สวยไปหมดทุกชิ้น
นึกไม่ถึงว่าชาวบ้านจะทำได้สวยขนาดนี้
ให้อนุรักษ์ผลงานเหล่านี้ไว้
ซึ่งเป็นผลงานที่หาดูได้ยากมาก
นี่คือพระราชดำรัส
ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่พระราชทานแก่อาจารย์ชรวย
ณ สุนทร เจ้าของสถานที่ เมื่อครั้งเสด็จเป็นการส่วนพระองค์ไปทอดพระเนตรบ้านสร้างสรรค์หัตถกรรม
๑๐๐ อัน ๑๐๐๐ อย่าง เมื่อวันพุธที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ.
๒๕๔๐ และเสด็จเป็นการส่วนพระองค์อีกหลายครั้ง ยังความปลาบปลื้มปีติมาสู่ครอบครัว
ณ สุนทร อย่างหาที่สุดมิได้ และพร้อมที่จะปฏิบัติตามพระราชเสาวนีย์ทุกประการ
เพราะอาจารย์ชรวย ณ สุนทร เป็นผู้สะสมและอนุรักษ์ศิลปหัตถกรรมล้านนาเหล่านี้มาช้านานแล้วด้วยใจรัก
และมุ่งหวังจะอนุรักษ์ไว้เพื่อให้คนทั่วไปได้เข้ามาศึกษาเป็นวิทยาทาน
ซึ่งเป็นที่มาของบ้าน ๑๐๐ อัน ๑๐๐๐ อย่างในปัจจุบัน
บ้าน
๑๐๐ อัน ๑๐๐๐ อย่าง ตั้งอยู่ที่ตำบลหารแก้ว อำเภอหางดง
ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ประมาณ ๑๗ กิโลเมตร เป็นอาคาร
๓ หลัง ที่ได้ดัดแปลงเป็นเรือนไทยล้านนา เป็นเรือนอนุรักษ์ของโบราณ
เครื่องปั้นดินเผา ไม้แกะสลัก อันเป็นมรดกล้ำค่าของล้านนา
โดยแบ่งออกเป็น ๒ ส่วน คือส่วนหน้าเป็นสถานที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์หัตถกรรม
และส่วนหลังเป็นที่ตั้งศิลปหัตถกรรมอันทรงคุณค่าหายากชิ้นเอก
ๆ จำนวนมากกว่า ๑,๐๐๐ ชิ้น จัดแยกประเภทและตกแต่งอย่างสวยงาม
เป็นเสมือนพิพิธภัณฑ์ที่เปิดให้ผู้สนใจเข้าเยี่ยมชม
และมีผู้บรรยายให้ความรู้ประกอบด้วย
ผลงานศิลปหัตถกรรมเหล่านี้
อาจารย์ชรวยได้เริ่มสะสมมาเป็นเวลากว่า ๒๖ ปี หลังจากที่เลิกจากอาชีพครูแล้ว
และหันมาสะสมงานศิลปหัตถกรรมแทน โดยเฉพาะงานแกะสลักไม้อันวิจิตรตามหมู่บ้านล้านนา
ด้วยวิธีการซื้อหาและจ้างแกะสลัก งานทุกชิ้นอาจารย์ชรวยจะเก็บรายชื่อ
เรื่องราว และประวัติของช่างแกะสลักไว้ หัตถกรรมเหล่านี้มีตั้งแต่ขนาดเล็กจนถึงขนาดใหญ่
งานแต่ละชิ้นจึงเป็นงานแกะสลักด้วยฝีมือชั้นครูและหาชมได้ยาก
งานศิลปหัตถกรรมที่มีมากที่สุดในบ้าน
๑๐๐ อัน ๑,๐๐๐ อย่าง ก็คือ การแกะสลักช้าง ซึ่งเป็นที่นิยมกันมากของชาวล้านนา
จนมีกลุ่มผู้เชี่ยวชาญในการแกะสลักช้างที่มีลักษณะโดดเด่นเฉพาะตัว
มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไป คือ ช่างเพชร
วิริยะ หรือสล่าเพชรแห่งบ้านจ๊างนักที่มีผลงานอยู่ในบ้าน
๑๐๐ อัน ๑๐๐๐ อย่าง หลายชิ้น เช่น ช้างขนาดใหญ่เชือกเดียวและช้างหลายเชือกในอิริยาบถต่าง
ๆ กัน แต่ละชิ้นนับเป็นสุดยอดของงานฝีมือทั้งสิ้น
งานชิ้นสำคัญที่สุดในบ้าน
๑๐๐ อัน ๑๐๐๐ อย่าง ที่ผู้คนสนใจกันมาก คืองานแกะสลักพระพิฆเนศทรงช้างเอราวัณขนาดใหญ่
ประกอบด้วยองค์พระพิฆเนศประทับนั่งบนหลังช้างสามเศียร
มีบริวารแวดล้อม ๘ เชือก อาจารย์ชรวยเล่าว่า ตามปกติพาหนะของพระพิฆเนศคือหนู
แต่ครั้งนี้ได้ขอยืมพาหนะของพระอินทร์คือช้างเอราวัณมาทรงเพื่อออกรบปกป้อง
เมืองเชียงใหม่จากภยันตรายทั้งปวง ผู้แกะสลักศิลปหัตถกรรมชิ้นนี้คือช่างเพชร
วิริยะ หรือสล่าเพชรแห่งบ้านจ๊างนัก ใช้เวลาในการแกะสลัก
๒ ปี โดยจะขึ้นอยู่กับอารมณ์เป็นสำคัญ ไม้ที่ใช้แกะสลักเป็นไม้สัก
ซึ่งจมอยู่ในดินลึกจังหวัดลำพูน เมื่อมีการก่อสร้างจึงได้พบไม้ชิ้นนี้
มีอายุไม่ต่ำกว่า ๕๐๐-๖๐๐ ปี เส้นผ่าศูนย์กลาง ๑ เมตร
สูง ๓-๔ เมตร เป็นการแกะสลักไม้ในรูปแบบที่เหมือนจริง
โดยเฉพาะสรีระทรวดทรงของช้างที่สง่างามมีชีวิตชีวา ทั้งยังลงลึกไปถึงรายละเอียดของรอยยับย่นบนผิวเนื้อ
เส้นขน ขนตา อันเป็นงานที่สล่าเพชรเชี่ยวชาญเป็นพิเศษ
งานแกะสลักชิ้นนี้ได้นำมาตั้งแสดงที่บ้าน
๑๐๐ อัน ๑๐๐๐ อย่าง เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๙ เสียค่าแรงในการแกะสลักเป็นเงินทั้งสิ้น
๓๕๐,๐๐๐ บาท มีผู้มาชมหลายท่านต้องการจะซื้อไปครอบครอง
และครั้งสุดท้ายมีนักธุรกิจจากภูเก็ตขอซื้อเป็นเงินถึง
๑,๕๐๐,๐๐๐ บาท แต่อาจารย์ชรวยก็ไม่ยอมขาย เพราะคิดว่าศิลปหัตถกรรมชิ้นนี้สมควรอยู่เป็นสมบัติให้คนไทยได้ชมและศึกษา
มากกว่า ยิ่งกว่านั้นยังเชื่อว่า พระพิฆเนศทรงช้างเอราวัณชิ้นนี้ศักดิ์สิทธิ์
สามารถช่วยขจัดปัญหาต่าง ๆ ที่พานพบได้หลายครั้ง
งานแกะสลักอีกชิ้นหนึ่งที่น่าสนใจเช่นเดียว กัน
คือช้างกับหญิงสาว ซึ่งแกะสลักได้เหมือนจริงที่สุด อาจารย์ชรวยได้รับความบันดาลใจมาจากภาพผู้หญิงฝรั่งถ่ายภาพกับช้าง
จึงนำความคิดนี้มามอบให้สล่าเพชรเป็นผู้แกะสลัก สล่าเพชรได้แกะสลักรูปช้างอย่างมีชีวิตชีวา
ส่วนหญิงสาวที่ยืนกอดช้างนั้น ลูกศิษย์ชาวพม่าของสล่าเพชรที่มาศึกษาที่บ้านจ๊างนักเป็นผู้แกะสลัก
ซึ่งมีความสามารถแกะสลักเป็นอย่างดีเช่นเดียวกัน แต่หลังจากแกะสลักรูปหญิงสาวเสร็จแล้ว
เกิดความบันดาลใจออกบวช ขณะนี้ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าสึกไปหรือยัง
ภาพแกะสลักอื่น
ๆ ที่น่าชม ได้แก่ ภาพสิงห์หัวเราะ โดยใช้สิงห์เกี่ยวพันกันทั้งหมด
๑๒ ตัว เป็นภาพที่งดงามมาก ภาพหงส์คู่ ภาพชาวเขา ภาพกินรีคู่
ภาพนางทมยันตีในเรื่องพระนลคำหลวงที่ทุกภาพละเอียดประณีตสวยงามไม่มีที่ติ
แต่ละชิ้นมีความหมายและมีประวัติความเป็นมาน่าสนใจ เช่น
ภาพนางกวักและภาพนกที่กำลังโผล่ออกมาจากไข่ที่เล็กที่สุด
แต่ช่างก็สามารถแกะสลักได้อย่างวิจิตร กำไลที่นางกวักสวมใส่นั้นสามารถเลื่อนไปมาได้
และส่วนที่เป็นกำไลก็สะกิดมาจากไข่ส่วนที่นกเจาะมาทำ
ผู้นำชมเล่าให้ฟังว่า ช่างผู้แกะสลักเป็นผู้มีฝีมือ
แต่ไม่มีโอกาส เมื่อต้องการเสพยาจึงนำมาขายให้อาจารย์
อาจารย์ได้รับซื้อไว้และรับเข้าทำงานแกะสลักเป็นการประจำ
ปัจจุบันมีผลงานที่น่าชมหลายชิ้น และเลิกยาเสพติดอย่างเด็ดขาด
ผลงานขนาดเล็กที่น่าชื่นชมยังมีอีกหลายชิ้น
ซึ่งแต่ละชิ้นละเอียดประณีตมาก เช่น วิถีชีวิตของชาวบ้านอาชีพต่าง
ๆ กัน นอกจากนี้ยังมีอาคารพระสุปฏิปันโน เป็นสถานที่ประดิษฐานภาพแกะสลักหลวงพ่อโตจากไม้ขนุนอายุ
๑๐๐ กว่าปี พระแม่กวนอิมจากต้นไม้รูปทรงน้ำเต้า และครูบาศรีวิชัยแกะสลักจากไม้ขี้เหล็ก
รวมทั้งศิลปหัตถกรรมที่งดงามชิ้นอื่น ๆ อีกนับไม่ถ้วน
ผู้ที่ไปเยี่ยมชมจะมีความรู้สึกตามข้อความที่ติดไว้ด้านหน้าว่า
ท่านจะพบกับสิ่งที่ไม่เคยเห็น
ท่านจะเห็นกับสิ่งที่ท่านไม่เคยคิด
ท่านจะคิดกับสิ่งที่ท่านไม่คาดฝัน
ท่านจะพบกับสิ่งที่น่าอัศจรรย์ที่สุด!!!
|