง
เป็นภาคแรกที่พระวิษณุทรงถือกำเนิดขึ้นมาในโลก
๒.ภาคอวตารเป็นพระกูรมะ
(เต่า) เพื่อช่วยเหลือเทพทั้งหลายในช่วงเวลาแห่งการกวนน้ำในมหาสมุทร
เพื่อจะได้รับน้ำอมฤต ที่เมื่อดื่มแล้วจะทำให้เป็นอมตะ
๓.ภาคอวตารเป็นวราหะ (หมูป่า)
เพื่อช่วยพระแม่ธรณี(โลก)ให้พ้นจากการจมน้ำ
โดยทรงใช้เขี้ยวงัดเอาพระแม่ธรณีขึ้นมา และภายหลังได้ฆ่าอสูรชั่วร้ายตาย
๔.ภาคอวตารเป็นนรสิงห์
(มนุษย์สิงห์) เพื่อช่วยเหลือสวรรค์จากอสูรร้าย
และทรงประหารอสูรร้ายตามพรที่พระพรหมประทานให้แก่อสูร
ภาคนี้ถือเป็นการสิ้นสุดแห่งการอวตารเป็นสัตว์
๕.ภาคอวตารเป็นวามัน (นักพรตคนแคระ)
เพื่อช่วยเหลือสามโลกให้รอดพ้นจากการปกครองของอสูรพลี
๖.ภาคอวตารเป็นปรศุราม
(นักพรตบุตรีฤษี ผู้ถือขวานและคันศร)
เพื่อปราบคนชั่วให้สูญสิ้นไปจากโลก และปกป้องคุ้มครองคนดีให้พบแต่ความสุข
๗.ภาคอวตารเป็นพระราม
เพื่อออกป่าบำเพ็ญพรต และทรงสู้รบชนะอสูรราวัน
๘.ภาคอวตารเป็นพระกฤษณะ
นับเป็นภาคที่สมบูรณ์ของพระวิษณุ โดยทรงถือกำเนิดจากอีกภาคหนึ่งของพระองค์ในสวรรค์ลงมากำเนิดในโลกมนุษย์
เป็นพระโคบาล และทรงเป็นพระนระด้วย ชาวอินเดียในวรรณะต่างๆ
ให้ความเคารพบูชาต่อพระองค์ รวมทั้งพระแม่โคด้วย
๙.ภาคอวตารเป็นพระพุทธเจ้า
ทรงกำเนิดเป็นมนุษย์ บำเพ็ญสมาธิเพื่อให้หลุดพ้นจากความทุกข์
จนในที่สุดได้ทรงพบแสงแห่งพระธรรม อันเป็นแสงแห่งการหลุดพ้นจากความทุกข์
และพระองค์ทรงเที่ยวสั่งสอนให้คนทั้งหลายพบกับแสงสว่างแห่งพระธรรม
๑๐.ภาคอวตารเป็นกัลกิ
ทรงม้าขาวแห่งสวรรค์ เพื่อช่วยเหลือมนุษย์โลกอีกครั้งหนึ่ง
๓.๒.ไศวนิกาย เป็นนิกายที่ชาวฮินดูผู้นับถือพระศิวะและสัญลักษณ์ที่เกี่ยวเนื่องด้วยพระศิวะ
ไศวนิกายเป็นนิกายที่แตกต่างจากจากไวศณพนิกายอย่างเห็นได้ชัดเจนคือ
การไม่เชื่อในอวตารของพระเจ้า นักบวชหรือที่เรียกว่า โยคี
หรือ สาธุในนิกายนี้มีข้อประพฤติที่สุดโต่งเพราะทรมานร่างกายเช่น
เปลือยกาย นอนบนตะปูแหลม ยกแขนไขว้สูงเหนือศีรษะ และเกี่ยวตะขอเหล็กตามร่างกาย
บางกลุ่มประพฤติตนน่ารังเกียจ เช่น อยู่ตามสถานที่ทิ้งศพ
เลี้ยงชีพด้วยการกินซากศพและอุจจาระ ทาตัวด้วยขี้เถ้าเผาศพและมูลโค
นิยมให้ความเคารพศิวลึงค์ ซึ่งทำมาจากหินหรือไม้ คัมภีร์ในนิกายเป็นภาษาที่ไม่สละสลวยมีโวหารแข็งกระด้าง
ไศวนิกายเป็นนิกายที่มีผู้นับถือมาอย่างช้านานในยุคพระเวทเรียกพระศิวะว่า
รุทระ หมายถึงเทพเจ้าแห่งการทำลายล้าง ในคัมภีร์อื่นได้กล่าวถึงคุณสมบัติของเทพเจ้าองค์นี้ให้พิสดารขึ้นเป็นเทพที่มีอิทธิฤทธิ์มากกว่าเทพเจ้าองค์อื่นๆ
แม้ในปัจจุบันความเชื่อเช่นนี้ก็ยังปรากฏให้เห็นอยู่และแพร่กระจายไปสู่อาเซียอาคเนย์ในหลายประเทศ
๓.๓.ศักตินิกาย คำว่า ศักติ เป็นคำใช้เรียกชายาของเทพเจ้า
หมายถึง พลังหรืออำนาจของเทพเจ้าพระองค์นั้นที่แสดงออกมาผ่านทางชายาของพระองค์
ตามปกติเทพเจ้าแต่ละองค์ย่อมมีชายาส่วนพระองค์ เช่น พระอัคนี
เทพเจ้าแห่งไฟ มีชายาพระนามว่า อัคนายี พระวรุณ มีชายาพระนามว่า
วารุณี เป็นต้น การที่ชายาของเทพเจ้าถูกรับการยกย่องย่อมส่งผลให้เทพเจ้าองค์นั้นมีผู้เคารพนับถือมากขึ้นแต่อย่างไรก็ดี
เมื่อกล่าวศักตินิกาย คนส่วนใหญ่มักนึกถึงชายาของพระศิวะในสองรูปแบบคือ
รูปแบบของชายาผู้เปี่ยมไปด้วยความเมตตากรุณย์และผู้มีใบหน้าน่าเกลียดน่ากลัวและโหดร้าย
นิกายศักติเป็นนิกายที่เกิดมีมาตั้งแต่สมัยพระเวทโดยปรากฏข้อความในคัมภีร์ฤคเวทว่า
ศักติอยู่ในสรวงสวรรค์ค้ำจุนโลก และในคัมภีร์ฉานโทคยอุปนิษัทว่า
อาศัยศักติเอกภพจึงดำรงอยู่ได้
๔.คำสอนเกี่ยวกับการกำเนิดโลกและมนุษย์
ธรรมชาติของมนุษย์ ชะตากรรมของมนุษย์ ความตาย ความดี ความชั่ว
ฐานะของสตรี
ภายหลังที่ชนเผ่าอารยันเริ่มสร้างบ้านแปลนเมืองแล้วจึงได้จัดระบบโครงสร้างทางสังคมด้วยมีวัตถุประสงค์สองประการคือ
๑ เพื่อความมั่นคงในสังคม และ ๒ เป็นการจัดระเบียบความไม่เสมอภาคในสังคม
โดยให้แต่ละคนรู้จักทำหน้าที่ของตน (Ramnohur,๑๙๘๒:๖๒)
ระบบโครงสร้างที่เรียกว่า วรณาศรมธรรมะจึงเกิดขึ้น คำว่า
วรณาศรมธรรมะ มาจากคำ ๓ คำคือ วรณา อาศรม และธรรมะ คำแรก
คือ วรณา ในช่วงที่ชนเผ่าอารยันรุกรานเข้ามาอยู่ในถิ่นที่ชนพื้นเมืองเดิมคือชาวมิลักขะอาศัยซึ่งชนเผ่านี้มีลักษณะรูปร่างเตี้ย
ผิวสีดำ ผมหยิก มีความแตกต่างกับชาวอารยันซึ่งสูงใหญ่
ผิวขาว หมายถึง สีผิว ต่อมาเมื่อโครงสร้างเป็นระบบอารยันหมดแล้วคำว่า
วรณา จึงมีความหมายว่า หน้าที่ แต่ในคัมภีร์ภควัทคีตา
หมายถึง บุคลิกลักษณะหรือความประพฤติ (Bhagavadgita, ๑๘:๔๑)
ส่วนอาศรม หมายถึง ระดับหรือขั้นของชีวิต คำสุดท้าย ธรรมะ
คือ หน้าที่ที่เราต้องประพฤติปฏิบัติในชีวิตประจำวัน
สังคมของชนเผ่าอารยันจึงได้แบ่งหน้าที่ของคนออกเป็น ๔
วรรณะ คือ พราหมณ์ กษัตริย์ แพศย์ และศูทร โดยแต่ละวรรณะมีหน้าที่หรือธรรมะที่ต้องปฏิบัติ
เช่น พราหมณ์ ศึกษาในพระเวทให้เจนจบและเชี่ยวชาญให้การศึกษา
อบรมจิตใจ ปฏิบัติในพิธีกรรม บำเพ็ญตบะ กษัตริย์
มีหน้าที่คุ้มครอง พิทักษ์รักษา ป้องกันภัยอันตรายให้พราหมณ์และประชาชนในยามสงครามและบริหารบ้านเมืองให้สงบเรียบร้อย
แพศย์ มีหน้าที่ด้านพาณิชยกรรมและเกษตรกรรม
ศูทร มีหน้าที่รับใช้วรรณะอื่นๆด้วยความเคารพยำ
เกรง ดังนั้น วรรณะของศาสนาฮินดูหรือชนเผ่าอารยันดั้งเดิมจึงมีเพียง
๔ วรรณะเท่านั้น การเกิดขึ้นมาของการแต่งงานข้ามวรรณะหรือที่เรียกว่า
จัณฑาล ไม่นับเป็นวรรณะอย่างที่เราเข้าใจ จัณฑาลถือว่าเป็นเพียงการเกิดของแม่ในวรรณะสูงเช่น
พราหมณ์ หรือกษัตริย์ที่สมรสกับบิดามาจากวรรณะศูทร เราเรียกการแต่งงานข้ามวรรณะนั้นว่า
การถือกำเนิด (Jati) ซึ่งในปัจจุบันอินเดียมีการถือกำเนิดจากพ่อและแม่ที่มาจากวรรณะแตกต่างกันมากจนไม่สามารถกำหนดเรียกได้ทั้งหมด
ตัวอย่างในรัฐราชสถาน ประชาชนที่อาศัยอยู่เรียกกลุ่มของตนเองว่า
ราชปูร์ เป็นต้น
หน้าที่ของพราหมณ์มีดังนี้
สงบระงับ ควบคุมตัวเอง บำเพ็ญตบะ บริสุทธิ์ มีขันติธรรม
เที่ยงตรง มีปัญญา ทรง
ความรู้ และมีศรัทธา (Bhagavadgita, ๑๘:๔๒)
หน้าที่ของกษัตริย์มีดังนี้
แกล้วกล้า เข้มแข็ง เด็ดเดี่ยว แน่วแน่ ไม่หลีกเลี่ยงในสวคราม
ให้ทาน และมีภาวะผู้นำ (Bhagavadgita, ๑๘:๔๓)
หน้าที่ของแพศย์และศูทรมีดังนี้
เกษตรกรรม โครักขกรรมและพาณิชยกรรมเป็นหน้าที่ของแพศย์
(ส่วน) การรับใช้คนวรรณะอื่นเป็นหน้าที่ของศูทร (Bhagavadgita,
๑๘:๔๔)
๕.หลักจริยธรรมสำคัญเกี่ยวกับการตัดสินความดี
ความชั่ว การเป็นแนวทางดำเนินชีวิต และการสร้างมนุษยสัมพันธ์ระหว่างบุคคล
สามี ภรรยา พ่อแม่-ลูก
อาศรมธรรมะ (Ashrma)
คำว่า อาศรม มีรากศัพท์จากภาษาสันสกฤตว่า
ศรมะ ซึ่งแปลว่า พยายาม มีอยู่ด้วยกัน ๒ ความหมายด้วยกันคือ
๑.สถานที่ลงมือทำความพยายาม ๒.การลงมือปฏิบัติด้วยความเพียรพยาม
และ อา เป็นคำอุปสรรค แปลว่า ทั่วหรือข้างหน้า และคำว่า
ธรรมะ หมายถึงระเบียบปฏิบัติหรือหน้าที่ ดังนั้น อาศรมธรรมะหมายถึง
สถานที่สำหรับหยุดพัก อธิบายขยายความว่า ชีวิตที่เกิดมาในโลกนี้ย่อมใช้ชีวิตไปในเส้นทางแห่งธรรมะโดยการปฏิบัติช่วงแห่งวัยเพื่อตระเตรียมเดินทางในระดับสูงต่อไป
จนกว่าจะบรรลุความหลุดพ้น ด้วยเหตุนี้ศาสนาฮินดูจึงแบ่งระดับการดำเนินชีวิตไว้
๔ ระดับ คือ พรหมจารยะ อาศรมะ / คฤหัสถ์ถะ อาศรมะ
/ วนปรัสถะ อาศรมะ / สันยาสะ อาศรมะ โดยปรากฏในมนูสมฤติได้กล่าวแสดงไว้อย่างพิสดารความว่า
มนุษย์ทุกคนควรจะประพฤติปฏิบัติตนในสมบูรณ์ในอาศรมะทั้ง
๔ ระดับเพื่อเป็นการพัฒนาจิตใจและความก้าวหน้าของสังคม
เมื่อชีวิตได้เริ่มต้นจากวัยพรหมจารยะคือได้ศึกษาพระเวทแห่งวรรณะสำเร็จเสร็จสิ้นลงแล้ว
ควรจะก้าวไปสู่ระดับคฤหัสถ์ถะคือมีวิถีของผู้ครองเรือน
ถ้าเมื่อใดปรากฏรอยบนใบหน้าและผมมีสีดอกเลา ควรจะก้าวไปสู่ระดับปรัสถะและสันยาสะในที่สุดอาจแบ่งช่วงวัยทั้ง
๔ ให้เหลือเพียงโดยสรุปว่า ๒ ช่วงแรกเป็นระยะทำงานและ
๒ ส่วนหลังเป็นระยะสละโลก เพื่อให้อาศรมะทั้งสี่เกิดความสมดุลตลอดทุกช่วงชีวิตจึงต้องปฏิบัติในธรรมะ
๑๐ ข้อได้แก่ ๑.ความเที่ยงตรง ๒. การรู้จักให้อภัย ๓.
การควบคุมตัวเอง ๔.การงดเว้นจากความชั่ว ๕.มีกายและใจบริสุทธิ์
๖.การรู้จักควบคุมอายตนะ ๗.ความสุขุมรอบคอบ ๘.มีความรู้และแสวงหาความรู้ตลอดเวลา
๙.ความซื่อสัตย์ และ๑๐.งดเว้นจากความโกรธ
อาศรมธรรมะทั้ง ๔ ได้แก่
๑.พรมหจารยะ อาศรมะ ช่วงวัยแห่งการศึกษาเล่าเรียน
ชีวิตช่วงพรหมจารยะ เป็นช่วงวัยแห่งการฝึกฝน ควบคุม และฝึกหัด
กาย วาจา และใจ ให้มีระเบียบวินัย มีกิริยามารยาทสุภาพเรียบร้อย
และรู้จักช่วยเหลือสังคม การมีระเบียบวินัยเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นต่อการศึกษาพระเวทและศาสตร์ทั้งหลาย
มนูสมฤติได้แบ่งอายุเด็กชายแต่ละวรรณะที่ผ่านพิธีอุปนยนสังสการะมาแล้วว่าจะต้องเข้ารับการศึกษาพระเวทจากครูไว้ดังนี้
พราหมณ์เมื่ออายุได้ ๘ ปี ส่วนกษัตริย์และแพศย์ เมื่ออายุได้
๑๑ ปีและ ๑๒ ปี ตามลำดับ ส่วนศูทรนั้น ตามคัมภีร์ถือว่าไม่มีสิทธิจะศึกษาพระเวทที่เป็นศรุติ
วัยพรหมจารยะเป็นความสัมพันธ์ระหว่างครูกับศิษย์ โดยปกติครูจะเป็นฤาษีหรือนักบวชพำนักอาศัยอยู่ในป่าและทำการสั่งสอนศิษย์ในสำนักแห่งตน
โดยเรียกสำนักเช่นนี้ว่า คุรุกุล สิ่งที่ครูจะต้องทำหน้าที่ของตนให้ดีที่สุดคือ
การให้ความรู้เกี่ยวกับพระเจ้าและคัมภีร์พระเวท นอกนั้นเป็นความรู้ด้านศิลปะศาสตร์และวิทยาศาสตร์ในสมัยนั้น
ศิษย์หรือผู้เรียนต้องมีชีวิตความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย
มีความซื่อสัตย์ สงบเสงี่ยม และรักความสะอาด มีระเบียบวินัยที่ควบคุมตัวเองได้
เช่น ตื่นแต่เช้าตรู่ ไม่นอนหลับกลางวันและทำพิธีสันธยาวันละ
๒ ครั้ง คือยามเช้าและค่ำ ดังนั้นชีวิตระหว่างครูกับศิษย์ในคุรุกุล
จึงไม่มีข้อแตกต่างกันครูจะไม่ใส่ในฐานะของศิษย์ว่ามาจากตระกูลที่ร่ำรวยหรือยากจน
ศิษย์ต้องออกหาอาหารสำหรับตนเองและครู ด้วยวิธีการขออาหารจากชาวบ้านหรือผลไม้จากป่า
การสอนของครูเป็นการสอนแบบให้เปล่าไม่มีเงินเดือน แต่มีความพยายามมุ่งถ่ายทอดความรู้ให้แก่ศิษย์อย่างเดียว
ดังสรุปได้จาก ตรีโลกนาถ ปาวาที่แสดงความสำคัญชีวิตในคุรุกุลไว้ใน
หินทูธรรม ดังนี้
๑.๑.เชื่อฟังคำสั่งสอนของครูบาอาจารย์ทุกประการ และต้องถือว่าตนคือทาสของครูและหากครูรับตนเป็นศิษย์แล้วครูเปรียบดั่งพ่อแม่คนที่สองของตนตลอดชีวิต
๑.๒.ออกไปรับภิกษา และสิ่งของต่างๆ สิ่งของที่ได้มาย่อมนำไปสู่ครูก่อน
ถ้าครูอนุญาตให้รับประทานได้แล้วจึงจะเริ่มรับประทานอาหารได้
ถ้าไม่อนุญาตจะรับประทานไม่ได้
๑.๓.ศิษย์ควรสงวนรักษาน้ำกามอันเป็นสาระสำคัญของร่างกายไว้ให้จงดีด้วยวิธีการต่อไปนี้
๑.๓.๑รับประทานอาหารที่ดีและมีประโยชน์ต่อร่างกาย ไม่รับประทานที่เพิ่มความร้อนให้แก่ร่างกาย
เช่น เนื้อสัตว์ต่างๆ สุรา ยาเสพติดทุกชนิด เป็นต้น
๑.๓.๒ไม่ควรอ่านหนังสือเรื่องเพศ และเรื่องรักๆใคร่ๆ
ไม่ควรดูหรือหมกมุ่น และไม่ควรตกแต่งตัวมากเกินไป
๑.๓.๓ควรอยู่ให้ห่างไกลเพศตรงข้าม
๑.๓.๔ต้องไปทำประการใดประการหนึ่งที่จะทำให้น้ำกามมีอันหลั่งให้เสียไป
๑.๓.๕ควรตั้งใจศึกษาเล่าเรียน เคารพในครูและศิลปวิทยาที่ครูถ่ายทอดอยู่อย่างสม่ำเสมอและพำนักในคุรุกุลตลอดเวลา
ศิษย์เมื่อสำเร็จการศึกษาจะลากลับสู่เรือนแห่งตน ครูจะสอนให้โอวาทเพื่อตั้งอยู่คุณธรรมของชีวิตที่สูงขึ้นความว่า
จงพูดแต่ความจริง มีคุณธรรม ไม่ละทิ้งการศึกษาพระเวท...ไม่ละทิ้งหน้าที่จะพึงมีต่อพระเจ้าและบรรพชน...ให้ความเคารพมารดาบิดา
ครูและแขกเหมือนหนึ่งเป็นพระเจ้า...ยกย่องให้เกียรติคนมีปัญญา
เมื่อมีความสงสยในพิธีกรรมหรือความประพฤติ ก็จงมองเอาการดำเนินชีวิตของผู้มีปัญญาเป็นตัวอย่าง
๒.คฤหัสถะ อาศรมะ ช่วงวัยแห่งการครองเรือน
ช่วงวัยนี้ เรียกว่า คฤหัสถ์ถะ คำว่า คฤหัสถ์ถะ มาจากรากศัพท์คำว่า
คฤหะ แปลว่า เรือน ส่วน สถะ แปลว่า ผู้ดำรงอยู่ ดังนั้น
คำว่า คฤหัสถ์ถะ หมายถึง การดำรงอยู่ของผู้ครองเรือน เมื่อนักเรียนจบการศึกษาในคุรุกุลย่อมมุ่งสู่ตระกูลของตน
ครอบครัวย่อมเกิดความปีติทำพิธีสมาวรตนะ สังสการะ เป็นพิธีแสดงความสำเร็จในการศึกษา
จากนั้นจะเข้าสู่พิธีแต่งงานเพื่อรับภาระการครองเรือนต่อไป
ช่วงวัยนี้บุรุษฮินดูนิยมสมรสเมื่ออายุครบ ๒๕ ปี ส่วนสตรีหลังอายุ
๑๘ ปีไปแล้ว
คฤหัสถ์ไม่ใช่ใส่ใจเรื่องชีวิตครอบครัวเท่านั้น การทำหน้าที่ทางศาสนาคือการประกอบยัญพิธีเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ชีวิตครอบครัวเกิดความสุขและได้รับการประทานพรอย่างสม่ำเสมอ
ได้แก่
๒.๑.พรหมยัชญะ หมายถึง การบูชาพรหมันซึ่งเป็นอันติมสัจจะด้วยการศึกษาและสอน
พระเวท ผู้ครองเรือนต้องผดุงรักษาวัฒนธรรมนี้และส่งผ่านไปยังอนุชนรุ่นต่อไป
๒.๒.เทวยัชญะ การประกอบพิธีบูชาเทพเจ้าด้วยการใส่เครื่องสังเวยลงในกองเพลิง
๒.๓.ปิตฤยัชญะ การบูชาบรรพบุรุษผู้ล่วงลับด้วยการประกอบพิธีศารท
เป็นการแสดงกตัญญูกตเวทิตาธรรมต่อท่านเหล่านั้น
๒.๔.ภูตยัชญะ การให้ทานแก่คนป่วย คนขัดสนและสรรพสัตว์
๒.๕.มนุษยยัชญะ การทำหน้าที่ที่พึงปฏิบัติต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกันได้แก่
การต้อนรับแขกที่มาสู่เรือนของตนอย่างจริงใจ การให้หรือสร้างที่พักแก่ผู้ยากไร้และการให้ทานแก่พรหมจารี
๓.วนปรัสถะ อาศรมะ
การบำเพ็ญเพียรในป่าเป็นระดับที่ ๓ ของชีวิตหลังจากผ่านช่วงชีวิตการครองเรือนมาแล้ว
ในมนูสมฤติกล่าวว่า เมื่อผู้ครองเรือนสังเกตเห็นรอยตีนกาบนใบหน้าและมีผมสีดอกเลาบนศีรษะหรือได้หลานไว้ชมเชยแล้ว
ก็ควรจะออกไปอยู่ป่าพร้อมภรรยาหรือมอบภรรยาให้บุตรเลี้ยงดูแทน
แต่ถ้าไม่สามารถทำเช่นนั้นได้จะอยู่ในครอบครัวกับบุตรหลานก็ได้คอยให้คำแนะนำแก่พวกเขาและแก่คนทั่วไปเกี่ยวกับกิจกรรมทางโลก
การดำเนินชีวิตแบบนี้ไม่เหมือนกับการเป็นคฤหัสถ์ก่อนหน้านี้ทั้งหมดเลยทีเดียว
เพราะมีวัตถุประสงค์อยู่ที่การอุทิศตัวเองเพื่อมนุษยชาติไม่มุ่งหวังหรือผลประโยชน์ใดๆ
เป็นสิ่งตอบแทน (Manusmrti, ๕ : ๒)
๔.สันยาสะ อาศรมะ
ช่วงชีวิตของการออกบวช หรือชีวิตนักบวช เป็นช่วงชีวิตสุดท้ายตามอาศรมะ
พวกท่านเหล่านั้นได้สละโลกและผ่านการทดสอบทางจิตใจจนมีความเข้มแข็งจนก้าวสู่ช่วงชีวิตสุดท้ายของชีวิต
บุคคลเหล่านี้มีจุดมุ่งหวังไปที่การได้พบพระเจ้าโดยตรงอยู่เหนือความเข้าใจและความต้องการทางเศรษฐกิจและการเมืองทั้งปวง
ในภควัทคีตา พระกฤษณะได้ประทานพระอนุศาสน์แก่อรชุนถึงลักษณะของสันยาสีที่แท้จริงว่า
ผู้ปฏิบัติหน้าที่ของตนโดยไม่มุ่งหวังผลของการกระทำคือเป็นสันยาสและโยคีแท้
(Bhagavadgita, ๖ : ๕ )
ปุรุษารถะ จุดมุ่งหมายของชีวิต
ปุรุษารถะ มาจากคำสองคำ คือคำว่า ปุรุษะ และ อรถะ หมายถึง
คน และ จุดหมาย โดยมีอุดมการ์เพื่อบรรลุสู่จุดมุ่งหมายสูงสุดของคน
๔ ประการคือ ธรรมะ อรรถ กามะ และโมกษะ ตามลำดับ ตลอดถึงเป็นฐานรากให้ชีวิตในอาศรมะทั้ง
๔ มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ดังมีรายละเอียดต่อไปนี้
๑) ธรรมะ ศีลธรรมหรือคุณความดี
ธรรมะ มีรากศัพท์จากภาษาสันสกฤตว่า ธร แปลว่า การทรงไว้
ธำรงไว้ ธรรมะในความหมายนี้ต่างจากความหมายในทางศาสนา
แต่มีความหมายถึงลักษณะที่ทรงไว้ในสิ่งที่มีชีวิตและไมมีชีวิต
เช่น ธรรมะของไฟคือความร้อน (เพราะมีความร้อนทรงไว้อยู่)
เป็นต้น สำหรับคนซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตมีลักษณะของธรรมะดังปรากฏในมานวธรรมซึ่งเป็นคัมภีร์ตั้งแต่สมัยพระเวท
โดยฤาษียาชญวัลกยะเห็นว่ามนุษยธรรม ได้แก่ อหิงสา (การไม่เบียดเบียน),
สัตยะ (ความจริง), อัสเตยะ (การงดเว้นจากการขโมย), อินทริยนิครหะ
(การควบคุมอินทรีย์ ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ) และทาน
(การให้) ส่วนปราชญ์ตุลสีทาส เห็นว่ามนุษยธรรมคือสิ่งเดียวกับการประพฤติสัตยะ
(ความจริง), โสจะ (ความบริสุทธิ์), ทยา (ความเห็นอกเห็นใจ)
และทานะ (การให้) ในมหาภารตยุทธ์พระกฤษณะได้อธิบายให้อรชุนฟังว่า
พระเป็นเจ้าทรงสร้างหลักธรรมขึ้นมาเพื่อสวัสดิภาพของผู้ถูกสร้างทั้งปวง
อหิงสธรรมคือธรรมะ อาศัยธรรมะที่ถูกสร้างจึงได้ชื่อว่าได้รับการคุ้มครองรักษาปกป้องโดยพระองค์
ในมนูสมฤติ ฤาษีมนูได้แสดงลักษณะของธรรมไว้ ๑๐ ข้อ คือ
๑.ความซื่อตรง ๒.การให้อภัย ๓.การควบคุมตนเอง ๔.หารงดเว้นจากอทินนาทาน
(การขโมย) ๕.มีกายและใจบริสุทธิ์ ๖.การควบคุมอายตนะ ๗.มีปัญญา
๘.มีความรู้เกี่ยวกับพรหมัน ๙.ความซื่อสัตย์ และ ๑๐.งดเว้นจากความโกรธ
(Manusmrti, ๖ : ๙๑-๙๒)
๒) อรรถะ ความมั่งคั่ง
อรรถะ หมายถึง ความมั่งคั่ง ทรัพย์ ความสำเร็จและอำนาจ
เป็นต้น อรรถะจึงเป็นสิ่งที่มนุษย์ต้องการ การได้มาของอรรถะควรมาจากวิธีการที่ถูกต้องตามธรรมะ
หากได้มาอย่างผิดวิธีเรียกว่า อนรรถะ และต้องไม่ทอดทิ้งหน้าที่ที่จะประกอบยัญพิธีทั้ง
๕ ในคฤหัสถ อาศรมะ ได้แก่
๑.พรหมยัชญะ หมายถึง การบูชาพรหมันซึ่งเป็นอันติมสัจจะด้วยการศึกษาและสอน
พระเวท ผู้ครองเรือนต้องผดุงรักษาวัฒนธรรมนี้และส่งผ่านไปยังอนุชนรุ่นต่อไป
๒.เทวยัชญะ การประกอบพิธีบูชาเทพเจ้าด้วยการใส่เครื่องสังเวยลงในกองเพลิง
๓.ปิตฤยัชญะ การบูชาบรรพบุรุษผู้ล่วงลับด้วยการประกอบพิธีศารท
เป็นการแสดงกตัญญูกตเวทิตาธรรมต่อท่านเหล่านั้น
๔.ภูตยัชญะ การให้ทานแก่คนป่วย คนขัดสนและสรรพสัตว์
๕.มนุษยยัชญะ การทำหน้าที่ที่พึงปฏิบัติต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกันได้แก่
การต้อนรับแขกที่มาสู่เรือนของตนอย่างจริงใจ การให้หรือสร้างที่พักแก่ผู้ยากไร้และการให้ทานแก่พรหมจารี
๓) กามะ ความปรารถนา
กามะ หมายถึง ความปรารถนาหรือการครอบครองมีด้วยกัน ๔ แบบ
คือ ความปรารถนา (กามะ), ความปรารถนาอย่างแรงกล้า (อภิลาษะ),
ความปรารถนาเพื่อให้บรรลุผลบางอย่าง (อาทางคษา) และความกำหนัด
(ลาลสา) (K. and M.Romnohur, ๑๙๘๒ : ๘๕) กามะ คือความสุขเป็นสิ่งที่สืบเนื่องมาจากความมั่งคั่งที่ถูกตามธรรมะ
สำหรับ กามะในความหมายเกี่ยวกับเพศซึ่งเป็นเรื่องของแรงกระตุ้นตามธรรมชาติเป็นความหมายระดับต่ำสุด
มหาภารตยุทธ์ตอนศาสนติบรรพ กล่าวว่าเป็น ๑ ใน ๖ ของกิเลส
ชนิดที่ขวางกั้นไม่ให้ก้าวสู่ธรรมะทสูงขึ้น ได้แก่ ๑.ความใคร่
(กามะ), ๒.ความมุ่งร้าย (โกรธะ), ๓.ความโลภ (โลภะ), ๔.ความหลง
(โมหะ), ๕.ความถือตัว (มทะ) และความริษยา (มัตสระ)
๔) โมกษะ ความหลุดพ้น
โมกษะ แปลว่า ความหลุดพ้นจากอวิทยาคือความไม่รู้เกี่ยวกับพรหมัน
ผู้หลุดพ้นถือได้ว่าเป็นผู้บำเพ็ญประโยชน์ในชาติปัจจุบัน
สำเร็จกิจของการได้เกิดมาเป็นมนุษย์อันเกิดจากการศึกษาในคัมภีร์พระเวทและด้วยการบำเพ็ญตบะอันเป็นเป้าหมายสูงสุดของชาวฮินดู
การปฏิบัติธรรมระหว่างบุคคลต่อบุคคล
ในพระคัมภีร์ของศาสนาฮินดู ได้บัญญัติการปฏิบัติระหว่างบุคคลต่อบุคคลไว้เป็นอันมาก
อาทิเช่น ปิตฤธรรม, ฆาตฤธรรม, อาจารยธรรม, บุตรธรรมและศิษยธรรม,
ภราตฤธรรม, ปติธรรม,ปตนีธรรม,สามีเสวกธรรม, ราชธรรม และมานวธรรม
โดยจะขอยกตัวอย่างปติธรรม, ปตนีธรรม,บุตรธรรมและศิษยธรรม,
ราชธรรม และมานวธรรม ดังนี้
ปติธรรม คือ การปฏิบัติหน้าที่ของสามีต่อภรรยา
บุรุษเมื่อจะมีครอบครัวย่อมเลือกสตรีผู้เหมาะสมแก่ตระกูลของตน
ฉะนั้น ก่อนการเลือกเจ้าสาวต้องได้รับความเห็นชอบจากผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายเสียก่อน
เมื่อฝ่ายผู้ใหญ่ทั้งสองยินยอมพร้อมในแล้วจึงยอมรับเจ้าสาวนั่นเป็นภรรยา
เมื่อเป็นภรรยาเสมือนเป็น สมบัติของสามีไปตราบชั่วชีวิต
ต้องเอาใจใส่ต่อภรรยาอย่างจริงจัง อย่าเป็นชู้กับหญิงอื่น
ถือว่าผู้หญิงอื่น ๆ เป็นเสมือนมารดา พี่ น้อง ลูก หลานของตนโดยปราชญ์กล่าวไว้ว่า
ที่ไหนสตรีเพศได้รับความนับถือจากฝ่ายชาย ทนั้นมีเทพทั้งหลายอาศัยอยู่ตลอดกาล
ที่ไหนภรรยาได้รับแต่อนาทร ที่นั้นการกระทำการกุศลของฝ่ายชายกลายเป็นโมฆะ
ตระกูลหรือครอบครัวใดในระหว่างสามีภรรยามีความพอใจซึ่งกันและกัน
ตระกูลหรือครอบครัวนั้นย่อมมีแต่ความสุขความเจริญ
ปตนีธรรม คือ การปฏิบัติหน้าที่ของภรรยาต่อสามี
สตรีที่ได้รับการคัดเลือกจากครอบครัวของบุรุษให้สู่ในสถานะภรรยาแล้วต้องปฏิบัติหน้าที่ต่อสามีด้วยความซื่อสัตย์สุจริต
เอาใจใส่สามีอย่างจริงจัง ต้องถืออยู่ในจิตใจของตนเองเสมอว่า
ชายอื่นยกเว้นสามีของตนเป็นเสมือนบิดา พี่ น้อง บุตร หลาน
เท่านั้น อย่าเป็นชู้กับชายอื่น อยู่ในโอวาทและอยู่ในการควบคุมดูแลของสามีตลอดสมัย
เพราะภรรยาเป็นคนสำคัญ?สุดในครอบครัว ปราชญ์จึงกล่าวว่า
การคลอดบุตร การกุศล การบริการรับใช้อย่างเยี่ยม สวรรค์ของตน
และสวรรค์ของบรรพบุรุษสิ่งเหล่านี้อยู่ในกำมือของสตรี
ผู้เป็นสตรีนั้น ต้องระมัดระวังในความบริสุทธิ์และรักษาไว้ความเป็นสาว
จงเป็นภรรยาของชายที่เป็นสามีของตนเองเท่านั้น โดยทุกประการในคัมภีร์มานวศาสตร์
ปราชญ์ได้บัญญัติไว้ว่า สตรีใดประพฤตินอกใจสามีเป็นชู้กับชายอื่น
สตรีนั้นย่อมถูกติเตียนนินทาทั้งในโลกนี้และโลกหน้า เกิดเป็นหมาป่าหรือหมาจิ้งจอก
นอกจากนี้แล้ว ได้รับความเจ็บปวดด้วยโรคน่าเกลียดทั้งในชาตินี้และชาติหน้า
บุตรธรรม และ ศิษยธรรม
คือ การปฏิบัติหน้าที่ของบุตรต่อบิดามารดา และการปฏิบัติหน้าที่ของศิษย์ต่อครูอาจารย์
ในพระคัมภีร์ได้บัญญัติไว้ว่า บุคคลที่จงรักภักดีต่อมารดา
ผู้นั้นเป็นผู้ชนะในโลกนี้ บุคคลที่จงรักบิดา ผู้นั้นย่อมชนะโลกสวรรค์
และบุคคลที่จงรักภักดีในครูอาจารย์ ผู้นั้นย่อมชนะในพรหมโลก
บุคคลที่ได้ทำการเคารพ บิดามารดาย่อมไม่ถึงซึ่งความสำเร็จ
ไม่ว่าจะทำการกุศลมากมายสักเท่าใด ด้วยประการนี้ ผู้ที่ต้องการความสำเร็จและมีความสุขในชีวิตนี้หรือชีวิตหน้าก็ตาม
บุคคลนั้นจึงต้องเคารพนับถือบิดามารดา และครูอาจารย์อย่างจริงใจ
ต้องอยู่ในโอวาทเชื่อฟังถ้อยคำและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด
ราชธรรม คือ การปฏิบัติหน้าที่อันงดงามของพระราชา
หรือรัฐบาลที่มีต่อประชาชน กับการปฏิบัติหน้าที่ของประชาชนต่อพระราชา
โดยหลักธรรมข้อนี้มุ่งประโยชน์ความสัมพันธ์ระหว่างพระราชากับประชาชนของพระองค์ว่า
ดั่งบิดาปกครองบุตรโดยพระราชามีธรรมสูงสุดคือการดูแลเอาใจใส่ทุกข์สุขของประชาชนอย่างใกล้ชิด
และอารักขาประชาชนให้เกิดความอบอุ่น ในทาง
เดียวกันประชาชนเมื่อได้รับการดูแลจากพระราชาเช่นนั้นพึงกระทำตนเป็นผู้อยู่ในกรอบของกฎหมายโดยมีกล่าวไว้ว่า
ราชา ฑณฑธโร คุรุห พระราชาเป็นครู พระองค์ถือทัณฑคือกฎหมายไว้
หมายถึงผู้ใดไม่ปฏิบัติทางธรรม(กฎหมาย) ผู้นั้นย่อมได้รับโทษจากพระองค์
พระราชาธิราชานั้นพระองค์ทรงเป็นเสมือนเทพเจ้าทั้ง
๘ พระองค์ ได้แก่
๑.พระอินทร์ ๒.พระยมราช ๓.พระวายุ ๔.พระสูรย
๕.พระอัคนิ ๖.พระวรุณ ๗.พระจันทร์ ๘.พระกุเวร
ในคัมภีร์พระเวทได้แสดงไว้ว่าครั้งเมื่อพระพรหมธาดาได้แต่งตั้งพระมหากษัตริย์
ทรงนำพระเดชบารมีของเทพเจ้าทั้งแปดพระองค์มาสร้างเพื่อให้มีหน้าที่ปกป้องคุ้มครองรักษาประชาชน
ในคัมภีร์ศรีมัทภควัทคีตา พระกฤษณะได้ทรงอนุศาสน์ประทานไว้ว่า
นราณา จ นราธิปม เราเป็นพระราชาในมนุษยชาติ
มานวธรรม คือ การปฏิบัติหน้าที่ระหว่างบุคคลต่อบุคคล
โดยมีการแสดงไว้เป็นข้อๆ ดังนี้
- บุคคลที่ได้กระทำโดยการพูด โดยกาย โดยใจแล้ว ผลแห่งการกระทำนั้นก็จักอำนวยให้แก่บุคคลนั้นเป็น
มัธยคติ และอุตมคติ จึงควรทำแต่กรรมดีโดยตลอดแต่ฝ่ายเดียว
- คิดแต่ทรัพย์สมบัติของผู้อื่น คิดแต่การทำเสียประโยชน์แก่ผู้อน
ไม่ยอมนับถือผู้ใหญ่นี้เป็นโทษทางจิตใจ จงอย่าทำ
- การพูดด่าว่า พูดคำหยาบ พูดความไม่จริง พูดให้ร้ายลับหลัง
พูดนินทา พูดส่อเสียด นี้เป็นโทษทางวาจา จงอย่าทำ
- ถือเอาทรัพย์สมบัติของผู้อื่นโดยเขายังไม่ทนให้ หรือใช้อำนาจ
ฆ่าหรือทำหรือทำร้ายร่างกายผู้อื่น เป็นชู้กับภรรยาหรือสามีของผู้อื่นเป็นโดยทางกาย
จึงต้องไม่กระทำ
- ก่อนจะลงมือกระทำใดๆ จงพิจารณาดูว่า ขัดกับขนบธรรมเนียมของสังคมที่ตนสังกัดอยู่หรือไม่
ถ้าไม่ขัดต่อขนบธรรมเนียมดังกล่าวแล้วไซร้ จึงลงมือทำ
- การกระทำใด จะให้ได้รับแต่การนินทาจากสังคม และไปสู่คตินัยดังกล่าวฝ่ายเดียวการนั้นอย่าทำ
- บุคคลใดไม่ซื่อตรงต่อมิตร บุคคลที่ไม่รู้จักบุญคุณ
บุคคลที่หักหลังต่อบุคคลอื่น บุคคลประเภทนี้ต้องไปตกนรกอยู่จนถึงพระอาทิตย์และพระจันทร์สถิตอยู่บนนภากาศ
- บุคคลใดที่เสียสละชีวิตเพื่อชาติ เพื่อธรรม บุคคลนั้นจะไปสู่สุขคติสูงสุดโดยผ่ายสุริยะมณฑลไป
- บุคคลใดถือว่า ภรรยาของผู้อื่นเป็นเสมือนภรรยามารดาตน
ทรัพย์สมบัติของผู้อื่นเป็นโลหะ สัตว์ทั้งหลายเป็นเสมือนตัวเอง
บุคคลนั้นเป็นนักธรรมแท้
- ในโลกนี้ใครมาแย่งที่ดิน คือ ประเทศชาติของเรา ซง ปู่
ย่า บิดา มารดา ได้รักษาไว้ผู้นั้นจะเป็นศัตรูที่หนึ่งของเรา
ขอให้ทำลายผู้นั้นเสีย ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นญาติมิตรก็ตาม
- พระราชาเป็นญาติของผู้ที่ไม่มีญาติ พระราชาเป็นตาของผู้ที่ไม่มีความสว่างในดวงตา
พระราชาเป็นบิดามารดาของประชาชนที่เดินบนทางยุติธรรม ฉะนั้นแล
- ทรัพย์สมบัติเงินทองมีคติ ๓ ประการ คือ จ่ายไปเพื่อบำเพ็ญกุศลทาน
๑ จ่ายไปเพื่อการจัดหาเครื่องอุปโภคบริโภค ๑ หากไม่จำเป็นทั้ง
๒ ประการดังกล่าวข้างต้นนี้แล้วทรัพย์นั้นก็วินาศไป
- จงฟังสาระสำคัญแห่งธรรม คือ สิ่งใดที่ตัวเองไม่ชอบ
อย่าพึงอำนวยสิ่งนั้นให้แก่ผู้อื่น การกระทำของผู้อื่นประการใดที่เราไม่ชอบ
อย่ากระทำการนั้นแก่ผู้อื่น สารธรรมนี้จงถือไว้ตลอดไป
ก็มีแต่ความสุขสันต์เป็นนิตย์
๖.พิธีกรรม
ข้อปฏิบัติในศาสนาพราหมณ์ - ฮินดู มีทั้งที่เป็นส่วนเฉพาะและส่วนรวมต้องประพฤติปฏิบัติตามกฎประเพณีที่ทำไว้สำหรับวรรณะของตนนั้น
แบ่งออกเป็น ๔ หมวด คือ ๑.กฎสำหรับวรรณะ ที่เกี่ยวกับการแต่งงาน
อาหารการกิน อาชีพ และเคหสถานที่อยู่ ๒.พิธีประจำวัน ชาวฮินดูต้องทำพิธีกรรมประจำบ้านที่ขาดไม่ได้
การทำพิธีต้องอาศัยพราหมณ์ นักบวชเป็นผู้ทำเรียกว่า พิธีสังสการ
เป็นพิธีประจำบ้านมี ๑๒ ประการ ได้แก่
ขั้นที่ ๑ ครรภาธาน เป็นพิธีที่จัดขึ้นเมื่อทราบว่าตั้งครรภ์
ถัดจากวันวิวาห์
ขั้นที่ ๒ ปุงสวัน เป็นพิธีปฏิบัติต่อเด็กในครรภ์ที่เข้าใจว่าเป็นเพศชาย
ขั้นที่ ๓ สีมันโตนยัน เป็นพิธีแยกผมหญิงมีครรภ์ เมื่อครรภ์ได้
๔,๖ หรือ ๘ เดือน
ขั้นที่ ๔ ชาตกรรม พิธีคลอดบุตร
ขั้นที่ ๕ นามกรรม พิธีตั้งชื่อเด็ก ในวันที่ ๑๒ หรือ
๑๔ ถัดจากวันคลอด
ขั้นที่ ๖ นิษกรมณ์ พิธีนำเด็กออกไปดูแสงอาทิตย์ยามเช้า
เมื่ออายุได้ ๔ เดือน
ขั้นที่ ๗ อันนปราศัน พิธีป้อนข้าวเด็กเมื่ออายุได้ ๕
เดือน หรือ ๖ เดือน
ขั้นที่ ๘ จูฑากรรม พิธีโกนผมไว้จุก เมื่ออายุได้ ๓ ขวบ
ขั้นที่ ๙ เกศานตกรม พิธีตัดผม ถ้าเป็นวรรณะพราหมณ์ตัดเมื่ออายุ
๑๖ ปี ถ้าวรรณะกษัตริย์ตัดเมื่ออายุ ๒๒ ปี ถ้าวรรณะแพศย์ตัดเมื่ออายุ
๒๔ ปี
ขั้นที่๑๐ อุปนัยน์ พิธีเริ่มการศึกษาเพื่อเป็นพราหมณ์โดยคล้องด้ายยัชโญปวีต
ขั้นที่๑๑ สมาวรรตน์ พิธีกลับบ้าน ปฏิบัติเมื่อสำเร็จการศึกษาจากสำนักครูแล้ว
ขั้นที่๑๒ วิวาหะ พิธีแต่งงาน
พิธีทั้ง ๑๒ ประการนี้ ถ้าเป็นหญิงห้ามทำพิธีอุปนัยน์อย่างเดียว
นอกนั้นทำได้หมดและห้ามสวดคัมภีร์พระเวท เพราะเป็นคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ที่สงวนเฉพาะผู้ชายและคนบางวรรณะเท่านั้นในปัจจุบัน
พวกพราหมณ์ได้ลดพิธีปฏิบัติเหลือเพียง ๔ อย่าง คือ พิธีนามกรรม,
อันนปราศัน, อุปนัยน์ และ วิวาหะ
|