โอม บรเมศวราย ผายผาหลวงอะคร้าว ท้าวเสด็จเหนือวัวเผือก
เอาเงือกเกี้ยวข้าง อ้างทัดจันทร์เป็นปิ่น ทรงอินทรชฎา
สามตาพระแพร่ง แกว่งเพชรกล้า ฆ่าภิฆจรรไร
ลิลิตโองการแช่งน้ำพิพัฒน์สัจจาของโบราณ
คนไทยแม้จะนับถือพระพุทธศาสนา แต่ในพิธีอันศักดิ์สิทธิ์หลายพิธีก็ยังมีศาสนาพราหมณ์มาผสมผสานอยู่ด้วย
เช่น พระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา พระราชพิธีแรกนาขวัญ พระราชพิธีโสกันต์
และพิธีขึ้นระวางและสมโภชพระยาช้างต้น ฯลฯ ซึ่งจะมีการกล่าวอัญเชิญเทพเจ้าอันศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาพราหมณ์มาร่วมพิธี
ด้วย
พระอิศวร หรือ พระศิวะ เป็นเทพเจ้าองค์หนึ่งในบรรดาเทพเจ้าทั้งสามของศาสนาพราหมณ์
ซึ่งประกอบด้วยพระศิวะ พระนารายณ์ และพระพรหม แต่ละองค์จะมีคุณลักษณะพิเศษแตกต่างกันออกไปและมีผู้นับถือองค์ใดองค์หนึ่ง
ตามความเชื่อของตน
ประวัติของพระอิศวรมีเรื่องราวพิสดารแตกต่างกันหลากหลาย เช่น
ในบางตำนานกล่าวว่าพระอิศวรเป็นบุตรของพระกัศยปกับนางสุรภี บางตำนานกล่าวว่าพระอิศวรเกิดจากพระนลาฏของพระพรหม
บางแห่งก็ว่าเกิดจากพระพรหมบำเพ็ญตบะเสโทไหล และได้เอาไม้ขูดที่ขนง
ฉวีถลกโลหิตหยดไหลลงไปในไฟ บังเกิดเป็นเทพบุตรองค์หนึ่งขึ้นมานามว่ารุทร
หรือพระศิวะนั่นเอง และที่เชื่อกันมากที่สุดก็คือตำรับที่ว่า
เมื่อไฟบรรลัยกัลป์ได้เผาผลาญล้างโลกหมดสิ้นแล้ว พระเวทย์และพระธรรมได้มาประชุมกัน
และสร้างพระอิศวรขึ้นมาสร้างโลก
พระอิศวรมีรูปกายสีขาว บางตำรับก็ว่ามีกายสีแดงบ้าง สีกายดำบ้าง
มีตาสามตา ตาที่สามอยู่ตรงหน้าผากและเมื่อใดที่ลืมตาดวงนี้ จะบันดาลให้เกิดไฟบรรลัยกัลป์แผดเผาทุกสิ่งที่ขวางหน้า
เหนือตาที่สามเป็นรูปพระจันทร์ครึ่งซีกมีเกศามุ่นเป็นชฎารุงรัง
นัยว่าเพื่อทรมานพระคงคาที่ต้องไหลผ่านตามเกศานี้ก่อนที่จะไหลมายังพิภพโลก
มีประคำกะโหลกหัวคนคล้องคอ มีสังวาลเป็นงู มีศอสีนิลเนื่องจากเสวยยาพิษนาคราชคราวอสูรและเทวดาร่วมกันกวนน้ำอมฤต
มีตรีศูลธนู คทายอดหัวกะโหลกเป็นอาวุธ บางครั้งก็ถือบ่วงบาศบัณเฑาะว์
และสังข์ มีโคเผือกชื่ออุศุภราช หรือนนทิเป็นพาหนะ มีชื่อเรียกมากกว่าพันชื่อตามแต่ลักษณะที่ปรากฏ
เช่น นิลกัณฐ์ มเหศวร หรือปรเมศวร จันทรเศขร หรือจันทรเษกระ
ภูเตศวร และฑิคัมพร ฯลฯ
ในประเทศไทยได้พบประติมากรรมของพระอิศวรเป็นจำนวนมากทั่วทุกภาค
ไม่แพ้ประติมากรรมประเภทพระพุทธรูปและเทพเจ้าอื่น ๆมีทั้งประเภทที่ทำด้วยสำริดและปูนปั้นชนิดลอยตัวและที่แกะสลักติดอยู่กับ
ศาสนสถาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งศาสนสถานที่สร้างขึ้นในศาสนาพราหมณ์
ส่วนใหญ่จะมีอายุเก่าแก่ตั้งแต่ครั้งขอมเรืองอำนาจ สถานที่พบได้แก่
ตามปราสาทหินต่าง ๆ ประติมากรรมรูปพระอิศวรสำริดที่มีชื่อเสียงที่สุดและอยู่ในสภาพเกือบสมบูรณ์
คือ เทวรูปพระอิศวรสำริด สูง ๒.๑๐ เมตร ประดิษฐานอยู่ ณ บริเวณกลางห้องโถงชั้น
๒ ของอาคารพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ กำแพงเพชร
เทวรูปพระอิศวรองค์นี้ มีจารึกอักษรไทยที่ฐานพระบาทว่า เจ้าพระยาธรรมาโศกราช
เจ้าเมืองกำแพงเพชร ได้หล่อขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๐๕๓ เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับพระมหากษัตริย์กรุงศรีอยุธยา
๒ พระองค์ คือ สมเด็จพระบรมราชาที่ ๒ และสมเด็จพระรามาธิบดีที่
๒ ลักษณะเป็นฝีมือช่างไทยแต่ทำตามอย่างศิลปะเขมรแบบบายน ราวครึ่งแรกของพุทธศตวรรษที่
๑๘ คือทำพระพักตร์เป็นรูปสี่เหลี่ยมเหมือนพระพุทธรูปสมัยลพบุรีทั่ว
ๆไป มงกุฎทำเป็นหมวกแขก มีเครายาวจนถึงสร้อยคอ กำไลแขนทำเป็นรูปงูพันอยู่
๓ รอบ ผ้าทรงยาวลงมาเหนือเข่าเล็กน้อย ชายสายรัดด้านหน้าปล่อยยาวลงมาถึงพระชานุ
ที่นิ้วพระหัตถ์และพระบาทสวมพระธำมรงค์ทุกนิ้ว